เขาว่า… : ต้องให้ “เด็กเล็ก” นั่งเฉพาะ “CAR SEAT” เท่านั้น...จริงไหม ?
จริง : เพราะเด็กเล็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เด็กอาจคอหักเสียชีวิตได้
เบาะเด็ก ถูกคิดค้นมาเพื่อปกป้องร่างกายเด็กให้อยู่กับที่ ไม่ให้กระเด็นออกนอกรถ เด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 ปี มีต้นคอที่ยังอ่อน ไม่แข็งแรง รวมถึงน้ำหนักศีรษะที่มากถึง 1 ใน 4 ของน้ำหนักตัว หากเกิดแรงปะทะ โอกาสที่เด็กจะคอหักจึงมีสูง
ผมบังเอิญไปเห็นรูปเด็กเล็ก กำลังนอนเล่นอย่างสบายใจบนคอนโซลหน้ารถบนสื่อโซเชียลมีเดีย แวบแรกผมอมยิ้มเพราะความน่ารักน่าเอ็นดูของเด็ก แต่เมื่อเห็นว่ารถคันนี้กำลังแล่นอยู่บนถนน ผมเริ่มกระวนกระวายใจทันที และอดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เด็กน้อยน่ารักคนนี้จะเป็นอย่างไร ?
ผมเขียนเรื่อง CAR SEAT (คาร์ซีท) มาหลายครั้ง และหวังที่จะได้เห็นพ่อแม่ยุคใหม่ มีความตื่นตัว และมองเห็นประโยชน์ของเบาะเด็กกันมากขึ้น เราไปทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้งครับ
เบาะเด็ก หรือ CAR SEAT ถูกคิดค้นเพื่อปกป้องร่างกายเด็กให้อยู่กับที่ ไม่ให้กระเด็นออกนอกรถ หากเกิดอุบัติเหตุ เด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 ปี มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากที่สุด จากกระดูกต้นคอที่ยังอ่อน ไม่แข็งแรง รวมถึงน้ำหนักศีรษะที่มากถึง 1 ใน 4 ของน้ำหนักตัว หากเกิดแรงปะทะ โอกาสที่เด็กจะคอหัก จึงมีสูง และไม่ควรให้เด็กเล็กคาดเข็มขัดนิรภัย เนื่องจากเข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ หรือคนที่สูงเกิน 120 ซม. เท่านั้น
หลายครั้งที่เห็นผู้ใหญ่ปล่อยลูกหลานยืนเล่นบนเบาะหน้ารถ แล้วใช้เพียงมือซ้ายประคองไว้เท่านั้น บางคนชอบให้เด็กนั่งตัก แล้วคาดเข็มขัดนิรภัยพาดทั้ง 2 คน เห็นแล้วสลดใจยิ่ง เพราะหากเกิดการชนขึ้นมา น้ำหนักผู้ใหญ่จะอัดกับเด็กผ่านสายเข็มขัดนิรภัย ทำให้เด็กคอหัก เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ดังนั้น เด็กเล็กจึงต้องนั่งเบาะเด็กเสมอ บางโรงพยาบาลแนะนำให้พ่อแม่ใช้ CAR SEAT ตั้งแต่วันแรก เด็กแรกเกิดถึง 1 ปี ใช้เบาะเด็กแบบตะกร้า และควรหันหน้าเด็กเข้าด้านท้ายรถ (ตำแหน่งหลังคนขับดีที่สุด) ส่วนอายุ 1-3 ปี สามารถหันหน้าไปหน้ารถได้ และหากเด็กอายุ 3-10 ปี และมีความสูงเกิน 120 ซม. ไปแล้ว ให้ลองคาดเข็มขัดนิรภัยดู ถ้าสายเข็มขัดนิรภัยพาดผ่านไหล่พอดี เบาะเด็กก็ถึงเวลาเลิกใช้ได้ครับ