รถยนต์เริ่มเข้ามาในเมืองไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ประมาณ รศ. 124 หรือ พศ. 2444 แรกทีเดียวเป็นรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้สั่งมาเพียงคันสองคัน ต่อมาก็โปรดเกล้า ฯ ให้สั่งเข้ามาอีกหลายสิบคัน เพื่อพระราชทานให้แก่เจ้านายและข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ หลังจากนั้นก็มีพวกนายห้างและเจ้าสัวเข้ามาใช้บ้าง เพียงชั่วเวลา 4-5 ปีก็ปรากฏว่ามีรถยนต์ถึง 400 กว่าคัน ส่วนใหญ่มีวิ่งอยู่ในกรุงเทพ ฯ เท่านั้น
ต่อมาก็มีรถยนต์วิ่งอยู่ตามต่างจังหวัดบ้าง จังหวัดละคันสองคัน แต่เนื่องจากถนนมีวิ่งเฉพาะแต่ในตัวจังหวัดเท่านั้น จึงไม่สามารถที่จะวิ่งติดต่อไปจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ได้
ก่อนหน้าที่จะมีรถยนต์ เมืองไทยเราก็ได้มีรถม้ารถลากและเกวียนวิ่งอยู่ก่อนแล้ว เกวียนนับว่าเป็นพาหนะดั้งเดิมของเมืองไทยมาแต่โบราณ ส่วนรถลากหรือรถเจ๊กมีเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 และรถม้าก็มีไล่ๆ กันกับรถลาก แต่รถเหล่านั้นใช้แรงคนและแรงสัตว์ลาก ดูไม่ตื่นเต้นเหมือนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์กลไก สำหรับรถยนต์มีแรงมากวิ่งไปได้ไกลๆ โดยไม่ต้องหยุดพักเหนื่อยเหมือนคนลากหรือม้าลาก แต่ถ้าน้ำมันหมดตามทาง ก็หาซื้อน้ำมันยากเพราะไม่มีปั๊มที่เติมน้ำมันที่เติมน้ำมันเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ แต่ก็แก้ไขได้โดยการเตรียมน้ำมันใส่ปีบหรือแกลลอนไปในรถ เมื่อน้ำมันหมดก็ใช้เติมกันเอง ซึ่งก็ลำบากกันพอสมควร
จากหนังสือเทศาภิบาล เล่ม 12 ฉบับพิเศษ เดือนมกราคม รศ. 130 ยอดสำมะโนครัว กล่าวถึงจำนวนรถม้า รถลาก รถยนต์ เกวียน เมื่อ รศ. 129 (พศ. 2451) ว่า
มณฑลกรุงเทพ ฯ มีรถม้า 372 คัน รถลาก 2,463 คัน รถยนต์ 401 คัน เกวียน 268 เล่ม
มณฑลกรุงเก่า มีรถม้า 8 คัน รถลาก 1 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 20,738 เล่ม
มณฑลจันทบุรี มีรถม้า 2 คัน รถลาก 6 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 6,370 เล่ม
มณฑลชุมพร มีรถม้า 2 คัน รถลาก 2 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 34 เล่ม
มณฑลนครชัยศรี มีรถม้า 19 คัน รถลาก 3 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 14,598 เล่ม
มณฑลนครราชสีมา มีรถม้า 7 คัน รถลาก 10 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 21,737 เล่ม
มณฑลนครสวรรค์ มีรถม้า 5 คัน รถลาก 2 คัน รถยนต์ 1 คัน เกวียน 17,958 เล่ม
มณฑลนครศรีธรรมราช มีรถม้า 49 คัน รถลาก 49 คัน รถยนต์ 2 คัน เกวียน 305 เล่ม
