รายงาน(formula)
4 ถ้า 5 รู้ เรื่องต้องคิด ก่อนเป็นเจ้าของรถ EV
ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น ใครที่เล็งจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV เราจะพามาดู 9 ข้อ ที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจ
1. ถ้าจะซื้อรถ EV
ก่อนอื่นต้องพิจารณาความต้องการ หรือความจำเป็นของตัวเองว่า ใช้งานอย่างไร เช่น ขับในเมือง ไปทำงานเช้า-เย็น-กลับในเส้นทางเดิมเป็นประจำ ขับไปรับ-ส่งลูก หรือขับไปท่องเที่ยว เพราะการใช้งานจะกำหนดประเภทรถที่เหมาะสมกับเรา
สำหรับคนที่อยู่ในเมือง ไม่ค่อยไปไหนไกลๆ ระยะทางไม่เกิน 100 กม. สามารถเลือกรถไฟฟ้าที่โดนใจได้ง่ายกว่า เพราะปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้ามีระยะทางการวิ่งตั้งแต่ 200 กม. ขึ้นไป จนถึง 500 กม. แต่ถ้าต้องใช้รถเดินทางระยะทางไกล อาจต้องเลือกรุ่นที่มีความจุแบทเตอรีสูงไว้ก่อน เพราะสามารถใช้งานได้ครอบคลุมกับระยะทางการวิ่ง แม้ปัจจุบันจะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมเส้นทางสายหลักเกือบทั้งหมด แต่สำหรับเส้นทางสายรองยังมีจุดชาร์จไม่มากนัก
2. ถ้าต้องขับรถ EV ลุยน้ำท่วม ?
ผศ.ดร. สนันตน์เขม อิชโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า รถยนต์ไฟฟ้าได้ติดตั้งระบบป้องกันที่เรียกว่า INGRESS PROTECTION (IP) และระดับ IP นี้ได้รับการจัดอันดับ (เช่น IP65 หรือ IP67) การให้คะแนนนี้สอดคล้องกับการป้องกันน้ำ และฝุ่น ยิ่งคะแนนสูงเท่าใด การป้องกันก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นปัจจุบันมีระดับ IP67 ซึ่งค่อนข้างกันน้ำได้ดี
ด้าน รศ.ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ผู้เชี่ยวชาญรถยนต์ไฟฟ้า บอกว่า มาตรฐาน IP67 จะสามารถป้องกันน้ำ จมน้ำ ได้ประมาณ 30 นาที ดังนั้น รถยนต์ไฟฟ้าไม่ควรลุยน้ำสูงเกิน 30 นาที ไม่เช่นนั้นก็มีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปในระบบแบทเตอรี แต่หากน้ำเข้าไปในแบทเตอรี แล้วเกิดการ “ชอท” ก็ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต เพราะเมื่อไหร่ที่ไฟฟ้าชอท เครื่องยนต์จะดับทันที
มาตรฐาน IP มีตัวเลขแสดงระดับการป้องกันอยู่ 2 หลัก โดยหลักแรกแสดงถึงระดับการป้องกันจากของแข็ง รวมไปถึงฝุ่น มีตั้งแต่ระดับ 0-6 หลักที่ 2 แสดงระดับการป้องกันของเหลว ตั้งแต่ 0-8 ซึ่งค่ามาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปอยู่ที่ IP67
3. ถ้าชาร์จรถ EV กลางฝน ปลอดภัยหรือไม่ ?
