รู้ลึกเรื่องรถ
ค้นฟ้าคว้าดาวจาก ANCAP ชนอย่างไรให้ได้ 5 ดาว ?
ช่วงที่ผ่านมา เกิดเรื่องฮือฮาในแง่ไม่ค่อยดีในวงการยานยนต์บ้านเรา เมื่อมีรถยนต์รุ่นหนึ่งได้รับการประเมินคะแนนต่ำสุด คือ 0 ดาว โดยสำนัก ANCAP หรือ AUSTRALIAN NEW CAR ASSESMENT PROGRAM หรือหน่วยงานประเมินคุณภาพรถใหม่ของประเทศออสเตรเลีย
ANCAP เป็นหน่วยงานประเมินคุณภาพ และยกระดับความปลอดภัยของรถใหม่ และเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานชื่อคล้ายกันอีกหลายแห่ง อาทิ EURONCAP ของยุโรป, C-NCAP ประเทศจีน, ASEAN NCAP กลุ่มประเทศอาเซียน, JNCAP ประเทศญี่ปุ่น, KNCAP ประเทศเกาหลี และ IIHS (INSURANCE INSTITUTE FOR HIGHWAY SAFETY) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
หน่วยงานทั้งหมดนี้จะใช้มาตรฐานเดียวกันในการประเมินคุณภาพความปลอดภัยของรถยนต์ใหม่ โดย ANCAP จะเน้นรถที่จำหน่ายในภูมิภาคออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งรถส่วนหนึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่มีจำหน่ายในบ้านเรา วิสัยทัศน์ของพวกเขา คือ “ถนนของออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์จะต้องมีผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บสาหัส เป็นศูนย์” และพันธกิจของพวกเขา คือ “ปกป้องผู้ใช้รถใช้ถนนของออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ด้วยการยกระดับความปลอดภัยของรถใหม่”
เราคงจะไม่ไปซ้ำเติมผู้ผลิตว่า ทำไมจึงได้รับการประเมิน 0 ดาว แต่ในทางกลับกัน อยากจะเชิญชวนให้เรามาดูว่า ถ้าอยากจะได้คะแนน 5 ดาว จะต้องสอบผ่านเกณฑ์โหดหินด้านใดบ้าง
ANCAP แบ่งการทดสอบออกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ ครอบคลุมทั้งส่วน PASSIVE SAFETY หรือหากเกิดการชนขึ้น รถยนต์จะสามารถคุ้มครองร่างกายของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมถึงผู้ประสบเหตุ ได้เพียงใด และ ACTIVE SAFETY รถยนต์จะสามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้ดีเพียงใด โดย 4 หัวข้อที่ประเมิน ได้แก่
1. คุ้มครองผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่ (ADULT OCCUPANT PROTECTION)
เน้นความปลอดภัยของผู้โดยสารบนที่นั่งตอนหน้า และตอนที่ 2 หัวข้อนี้มีคะแนนเต็ม 40 คะแนน ถ้าจะได้ 5 ดาว ต้องได้คะแนนเกิน 80 % และถ้าได้คะแนนต่ำกว่า 40 % จะสอบตก ซึ่งบอกเลยว่า ถ้าไม่ได้คะแนนดีในหัวข้อนี้ เสี่ยงมากที่ผลการประเมินออกมาไม่ดี
