บทความ
คุณคิดอย่างไร ?
เดิมทีกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้เร็วๆ นี้
จะเปิดช่องให้ผู้ขับขี่สามารถใช้อุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า แฮนด์ฟรี หรือ สมอลล์ ทอล์ค ได้
แต่ตอนหลังกลับลำเป็นห้ามทั้งหมด ยกเว้นตำรวจจะอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ทำให้ความคิดเห็นของคนผู้เกี่ยวข้อง
แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเห็นด้วยกับการห้ามทั้งหมด และฝ่ายเห็นด้วยเฉพาะการห้ามถือโทรศัพท์พูดคุยขณะขับรถ
การออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์ขณะขับรถครั้งนี้ ดำเนินการโดยยกร่างแก้ไข พระราชบัญญัติจราจรทางบก 2522
ในมาตรา 43 ซึ่งกำหนด ห้ามผู้ขับขี่ขับรถในลักษณะต่างๆ รวม 8 ข้อ โดยการแก้ไขคร้งนี้ได้เพิ่มข้อห้ามอีก 1 ข้อ เป็น
ข้อที่ 9 หรือ อนุ 9 ระบุว่า "ห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใดในขณะที่รถเคลื่อนที่
และห้ามขับรถในลักษณะที่ไม่อาจควบคุมการบังคับรถได้ดีเพียงพอแก่ความปลอดภัย"
สาระสำคัญของข้อ 9 นอกจากจะหมายถึงโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังรวมถึงวิทยุสื่อสารในรถของตำรวจ แทกซี และอื่นๆ
ด้วย อีกทั้งรวมถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่กระทบต่อการขับรถของผู้ขับขี่ เช่น รองเท้าส้นสูง
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติของการบังคับกฎหมายจะกำหนดให้ ผบ.ตร.ในฐานะของเจ้าพนักงานจราจร
ออกข้อกำหนดและข้อยกเว้นต่างๆ ก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ในส่วนของกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์ขณะขับรถนี้ ยังต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาก่อนด้วย
ในบ้านเรายังไม่มีสถิติเรื่องความเสี่ยง และความเสียหายอันเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
แต่ในต่างประเทศมีการเก็บสถิติเรื่องนี้กันมาแล้ว ก่อนที่จะออกกฎหมายห้ามโทรระหว่างขับ
เช่นรายงานการวิจัยจากแคนาดาเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
ที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ เจอร์นอล ออฟ เมดิชิน (JOURNAL OF MEDICINE) บอกว่า
ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับรถมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงถึง 4 เท่าของผู้ที่ไม่ใช้ นอกจากนี้รายงานการวิจัยที่
สหรัฐอเมริกา ชี้ชัดว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถจะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ไม่ใช้เช่นกัน และที่ ญี่ปุ่น
ก็เคยวิจัยพบว่าหลังจากใช้ สมอลล์ ทอล์ค หรือแฮนด์ฟรีอุบัติเหตุลดลงถึงร้อยละ 60
จากผลการศึกษาของประเทศ อังกฤษ ที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า
การคุยโทรศัพท์มือถือขณะขับรถเป็นอันตรายมากกว่าการขับขี่ขณะมึนเมา
โดยนักวิจัยทดสอบว่าอันตรายจากการขับรถเกิดขึ้นได้อย่างไร
เปรียบเทียบระหว่างขับรถคุยโทรศัพท์มือถือหรือใช้แฮนด์ฟรี
กับขับรถขณะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด
ผลปรากฏว่าความสามารถในการตอบสนองของผู้ขับขึ่ขณะคุยโทรศัพท์มือถือจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30
ของผู้ขับรถขณะมึนเมา และประมาณร้อยละ 50 ของผู้ขับขี่ปกติ
นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า
ผู้ขับขี่พร้อมคุยโทรศัพท์มือถือจะมีความสามารถในการควบคุมความเร็วต่ำกว่าผู้ขับขี่ขณะมึนเมา