แท่นชาร์จของทุกบริษัทออกแบบตามมาตรฐาน และมีระบบป้องกันเป็นอย่างดี โดยจะมีช่องที่สามารถระบายน้ำได้ แม้ในช่วงฝนตก ทำให้ไม่มีน้ำขังบริเวณหัวประจุ รวมถึงมีการติดตั้งระบบตัดไฟรั่ว ไฟเกิน (CIRCUIT BREAKER) และลงสายดินเอาไว้ทุกตู้
ตัวรถส่วนใหญ่มีซีลกันน้ำที่สามารถกันฝุ่น และกันน้ำสาด ป้องกันน้ำฝนกระเด็นเข้าไปยังขั้วชาร์จไฟฟ้า ซึ่งระบบเซนเซอร์จะตัดกำลังไฟฟ้าทันทีหากพบกระแสไฟรั่วในวงจร แต่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องเพิ่มความปลอดภัยด้วยการสำรวจบริเวณแท่นชาร์จ หัวประจุ และสายไฟทุกครั้งก่อนชาร์จว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ รวมถึงเช็ดทำความสะอาดบริเวณจุดที่ชาร์จให้แห้งก่อนปิดฝา เพื่อป้องกันละอองน้ำฝนที่อาจกระเด็นเข้าไปตรงที่ชาร์จไฟ
4. ถ้าติดตั้ง EV CHARGER ที่บ้าน ต้องเตรียมอะไรบ้าง ?
1. ขอเพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้าน ให้มีขนาดตั้งแต่ 30 แอมพ์ขึ้นไป หรือถ้าเป็นมิเตอร์ 3 เฟส ก็ควรใช้ขนาด 15/45 แอมพ์ เพื่อให้มิเตอร์มีขนาดเพียงพอสำหรับรองรับปริมาณการใช้ไฟในบ้านที่มากขึ้น แต่การพิจารณาว่าจะใช้ไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส ต้องพิจารณารุ่นของรถยนต์ไฟฟ้า และคุณสมบัติของเครื่องชาร์จที่จะนำมาติดตั้งด้วย
2. เชคขนาดสายไฟเมน หรือขนาดสายไฟที่เชื่อมมายังตู้ควบคุม ต้องเปลี่ยนมาใช้ขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดของสายทองแดง รวมไปถึงเชคตู้ MAIN CIRCUIT BREAKER (MCB) ที่สามารถรองรับกระแสไฟได้สูงสุดไม่เกิน 100 แอมพ์
3. ดูว่ามีช่องว่างสำหรับติดตั้ง MINIATURE CIRCUIT BREAKER หรือไม่ เพราะการติดตั้ง EV CHARGER ที่บ้าน จะต้องแยกช่องจ่ายไฟออกไปต่างหาก อย่าใช้รวมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
4. เครื่องตัดไฟรั่ว (RESIDUAL CURRENT DEVICE) มีไว้สำหรับตัดวงจร เมื่อมีค่ากระแสไฟฟ้าไหลเข้า-ออกไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร
5. เต้ารับสำหรับการติดตั้ง EV CHARGER ที่บ้าน จะไม่เหมือนเต้ารับเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป การเสียบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าควรใช้แบบ 3 รู และใช้สายดิน แยกออกจากหลักดินของระบบไฟเดิมของบ้าน
6. เชคตำแหน่งที่จะติดตั้ง EV CHARGER ว่ามีระยะห่างเหมาะสมกับความยาวของสายชาร์จหรือไม่ เพราะระยะความยาวของสายชาร์จส่วนใหญ่จะไม่เกิน 5 ม. และตำแหน่งที่ติดตั้งต้องอยู่ในที่ร่ม สามารถป้องกันแดด-ฝนได้ แม้ว่าตัวเต้ารับจะเป็นรุ่นที่ระบุว่าไว้ภายนอกบ้านได้ก็ตาม
ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง EV CHARGER มี 2 ส่วน คือ ค่าเปลี่ยนมิเตอร์ และค่า EV CHARGER โดยค่าเปลี่ยนมิเตอร์นั้นหากจะต้องเปลี่ยน ให้เปลี่ยนเป็นแบบที่การไฟฟ้าแนะนำ ซึ่งค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 4,700 บาท แต่หากมิเตอร์เดิมได้มาตรฐานอยู่แล้ว ก็สามารถตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้เลย ในส่วนของค่า EV CHARGER โดยทั่วไป ราคาจะอยู่ประมาณ 35,000-75,000 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ และรุ่นของ EV CHARGER