การประเมิน และให้คะแนนจะดูผลกระทบต่อร่างกายของหุ่นทดสอบที่มีหลายแบบ โดยจะประเมินผลกระทบกับหุ่นที่เกิดจากการชนแบบหน้าตรงเข้าหาวัตถุนิ่ง และแบบประสานงา (รถวิ่งชนกัน) หรือ MPDB (MOBILE PROGRESSIVE DEFORMABLE BARRIER) ที่จำลองสถานการณ์รถวิ่งประสานงาที่ความเร็ว 50 กม./ชม. ทั้ง 2 คัน และจะชนในพื้นที่ 50 % ของหน้าตัดรถ นอกจากนี้ ยังมีการจำลองการชนด้านข้างจากรถอีกคัน นั่นคือ การใช้ด้านข้างตัวรถปะทะเข้ากับเสาทั้งฝั่งคนขับ และฝั่งผู้โดยสาร รวมถึงการคุ้มครองกระดูกต้นคอขณะเกิดการชนจากด้านท้าย และสุดท้าย คือ ประเมินความยากง่ายของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังเกิดอุบัติเหตุ
2. การคุ้มครองผู้โดยสารที่เป็นเด็ก (CHILD OCCUPANT PROTECTION)
เน้นไปที่เด็กที่โดยสารในเบาะนั่งสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีท ที่ตอนหลังของรถ หัวข้อนี้มีคะแนนเต็ม 49 คะแนน ถ้าจะได้ 5 ดาว ต้องได้คะแนนเกิน 80 % และถ้าได้คะแนนต่ำกว่า 40 % จะสอบตก
การประเมินจะดูความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับร่างกายของหุ่นทดสอบขนาดเล็กขณะเกิดอุบัติเหตุ และดูว่ารถคันนั้นรองรับการติดตั้งเบาะนั่งสำหรับเด็ก (CRS: CHILD RESTRAINT SYSTEM) ได้ดีเพียงใด
3. การคุ้มครองผู้ใช้ถนนร่วมกัน (VULNERABLE ROAD USER PROTECTION)
ข้อกำหนดนี้เน้นที่การออกแบบส่วนหน้าของตัวรถ เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้น หากชนกับคนเดินถนน รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ รวมถึงประเมินศักยภาพของระบบเบรคอัตโนมัติ (AEB: AUTONOMOUS EMERGENCY BRAKE) เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ หัวข้อนี้มีคะแนนเต็ม 63 คะแนน ถ้าจะได้ 5 ดาว ต้องได้คะแนนเกิน 70 % และถ้าได้คะแนนต่ำกว่า 30 % ถือว่าสอบตก
การประเมินจะดูจากความเสียหายของศีรษะผู้ประสบเหตุ ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ทั้งคนเดินถนน และผู้ขับขี่รถจักรยาน ความเสียหายของท่อนขา และการประเมินระบบเบรคอัตโนมัติ (AEB) ทั้งเดินหน้า และถอยหลัง กับคนเดินถนน รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ โดยมีการประเมินในหลายทิศทาง และหลายสถานการณ์ ทั้งแบบจู่ๆ โผล่ออกมาจากมุมอับ หรือเลี้ยวตัดหน้า รวมไปถึงประเมินการควบคุมทิศทางอัตโนมัติ (AES: AUTONOMOUS EMERGENCY STEERING) ที่จะเตือน และหลีกเลี่ยงการปะทะจากการเปลี่ยนเส้นทาง และปี 2023 ที่ผ่านมา ได้เพิ่มการประเมินระบบหลีกเลี่ยงการเปิดประตูไปชนกับรถจักรยานที่ขี่ตามมาอีกด้วย
4. ระบบช่วยเลี่ยงอุบัติเหตุ (SAFETY ASSIST)
ประเมินว่า รถใหม่ที่ติดตั้งระบบนี้จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้ดีเพียงใด หัวข้อนี้มีคะแนนเต็ม 18 คะแนน ถ้าจะได้ 5 ดาว ต้องได้คะแนนเกิน 70 % และถ้าได้คะแนนต่ำกว่า 30 % จะสอบตก
