ผมได้เห็นข่าวทางสื่อ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบใน “หลักการการดำเนินการมาตรการส่งเสริมงานศิลปะ และรถยนต์โบราณ” นัยว่าเป็นการหนุน “ซอฟท์เพาเวอร์“ ทีแรกผมนึกว่าเป็นเรื่องที่ฝันไป เพราะมันเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็เป็นเรื่อง “เล็กจิ๋ว” สำหรับบรรดานักการเมืองยุคนี้ครับ ในส่วนที่เป็นงานศิลปะนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีเช่นกัน แต่ก็อยู่นอกขอบเขตของนิตยสารของเรา ผมขอผ่านไปก่อนนะครับ ด้านการส่งเสริมรถยนต์โบราณ หรือรถยนต์คลาสสิคนั้น สิ่งที่สำคัญ และเป็นที่น่าสนใจ ก็คือการอนุญาตให้นำรถยนต์ประเภทนี้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีการยกเว้น หรือจัดเก็บภาษีในอัตราพิเศษ ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญของผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ การนิยามความหมายของคำว่า “รถโบราณ” และ “รถคลาสสิค” ให้เหมาะสม ยุติธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมครับ ว่ารถทั้ง 2 ประเภทนี้ ควรมีอายุไม่ต่ำกว่ากี่ปี หรือกล่าวในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ จะต้องถูกผลิตขึ้นก่อน คศ. หรือ พศ. เท่าไร
แน่นอนครับ ว่าการเปิดเผยมาตรการนี้อย่างคร่าวๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อจะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ย่อมมีผลเสีย ที่แทบจะไม่มีใครคาดเดาได้ ตามมาด้วย ซึ่งก็คือความเดือดร้อนของบรรดาผู้ค้ารถใช้แล้วจำนวนมาก ซึ่งลำพังที่โดนกระแสคลั่งรถไฟฟ้า กระหน่ำจนโงหัวไม่ขึ้น ก็แทบจะล้มละลายกันอยู่แล้ว กลับมาถูกซ้ำเติมด้วยข่าวลือที่ไร้สาระ จากการบิดเบือนข่าวเกี่ยวกับมาตรการที่ว่านี้ ว่ารัฐบาลอาจจะปล่อยให้มีการนำเข้ารถใช้แล้ว “อีกรอบหนึ่ง” เหมือนเช่นที่เคยอนุญาตให้นำเข้ารถใช้แล้วที่ใช้แกสเป็นเชื้อเพลิง และรู้จักกันในชื่อ “รถจดประกอบ” ที่บ่อนทำลายเศรษฐกิจของชาติอย่างมหาศาล และทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ใหม่ ซึ่งลงทุนสร้างโรงงานกันเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ต้องรู้สึกเสมือนโดนโจรปล้น มนุษย์พวกนี้มันหวังว่าจะได้กอบโกยกันอีกรอบ บ้าหรือเปล่าครับ กว่าจะออกกฎหมายหยุดยั้งมันได้ ประเทศชาติก็สูญเสียรายได้ไปมากมาย
เชื่อไหมครับ ว่าร้านค้ารถใช้แล้ว ที่ขายรถอายุราวๆ 20-40 ปีขึ้นไป ไม่สามารถขายรถกันได้แม้แต่คันเดียว หมายความว่าทั้งเจ้าของร้าน และพนักงานขาย ไม่มีรายได้ที่จะเลี้ยงครอบครัวกันแล้ว ตั้งแต่มีการประกาศมติคณะรัฐมนตรี ว่าจะอนุญาตให้นำเข้ารถโบราณ และรถคลาสสิค ผู้ที่ต้องการซื้อรถเหล่านี้ พร้อมใจกันรอมาตรการนี้ โดยหวังว่าการนำเข้ารถจากต่างประเทศ ที่ได้รับการลดหย่อน หรือยกเว้นภาษี (ตามความฝันลมๆ แล้งๆ เพราะคนไทยชอบเชื่อเรื่องที่ตนเองจะได้เปรียบ หรือได้ประโยชน์ ว่าจะเป็นไปได้ โดยไม่ต้องการใช้เหตุผล)
ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้นครับ เรียกมันว่าเป็น “อุบัติเหตุ” ก็น่าจะได้ ผมขอวิงวอนให้ผู้ที่รับผิดชอบ ช่วยผู้เคราะห์ร้ายกลุ่มนี้ด้วยครับ โดยการ
1. รีบประกาศนิยามของคำว่า รถโบราณ และรถคลาสสิค อย่างเป็นทางการ ว่าต้องมีอายุไม่น้อยกว่ากี่ปี เช่น ต้องถูกผลิตก่อน คศ. 1970 หรือมีอายุไม่ต่ำกว่า 53 ปี ในปีนี้ ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถใช้แล้ว ที่มีอายุน้อยกว่านี้ จะได้เลิกรีรออีกต่อไป และตัดสินใจซื้อรถในประเทศครับ
