ผมไม่เคยชมการแข่งขันชิงเจ้าความเร็วของรถล้อเปิด พลังไฟฟ้า ที่เรียกว่า FORMULA E มาก่อน ทราบแค่ว่า เป็นรายการที่จัดโดย FIA เริ่มครั้งแรกตั้งแต่ปี 2014 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และจัดต่อเนื่องมาทุกปี แถมเคยไปเปิดสังเวียนในเมืองใหญ่อย่าง ปารีส และลอนดอน รวมถึงล่าสุดที่โตเกียว มาแล้วด้วย เนื่องจากรถแข่งใช้พลังไฟฟ้า จึงไม่มีเสียงดัง และมลพิษต่ำ สามารถจัดแข่งบนถนนกลางเมืองได้เลย
ทีนี้ พอมีข่าวประเทศไทยสนใจจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน FORMULA E แบบที่เคยอยากจัด FORMULA 1 ผมเลยสงสัยว่า เมื่อเทียบกับการแข่งขัน FORMULA 1 ที่เราคุ้นเคย FORMULA E มีอะไรแตกต่างอย่างน่าสนใจอีกบ้าง
จากการสอบถามอากู๋เจ้าเก่าพบว่า นอกจากตัวรถที่ใช้พลังงานคนละประเภท และสภาพแวดล้อมในสนามแข่งที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า สิ่งที่ FORMULA E แตกต่างจาก FORMULA 1 อย่างชัดเจน คือ กติกาการแข่งขัน 2 ข้อ
ข้อแรก ได้แก่ ระบบ FAN BOOST
FIA ผู้จัดการแข่งขันคิดค้นระบบโหวท ที่เรียกว่า FAN BOOST ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้แฟนๆ หรือผู้ติดตามทั่วโลกได้มีส่วนชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน โดยสามารถโหวทให้นักแข่งที่ตนเองชื่นชอบ ผ่านเวบไซท์ของ FIA ก่อนเริ่มการแข่งขันประมาณ 2 สัปดาห์
นักแข่ง 3 คนที่ได้รับคะแนนโหวทจากแฟนคลับมากที่สุด จะได้สิทธิพิเศษสามารถกดปุ่มบูสต์พลังงานไฟฟ้าจากแบทเตอรีเพิ่มขึ้นอีก 100 กิโลจูลส์ ขณะแข่งขัน แต่ก็จะใช้พลังบูสต์นี้ได้เพียง 5 วินาทีเท่านั้น เพื่อไม่ให้เอาเปรียบเพื่อนมากเกินไป
ความแตกต่างข้อที่สอง คือ FORMULA E อนุญาตให้ใช้รถ 2 คัน/นักขับ 1 คน
ในระหว่างการแข่งขัน FORMULA 1 รถแข่งต้องแวบเข้าพิทเพื่อเซอร์วิศ เปลี่ยนยาง ตรวจสอบระบบต่างๆ รวมถึงเติมน้ำมัน ซึ่งต้องรีบทำให้เสร็จในเวลาไม่กี่วินาที เพื่อออกไปแข่งต่อ แต่รถ FORMULA E ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถชาร์จไฟเร่งด่วนเหมือนการเติมน้ำมันได้ ด้วยเหตุนี้ FIA จึงกำหนดให้นักแข่ง FORMULA E แต่ละคน สามารถใช้รถแข่งได้ทั้งหมด 2 คัน ในการแข่งขันแต่ละสนาม
ดังนั้น เมื่อแบทเตอรีของรถแข่งคันแรกใกล้หมด นักแข่งก็จะเอารถเข้าพิท แล้วเปลี่ยนเป็นรถคันที่ 2 ซึ่งชาร์จแบทเตอรีเต็มได้ทันที ไม่ต้องเจอปัญหารอชาร์จเหมือนคนใช้รถไฟฟ้าทั่วไป
สรุปแล้ว FORMULA E ไม่เพียงเป็นการแข่งรถที่เสียงไม่ดัง มลพิษต่ำ กฎกติกายังน่าสนุก และเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วม ถ้าจัดในบ้านเราคงมีคนสนใจไม่น้อย แถมช่วยเสริมภาพลักษณ์ “ฮับ” รถไฟฟ้าแห่งอาเซียนได้อีกต่างหาก