5. รู้จักเป็นนักวางแผน
ต้องเข้าใจว่าจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ายังมีมากไม่เท่าปั๊มน้ำมัน หากเราอยากเดินทางไปต่างจังหวัดไกลๆ ก็ต้องวางแผนการเดินทางให้ดี โดยเชคว่าระยะทางที่เราเดินทางไปนั้น พอกับไฟฟ้าที่รถเรามีอยู่หรือไม่ เช่น ถ้าต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครสวรรค์ ระยะทางประมาณ 250 กม. แม้การเดินทางขาไปนั้นจะไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องวางแผนต่อว่า จะเอารถไปชาร์จไฟได้ที่ไหน มีจุดชาร์จเร็วให้ใช้งานในบริเวณใกล้เคียงหรือเปล่า และถ้าชาร์จเร็วแล้วไฟจะบรรจุเข้าได้แค่ 80 % จะพอขับกลับได้หรือเปล่า ถ้าไม่พอ ต้องมาแวะชาร์จตรงไหนได้อีก นี่คือ เรื่องที่ต้องวางแผนเองทั้งหมด
5 แอพพลิเคชัน หาสถานีชาร์จ ที่ต้องโหลดติดไว้
1. EVOLT
ค้นหาสถานีชาร์จได้สะดวก และง่ายดายผ่านมือถือ สามารถดูข้อมูลแต่ละสถานี แถมยังสามารถสั่งเริ่ม และหยุดการชาร์จได้ผ่านแอพพลิเคชัน
2. EA ANYWHERE
ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ นอกจากจะช่วยค้นหาสถานีชาร์จได้แล้ว ยังช่วย “นำทาง” มายังสถานีชาร์จรถไฟฟ้าได้อีกด้วย
3. EV STATION PLUZ
สถานีชาร์จรถไฟฟ้าในเครือ ปตท. ครอบคลุมการใช้งานสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถเชคความพร้อมการให้บริการของแต่ละสถานี และเชคสถานะขณะชาร์จได้แบบเรียลไทม์
4. MEA EV
สามารถค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิดทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีระบบอัจฉริยะที่ช่วยวางแผน คำนวณเส้นทาง พร้อมกับบอกจุดแวะพักระหว่างทาง รองรับทั้งระบบชาร์จ DC และ AC
5. PEA VOLTA
มาพร้อมฟังค์ชันแสดงตำแหน่งสถานีที่อยู่ใกล้ และแสดงแผนที่นำทางด้วย GPS เพื่อเข้าใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว แถมยังสามารถจองคิวชาร์จล่วงหน้าได้
6. รู้ความจุของแบทเตอรี
รถยนต์ไฟฟ้า BEV (BATTERY ELECTRIC VEHICLE) ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบทเตอรี 100 % ถ้าใช้แบทเตอรีความจุ 60-90 กิโลวัตต์ จะสามารถวิ่งได้ไกลราว 338-473 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ รถ EV แต่ละยี่ห้อมีเวลาการชาร์จไม่เท่ากัน (ตามขนาดความจุของแบทเตอรี) เช่น ชาร์จแบบธรรมดาใช้ไฟบ้านเป็นกระแสสลับ (AC) บางคันใช้เวลา 10-12 ชม. บางคันใช้เวลาประมาณ 12-16 ชม. ชาร์จแบบรวดเร็วจาก EV CHARGER บางคันใช้เวลา 1-2 ชม. หรือบางคันใช้เวลา 3-4 ชม. และหากชาร์จด่วนตามสถานีนอกบ้านที่ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง DC CHARGER ใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที
ความจุแบทเตอรี รถ EV แต่ละยี่ห้อ
NETA V (เนทา วี)