2. ถ้าเป็นไปได้ กรุณารีบประกาศ แจ้งให้พวกเขาทราบด้วยว่า กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนไหน เพื่อให้พวกเขามีความหวัง ว่าเหลือเวลาที่จะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก อดอยากขัดสนกันทั้งครอบครัว อีกสักกี่เดือนครับ
ถ้าต้องเร็ว ฉันจะช้า
แต่ถ้าต้องช้า ฉันจะเร็ว
ประโยคล่างนั้น ผมหมายถึงการจำกัดความเร็วบนถนนสายต่างๆ ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม และเหมาะสมกับสภาพการจราจร ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถนั่นเอง ซึ่งก็มักจะถูกละเมิดโดยผู้ขับรถส่วนใหญ่ จนเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยไปแล้ว ส่วนประโยคแรก คือ ที่มาของเนื้อเรื่องหลักในคอลัมน์ประจำเดือนนี้ครับ
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกคน ต้องเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ผมกำลังจะยกมาเป็นตัวอย่างนี้ กล่าวคือ คุณกำลังต้องการเลี้ยวขวาที่สี่แยกข้างหน้า และหยุดรถรออยู่ในลู่ขวาสุด ในจังหวะสัญญาณไฟแดง คุณกำลังกังวลอยู่พอสมควร ว่าจะถึงที่หมายได้ตรงเวลาหรือไม่ และแล้วคุณก็ได้ถอนหายใจ ด้วยความโล่งใจ (เป็นครั้งแรก) เมื่อเอียงตัวไปมองผ่านรถที่อยู่ด้านหน้าของคุณสิบกว่าคัน และเห็นไฟสัญญาณเปลี่ยนสี จากแดงเป็นเขียว คุณเห็นรถคันแรกเคลื่อนอยู่กลางแยก คุณเตรียมใจ และเตรียมตัวที่จะได้เคลื่อนรถ ทันทีที่รถคันหน้าออกรถ แต่เกินเวลาที่ประเมินไว้ไปนานมากแล้ว ก็ยังไม่เห็นมีการเคลื่อนไหวใดๆ เพราะเมื่อมองผ่านกระจกของคันหน้า แม้แต่คันที่อยู่หน้าของคันหน้ารถของคุณ ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น คุณเบี่ยงตัวชะโงกดูสีของสัญญาณไฟที่แยกอีกครั้ง ก็พบว่ามันกลายเป็นสีแดงอีกแล้ว การรอด้วยความเครียดมากกว่าครั้งแรก เริ่มขึ้นเป็นวัฏจักรอีกครั้ง ความหวังมีมากขึ้น แต่ความมั่นใจว่าจะผ่านไฟเขียวไปได้ กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สาเหตุหรือครับ ถ้าให้ทาย ทุกคนจะบอกว่า เกิดจากมนุษย์เห็นแก่ตัว มัน “เล่น” โทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเล่นเกม หรือคุยเรื่องโง่ไร้สาระอยู่ก็ตาม
โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของผู้อื่น อย่ารีรอครับ หมดยุคที่จะมาเกรงใจคนชั่ว และไม่ต้องรอให้แน่ใจครับ ถ้าคันหน้าของมันแล่นออกไปแล้ว แต่มันยังไม่ขยับ กดแตรให้ยาวต่อเนื่องไปเลย
ส่วนสาเหตุที่ 2 ที่ไม่น่ามีใครทายถูก เพราะไม่ใช่ความผิด หรือความเห็นแก่ตัวของใครเลย แต่เป็นความผิดพลาดทางเทคนิคในการขับรถล้วนๆ ซึ่งก็คือการเลี้ยวบริเวณสามแยก หรือสี่แยก ด้วยความเร็วที่ต่ำกว่าควรเป็นอย่างมาก เพราะผู้ใช้รถชาวไทย ถูกสอนทั้งทางตรง และทางอ้อม ให้กลัว “แรงเหวี่ยง” ขณะเลี้ยว จึงเลี้ยวรถกันด้วยความเร็วที่ต่ำกว่าควรเป็นอย่างมาก เชื่อไหมครับว่า เฉพาะเหตุนี้บริเวณทางแยกอย่างเดียว ก็ทำให้การจราจรติดขัดเป็น 2 เท่าได้เลย เช่น ในช่วงไฟเขียว จำนวนรถที่ควรจะเลี้ยวขวาพ้นแยกไปได้ มีเพียงครึ่งเดียว ตำรวจจราจรจึงใช้วิธี “กำปั้นทุบดิน” คือ เปิดไฟเขียวให้นานเป็น 2 เท่า รถทิศอื่นจึงต้องรอนานเป็น 2 เท่า แบบงูกินหาง เวียนกันไปเช่นนี้…โปรดติดตามฉบับต่อไป
บทความแนะนำ