การประเมินจะดูว่า มีการตรวจสอบว่าผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร รัดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ การตรวจสอบ และเตือนความเร็วที่ใช้ มีการทดสอบระบบเบรค และชะลอความเร็วอัตโนมัติ ฯลฯ รถที่จะได้คะแนนในหัวข้อนี้จึงต้องเป็นรถที่ไฮเทคพอตัว แต่ระบบต่างๆ เหล่านี้ มักโดนผู้ขับขี่ปิดการทำงาน เพราะอ้างว่า มันขัดขวางการขับขี่ของตัวเองที่ขับเลี้ยวซ้ายป่ายขวาแบบไม่เปิดสัญญาณไฟ
เกณฑ์ที่โหดหินขนาดนี้ ยากนักที่รถรุ่นก่อนๆ จะผ่านแล้วได้คะแนนดี โดยเฉพาะในหัวข้อการคุ้มครองผู้ใช้ถนนร่วมกัน และระบบเลี่ยงอุบัติเหตุ แต่น่าดีใจว่า รถยนต์รุ่นใหม่เกินกว่า 90 % ที่เข้าการประเมิน สอบผ่านได้คะแนนระดับ 5 ดาว รวมถึงค่ายรถจากจีน ทั้งรถไฟฟ้า และรถไฮบริด ที่มีจำหน่ายในบ้านเรา รวมถึงรถกระบะ และเอสยูวีพื้นฐานกระบะ ที่ผลิต และส่งออกไปจากบ้านเรา ก็ได้คะแนน 5 ดาวด้วยเช่นกัน เรียกว่ารถรุ่นใหม่ที่มีขายในบ้านเรา “ส่วนใหญ่” มีการคุ้มครองผู้โดยสารอยู่ในระดับดีแทบทั้งสิ้น
ส่วนพวกระบบช่วยเหลือการขับขี่ และระบบหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุนั้น สุดแล้วแต่ท่านว่าจะเปิด หรือปิดการทำงาน เพราะรถจักรยานยนต์บนท้องถนนบ้านเรา ชุมเหมือนแมลงวัน ล้อมหน้าล้อมหลังรถเรา แถมยังวิ่งย้อนศร และฝ่าไฟแดง ดังนั้นระบบจึงส่งเสียงเซ็งแซ่ จนหลายคนเลือกที่จะปิดระบบไปอย่างน่าเสียดาย
ในการทดสอบ และประเมินผล สำหรับหุ่นดัมมี ที่ ANCAP เลือกใช้ มีสารพัดแบบ เริ่มด้วย หุ่นที่มีชื่อว่า THOR ซึ่งไม่ใช่เทพเจ้าสายฟ้ากล้ามใหญ่ แต่ย่อมาจาก TEST DEVICE FOR HUMAN OCCUPANT RESTRAINT โดยหุ่น THOR รุ่นใหม่ ถูกประจำการมาตั้งแต่ปี 2020 เพื่อใช้เก็บข้อมูลที่ตำแหน่งผู้ขับขี่ในการชนแบบหน้าตรง
หุ่นตัวต่อไปชื่อ WORLDSID ออกแบบมาสำหรับประเมินผลกระทบจากการชนด้านข้าง (SIDE IMPACT) โดยจะมีเซนเซอร์ตรวจจับผลกระทบที่เกิดกับ คอ ไหล่ ซี่โครง กระดูกสันหลัง และอวัยวะภายในโดยเฉพาะ
หุ่นตัวต่อมาชื่อ HYBRID III มี 2 ขนาด ได้แก่ หุ่นตัวแทนสตรีร่างเล็ก ใช้ในตำแหน่งผู้ขับขี่ เพื่อประเมินความแรงของถุงลมนิรภัย และการทำงานของเข็มขัดนิรภัย ในกรณีที่ผู้ขับอยู่ใกล้กับพวงมาลัยมากกว่าปกติ ส่วนอีกแบบ คือ หุ่นตัวแทนสุภาพบุรุษขนาดกลาง ซึ่งจะใช้ในตำแหน่งผู้โดยสารด้านหน้า เพื่อประเมินความเสียหายของ ศีรษะ คอ อก ขา เข่า และข้อเท้า
ปิดท้ายด้วย หุ่นกลุ่ม Q-SERIES หรือหุ่นเด็ก มี 2 ขนาด ได้แก่ ขนาดที่เป็นตัวแทนเด็กอายุ 6 ปี และ 10 ปี หุ่นทั้ง 2 แบบ จะนั่งในคาร์ซีทที่ห้องโดยสารตอนหลัง ใช้ในการทดสอบการชนด้านหน้า และการชนด้านข้าง
