วิถีตลาดรถยนต์
ไปไม่กลับ...หลับไม่ตื่น
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -9.8 %
รถยนต์นั่ง +21.2 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +42.1 %
กระบะ 1 ตัน -39.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -2.8 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -7.7 %
รถยนต์นั่ง +10.8 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +38.7 %
กระบะ 1 ตัน -26.9 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -6.7 %
ถ้าไม่นับเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็จะเหลืออีกเพียงแค่เดือนธันวาคมอีกเดือนเดียวเท่านั้น ปี 2566 ก็จะผ่านพ้นไป กล่าวได้ว่า ไม่มีวี่แววเลย ว่าตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ปี 2566 จะพลิกกลับมาเป็นบวก มีตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2565 ได้ ถึงแม้ว่าเดือนธันวาคมจะเป็นเดือนที่ตัวเลขยอดจำหน่ายจะปรับตัวพุ่งสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากวาระการจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40” ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ปี 2566 ไปไม่ถึงฝั่งฝันแม้จะมีรถรุ่นใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้รถของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วน ทั้งในเรื่องของราคา สมรรถนะการใช้งาน ทยอยเปิดตัวเข้าสู่ตลาดรถในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นปี รวมไปถึงการจัดพโรโมชันพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการตัดสินใจซื้อของค่ายรถต่างๆ ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ แต่มูลเหตุสำคัญ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตอย่างที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงปัญหาความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากความไม่มั่นใจในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ อันจะนำมาซึ่งหนี้เสียต่อไป ยิ่งมีข่าวว่ามีการตามยึดรถคืนกันเดือนละเป็นหมื่นๆ คันด้วยแล้ว ถ้าสถานะทางการเงินของผู้ขอกู้ไม่สวยงามเลิศหรูจริงๆ ยากที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ
เดือนพฤศจิกายน 2566 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่ป้ายแดง รวมกันทั้งสิ้น 61,621 คัน เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่หดหายไป 6,663 คัน หรือลดลง 9.8 % และเป็นอีกเดือนหนึ่งที่กองทัพรถจากประเทศจีน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งบแรนด์เดิมที่มาทำตลาดในสยามประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว และบแรนด์ใหม่ที่เริ่มทำตลาดอย่างจริงจัง โดยยักษ์ใหญ่ค่าย TOYOTA (โตโยตา) ยังเป็นบแรนด์รถยนต์ที่ได้รับความนิยมสุงสุดเหมือนเช่นทุกทีที่ผ่านมา เดือนพฤศจิกายน 2566 ทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้อีก 21,700 คัน เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 แล้วยังไม่ชื่นใจ เพราะเป็นตัวเลขที่ลดลง 2,854 คัน หรือลดลง 11.6 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 35.2 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) 10,415 คัน ไม่รอดเหมือนกัน เดือนนี้จำหน่ายได้น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง 6,146 คัน หรือลดลง 37.1 % ส่วนแบ่งการตลาดเดือนนี้ 16.9 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จำหน่ายไปได้ 7,328 คัน เสมอตัว จำหน่ายได้เท่ากับที่ทำได้ในเดือนพฤศจิกายนปีก่อนเป๊ะ ส่วนแบ่งการตลาด 11.9 % น้องใหม่มาแรงจากประเทศจีนในชื่อ BYD (บีวายดี) ที่เน้นเรื่องรถพลังงานไฟฟ้าโดดเด่นมาก เข้ามาอยู่ในอันดับ 4 จำหน่ายได้ 4,512 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด 7.3 % และอันดับ 5 เป็นรถจากประเทศจีนอีกบแรนด์หนึ่ง ถือได้ว่าเป็นบแรนด์บุกเบิกบแรนด์หนึ่งเลยก็ว่าได้ MG (เอมจี) ทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้ 2,500 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนปีก่อน 570 คัน หรือเพิ่มขึ้น 29.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.1 %
อีกเพียง 1 เดือนก็จะปิดฤดูกาลค้าขายปี 2566 รถใหม่ในประเทศมีการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 707,454 คัน เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2565 แล้ว เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงถึง 59,135 คัน หรือลดลง 7.7 %