และสามารถควบคุมรถให้อยู่ในระยะปลอดภัยจากรถคันหน้าได้ยากกว่าด้วย
และต่อไปนี้คือหลากหลายความคิดเห็น จากผู้บริหารบริษัทรถยนต์
และสื่อมวลชนที่จะต้องพัวพันกับรถยนต์และโทรศัพท์มือถืออย่างแยกไม่ออก
บริษัทรถยนต์
รอคโค บาสตา
ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด
บริษัท เฟียต ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด
"ไม่ควรใช้โทรศัพท์หรือแม้แต่แฮนด์ฟรี ในระหว่างขับรถ
เนื่องจากการขับรถเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อทั้งชีวิตผู้ขับและบุคคลรอบข้าง ผู้ขับขี่จะต้องมีความรับผิดชอบที่สูงมาก
การโทรศัพท์ระหว่างขับรถอาจทำให้เสียสมาธิจากการที่สมอง การรับรู้ และการตัดสินใจ
ถูกแบ่งออกไปจากการขับรถมาสู่หัวข้อที่กำลังสนทนา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นได้
ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ทั้งโทรศัพท์หรือแม้แต่แฮนด์ฟรีขณะที่กำลังขับรถอยู่"
ชาติชาย สุวรรณเสวก ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
"เห็นด้วยกับการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือและแฮนด์ฟรีขณะขับรถ
เพราะการใช้โทรศัพท์มือถือหรือใช้แฮนด์ฟรีนั้นจะทำให้เสียสมาธิ
ปกติการขับรถให้ปลอดภัยจะต้องใช้สติสัมปชัญญะในการมองไปข้างหน้า มองสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตลอดเวลา มองระยะห่าง สิ่งกีดขวาง การควบคุมความเร็ว
เห็นได้ว่าคนใช้โทรศัพท์หรือแฮนด์ฟรีการควบคุมจะตกลง ขับรถกีดขวางทาง คร่อมเลน ฯลฯ
ในต่างประเทศมีการห้ามกันหมดแล้ว และในบางประเทศการขับรถมือเดียวก็มีความผิดแล้ว จึงเห็นด้วยอย่างมาก
ถือว่าความปลอดภัยของคนอื่นและตัวเราสำคัญสูงสุด"
พฤทธิพัทธ์ จักกะพาก
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด
บริษัท ยนตรกิจ ออโต้ เซ็นเตอร์ จำกัด
"การใช้แฮนด์ฟรีนั้นเห็นด้วย แต่ต้องขับรถชิดซ้าย เพราะถ้าคิดว่าการพูดโทรศัพท์แล้วรบกวนสมาธิ
ทุกอย่างก็กวนหมด ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หรือเสียงอะไรต่างๆ
แต่หากมีการเพิ่มเติมในส่วนของตำรวจเรียกได้หากรบกวนการจราจรก็เป็นสิ่งดี แต่ถ้าไม่ให้ใช้เลยเป็นไปไม่ได้
เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ เป็นไอเดียที่ดี แต่ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร"
คมกริช นงค์สวัสดิ์
ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด
บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด
"เห็นด้วยกับการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ แต่ควรให้ใช้ สมอลล์ ทอล์ค ได้
เพราะปัจจุบันการใช้โทรศัพท์มือถือมีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต เลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี
ถ้าใช้ สมอลล์ ทอล์ค มือยังว่างเข้าเกียร์ เปิดกระจก หรือทำอะไรสะดวก แต่ที่ผ่านมาผู้บริโภคมักไม่ใช้ สมอลล์ ทอล์ค
จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ
ส่วนถ้ามีการห้ามใช้ สมอลล์ ทอล์ค ก็คงเหมือนกับการห้ามติดฟีล์มกรองแสง จะยืดเยื้อ
อะลุ้มอล่วยกันอีก"
ปนัดดา เจณณวาสิน
กรรมการ
บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด
"กฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถนั้นเห็นด้วยอย่างยิ่ง
เนื่องจากกฎหมายจราจรในเมืองไทยยังมีปัญหาอยู่มาก แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดไม่จำเป็น
เพราะการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถอันตรายมาก ส่วนแฮนด์ฟรีนั้นจะให้การบังคับรถดีขึ้น
แต่สมาธิก็ไม่ได้อยู่ที่การขับรถ แต่จะมุ่งไปที่เรื่องที่พูดคุยและหัวข้อสนทนามากกว่า"
ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
"การใช้โทรศัพท์มือถือ จริง ๆ แล้วเป็นสิทธิส่วนบุคคลในสภาพการจราจรอย่างบ้านเรา การใช้โทรศัพท์ติดต่องาน
เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่การใช้โทรศัพท์ระหว่างขับรถ มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจาก ขณะโทรศัพท์
ความสามารถในการควบคุม และการขับขี่จะลดลง จึงอาจก่อให้เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนได้
การมีกฎหมายควบคุมการใช้โทรศัพท์มือระหว่างการขับรถ เป็นสิ่งที่ดี และผมก็เห็นด้วย
แต่ควรจะอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เสริม หรือ แฮนด์ฟรี ในระหว่างการขับรถ ถ้าถึงกับห้ามใช้เสียเลย ผมว่าหลายๆ
คนที่เป็นคนทำงานและต้องมีการติดต่อสื่อสาร และต้องทันเหตุการณ์อยู่เสมอจะเดือดร้อนมาก
อย่างที่บอกสภาพการจราจรบ้านเรามันไม่ได้เอื้ออำนวย ให้เราไปไหนมาไหนได้เร็วสักเท่าไร
ส่วนการใช้แฮนด์ฟรีน่าจะช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมทางได้ระดับหนึ่ง จริงๆ
แล้วน่าจะมีกฎหมายให้ผู้ผลิตรถยนต์ ติดตั้งอุปกรณ์โทรศัพท์เสริมในรถยนต์เลย อย่างที่มีหลายแบรนด์ทำอยู่
แต่เป็นเพียงออพชันพิเศษสำหรับรถบางรุ่นที่เป็นกลุ่มลักชัวรีเท่านั้น
ถ้ามีการผลักดันให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถทุกรุ่นได้ ก็จะดีมากและช่วยลดการสูญเสียได้"
ดร. วัชระ พรรณเชษฐ์
กรรมการรองผู้จัดการใหญ่
บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด
"การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถนั้นเห็นด้วย แต่การห้ามไม่ให้ใช้แฮนด์ฟรี หรือสมอลล์ ทอล์ค นั้นไม่เห็นด้วย
เนื่องจากในปัจจุบันคนในหลากหลายอาชีพมีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อธุรกิจและจะต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนเป็น
เวลานาน เช่น เซลส์ นักธุรกิจ คนส่งเอกสาร
และถ้าหากจะรณรงค์ให้ใช้อุปกรณ์เสริมก็ควรที่จะลดภาษีในส่วนของอุปกรณ์เสริมให้ถูกลง
เพื่อให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น คนก็จะหันมาใช้กันมากขึ้น เพราะการใช้แฮนด์ฟรีก็นับว่าเป็นผลดีกับผู้ใช้เองด้วย
ที่ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กโดยตรง
ส่วนการจอดรถข้างถนนเพื่อพูดโทรศัพท์คงเป็นไปไม่ได้"
เรียวอิจิ ซาซากิ
กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
"แน่นอน การใช้โทรศัพท์ไปขับรถไปจะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
ผู้ที่ขับขี่รถยนต์ควรมีความรับผิดชอบมากขึ้นหากมีการใช้โทรศัพท์
ส่วนการใช้แฮนด์ฟรี ก็จะเสียสมาธิเช่นกันเพราะว่าคุยกันเรื่อยไปสมาธิไม่ได้อยู่ที่ถนน
ซึ่งถ้ามีกฎออกมาก็ต้องเคารพต้องปฏิบัติ และถ้าอยากจะโทรจริงๆ ก็หาที่จอดรถแล้วโทร
คิดว่าผู้บริโภคคนไทยจะยอมหากมีกฎหมายกำหนดบังคับใช้"
คาร์ล โยฮัน ซานเดสโย
ประธาน
บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
"บริษัท ยินดีที่จะเปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากรัฐบาลใดในการช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไทย
เป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่รถยนต์จะทำให้สมาธิในการขับขี่ลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบว่ามีประเทศไทยบ้างที่ห้ามการใช้โทรศัพท์ระบบแฮนด์ฟรี ที่ติดตั้งในรถยนต์ โวลโว
