โค้งอันตราย
คน+เทคโนโลยี
ตอนที่ท่านผู้อ่านอ่านหนังสือฉบับนี้ ป่านนี้คงพอจะรู้กันแล้วว่า ยอดการขายรถยนต์ในบ้านเรามันโตพรวดพราดแบบก้าวกระโดดขึ้นมาถึงห้าแสนคันได้แล้ว
ก็ขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับบรรดาผู้ผลิต ผู้ค้ารถยนต์ ทั้งที่ค้าในประเทศและส่งไปขายเมืองนอกเมืองนา ที่ประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้า
ก็คงจะมีอยู่ไม่กี่รายหรอกที่ไม่ประสบความสำเร็จ ในเมื่อเศรษฐกิจบ้านเรามันรุ่งโรจน์โชติช่วงอย่างนี้
แต่เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น สิ่งสำคัญสุดของบ้านเราตอนนี้ กลับไปอยู่ที่ บุคลากร หรือ คนนั่นแหละครับ
ประกาศใช้กันมาเป็นปี แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 แต่เพิ่งตื่นตัวทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาประชากร ที่ตอนนี้กำลังมีเรื่องวิตกกันว่า สัดส่วนของประชากรในวัยเด็ก อายุ 0-14 ปีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชากรวัยทำงาน อายุระหว่าง 15-59 ปีจะยังคงเพิ่มอีกระยะหนึ่ง
แต่ที่กลัวกันก็คือ อีก 6 ปีข้างหน้า ประชากรสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องเสริมสร้างคุณภาพพื้นฐานให้มั่นคง สามารถเผชิญสิ่งท้าทายใหม่ๆในสังคมยุคปัจจุบันและอนาคตได้อย่างเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกัน
สาเหตุที่เกิดขึ้นก็เพราะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นข้อจำกัดที่มีผลกระทบต่อการมีบุตรและการเว้นช่วงการมีบุตร และการที่ผู้หญิงไทยมีสัดส่วนที่เป็นโสดสูงขึ้นทำให้การรักษาระดับภาวะเจริญพันธุ์ให้อยู่ในระดับทดแทนทำได้ยากมาก
รวมทั้งปัญหาในด้านการดูแลสุขภาพพื้นฐานยังไม่เพียงพอโดยเฉพาะประชากรในชนบทที่ห่างไกลจากแสงสีทั้งหลายการเรียนรู้ที่นำไปสู่การดำเนินชีวิตที่เหมาะสมยังมีน้อยและการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่นำไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคตยังไม่เพียงพอ
รวมทั้งการนำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานแทนแรงงานไทยในบางอาชีพ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
เอ...เขียนมาเนี่ย กล่าวหาผู้มีหน้าที่ในรัฐบาลชุดเก่าหรือเปล่า ท่าทางจะโดนกันหลายคนเลยเชียวละ
แต่ก็ยังดีที่มีการริเริ่มจัดทำแผนแม่บท โดยมีวิสัยทัศน์ที่ว่า ประชากรไทยใน 20 ปีข้างหน้าจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่เหมาะสม โดยมีอัตราเพิ่มประชากรโครงสร้างและการกระจายตัวประชากรที่เหมาะสม มีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดีมีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพมีการใช้และรักษาทรัพยากรที่พอเหมาะทั้งในเขตเมืองและชนบทเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
แต่ก็มีข้อควรระวังของประชากรเมืองไว้ด้วยว่าถ้าไม่จำเป็นอย่าพยายามข้ามสะพานลอยที่ไม่มีไฟแสงสว่าง โดยเฉพาะในช่วงที่แดดยังไม่ออกหรือหลังพระอาทิตย์ตก เพราะเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายจะไม่สามารถให้ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของท่านได้เพียงพอ
ทำได้เพียงแค่เอากระจกบานเบ้อเริ่มขึ้นไปติดไว้บนสะพานให้มองข้างหลังว่ามีใครเดินตามมาหรือเปล่าเท่านั้นเอง ... ตลก
เป้าหมายในปี 2549 สภาพัฒน์ ฯ เลยตั้งเอาไว้ 3 ประการ ดังนี้1.รักษาระดับอัตราเจริญพันธุ์ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1.8 2.
