พิเศษ
รถกระบะยุคใหม่ ใครจะเข้าวิน ?
เราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมากในวงการรถกระบะเมืองไทย โดยเฉพาะปี 2566 ค่ายรถได้เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแนวคิด การพัฒนารถกระบะรอบใหม่กันอีกครั้ง ด้วยปัจจัยทางเทคโนโลยี, การเปลี่ยนถ่ายสู่รถพลังงานใหม่ การพัฒนาด้านการออกแบบ และความสามารถทางด้านวิศวกรรมที่ก้าวหน้า ที่สำคัญ ความต้องการใช้ของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ลองทบทวนความต้องการรถของตัวท่าน ซึ่งวันนี้เราเองก็พบว่า ความต้องการรถของเราเปลี่ยนไปเหมือนกัน
สำหรับทิศทาง และพัฒนาการของตลาดรถกระบะเมืองไทยในอนาคต คงต้องสังเกตจากความเคลื่อนไหวของ 2 ค่ายรถผู้นำกระบะเมืองไทย นั่นคือ TOYOTA (โตโยตา) และ ISUZU (อีซูซุ) เพราะ 2 ค่ายนี้ถือครองส่วนแบ่งตลาดรถกระบะไทยรวมกันราว 80 % หัวเรือใหญ่ขยับเมื่อใด ก็เป็นเรื่องสั่นสะเทือนวงการเมื่อนั้น
เริ่มจากค่าย TOYOTA เราได้เห็นรถกระบะใหม่ 2 รุ่น จากยักษ์ใหญ่ TOYOTA ที่ใช้เวทีฉลอง 60 ปี โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2565 เป็นเวทีเปิดตัว TOYOTA HILUX REVO BEV CONCEPT (โตโยตา ไฮลักซ์ รีโว บีอีวี คอนเซพท์) รถกระบะ HILUX ใหม่ ในรูปแบบรถกระบะไฟฟ้า ซึ่ง REVO BEV ติดตั้งระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่ทำงานด้วยแบทเตอรี BEV ลิเธียม-ไอออน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความสำเร็จของความเป็นกลางทางคาร์บอน และส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม รถกระบะคันนี้มีระบบกันสะเทือนหน้าแบบปีกนกคู่ และระบบกันสะเทือนหลังแบบแหนบแข็ง
ตัวถังเป็นแบบแคบเดี่ยว พร้อมกระจังหน้าดีไซจ์นใหม่ รูปร่างด้านหน้า กระจังหน้าสะท้อนเทคโนโลยีแห่งอนาคต นอกจากนี้ ยังมีกระบะต้นแบบ IMV 0 CONCEPT (ไอเอมวี ซีโร คอนเซพท์) ซึ่งเป็นรถกระบะไฟฟ้าขนาดเล็ก มีมิติย่อมลงมาจาก HILUX REVO มีรูปร่างหน้าตาแปลกใหม่ และเต็มไปด้วยฟังค์ชันการใช้งานที่สามารถปรับใช้งาน ได้หลากหลายวัตถุประสงค์
แม้รถกระบะ 2 รุ่นนี้ยังคงเป็นรถกระบะต้นแบบ แต่เราได้เห็นสัญญาณที่บ่งบอกอนาคตชัดเจนว่า โลกของรถกระบะจะเปลี่ยนไปทางไหน
ในขณะที่ค่ายใหญ่ ISUZU (อีซูซุ) เจ้าตลาดรถกระบะเมืองไทยอีกราย เหมือนไม่มีข่าวด้านการพัฒนารถยนต์โฉมใหม่มากนัก แต่หากเราต้องการเห็นอนาคตของ ISUZU เราต้องไปอ่านแผนพัฒนาธุรกิจระยะกลางของ ISUZU ซึ่งประกาศไว้เมื่อปี 2022 โดย ISUZU มีเป้าหมายขยายธุรกิจตลาดรถกระบะ (LCV) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ISUZU D-MAX โดย ISUZU เริ่มศึกษารายละเอียดของรถกระบะไฟฟ้า (BEV) ซึ่งประกอบไปด้วย รถกระบะรุ่นแบทเตอรีไฟฟ้า (BEV), รถกระบะรุ่นไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และอื่นๆ ทั้งนี้คาดว่า เราจะได้เห็นรถกระบะไฟฟ้าของ ISUZU ในราวปี 2567 สำหรับ ISUZU นั้นมีแหล่งผลิตรถกระบะ 3 แห่งทั่วโลก และแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงงานหลัก มีกำลังการผลิต 340,000 คัน/ปี ในตลาดไทย ISUZU ยืนหนึ่งในแง่ของรถกระบะที่มีลูกค้าเลือกเป็นเบอร์ต้นๆ ของตลาด ด้วยจุดแข็งด้านการตลาด ที่โดดเด่นเกินหน้าจุดแข็งทางด้านผลิตภัณฑ์ จนไม่มีค่ายไหนตามได้ทัน และระยะยาว ISUZU ก็ยังคงเหนียวแน่นในตลาดเกินกว่าใครจะโค่นลงได้ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ในตลาดอาจจะไม่จำเป็นสำหรับลูกค้า ISUZU