ความจุแบทเตอรี 38.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทางขับขี่ 384 กม. (มาตรฐาน NEDC)
BYD DOLPHIN (บีวายดี ดอลฟิน)
รุ่น STANDARD RANGE ความจุแบทเตอรี 44.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทาง 410 กม . (มาตรฐาน NEDC)
ORA GOOD CAT (โอรา กูด แคท)
รุ่น 400 PRO และ 500 ULTRA ความจุแบทเตอรี 47.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทาง 400 กม. (มาตรฐาน NEDC)
MG4 ELECTRIC (เอมจี 4 อีเลคทริค)
ความจุแบทเตอรี 51.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทาง 425 กม. (มาตรฐาน NEDC)
TOYOTA BZ4X (โตโยตา บีเซด 4 เอกซ์)
ความจุแบทเตอรี 71.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทาง 411 กม. (มาตรฐาน WLTP)
VOLVO C40 RECHARGE PURE ELECTRIC (โวลโว ซี 40 รีชาร์จ เพียวร์ อีเลคทริค)
ความจุแบทเตอรี 78 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทางมากกว่า 500 กม. (มาตรฐาน NEDC)
MG MAXUS 9 (เอมจี แมกซัส 9)
ความจุแบทเตอรี 90 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทาง 540 กม. (มาตรฐาน NEDC)
7. รู้จักหัวชาร์จแต่ละแบบ
ปัจจุบันตู้ชาร์จสาธารณะจะมีหัวชาร์จแบทเตอรีให้เลือก 3 แบบ ดังนี้
1. DC CCS2 เป็นหัวชาร์จ DC ที่ได้รับการใช้งานมากที่สุด โดยหัวชาร์จ DC CCS2 จะรองรับการจ่ายพลังงานไฟฟ้าด้วยกระแสไฟฟ้าสูงถึง 350 กิโลวัตต์ ในไทยตู้ชาร์จสาธารณะส่วนใหญ่จะรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 50-120 กิโลวัตต์
2. AC TYPE 2 หัวชาร์จกระแสสลับแบบมาตรฐาน รถยนต์ไฟฟ้ากว่า 90 % ทั่วโลกที่ใช้หัวชาร์จรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงถึง 43 กิโลวัตต์ โดยตู้ชาร์จสาธารณะในไทย จะใช้กำลังการจ่ายไฟฟ้าอยู่ที่ 22 กิโลวัตต์
3. DC CHADEMO หัวชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบมาตรฐาน หัวชาร์จประเภทนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างน้อย เนื่องจากว่าตู้ชาร์จที่มีหัวชาร์จประเภทนี้ในเมืองไทยมีอยู่เพียง 2 บแรนด์เท่านั้น คือ ตู้ชาร์จของ PTT EV และ PEA VOLTA ซึ่งหัวชาร์จ CHADEMO รองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงถึง 100 กิโลวัตต์ แต่บางตู้ชาร์จสาธารณะส่วนใหญ่จะรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุดเพียง 50-60 กิโลวัตต์ เท่านั้น
การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มีทั้งหมด 3 รูปแบบ และใช้ระยะเวลาในการชาร์จแตกต่างกัน คือ
1. ชาร์จแบบธรรมดา (NORMAL CHARGE): เป็นการชาร์จไฟฟ้าจากตัวเต้ารับโดยตรง หรือการเสียบชาร์จโดยตรงกับไฟบ้าน ใช้เวลาในการชาร์จ 1 รอบ ประมาณ 12-16 ชม.
2. ชาร์จแบบรวดเร็ว (DOUBLE SPEED CHARGE): เป็นการชาร์จจากเครื่องชาร์จ EV CHARGER โดยสามารถซื้อมาติดตั้งไว้ใช้งานที่บ้านได้ ซึ่งเครื่องชาร์จนี้จะช่วยชาร์จแบทเตอรีให้เต็มเร็วขึ้น โดยใช้เวลาในการชาร์จ 1 รอบ ประมาณ 6-8 ชม.