มณฑลปัตตานี มีรถม้า 11 คัน รถลาก 94 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 28 เล่ม
มณฑลปราจีนบุรี มีรถม้า 3 คัน รถลาก 21 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 16,997 เล่ม
มณฑลพิษณุโลก มีรถลาก 22 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 8,698 เล่ม
มณฑลพายัพ มีรถม้า 153 คัน รถลาก 10 คัน รถยนต์ 6 คัน เกวียน 2,044 เล่ม
มณฑลเพ็ชรบูรณ์ รถม้า ไม่มี รถลาก ไม่มี รถยนต์ ไม่มี
มณฑลภูเก็ต มีรถม้า 458 คัน รถลาก 415 คัน รถยนต์ 2 คัน เกวียน 707 เล่ม
มณฑลราชบุรี มีรถม้า 29 คัน รถลาก 12 คัน รถยนต์ไม่มี เกวียน 33,107 เล่ม
มณฑลอีสาน มีรถม้า 21 คัน รถลาก 1 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 48,549 เล่ม
มณฑลอุดร มีรถม้า 28 คัน รถลาก 1 คัน รถยนต์ ไม่มี เกวียน 17,901 เล่ม
สรุปแล้วในสมัยนั้นคือสมัยปลายรัชกาลที่ 5 คนไทยทั่วประเทศใช้เกวียนเป็นพาหนะมากกว่ายานพาหนะอื่นๆ เพราะเกวียนสามารถไปได้ตามทางเกวียนทุกหนทุกแห่ง มณฑลที่ใช้เกวียนมากที่สุดก็คือมณฑลอีสาน มีถึง 48,549 เล่ม รองลงมาก็คือมณฑลราชบุรีมี 33,107 เล่ม
ส่วนรถม้ามีมากที่สุดก็คือมณฑลภูเก็ต มี 458 คัน รองลงมาก็คือมณฑลกรุงเทพ ฯ มี 372 เล่ม
ส่วนรถลาก มณฑลกรุงเทพ ฯ มีมากที่สุดถึง 2,463 คัน รองลงมาก็คือมณฑลภูเก็ตมี 415 คัน
สำหรับรถยนต์ มณฑลกรุงเทพ ฯ มีถึง 401 คัน รองลงมาก็คือมณฑลพายัพมี 6 คัน
ด้วยเหตุที่รถยนต์เป็นยานพาหนะสมัยใหม่ แต่วิ่งได้เร็วกว่าไกลกว่า ด้วยเหตุนี้ภายในเวลาไม่กี่ปีพอถึงต้นรัชกาลที่ 6 ปรากฏว่าในกรุงเทพ ฯ มีรถยนต์ถึงพันกว่าคัน แหละเนื่องจากเป็นของทันสมัยและมีราคาแพง เพราะต้องสั่งซื้อมาแต่เมืองฝรั่ง จึงทำให้เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นายห้างฝรั่งเจ้าสัวจีนและเศรษฐีที่มีเงิน จึงสั่งรถยนต์มาใช้กันเกร่อ แต่ก็ไม่แน่นถนนเหมือนอย่างในปัจจุบัน ทั้งๆที่ถนนก็มีจำกัดและเป็นถนนโรยกรวดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างกับปัจจุบัน
ที่มีถนนติดต่อกันได้ทั่วประเทศและเป็นถนนชั้นดีมีมาตรฐาน
สาเหตุที่รถยนต์วิ่งแน่นถนนจนติดกันทั้งวันก็เพราะปัจจุบันประชากรเฉพาะกรุงเทพ ฯ มีถึง 12 ล้านคน แทบทุกคนต้องใช้รถใช้ถนนทั้งนั้น จึงทำให้รถยนต์วิ่งอยู่ในถนนกรุงเทพ ฯ เป็นล้านๆ คัน และแต่ละปีจะมีรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถนนไม่สามารถจะเพิ่มง่ายๆ ตามจำนวนรถยนต์
สาเหตุเหล่านี้จึงทำให้กรุงเทพ ฯ มีมลภาวะทั้งน้ำทั้งอากาศเสียจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตและอนามัยของคนกรุงเทพ ฯ