MITSUBISHI XRT CONCEPT ม้ามืดมาแรง
ในขณะที่ผู้นำตลาด 2 ค่ายใหญ่กำลังมองไปถึงอนาคต แต่ม้ามืดอย่าง MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) ได้ใช้จังหวะของการเปลี่ยนถ่าย TRITON (ทไรทัน) สู่รถกระบะโฉมใหม่ บอกทิศทางในอนาคตของรถกระบะตัวเอง ผ่านการเปิดตัวรถกระบะต้นแบบ MITSUBISHI XRT CONCEPT (มิตซูบิชิ เอกซ์อาร์ที คอนเซพท์) ที่กรุงเทพฯ
รถกระบะต้นแบบจาก MITSUBISHI นี้จะมาแทน MITSUBISHI TRITON ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2561 โดย XRT มีกำหนดออกสู่ตลาดไทย เดือนกรกฎาคม 2566 แม้ยังไม่มีรายละเอียดเครื่องยนต์ และมิติของตัวรถ แน่นอนว่า XRT คือ เจเนอเรชันใหม่ของกระบะอนาคต ย่อมมีสิ่งที่เหนือความคาดหวังซ่อนอยู่
MITSUBISHI อยู่ในตลาดรถกระบะไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นรถกระบะญี่ปุ่นค่ายแรกที่ประกาศย้ายฐานการผลิตรถกระบะออกจากญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาบแรนด์รถกระบะทุกค่ายจากญี่ปุ่นก็เดินกลยุทธ์กระจายแหล่งการผลิตออกนอกญี่ปุ่น ตามแบบของ MITSUBISHI จนทำให้ไทยเป็นแหล่งดึงดูดฐานการผลิตรถกระบะจากค่ายรถใหญ่ๆ ของโลกเกือบทั้งหมด
ปัจจุบัน MITSUBISHI มีการครอบครองส่วนแบ่งตลาดรถกระบะไทยเป็นลำดับ 4 รองจาก ISUZU, TOYOTA และ FORD แต่ในแง่ของตัวเลขการส่งออกรถกระบะจากไทย
นั้น MITSUBISHI คือ ผู้นำมาโดยตลอด ทั้งนี้บแรนด์ MITSUBISHI ได้รับการเชื่อถือจากตลาดยุโรปค่อนข้างมาก ผลจากการวางรากฐานการส่งออกมากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก ได้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของรถกระบะที่ส่งออกจากไทย ทำให้สินค้ารถกระบะจากไทยยกระดับคุณภาพ และได้รับการไว้วางใจในแง่สินค้าดี MADE IN THAILAND
MITSUBISHI ในแง่ของตัวรถนั้นได้รับการยอมรับ แต่ความจำเป็นทำให้ MITSUBISHI ต้องถูกซื้อกิจการโดย RENAULT-NISSAN (เรอโนลต์-นิสสัน) กิจกรรมต่างๆ หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง ทำให้ระยะเวลาของการพัฒนารถรุ่นใหม่ การพัฒนาโชว์รูม ผู้แทนจำหน่าย อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนารถ คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีผลอย่างมากต่อชิ้นส่วนที่สำคัญอย่างเซมิคอนดัคเตอร์ ที่ขาดแคลนอย่างรุนแรง แต่หลังจากทุกอย่างเริ่มฟื้นตัว MITSUBISHI ไม่รีรอที่จะประกาศถึงแผนการแนะนำรถกระบะโฉมใหม่ในตลาด