คิดว่ากฎหมายและข้อบังคับจราจรใหม่ควรจะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก
และถ้าออกกฎหมายบังคับใช้อาจจะไม่มีผลเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตามยังมีวิธีการอีกมากมายที่จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
การบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยในทุกๆ ที่ในรถยนต์ การใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับเด็ก
หรือการห้ามเด็กที่ไม่รัดเข็มขัดนิรภัยนั่งในที่นั่งตอนหน้า
ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องออกเป็นกฎหมาย
แต่รัฐบาลควรจะส่งเสริมการรณรงค์ดังกล่าวและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเพื่อจะทำให้การลดอุบัติเหตุบน
ท้องถนนอย่างมีประสิทธิภาพ"
สื่อมวลชน
พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย
"ควรห้ามใช้โทรศัพท์มือถือโดยยกเว้นอุปกรณ์เสริม แฮนด์ฟรี หรือ สมอลล์ ทอล์ค ถ้าห้ามใช้เลยไม่เห็นด้วย
อันตรายจะเกิดขึ้นตอนกดเลขเท่านั้น สมาธิอยู่ที่ความคิดไม่ได้อยู่ที่ตอนพูด
โลกนี้ไม่มีประเทศไหนห้าม เป็นความคิดของคนจิตวิปริต ควรที่จะรณรงค์ ไม่ควรออกมาเป็นข้อห้าม"
จิรายุ ห่วงทรัพย์
ผู้ประกาศข่าวไอทีวี
"การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในรถคงเป็นเรื่องแปลกสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะการห้ามใช้แฮนด์ฟรี
เพราะในประเทศต่างๆ ไม่เห็นห้าม เดี๋ยวก็เหมือนกับกฎหมายฟีล์มกรองแสงอีก รัฐมนตรี ตำรวจ ก็ใช้กันทั้งนั้น
เพราะทุกคนมีธุรกิจมีความจำเป็น
การห้ามใช้แฮนด์ฟรี เป็นช่องทางของตำรวจ ในเรื่องการออกกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด
ให้ใช้ดุลยพินิจของใครในเรื่องการตัดสินใจจับ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม
คนเราไม่อยากขับรถไปคุยไปหรอกถ้าไม่มีธุระจริงๆ"
วัชระ เรืองมาลัย
บรรณาธิการ นิตยสารจีเอ็มคาร์
"ไม่เห็นด้วยกับการใช้โทรศัพ์มือถือในรถ เนื่องจากจะทำให้ขาดสมาธิ
โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถยนต์ที่เป็นวัยรุ่นที่ขับรถในเมือง ถึงจะไม่ใช้ความเร็วสูงแต่ต้องระมัดระวัง 8 ทิศรอบตัว ต้องตั้งใจ
การเปิดเพลงเสียงดังก็ไม่สมควร จิตใจจะไปอยู่ที่อื่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ
แต่ก็ควรมีข้อยกเว้นในเรื่องการใช้แฮนด์ฟรี เพราะมือก็ยังจับพวงมาลัยรถอยู่ ยกเว้นได้ก็ดี
เพราะหากมองแล้วประเทศไทยมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา หลายคนมีภารกิจเรื่องงาน ครอบครัว
บางครั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคุยกันในรถ แต่ก็ไม่ได้คุยกันมากจนทำให้เกิดการกีดขวางการจราจร"
วรพล สิงห์เขียวพงษ์
บรรณาธิการ นิตยสารไทยไดร์ฟเวอร์
"เห็นด้วย ในการห้ามใช้มือถือในรถยนต์ รวมทั้งแฮนด์ฟรี เพราะการขับรถเป็นเรื่องของสมาธิ
และการสนทนาก็ต้องใช้สมาธิ ถึงแม้จะใช้แฮนด์ฟรี แต่อยู่คนละที่ติดพันได้ แต่ถ้านั่งคุยกันในรถไม่เป็นไร
เพราะมีคนคอยเตือน การขับรถโดยไม่มีสมาธิเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
จริงๆ แล้วถ้าออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์ถึงตำรวจเห็นก็จับไม่ทัน แต่จะมีผลในด้านลดเวลาการใช้ต่อครั้งลง
เพราะคนไทยไม่ชอบการลิดรอนเสรีภาพ"
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2545
คอลัมน์ Online : บทความ