โหรหลังสถานทูตจีน แกบอกมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ว่าปีนี้เราจะโต และก็เป็นจริงตามการนั่งเทียนดังที่คาด เมื่อตัวเลขการขายเพียงแค่ 11 เดือนแรกของปี เพียงเดือนเดียว เติบโตถึง 20.6 % ขายได้ 88,082 คันขณะที่ยอดโดยรวมตั้งแต่ต้นปี ขายได้เพิ่มขึ้น 12.5 % จำนวน 767,348 คัน ซึ่งหากเดือนสุดท้ายของปี ขายกันได้อีกสัก 90,000 คัน ก็จะกลายเป็นตัวเลขเกือบ 860,000 คัน ทีเดียว จะว่ากันไปแล้ว ในห้วงที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่ที่ค่ายรถต่างๆ ได้แนะนำเข้าสู่ตลาด ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถต่างๆ มีส่วนในการกระตุ้นการเติบโตของตลาด คือ หากว่าค่ายไหนไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายแล้ว โชว์รูมแทบจะกลายเป็นโชว์รูมร้างกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพราะภาคประชาชนส่วนใหญ่เริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและมีความเชื่อมั่นต่อสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้มีการใช้จ่ายและการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าสิ้นปีนี้ บรรดาลูกจ้างบริษัทรถยนต์ มีรายการเลี้ยงฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่อีกแล้วสิเนี่ย มาดูเรื่องทางภาคเศรษฐกิจกันบ้าง หลังจากท่านนายกตู่ ไปทำพิธีเปิดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่จังหวัดนครราชสีมาเรียบร้อย ก็มีข้อมูลออกมาให้ได้รับทราบกันว่า ปัจจุบันภาคอีสานของไทยมีพื้นที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศ และมีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ ทว่าเป็นการสร้างรายได้เพียง 1 ใน 10 ของจีดีพีประเทศไทย โดยผู้อำนวยการสถาบันจีน ที่อยู่ในสำนักวิจัยเมืองไทย ให้รายละเอียดกับสำนักข่าว ซินหัว เอาไว้ว่า การพัฒนาอย่างล่าช้านี้เป็นผลมาจากปัญหาการขนส่งที่ย่ำแย่ แต่เมื่อการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย แล้วเสร็จ จะยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย และปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคตลอดเส้นทางรถไฟ ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกรุงเทพมหานคร เข้ากับประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามามากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยการก่อสร้างเส้นทางรถไฟช่วงที่ 1 ความยาว 253 กม. เชื่อมต่อกรุงเทพมหานคร กับจังหวัดนครราชสีมา โดยประเทศจีนรับผิดชอบการออกแบบเส้นทาง ควบคุมการก่อสร้างและการผลิตรถไฟรวมทั้งระบบสัญญาณ และเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น เส้นทางรถไฟสายนี้จะเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม./ชม. ส่วนเส้นทางรถไฟช่วงที่ 2 จะเชื่อมต่อจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนประเทศลาว และจะเชื่อมต่อไปยังเส้นทางรถไฟจีน-ลาว กลายเป็นเส้นทางสายหลักที่เชื่อมต่อประเทศไทย-ลาว-จีนเข้าด้วยกัน ประเทศไทย มีการขนส่งระบบรางทั้งหมดประมาณ 4,507 กม. ซึ่ง 90 % ยังคงเป็นรางเดี่ยว นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความเก่าของเครื่องไม้เครื่องมือ การจัดการ และการบำรุงรักษาที่ไม่ค่อยดี รวมทั้งความเร็วต่ำ ผลที่ตามมาคือจำนวนครั้งของการขนส่งทางระบบรางนั้น น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนการขนส่งทั้งหมด ทั้งๆ ที่มีการประเมินว่าค่าใช้จ่ายของการขนส่งทางบกนั้น แพงกว่าการขนส่งทางรางถึง 6 เท่า และเนื่องจากการขนส่งทางรางไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดี ค่าใช้จ่ายในการขนส่งภายในประเทศไทยจึงสูงกว่าในประเทศอื่นๆ โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยจะช่วยยกระดับระบบรางของไทย และเล็งเห็นอนาคตได้ว่าเส้นทางรถไฟสายนี้จะสร้างความเชื่อมต่อเป็นวงกว้างในประเทศขณะเดียวกันก็ลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนของกลุ่มประชาคมอาเซียน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งอีกด้วย โครงการเส้นทางรถไฟนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสร้าง “เส้นทางสายไหม” ยุคปัจจุบันที่เชื่อมต่อประเทศจีนเข้ากับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรป ทั้งทางบกและทางทะเล แถมด้วยข่าวการก่อสร้างเส้นทางรถไฟอีกสายหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ให้การสนับสนุน ก็เตรียมที่จะเสนอเข้า ครม. ต้นปีหน้านี้ นี่แสดงว่า ประเทศไทย จะกลับมารุ่งโรจน์ชัชวาลกันอีกครั้งใช่ไหมนี่