เดิมทีรถกระบะ TRITON โฉมใหม่ MITSUBISHI จะต้องร่วมมือกับ RENAULT-NISSAN ในการพัฒนารถกระบะใหม่ จากพแลทฟอร์มเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุน RENAULT-NISSAN คือ บริษัทแม่ของ MITSUBISHI อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากวงในระบุว่า การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกันของ 2 ค่ายนี้ ได้ลดลำดับความสำคัญลงไป เมื่อเทียบกับแผนการดั้งเดิม เนื่องจากแนวทางการพัฒนาของ MITSUBISHI ไม่สามารถเข้ากันได้กับนโยบายดังกล่าว และหน้าตาคอนเซพท์ของรถก็มุ่งไปในทิศทางของรถกระบะ บึกบึน มีความเป็นสปอร์ท และมีการขยายระยะห่างฐานล้อให้มากขึ้น ซึ่งหมายถึง ขนาดของรถที่ใหญ่โตขึ้นนั่นเอง TRITON ใหม่ ในการผลิตจริงๆ จะยังคงรูปร่างของ XRT ไว้มากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามกันในอนาคต
ถ้าพูดถึงรถกระบะที่มาแรงแซงทางโค้ง ต้องยกให้ยี่ห้อ FORD (ฟอร์ด) เพราะสามารถรักษาตำแหน่งรถขายดีลำดับที่ 3 ของตลาดรถกระบะได้อย่างถาวร ราชาแห่งรถกระบะอเมริกันบแรนด์นี้ มุ่งตีตลาดรถกระบะเมืองไทยมาตลอด 20 ปี จากเป้าหมายแค่ขอส่วนแบ่ง ปีละ 10 % ในช่วงแรกๆ ยังห่างเป้าหมาย แต่ FORD เริ่มจับแนวทางได้ว่า การมุ่งเป้าในเซกเมนท์รถกระบะ จำเป็นต้องแยกแยะให้ได้ว่า จุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละเซกเมนท์ในตลาดของผู้นำอยู่ตรงไหน นั่นเป็นที่มาว่า ทำไม FORD จึงเทออพชัน และทรัพยากรสมัยใหม่ ไปในรถกระบะแบบ 4 ประตู เพราะในกลุ่มตลาดรถกระบะคอมเมอร์เชียล รถหัวเดียว รวมถึงรถกระบะที่มีตัวถังพิเศษแบบแบนเรียบ ไม่มีที่ว่างพอ หากจะเบียด TOYOTA และ ISUZU ในตลาดการใช้งานเป็นรถอเนกประสงค์แบบรถ 2 ประตูมีแคบ รถกระบะโหลดเตี้ย และรถกระบะแบบกระบะยกสูง สำหรับชีวิตกึ่งงานกึ่งเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เจ้าตลาดอย่าง ISUZU ก็แข็งแรงมาก TOYOTA และ MITSUBISHI ก็แกร่ง
ยังเหลือเพียงตลาดเดียว คือ กลุ่มรถ 4 ประตู ซึ่งใช้เป็นรถกระบะเน้นด้านการเดินทางและไลฟ์สไตล์ มีลักษณะการใช้งานเหมือนรถยนต์อเนกประสงค์ (เอสยูวี) ซึ่งแตกต่างไปจาก 2 ตลาดสุดหิน ตลาดรถกระบะ 4 ประตู ถูกใช้งานแบบรถยนต์นั่ง ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ไม่ยึดติดเรื่องราคา และกล้าลองของใหม่ๆ ซึ่งในตลาดนั้น รถ 4 ประตู ไม่มีค่ายไหนเลยที่นำเสนอออพชัน และคุณภาพการขับขี่ระดับเอสยูวีที่แท้จริง FORD เปิดฉากการวางตัว RANGER (เรนเจอร์) ในตลาดพรีเมียมนี้ และอดีต FORD MOTOR คือ ผู้อยู่เบื้องหลังการปรับลดภาษีรถกระบะ 4 ประตู ครั้งสำคัญของเมืองไทย
FORD ต่อยอดความแกร่งทางด้านเทคโนโลยีด้วยการสร้างกระบะเซกเมนท์ใหม่ในตลาดขึ้นมา นั่นคือ กระบะสมรรถนะสูง หรือ ”ซูเพอร์พิคอัพ” ใครต่างคิดว่า รถกระบะราคา 1.79 ล้านบาท ในเวลานั้น จะเป็นที่ยอมรับในตลาด เพราะเวลานั้นรถกระบะเกิน 9 แสนบาท ก็คือแพงมากแล้ว แต่ FORD กลับทำสำเร็จในการแนะนำ RANGER RAPTOR (เรนเจอร์ แรพเตอร์) จนมาถึง RAPTOR เจเนอเรชันที่ 2 ราคาก็สูงขึ้นไปอีก แต่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ไม่สามารถพบได้ในคู่แข่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้ FORD ได้รับผลตอบแทนการทำงานหนักมามากกว่า 19 ปีในเมืองไทย ในฐานะเป็นแชมพ์รถกระบะ 1 ตัน ในลำดับที่ 3 มีส่วนแบ่งเฉพาะ 10 % เป็นรอง TOYOTA และ ISUZU เบียด NISSAN (นิสสัน) MITSUBISHI, MAZDA (มาซดา) และค่ายอื่นๆ ลงได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เกิดขึ้นในตลาดสุดโหดนี้ FORD ไม่เคยพูดถึงทิศทางใหม่ของรถกระบะในอนาคต แต่หากพิจารณาจากต่างประเทศ FORD เองก็พัฒนารถยนต์พลังงานใหม่ๆ ในกระบะรุ่นพี่ ซึ่งก็ไม่ยากนักที่จะนำมาใช้ในรถกระบะทั่วโลก
ความสำคัญของตลาดรถกระบะไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นลำดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา และเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ในแง่ขนาดตลาดรถกระบะบรรทุก 1 ตัน และฐานการผลิตเพื่อการส่งออกรถ LCV ของโลก เห็นทิศทางการพัฒนาของรถกระบะเช่นนี้แล้ว ท่านที่ต้องการซื้อรถคันใหม่มาใช้ในการเดินทาง ก็ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้งานรถกระบะของตัวเอง เพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีมากนักก็ได้
รถกระบะในประเทศไทย ครองส่วนแบ่งตลาดรถเกินกว่า 50 % ของรถที่ขายทั้งตลาด กว่า 20 ปีมาแล้ว ตลาดนี้มีผู้ค้าน้อยราย คือ มีเพียง 6 รายใหญ่ ปัจจุบันก็ยังถือว่า ตลาดรถกระบะมีผู้ผลิตรถน้อยรายอยู่ดี เพราะประกอบไปด้วยบแรนด์สำคัญ คือ ISUZU TOYOTA, NISSAN, MITSUBISHI, FORD, MAZDA และ MG (เอมจี) น้องใหม่
การมีผู้เล่นน้อยราย แต่ตลาดมีขนาดใหญ่ จึงหอมหวนสำหรับผู้ค้าหน้าใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ เราได้เห็นผู้ค้าเข้า และออกจากตลาดนี้บ่อยๆ ไม่ว่าเป็นรถกระบะบแรนด์ไทย เช่น VMC (วีเอมซี) ในอดีต รถกระบะอเมริกันใจมดอย่าง CHEVROLET (เชฟโรเลต์) หรือรถกระบะจีนอย่าง FOTON (โฟตอน) ล้วนต่างล้มเหลวในการปักธงของตัวเอง ในขณะที่ผู้ค้าหน้าเก่าอย่าง NISSAN ผู้เชื่องช้า หรือ MAZDA ผู้ลืม ซูม…ซูม เอง ซึ่งอยู่ในสนามรบมายาวนานวันนี้ ยังแก้โจทย์ของตัวเอง MG ที่แข็งแกร่ง ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายของตัวเองในวงการรถกระบะ
ซึ่งตลาดรถกระบะไทยยังหอมหวาน ในอนาคตเราคงได้เห็นผู้ท้าทายใหม่ๆ มาพร้อมด้วยเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถกระบะจากจีน แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้น ให้เวลา และอนาคตเป็นผู้ตอบ แต่บอกได้อย่างหนึ่งว่า
ผู้นำตลาดรถกระบะ ถือความได้เปรียบในแง่ความชำนาญในช่องทางขาย การรู้ถึงพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง แน่นอนว่า การเสียตลาดเพียง 1 % แก่ผู้ค้าหน้าใหม่ มันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับผู้นำตลาดอย่างแน่นอน
ABOUT THE AUTHOR
จ
จอมยุทธ์
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 417 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2566
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)