รายงาน(formula)
เชครถให้ชัวร์ เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนเดินทางไกล !
อย่าให้การเดินทางต้องมาสะดุด ช่วงวันหยุดยาว ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย และความราบรื่น ต้องเชคความพร้อมรถยนต์ รวมถึงเรื่องจำเป็นก่อนเดินทางไกลกันสักหน่อย
เชครถ ก่อนเดินทางไกล
1. แบทเตอรี
เชคสภาพแบทเตอรีว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ โดยให้ดูจากตาแมวบนแบทเตอรีที่จะบอกค่าความถ่วงของน้ำกรด หากความถ่วงของน้ำกรดต่ำกว่า 1.250 ตาแมวจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ซึ่งจะบอกว่าไฟเริ่มอ่อน ควรชาร์จ หากในกรณีที่ระดับน้ำกรดต่ำกว่าระดับเส้น UPPER หรือตาแมวเป็นสีแดง หมายถึง น้ำกลั่นแห้ง ให้เติมน้ำกลั่นเข้าไปให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากตาแมวเป็นสีฟ้า นั่นหมายถึง ปกติ แบทเตอรีไฟเต็ม หรือให้สังเกตอาการของรถว่าสตาร์ทติดยากกว่าปกติหรือไม่
ตาแมวสีฟ้า แสดงถึง แบทเตอรีไฟเต็ม (FULL CHARGE)
ตาแมวสีขาว แสดงถึง แบทเตอรีไฟอ่อน ควรชาร์จ (RECHARGE BATTERY)
ตาแมวสีแดง แสดงถึง น้ำกลั่นแห้ง ควรเติมน้ำกลั่น (ADD DISTILLED WATER)
2. น้ำมันเครื่อง
เชคสี และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ระบบกลไกต่างๆ ในเครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากน้ำมันเครื่องมีสีเหลืองโปร่งแสง คือ สะอาดมีประสิทธิภาพ แต่หากน้ำมันเครื่องเปลี่ยนเป็นสีดำ บ่งบอกว่าน้ำมันเครื่องเก่า หรือสกปรก
หากจะเชคระดับน้ำมันเครื่อง ขั้นแรกต้องดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องออกมาทำความสะอาดแล้วเสียบกลับไปจุดเดิม จากนั้นดึงก้านวัดออกมาอีกครั้ง และสังเกตว่าน้ำมันเครื่องอยู่ในระดับใดของก้านวัด โดยระดับน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมต้องอยู่ระหว่างขีด L และ F หรือ MAX กับ MIN รวมถึงอย่าลืมเชค ระบบหล่อเย็น หรือหม้อน้ำอยู่เสมอ
3. ยางรถยนต์
ตรวจเชคลมยางทั้ง 4 ล้อ โดยสังเกตจากดอกยาง จะต้องไม่มีการฉีกขาด ไม่แตกลายงา มีดอกยางเพียงพอ และลมยางต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มีการรั่วซึม
4. ระบบเบรค
ระบบเบรค และน้ำมันเบรค ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากมีเสียงผิดปกติระหว่างที่เหยียบเบรค หรือต้องกดเบรคจนลึกมากถึงจะสามารถหยุดรถได้ แสดงว่าผ้าเบรคอาจมีปัญหา โดยในส่วนของน้ำมันเบรคนั้น ต้องอยู่ในระดับขีด MAX หรือระหว่างขีด MIN และ MAX หากน้อยกว่านี้ อาจทำให้ระบบเบรคมีปัญหา หรือถ้าเพิ่งเติมน้ำมันเบรคไปแต่ระดับน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นไปได้ว่ามีจุดรั่วไหล ต้องรีบซ่อมโดยเร็ว
5. ไฟส่องสว่าง
เชคความสว่างของไฟคู่หน้า ไฟท้าย ไฟตัดหมอก รวมถึงไฟเบรคให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพราะหากไฟรถมีความสว่างไม่เพียงพอ หรือไฟรถอันใดอันนึงเสีย อาจทำให้เรา และผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ เกิดอุบัติเหตุได้ ทางที่ง่ายที่สุด คือ เปิดไฟทุกอย่างในรถ และเดินวนรอบคัน เริ่มจากไฟในรถ ไฟเลี้ยวหน้า และหลัง ไฟฉุกเฉิน ไฟหน้า (ไฟสูง ไฟตัดหมอก) ไฟท้าย และไฟอื่นๆ