ประชากรทุกกลุ่มวัยมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดีอย่างน้อยร้อยละ 80ของเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ 3. ลดอัตราการย้ายถิ่นของประชากรจากเขตชนบทไปสู่เขตเมือง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทอื่นๆ อาทิ แผนพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระยะที่ 9 (ปี 2545-2549) แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 9 (ปี 2545-2549) แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติในช่วงแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 9 (ปี 2545-2549)แผนพัฒนาแรงงานในช่วงแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 9 และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้การพัฒนาประชากรโดยรวมดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นี่ เขียนหนังสือเดี๋ยวนี้ต้องตามให้ทันยุคสมัย เดี๋ยว พณหัวเจ้าท่านจะหาว่าคนเขียนหนังสือไม่อ่านหนังสือ แล้วจะกลายเป็นประชากรสูงอายุตกยุคไล่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน
วนมาถึงเทคโนโลยี ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับประชากรไทยตาดำๆว่าต่อไปนี้ภาครัฐจะได้ร่วมสร้างดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก เป็นดวงแรกของรัฐบาลแล้ว
ส่วนของเอกชนน่ะ ลืมๆ เสียบ้างก็ได้
เจ้าดาวเทียมดวงนี้ ตกลงใจสร้างกันมาตั้งแต่ปี 40 โดยประเทศไทยเราจะเป็นผู้สร้างอุปกรณ์สื่อสารระบบ KA-BAND อิหร่านสร้างระบบ TELEMETRY TRACKING AND COMMAND SUBSYSTEM (TT&C SUBSYTEM) และจีนสร้างอุปกรณ์ส่วนที่เหลือทั้งหมด
โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไทยจะต้องรับผิดชอบ ประกอบด้วย ค่าจัดสร้างอุปกรณ์ KA-BAND 52.425 ล้านบาทค่าส่งดาวเทียม 13.106 ล้านบาท ค่าติดตามและควบคุม 8.338 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายร่วมสร้าง73.919 ล้านบาท ค่าสร้างสถานีอุปกรณ์รับ-ส่ง ค่าผู้เชี่ยวชาญ 50,000 ล้านบาท รวม 123.919 ล้านบาท
การถ่ายทอดเทคโนโลยีและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้จะมีการแลกเปลี่ยนผู้ชำนาญการและผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสม
เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยงานด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์และยังจะเป็นการทดสอบการใช้อุปกรณ์สื่อสารย่านความถี่ K-BAND
กับดาวเทียมวงโคจรต่ำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งหากเกิดผลสำเร็จแล้วลิขสิทธิ์และสิทธิประโยชน์ของการคิดค้นหรือนวัตกรรมจากการผลิตนี้ จะเป็นของประเทศไทยโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะเป็นเจ้าของสิทธิประโยชน์นี้แต่เพียงผู้เดียวและหากรัฐบาลมีแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนของย่านความถี่นี้ขึ้นก็สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการคิดค้นจากต่างประเทศ
ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก จากการเรียนรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งระบบภาคพื้นดินและอวกาศ รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอวกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศให้ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคนี้
รวมทั้งรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
สิ่งสำคัญคือการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานต่างๆ โดยรัฐเป็นผู้นำสนับสนุนและส่งเสริมให้เปลี่ยนจากประเทศผู้ซื้อไปสู่ประเทศที่สามารถวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถทำการผลิตเพื่อสนองความต้องการภายในประเทศและเพื่อสู้กับต่างประเทศต่อไปในอนาคต
ฟังแล้วดูดีไหมครับ การก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ทำให้สามารถพึ่งตนเองได้และพร้อมที่จะเข้าสู่การผลิตทางอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น
แต่เรื่องที่เล่ามาสองเรื่องนี่ ดูรู้สึกจะสวนทางกันสักหน่อยไหมครับเรื่องแรกประชากรสูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องที่สองนี่เทคโนโลยีล้วนๆ แล้วสภาพัฒน์ ฯจะสามารถทำให้ประชากรสูงวัย มาเข้าใจเรื่องเจ้าดาวเทียมอเนกประสงค์วงโคจรต่ำได้ถ้วนถี่หรือไม่
หรือว่าจะคอยให้บริษัทเอกชน มาเช่าช่วงใช้พัฒนาระบบโทรคมนาคมของตัวเองโดยไม่ต้องส่งดาวเทียมด้วยตัวเอง
เอ๊ะ นี่จะกระทบใครมั่งหรือเปล่าเนี่ย กระผมเปล่าตั้งใจนะครับ
ABOUT THE AUTHOR
ม
มือบ๊วย
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : โค้งอันตราย