ส่วนเกณฑ์ประเมินใหม่ที่ปรับเพิ่มในปี 2023 ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 5 หัวข้อ (ดังนั้น อย่าแปลกใจหากรถที่จำหน่ายก่อนปี 2023 จะทำคะแนนในการประเมินไม่ดีนัก)
1. การตรวจจับ และหลีกเลี่ยงการปะทะกับรถจักรยานยนต์
ปี 2018 มีการริเริ่ม และประสบความสำเร็จในการยกระดับการทำงานของระบบเบรคอัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับ คนเดินถนน รถจักรยาน และรถยนต์ ในปี 2023 ที่ผ่านมา พวกเขาได้เริ่มเกณฑ์ใหม่ ที่จะหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ โดยรถรุ่นใหม่จะต้องสามารถตอบสนองด้วยการเบรคให้ทันท่วงที หากมีรถจักรยานยนต์ตัดหน้า รวมไปถึงหลีกเลี่ยงที่จะวิ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์จากด้านท้าย และที่ยากที่สุด คือ ต้องสามารถตรวจจับ และตอบสนองต่อการเร่งแซงฉับพลันของรถจักรยานยนต์ที่มาจากด้านหลังได้ทันท่วงที
2. ยกระดับความปลอดภัยให้แก่ คนเดินถนน และผู้ใช้รถจักรยาน
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนเดินถนน และผู้ใช้รถจักรยาน นับเป็นสัดส่วนถึง 15 % ของอุบัติเหตุทั้งหมด แต่มีแนวโน้มลดลงทีละเล็กทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรณรงค์ให้ผู้ผลิตรถยนต์ออกแบบส่วนหน้าของรถให้ช่วยซับแรงปะทะที่ทำกับร่างกายของคนที่โดนชนได้ (กรณีนี้หลายคนสงสัยว่า รถที่สร้างขึ้นด้วยรูปทรง และวัสดุแข็งอย่าง TESLA CYBERTRUCK (เทสลา ไซเบอร์ทรัค) จะทำคะแนนในส่วนนี้ได้ดีเพียงใด คงต้องติดตามกัน)
ปี 2023 ANCAP ได้ยกระดับการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับท่อนขาขึ้นอีกระดับ ด้วยการริเริ่มนำเอา อุปกรณ์เครื่องมือวัดแรงปะทะที่มีรูปทรงคล้ายกับขามาใช้ (LEG FORM IMPACTOR) และนับจากนี้ การออกแบบส่วนกันชนของรถยนต์จะได้รับการปรับแต่งให้มีความเป็นมิตรต่อผู้ประสบเหตุมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่า การยกระดับความปลอดภัย คือ การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ ดังนั้น ในปี 2023 เป็นต้นไป จะมีการเริ่มรูปแบบสถานการณ์ (SCENARIO) การทดสอบใหม่อีก 3 แบบ ได้แก่
- ระบบเบรคอัตโนมัติขณะถอยรถ จะเพิ่มคนเดินถนนที่เป็นเด็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบ
- ระบบเบรคอัตโนมัติที่ทำงานกับรถจักรยานช่วงทางแยก รูปแบบการทดสอบจะเป็นการที่รถเลี้ยวเข้าทางแยก แต่มีรถจักรยานวิ่งตัดหน้า เพื่อตรวจสอบความกว้าง และความไวของระบบเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุของรถ ว่าทำงานได้ดีเพียงไร