3. ชาร์จแบบด่วน (QUICK CHARGE): เป็นการชาร์จไฟฟ้าตรงเข้ากับแบทเตอรีเลย ใช้เวลาชาร์จจาก 0-80 % ใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที ส่วนใหญ่แล้วการชาร์จรูปแบบนี้ มักจะเห็นได้ตามสถานีบริการต่างๆ ที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการชาร์จ
ค่าใช้จ่ายในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละราย แบ่งเวลาเป็น
- ON PEAK ตั้งแต่ 09.00-22.00 น. (ค่าบริการประมาณ 6-7 บาท/หน่วย)
- OFF PEAK ช่วงเวลา 22.00-9.00 น. เสาร์-อาทิตย์ ทั้งวัน และวันหยุดต่างๆ (ค่าบริการประมาณ 4 บาท/หน่วย)
กรณีชาร์จที่บ้าน ค่าไฟจะคิดในอัตราขั้นบันได ขึ้นอยู่กับการใช้ไฟฟ้าในแต่ละบ้าน เฉลี่ยประมาณ 4 บาท/หน่วย
แต่ถ้าติดมิเตอร์แบบ TOU (TIME OF USE) หรืออัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ ถ้าชาร์จในช่วง OFF PEAK ค่าไฟจะอยู่ที่ประมาณ 2.60 บาท/หน่วย (1 หน่วยไฟฟ้า = 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง)
8. รู้ส่วนลด-เงินอุดหนุน มีอะไรบ้าง ?
ส่วนลดภาษีอากร
การลดภาษีอากร แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่
1. รถ EV ที่ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท เช่น ราคารถ EV ที่ซื้อง่ายในราคา 2 ล้านบาท จะได้รับส่วนลดภาษีอากรสูงสุดถึง 40 % หากเสียภาษีรถต่ำกว่า 40 % อยู่แล้ว ให้ยกเลิกการจ่ายภาษีในส่วนนี้ไป
2. รถ EV ที่ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยรถ EV ราคาในเกณฑ์ 2-7 ล้านบาท จะได้รับส่วนลดสูงสุด 20 % หากภาษีที่ต้องเสียน้อยกว่า 20 % ให้ยกเว้นภาษี ซึ่งในอนาคตหากมีรถที่ราคาสูงกว่า 7 ล้านบาท อาจจะมีการพิจารณาส่วนลดเพิ่มเติม
เงินอุดหนุนซื้อรถ
เงินอุดหนุนนี้เป็นเหมือนเงินสมทบที่รัฐช่วยจ่ายให้แก่ผู้ที่มีพแลนจะออกรถไฟฟ้าใหม่ ทำให้ผู้ซื้อจ่ายเงินน้อยลง แบ่งตามความจุแบทเตอรี ได้ดังนี้
- รถยนต์ไฟฟ้าที่ซื้อมีความจุแบทเตอรีระหว่าง 10-30 กิโลวัตต์ชั่วโมง รับเงินอุดหนุน 70,000 บาท
- รถยนต์ไฟฟ้าที่มีความจุแบทเตอรีมากกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท
ส่วนลดภาษีสรรพสามิต
- ภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีที่ค่ายรถยนต์จ่ายให้แก่สรรพสามิตเมื่อมีการนำเข้ารถยนต์ในประเทศ แต่ช่วงนี้รัฐบาลได้ลดภาษีสรรพสามิตลงจากเดิม 8 % ให้เหลือเพียง 2 % ทำให้นำเข้ารถยนต์ได้ในราคาที่ถูกลง ผู้ซื้อจึงมีโอกาสได้รับรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาประหยัดกว่าเดิม
ทั้งนี้ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ อาจมีคำถามว่า มาตรการอุดหนุนราคารถ EV สูงสุด 150,000 บาท จะยกเลิกไปหรือไม่ กรมสรรพสามิตยืนยันว่า มีวงเงินเพียงพอจนถึงเดือนกันยายนปีนี้ และเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ขยายอายุมาตรการออกไป เพื่อให้เป็นไปตามแผนปี 2565-2568
9. รู้ไว้ประกันรถ EV แพงกว่ารถน้ำมัน ?