สำหรับรถพิคอัพ 1 ตันที่เป็นตลาดที่ใหญ่มาก การแข่งขันสูง และมีความต้องการใช้งานมาก ทั้งผู้ที่อยู่ในเมือง และนอกเมือง แต่เนื่องจากปัญหาที่กล่าวไว้เบื้องต้น ทำให้ตลาดรถพิคอัพ ปี 2566 เศร้าหมองไม่หวือหวา ปัจจุบันมีตัวเลือก 7 บแรนด์เท่านั้น มีแกนหลักอยู่ 4 บแรนด์ อีก 3 บแรนด์ยังรับบทพระรอง เดือนพฤศจิกายน 2566 ทั้งหมดทำตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันได้ทั้งสิ้น 22,104 คัน เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ห่างกันถึง 14,182 คัน หรือลดลงถึง 39.1 % และค่อนข้างแน่นอนแล้ว แชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดประจำปี 2566 เป็นพิคอัพ ISUZU ทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้ 9,377 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 6,005 คัน หรือลดลง 39.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 42.4 % ส่วนค่าย TOYOTA คว้ารองแชมพ์อีก 1 ปี เดือนนี้ตัวเลขยอดจำหน่ายอยู่ที่ 8,544 คัน ลดลง 5,091 คัน หรือลดลง 37.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.7 % อันดับ 3 FORD (ฟอร์ด) 2,324 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 2,481 คัน หรือลดลง 51.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.5 % อันดับ 4 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) 1,312 คัน ลดลง 659 คัน หรือลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 33.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.9 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) 452 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน 177 คัน หรือเพิ่มขึ้น 64.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.0 %
ปี 2566 จากเดือนมกราคม-พฤศจิกายน รถพิคอัพ 1 ตัน มียอดจำหน่ายทั้งหมด 301,001 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 แล้ว ปี 2566 มียอดจำหน่ายหดหายไป 110,552 คัน หรือติดลบ 26.9 % โดยพิคอัพ ISUZU ว่าที่แชมพ์ มียอดจำหน่ายรวม 127,260 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 52,047 คัน หรือลดลง 29.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 42.3 % พิคอัพ TOYOTA ว่าที่รองแชมพ์ จำหน่ายไปแล้วรวม 118,075 คัน ลดลง 39,628 คัน หรือลดลง 25.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 39.2 % อันดับ 3 FORD 33,636 คัน ลดลง 4,403 คัน หรือลดลง 11.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.2 % อันดับ 4 MITSUBISHI 16,079 คัน ลดลง 10,539 คัน หรือลดลง 39.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.3 % และอันดับ 5 NISSAN 4,265 คัน ลดลง 1,822 คัน หรือลดลง 29.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.4 %
ด้านรถเอสยูวี ยังคงเป็น 1 ใน 2 ตลาดรถในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรถเอสยูวีของ TOYOTA และ HONDA เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนตลาดให้เติบโตมากขึ้น ขณะที่รถเอสยูวีจากประเทศจีน เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง รถเอสยูวีในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกัน 11,220 คัน เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีก่อน เพิ่มขึ้น 3,323 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 42.1 % โดย TOYOTA กลับมาทำยอดจำหน่ายได้มากสุดอีกเดือนหนึ่ง จำหน่ายได้ 4,547 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนปีก่อนถึง 2,879 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 172.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 40.5 % อันดับ 2 HONDA 3,400 คัน เพิ่มขึ้น 510 คัน หรือเพิ่มขึ้น 17.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 30.3 % อันดับ 3-5 เป็นรถเอสยูวีจากแดนมังกรทั้งสิ้น อันดับ 3 BYD จำหน่ายได้ 1,142 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 10.2 % อันดับ 4 GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) จำหน่ายได้ 752 คัน เพิ่มขึ้น 134 คัน หรือเพิ่มขึ้น 21.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.7 % และอันดับ 5 MG จำหน่ายได้ 581 คัน ลดลง 352 คัน หรือลดลง 37.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.2 %
มกราคม-พฤศจิกายน 2566 รถเอสยูวีมียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 101,123 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แล้วมีตัวเลขยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 28,202 คัน หรือตลาดโตขึ้น 38.7 % HONDA จ่อคว้าแชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดปี 2566 โดยจำหน่ายได้รวม 33,219 คัน เพิ่มขึ้น 14,580 คัน หรือจำหน่ายได้มากขึ้นถึง 78.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 32.9 % อันดับ 2 TOYOTA 22,916 คัน เพิ่มขึ้น 2,526 คัน หรือเพิ่มขึ้น 12.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 22.7 % อันดับ 3 BYD 18,492 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 18.3 % อันดับ 4 MG 6,604 คัน ลดลง 2,847 คัน หรือลดลง 30.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.5 % และอันดับ 5 MAZDA (มาซดา) 6,533 คัน ลดลง 4,860 คัน หรือลดลง 42.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.5 %
เดือนพฤศจิกายน 2566 รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำหน่ายได้รวม 3,730 คัน ลดลง 108 คัน หรือลดลง 2.8 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 38,965 คัน ลดลง 2,779 คัน หรือลดลง 6.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ทั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายน มีการจดทะเบียนรถพิคอัพ และรถเอสยูวี รวมกันทั้งสิ้น 32,851 คัน ลดลง 8,730 คัน หรือลดลง 21.0 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565