น่าจะเป็นพาดหัวเรื่องที่ถูกใจคนอ่านมากที่สุดในรอบปีทีเดียว เพราะยอดการขายในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นเดือนที่อยู่ในช่วงแห่งความโศกเศร้า แต่สภาพเศรษฐกิจ และความต้องการใช้รถยนต์ ก็ยังฉุดไม่อยู่ ทำยอดขายรายเดือน เติบโตขึ้น 13.1 % ขายกันได้ 68,551 คัน ส่วนยอดขายรวม 10 เดือน เติบโตขึ้นไป 11.7 % ขายกันได้ 689,266 คัน “มือบ๊วย” ก็ให้งงๆ เช่นกัน เพราะหนนี้ กลายเป็นรถยนต์นั่งที่ขายดิบขายดี ขายได้มากกว่ารถกระบะเสียอีกตกลงว่าคนไทยนี่จะแพ้ทางกับแคมเปญการขายของค่ายรถยนต์กันจริงๆ หรือนี่ แต่ที่ต้องมานั่งลุ้นกันอีก 2 เดือนที่เหลือ ก็น่าจะเป็นเพราะ สภาอุตสาหกรรมฯ เคยประกาศเป้าการขายในปี 2560 นี้ อยู่ที่ราว 830,000 คัน พอเห็นตัวเลขแต่ละเดือน แรงดีไม่มีตก ก็เลยขอเพิ่มยอดการขายประจำปี ขึ้นไปเป็น 850,000 คัน เท่ากับว่าค่ายรถยนต์ทุกค่ายจะต้องช่วยกันระดมการขายอีก 2 เดือนที่เหลือในปีนี้ อีกราว 180,000 คัน ปีนี้ งานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34 ก็น่าจะช่วยตัวเลขได้อีกสัก 50,000 คัน โหรหลังสถานทูตจีนแกว่าเอาไว้อย่างนั้น แม้ว่าประธานจัดงานขอถ่อมตัว กะจะให้ได้สัก 40,000 คัน ก็น่าจะพอ แต่ดูจากบรรดาแคมเปญประดามี ทั้งที่ยังเก็บเอาไว้ในฝัก ยังไม่ชักออกมาให้เห็น รวมทั้งบรรดางานแนะนำรถยนต์ต่างๆ ในช่วงก่อนงาน เรียกว่าทำเอาบรรดาผู้สื่อข่าวหัวหมุนกันเชียว นักข่าวที่ได้ชื่อว่าเป็นดารา ลงเครื่องบินจากงานทดสอบยี่ห้อหนึ่ง ค่ายรถอีกยี่ห้อหนึ่ง ก็เอารถมารับถึงสนามบิน ให้ไปร่วมงานทดสอบกับอีกยี่ห้อหนึ่ง แย่งชิงเนื้อที่ข่าวกัน สนุกสนานกันไป คุยเรื่องอื่นกันดีกว่า แต่อันนี้ตัวเลขจะค่อนข้างรวบรวมได้ล่าช้าสักเล็กน้อย เพราะเพิ่งจะได้ตัวเลขบางอย่างจนถึงเดือนกันยายน ที่ผ่านมานี่เอง นอกเหนือจากการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทย ไปจำหน่ายต่างประเทศทั่วโลก ที่เห็นเป็นรูปธรรมในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม ที่ผ่านมา สามารถส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 940,820 คัน ลดลง 6.29 % ลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดออสเตรเลีย และตลาดแอฟริกา ทีนี้พอพูดถึง การส่งออกชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ ในเดือนมกราคม-กันยายน 2560 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 14,653.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 14.58 % โดยมี ตลาดการส่งออกชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์สูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. สหรัฐอเมริกา มูลค่า 2,030.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 13.86 % จาก 5 อันดับแรก, 2. ญี่ปุ่น มูลค่า 1,299.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 8.87 %, 3. อินโดนีเซีย มูลค่า 1,220.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 8.33 %, 4. มาเลเซีย มีมูลค่า 983.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 6.71 % และจีน มีมูลค่า 864.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 5.90 % นั่นคือลูกค้ารายใหญ่ 5 อันดับแรก สำหรับตลาดชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ ในโลกใบนี้ ขอแถมอีกสักเรื่องหนึ่ง ที่เคยมีคนพูดกันว่า เดี๋ยวนี้ คนไทยอ่านหนังสือกันไม่เกิน 8 บรรทัด แต่สำหรับผู้อ่านนิตยสารในเครือของ “สื่อสากล” น่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะแต่ละเรื่องก็ต้องตั้งสมาธิอ่านกันพอสมควร เพื่อจะได้เรียนรู้กับโลกรถยนต์ใบนี้ แต่ไปเห็นข้อมูลจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่เที่ยวได้ไปค้นคว้าหาความรู้เรื่องนานาประดามี มาให้ได้รับทราบกัน ท่านไปสำรวจกับผู้คนในยุคใหม่ ในหัวข้อการอยู่รอดของผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลข่าวสาร น่าจะอยู่ที่ตัวคอนเทนท์ (CONTENT) ที่สามารถสื่อความออกมาได้ดี ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจากการสำรวจ พบประเด็นที่น่าสนใจ เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้ อิทธิพลของสื่อใหม่ (NEW MEDIA) ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนหันมาใช้เวลากับการติดตามข้อมูลผ่านช่องทางนี้มากขึ้น สะท้อนจากผลการสำรวจ ที่ระบุว่า การติดตามข้อมูลข่าวสารผ่าน NEW MEDIA ในแต่ละวันแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 ชม. มากกว่าสื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ที่ใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 ชม. และหากเปรียบเทียบแล้วยังมากกว่าระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือของคนไทยเกือบ 3 เท่าตัว แต่จากผลการสำรวจ แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอคอนเทนท์เบื้องต้นที่จะไม่ทำให้ผู้ติดตามรับชมข้อมูลข่าวสาร เกิดความรู้สึกเบื่อ ปิดหรือเปลี่ยนช่องทางการสื่อสารนั้น หากอยู่ในรูปแบบข้อความ (TEXT) จะอยู่ที่ 5-10 บรรทัด (44 % ของผู้ตอบแบบสอบถาม) รูปแบบของคลิพวีดีโอ (CLIP VIDEO) อยู่ที่ประมาณ 1 นาที (37 %) ส่วนรูปภาพพร้อมคำบรรยาย รวมถึงอินโฟกราฟิค อยู่ที่ประมาณ 2-4 รูป (67 %) ก็ค่อยชื่นหัวใจหน่อย ว่าผู้คนในยุคโซเชียล มีเดีย เบ่งบานเช่นนี้ ยังอยู่ในระดับที่อ่านหนังสือเกิน 10 บรรทัด กันทั้งนั้น แสดงว่า ยังมีคนอ่าน โค้งอันตราย กันอยู่เยอะพอควร อิอิ