- ระบบป้องกันการเปิดประตูรถไปชนกับรถจักรยานที่มาจากด้านหลัง เหตุการณ์นี้เชื่อว่าคงจะเคยเกิดขึ้นกับหลายคนที่เปิดประตูลงไปยังฝั่งถนน แล้วปะทะกับรถจักรยาน หรือรถจักรยานยนต์ที่ขี่ตามมา ระบบนี้นอกจากจะต้องเตือนแล้ว ยังต้องสามารถชะลอการเปิดประตูได้ด้วย
3. ระบบเบรคอัตโนมัติ หลีกเลี่ยงการชนประสานงา และชนรถที่วิ่งตัดหน้าในทางร่วมทางแยก
ทั้ง 2 ประเด็นนี้ถือว่า “ยากมาก” เนื่องจากการชนแบบประสานงา มักเกิดขึ้นด้วยความเร็วสูง ดังนั้น เซนเซอร์ที่ตรวจจับ จะต้องทำงานได้ในระยะไกลมากขึ้น ส่วนการหลีกเลี่ยงการชน จากรถตัดหน้าในทางร่วม ทางแยก ต้องอาศัยเซนเซอร์ที่ทำมุมตรวจจับกว้าง ทั้ง 2 รูปแบบนี้จะต้องอาศัยข้อมูล และประสบการณ์จากการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ
4. ระบบตรวจจับการลืมเด็กในรถ
การลืมเด็กเล็กไว้ในรถที่ลอคประตู เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในบ้านเรา ระบบนี้มีชื่อย่อว่า CPD หรือ CHILD PRESENSE DETECTION (ระบบตรวจจับการมีอยู่ของเด็ก) ระบบจะตรวจสอบเบาะหลัง และส่งสัญญาณเตือน ไม่ว่าจะผ่านระบบเครื่องเสียงภายในรถ เสียงแตร หรือส่งสัญญาณไปยังแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเจ้าของรถ รวมถึงการโทรหาเจ้าหน้าที่หากจำเป็น ในระบบที่ก้าวหน้าขึ้น อาจจะสามารถเปิดหน้าต่าง หรือเปิดระบบปรับอากาศได้ด้วย
5. ปัญหารถจมน้ำ
นับตั้งแต่ปี 2023 จะมีการประเมินว่าหากรถจมน้ำ ประตูจะต้องสามารถเปิดได้ แม้ไม่มีไฟฟ้า และกระจกไฟฟ้ายังจะต้องทำงานได้อย่างน้อย 2 นาที หลังจากที่รถจมน้ำ
และนอกเหนือจากเกณฑ์ที่ใช้กับรถทั่วไปดังกล่าวแล้ว ยังมีการประเมินเพิ่มเติมสำหรับรถไฟฟ้า ทั้งแบบแบทเตอรี 100 %, ระบบเซลล์เชื้อเพลิง และระบบไฮบริด นั่นคือ ในกรณีของรถที่ใช้แบทเตอรีที่มีศักย์ไฟฟ้าสูง รถจะต้องมีการติดตั้งระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ ซึ่งจะต้อง “ตัดกระแสไฟฟ้า” หลังเกิดอุบัติเหตุทันที โดยจะตรวจสอบว่า ตัวตัดกระแสไฟ หรือคัทเอาท์ (CUT-OUT) ทำงานได้รวดเร็วเพียงใด พร้อมกับตัวแบทเตอรีจะต้องได้รับการตรวจสอบว่าเสียหายมากน้อยเพียงใด มีการรั่วซึมที่จะเป็นอันตรายหรือไม่ ซึ่งในตอนนี้เป็นที่น่ายินดีว่า รถไฟฟ้าส่วนใหญ่สอบผ่าน และมีความปลอดภัยในเกณฑ์มาตรฐาน
ต้องขอขอบคุณ ทุกสถาบันทดสอบที่ช่วยยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน ส่วนค่ายรถไหนที่ทำพลาดได้คะแนนไม่ดี แก้มือใหม่ได้ในรอบหน้านะครับ
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2567
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