อุปกรณ์ที่จำเป็น
อย่าลืม ! เตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน เช่น ล้อ หรือยางอะไหล่, สายพ่วงแบทเตอรี, ค้อนนิรภัย, แม่แรง, สายลากจูง, ไฟฉาย, ที่สูบลม ชุดเครื่องมือประจำรถ ฯลฯ
มอเตอร์เวย์ M6 เปิดใช้ฟรีตลอดปี 2567
ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 หรือมอเตอร์เวย์ M6 สายบางประอิน-นครราชสีมา ช่วง อ. ปากช่อง-ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ทิศทางขาขึ้น และขาล่อง รวมระยะทาง 77.493 กม. ซึ่งเป็นถนนที่รองรับการจราจร และอำนวยความสะดวก ในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้เปิดให้บริการฟรีตลอดปี 2567 จนกว่าการก่อสร้างโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ และกำหนดเก็บค่าผ่านทางในปี 2568
จุดเข้า-ออกมอเตอร์เวย์
1. ทางหลวงหมายเลข (ทล.) 2 ถนนมิตรภาพ กม. 65 บริเวณหน้าศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์ อ.ปากช่อง
2. ทล. 201 ถ.สีคิ้ว-ชัยภูมิ กม. 5+500
3. วงแหวนนครราชสีมา ทล. 290 กม. 14+775 อ. ขามทะเลสอ
4. จุดเชื่อมต่อ ทล. 204 ถ. เลี่ยงเมืองนครราชสีมา กม. 3+230
สิ่งสำคัญ คือ ไม่อนุญาตให้หยุดรถเพื่อถ่ายภาพ และห้ามจอดรถบนไหล่ทาง เพราะมีความเสี่ยงเกิดอันตรายสูง หากละเมิดมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
คาดว่าเตรียมเพิ่มระยะทาง มอเตอร์เวย์ M6 ช่วงด่านหินกอง อ. หนองแค จ. สระบุรี จนถึง ด่านแก่งคอย อ.แก่งคอย จ. สระบุรี ประมาณ 22 กม. กำหนดจุดเข้า-ออกเบื้องต้น 3 จุด ได้แก่
1. ด่านหินกอง เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 33 (ทล. 33 สายสุพรรณบุรี-อรัญประเทศ) พื้นที่ อ. หนองแค โดยเชื่อม ทล. 1 (ถนนพหลโยธิน) และ ทล. 32 (ถนนสายเอเชีย) เพื่อเดินทางไปภาคเหนือ
2. ทางแยกต่างระดับพระพุทธฉาย (สระบุรี) เชื่อม ทล. 1 พื้นที่ อ. หนองแค ไปกลุ่มจังหวัดภาคกลาง
3. ด่านแก่งคอย เชื่อม ทล. 3222 หรือถนนแก่งคอย-บ้านนา พื้นที่ อ. แก่งคอย เชื่อม ทล. 2 (ถนนมิตรภาพ) ไป จ. นครราชสีมา
ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาให้ทดลองใช้เฉพาะเทศกาลสงกรานต์ไปก่อน ยังไม่เปิดบริการไปตลอดเหมือนช่วงปากช่อง-ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา
มอเตอร์เวย์หมายเลข M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก-ด่านกาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม. เท่าเดิม แต่เพิ่มจุดขึ้น-ลง เพิ่มเติมจากช่วงปีใหม่ 2567 ดังนี้
1. ทางแยกต่างระดับนครปฐมฝั่งตะวันตก เชื่อม ทล. 321 (ถนนมาลัยแมนสายนครปฐม-สุพรรณบุรี) ห่าง ทล. 4 (ถนนเพชรเกษม) 8 กม.
2. ทางแยกต่างระดับท่ามะกา เชื่อม ทล. 3394 ห่าง ทล. 323 (ถนนแสงชูโต) 11 กม., ห่าง ทล. 346 (ถนนปทุมธานี-บางเลน) 13 กม.
3. ทางแยกต่างระดับท่าม่วง เชื่อม ทล. 3081 ห่าง ทล. 323 (ถนนแสงชูโต) 3 กม., ห่าง ทล. 346 (ถนนปทุมธานี-บางเลน) 7 กม.
4. ทางแยกต่างระดับกาญจนบุรี เชื่อม ทล. 324(ถนนอู่ทองสายกาญจนบุรี-อ. พนมทวน) ห่าง ทล. 367 (แยกวังสารภี) 6 กม., ห่าง ทล. 346 (ถนนปทุมธานี-บางเลน) 15 กม.
(ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567)
ทางเลี่ยงรถติดช่วงหยุดยาว 2567
ภาคเหนือ (กรุงเทพฯ-ภาคเหนือ)
1. ถนนวงแหวนตะวันออก (ทล.พ. 9) เลี้ยวซ้ายที่ต่างระดับคลองหลวงใช้ ทล. 3214 เข้าสู่ ทล. 347 เลี้ยวซ้ายที่แยกบางปะหันเข้าสู่ ทล. 32 (สายเอเชีย)
2. วงแหวนตะวันตก (ทล.พ. 9) เลี้ยวซ้ายถนนตลิ่งชัน-ชัยนาท (ทล. 340) เชื่อมต่อ ถ. พหลโยธิน (ทล. 1) เลี้ยวซ้ายแยกหลวงพ่อโอ (ทล. 1) ไปยังจังหวัดนครสวรรค์
ภาคตะวันออก (กรุงเทพฯ-ภาคตะวันออก)
1. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์)
2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านมีนบุรี-หนองจอก ออกสู่ภาคตะวันออก
3. ใช้ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-ตราด) ผ่านบางนา-บางปะกง หรือใช้ทางพิเศษบูรพาวิถี ออกสู่ภาคตะวันออก
4. ทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท)
ภาคอีสาน (กรุงเทพฯ-ภาคอีสาน)
1. ถนนพหลโยธิน เลี้ยวขวาสามแยกพุแค เข้าถนนพุแคหล่มสัก ทล. 21 เลี้ยวขวาแยกม่วงค่อม เข้าสู่ ทล. 2256 หรือเลี้ยวซ้ายเข้า ทล. 205 เพื่อเข้าสู่ ทล. 201 ไปยังจังหวัดชัยภูมิ
2. เส้นทางกรุงเทพฯ-จังหวัดฉะเชิงเทรา และใช้ ทล. 304 (อ.พนมสารคาม-อ. กบินทร์บุรี-อ. วังน้ำเขียว-อ.ปักธงชัย) มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา
3. เส้นทางกรุงเทพฯ-จังหวัดสระแก้ว-อรัญประเทศ-อ. ตาพระยา-อ. โนนดินแดง-อ. ละหานทราย เข้าสู่จังหวัดบุรีรัมย์
ภาคใต้ (กรุงเทพฯ-ภาคใต้)
1. ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2)
2. ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม)
ใช้ “GPS” นำทาง ไม่ให้หลงทาง !
ตรวจสอบเส้นทาง
แม้จะมีระบบ GPS ช่วยนำทาง แต่เส้นทางจราจรมักเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น ต้องศึกษาหาข้อมูลเส้นทางที่ต้องการจะไปทุกครั้ง เช่น เชคถนนเส้นหลักที่ต้องผ่าน หรือจุดสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เพื่อลดความเสี่ยงหลงทาง
ระวังจุดอับสัญญาณ
GPS เป็นอุปกรณ์ระบุตำแหน่งที่รับสัญญาณเชื่อมต่อจากดาวเทียม ดังนั้น สภาพอากาศ เช่น ฝนตก จุดอับสัญญาณใต้อุโมงค์ หรืออยู่ระหว่างตึกสูง อาจทำให้แสดงผลคลาดเคลื่อน
อย่าเชื่อ GPS จนหมดใจ
ใช้ GPS อย่างมีสติ ให้เป็นเพียงเครื่องมือที่คอยแนะนำทางเท่านั้น เราต้องเรียนรู้เส้นทาง มองหาจุดสังเกต อ่านป้ายจราจร เชื่อมโยงกับเส้นทางบนแผนที่
มีสมาธิในการขับขี่
การใช้ระบบนำทางมีส่วนทำให้เสียสมาธิในการขับขี่ อาจจากเสียงในการบอกระยะที่ต้องเลี้ยว หรือการที่ต้องละสายตาเพื่อมามองหน้าจอ GPS ซึ่งการเสียสมาธินี้อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมา ดังนั้น อย่าขับรถเร็วเวลาใช้ GPS และผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวัง โดยดูป้ายจราจรควบคู่ไปด้วย หากคิดว่าเส้นทางที่ GPS นำอยู่ไม่ปลอดภัย หรือไม่น่าใช้งาน ให้รีบเปลี่ยนเส้นทางทันที
มีไว้อุ่นใจ “เบอร์สายด่วน” แจ้งเหตุฉุกเฉิน
เบอร์โทรฉุกเฉิน เหตุด่วนเหตุร้าย
1300 แจ้งคนหาย
199 แจ้งเหตุไฟไหม้/ดับเพลิง
191 แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
192 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
1195 กองปราบ (สายด่วนแจ้งเหตุอาชญากรรม คดีร้ายแรง)
1192 ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถ (แจ้งรถหาย)
1196 แจ้งอุบัติเหตุทางน้ำ
เบอร์โทรฉุกเฉิน การเดินทาง
1543 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
1193 ตำรวจทางหลวง
1155 ตำรวจท่องเที่ยว (แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว)
1644 สวพ. FM91 สถานีวิทยุเพื่อความปลอดภัย และจราจร
1690 การรถไฟแห่งประเทศไทย
1146 กรมทางหลวงชนบท
02-134-4077 ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (TAC)
เบอร์โทรฉุกเฉิน การแพทย์ และโรงพยาบาล
1554 หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล
1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ทั่วประเทศ)
1646 หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (กทม.)