PRICEZA MONEY วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ประกันรถ EV แพงกว่ารถน้ำมันออกมาเป็น 4 ข้อ คือ
1. คนใช้รถ EV ยังเป็นส่วนน้อย
2. รถ EV มีค่าแรง และค่าซ่อมสูงกว่ารถทั่วไป
3. งานซ่อมในไทยยังไม่เชี่ยวชาญมากพอ
4. จำนวนอะไหล่ต่างๆ ยังมีไม่มาก ต้องรอนำเข้า ซึ่งใช้เวลานานหากมีการซ่อม หรือเปลี่ยน
ทั้งนี้ มีการคำนวณว่า ในอีก 2 ปี ราคาประกันจะถูกลง เพราะปี 2024 เป็นปีแรกที่ค่ายรถ EV ที่นำเข้ารถมาขายในไทย จะต้องผลิตรถ EV ในปริมาณเดียวกับที่นำเข้ามาขายก่อนหน้า ตามเงื่อนไขการสนับสนุนของรัฐ ซึ่งเมื่อเกิดการตั้งโรงงานผลิต จนผลิตรถ EV ในประเทศได้ จะทำให้อะไหล่ต่างๆ มีราคาถูกลง ความรู้เรื่องการซ่อมถูกถ่ายโอนมาที่ไทยมากขึ้น ทางเลือกอู่ซ่อมจะเกิดขึ้น และราคาประกันภัยรถ EV ก็จะถูกลงเรื่อยๆ
ราคาประกันชั้น 1 รถ EV รุ่นฮิท
BYD ATTO3 (บีวายดี อัตโต 3) ราคาประกัน 27,000-37,000 บาท
ORA GOOD CAT ราคาประกัน 24,000-32,000 บาท
NETA V ราคาประกัน 17,500-29,000 บาท
VOLVO XC40 (โวลโว เอกซ์ซี 40) ราคาประกัน 54,000-70,000 บาท
ราคา หรือมูลค่ารถยนต์รุ่นนั้นๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการคำนวณราคาประกันรถยนต์ ดังนั้น ถ้าราคาขาย หรือมูลค่ารถ EV แพงขึ้น ราคาประกันก็จะต้องปรับเพิ่มขึ้นตาม
ยางรถ EV ดีกว่ายางรถยนต์ทั่วไปยังไง ?
- ลดเสียงรบกวนจากถนน (เงียบกว่า) ยางรถยนต์ทั่วไป
- รองรับแรงบิดสูง ยึดเกาะถนน และลดระยะเบรคได้ดีกว่า
- รองรับน้ำหนักตัวรถยนต์ได้ดีกว่า 10-20 % ถ้าเทียบกับยางรถยนต์ทั่วไป
- น้ำหนักยางที่เบากว่า และยังมีคุณสมบัติลดแรงต้านจากการหมุนของล้อต่ำ ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่า
ยางรถ EV จะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 50,000-70,000 บาท/4 เส้น แล้วแต่ยี่ห้อของยาง และสเปค แต่ใช้งานได้นานกว่ารถสันดาป ซึ่งอาจใช้ต่อไปได้มากกว่า 5 ปี แต่ปัจจุบันอาจยังหาซื้อได้ยาก เนื่องจากประเทศไทยยังมีการใช้รถ EV ไม่มากเท่ารถยนต์ทั่วไป
5 รุ่นยาง สำหรับรถ EV
1. CONTINENTAL ECOCONTACT 6/มีสารประกอบที่ทนทานต่อแรงบิด พร้อมโครงสร้างที่แข็งแรง
2. MICHELIN PILOT SPORT EV/ยึดเกาะสูง เหมาะกับถนนที่แห้ง และเปียก ลดเสียงรบกวน
3. BRIDGESTONE TURANZA ECO/เทคโนโลยี ENLITEN ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง หรือแบทเตอรี จากน้ำหนักยางที่ลดลงถึง 20 %
4. PIRELLI P ZERO HL/มีแรงต้านการหมุนของล้อที่น้อย เพิ่มระยะทางในการขับขี่
5. HANKOOK VENTUS S1 EVO 3 EV/เข้ากับความต้องการของแรงบิดในการขับที่สูงเพื่อการยึดเกาะที่ดีเยี่ยมในสภาพถนนเปียก และแห้ง
รวมพิกัด ! สถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั่วไทย 2566
ABOUT THE AUTHOR
อภินันท์ อุ่นทินกร
ภาพโดย : ฝ่ายภาพ, อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2566
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)