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 2 รองจากกรุงเทพ ฯ ในปัจจุบันก็มีรถยนต์หนาแน่นทำให้การจราจรติดขัดไม่แพ้กรุงเทพ ฯ เหมือนกัน
แต่ในอดีตจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นจังหวัดที่น่าอยู่มากจังหวัดหนึ่งเช่นกัน ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่มีสภาพเหมือนตัวใครตัวมัน ทุกอย่างเป็นไปตามวิถีการดำรงชีวิตสมัยใหม่มีตึกรามทันสมัยหลายสิบชั้นเกิดขึ้นมากมาย มีถนนชั้นดีติดต่อกันเป็นใยแมงมุม มลภาวะเริ่มเสียเช่นเดียวกันกับกรุงเทพ ฯ
เมื่อ พศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่มีถนนไม่กี่สาย ถนนที่สำคัญได้แก่ ถนนแม่ออน หรือถนนสันกำแพง ถนนท่าแพ ถนนสวนดอก ถนนวิชยานนท์ ถนนแก้วนวรัฐ ถนนจ่าแสนวงศ์ ถนนช่างฆ้อง ถนนคีรีดอนไชย ถนนเจริญประเทศ ถนนช้างคลาน ถนนสันคู ถนนช้างม่อย ถนนราชเรืองแสน และถนนศรีภูมิ เป็นต้น
ส่วนยานพาหนะต่างๆ ที่มีวิ่งอยู่ในเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นมีรถยนต์ 50 คัน รถม้า 50 คัน รถจักรยาน 2,000 คันเศษ นอกนั้นก็มีเกวียนล้อหุ้มเหล็ก คือเกวียนชนิดไม่มีแปรกเป็นจำนวนมากเป็นพันๆ เล่ม
สำหรับรถยนต์คันแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นของพระยาเจริญราชไมตรี ข้าหลวงยุติธรรมมณฑลพายัพ ซึ่งย้ายจากกรุงเทพ ฯ ไปประจำอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ รถยนต์ของท่านเป็นรถยนต์ยี่ห้อ เดอ เดียง บูดอง ซึ่งเป็นรถที่สร้างในประเทศฝรั่งเศส
เมื่อเป็นรถยนต์คันแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่จึงตื่นเต้นมาก และอย่าว่าแต่ชาวเชียงใหม่เลย แม้แต่คนกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นก็ตื่นเต้นในรถยนต์ที่วิ่งอยู่ตามถนนในกรุงเทพ ฯ เช่นเดียวกัน เพราะแรกๆ ก็มีไม่มากนานๆ จึงจะเห็นสักคันหนึ่ง ถึงกับลงไปเดินกลางถนนได้อย่างสบาย โดยไม่ต้องกลัวถูกรถชน
ปัจจุบันอุบัติเหตุเกิดตามท้องถนนไม่ใช่เป็นเรื่องของรถชนคนตามท้องถนนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของรถกับรถชนกันเป็นส่วนใหญ่ หรือรถเกิดอุบัติเหตุชนต้นไม้ เสาไฟฟ้าหรือตกคูคลอง ทำให้คนในรถหรือผู้โดยสารบาดเจ็บล้มตายกันมากกว่า
อธิบายภาพ
1. ในอดีต เกวียนทางภาคใต้
2. รถม้าเทียมคู่ หรือที่เรียกว่ารถกูป
3. รถแก้วจักรพรรดิ์ รถยนต์พระที่นั่งคันแรกในปลายรัชกาลที่ 5
4. รถลากหรือรถเจ๊กแถวสะพานหัน ถนนมหาไชย
5. รถยนต์คันแรกของเชียงใหม่ ผู้ที่นั่งขับรถคือ พระยาเจริญราชไมตรี เจ้าของรถ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เทพชู ทับทอง
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2545