1691 โรงพยาบาลตำรวจ
1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) (เชคสิทธิการรักษาพยาบาลของคนที่มีสิทธิบัตรทอง และประกันสังคม)
เชคราคาชาร์จรถ EV 2567
สำรวจผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ทยอยปรับขึ้นราคาตามค่าไฟฟ้า ดังนี้
ALTERVIM SUPER CHARGE
สถานีชาร์จรถไฟฟ้าในเครือ CP ที่สามารถรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกรุ่น
อัตราค่าชาร์จ
ช่วง ON PEAK ราคา 7.50 บาท/หน่วย
ช่วง OFF PEAK ราคา 7.50 บาท/หน่วย
EA ANYWHERE
รองรับรถยนต์ไฟฟ้าพลักอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) โดยสถานีชาร์จส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เป็นหลัก
อัตราค่าชาร์จ
ช่วง ON PEAK ราคา 7.29 บาท/หน่วย
ช่วง OFF PEAK ราคา 7.29 บาท/หน่วย
ELEX BY EGAT
สถานีชาร์จโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จุดให้บริการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในสำนักงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เปิด/ปิดตามเวลาราชการ ส่วนจุดที่เป็นสถานีบริการน้ำมันให้บริการ 24 ชม.
อัตราค่าชาร์จ
ช่วง ON PEAK ราคา 7.50 บาท/หน่วย
ช่วง OFF PEAK ราคา 7.50 บาท/หน่วย
EV STATION PLUZ (PTT)
สถานีชาร์จรถไฟฟ้าจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้บริการทั้งแบบ NORMAL CHARGE และแบบ QUICK CHARGE รองรับการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าทุกค่ายในไทย
อัตราค่าชาร์จ
ช่วง ON PEAK ราคา 7.70 บาท/หน่วย
ช่วง OFF PEAK ราคา 6.00 บาท/หน่วย
EVOLT
สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ครอบคลุมการให้บริการในจุดสำคัญ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า หน่วยงานราชการ รวมถึงคอนโดมิเนียม
อัตราค่าชาร์จ
ช่วง OFF PEAK ราคา 8-10 บาท/หน่วย
แบบรายชั่วโมงละ 60 บาท สำหรับบางจุด เช่น ศูนย์การค้า
MEA EV
อีกหนึ่งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า โดยการไฟฟ้านครหลวง ให้บริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด ส่วนใหญ่จะอยู่ภายในสำนักงานของการไฟฟ้านครหลวง
อัตราค่าชาร์จ
ช่วง ON PEAK ราคา 7.5 บาท/หน่วย
ช่วง OFF PEAK ราคา 7.5 บาท/หน่วย
MG SUPER CHARGE
สถานีชาร์จรถไฟฟ้า MG ที่ครอบคลุมผู้ใช้บริการ โดยจะตั้งอยู่ที่อาคารสำคัญๆ เช่น สำนักงาน มหาวิทยาลัย ร้านอาหาร ร้านค้า ปั๊มน้ำมัน ศูนย์การค้า เป็นต้น
อัตราค่าชาร์จ
ช่วง ON PEAK ราคา 7.50 บาท/หน่วย
ช่วง OFF PEAK ราคา 6.50 บาท/หน่วย
PEA VOLTA
สถานีชาร์จรถไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้บริการทั้ง NORMAL CHARGE และ QUICK CHARGE
อัตราค่าชาร์จ
ช่วง ON PEAK ราคา 6.90-8.80 บาท/หน่วย
ช่วง OFF PEAK ราคา 5.30-6.60 บาท/หน่วย
(ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567)
ช่วงเวลา ON-PEAK และ ช่วงเวลา OFF PEAK คืออะไร ?
ON-PEAK คือ จันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-22.00 น.
OFF-PEAK คือ จันทร์-ศุกร์ รวมเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดตามปฏิทิน เวลา 22.00-9.00 น.
ข้อปฏิบัติ เมื่อต้องชาร์จรถ EV ในที่สาธารณะ
- จอดรถที่สถานีชาร์จรถไฟฟ้า เฉพาะเวลาที่จะชาร์จเท่านั้น
- วางแผนการชาร์จ หรือจองคิวชาร์จเอาไว้ล่วงหน้า
- ทิ้งช่องทางการติดต่อไว้ หากมีความจำเป็นต้องไปทำธุระ
- อย่าจอดรถแช่เมื่อชาร์จไฟเสร็จแล้ว
- รักษาความสะอาด ไม่ทิ้งเศษขยะไว้บริเวณจุดชาร์จ