บทความ
BACK TO SCHOOL
เป็นที่รู้กันว่าสถานศึกษาทุกแห่งจะเปิดภาคการศึกษาใหม่ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่การจราจรจคับคั่งเป็นพิเศษ เนื่องจากมีผู้ปกครองขับรถรับ/ส่งนักเรียนในช่วงเช้า/บ่ายทำให้ปริมาณรถสะสมบริเวณหน้าโรงเรียนค่อนข้างมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรเป็นวงกว้าง "ฟอร์มูลา"จึงสำรวจแผนการแก้ปัญหาของสถานีตำรวจและทางสถานศึกษาซึ่งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีสถานศึกษาชื่อดังตั้งอยู่ว่ามีการเตรียมรับมือกับปัญหานี้อย่างไร
ย่าน สาทร สีลม บางรัก
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
อาจารย์ วิรัช วงษ์สูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมระเบียบวินัยมัธยมศึกษา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยให้ข้อมูลว่า ทางโรงเรียนได้ร่วมมือกับสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ซึ่งดูแลด้านการจราจรนำโดยพตท. กิตติพันธุ์........ รองผู้กำกับการ (จราจร) ได้จัดการจราจรรับช่วงเปิดเทอมในบริเวณ ถนนสีลม/สาทร/ประมวญ และศรีเวียง ช่วงเช้า/เย็นดังนี้
ในช่วงเช้า เวลาประมาณ 06.00-8.00 น. บนถนนประมวญ การจราจรจะเป็นแบบเดินทางเดียว (2 ช่องทาง)โดยให้เข้าจากถนนสาทรเหนือเพียงแห่งเดียวแล้วมุ่งสู่สีลม หรือศรีเวียง (เพื่อออกมายังถนนสุรศักดิ์-สาทร)
ส่วนในช่วงเย็น เริ่มที่ประมาณ 14.30-17.00 น. การจราจรถนนประมวญเป็นแบบเดินทางเดียวแต่ในทางกลับกัน คือ จะเข้าทางสีลมเพียงแห่งเดียว (2 ช่องทาง) วิ่งไปยังถนนสาทร หรือ ศรีเวียง ริมถนนสาทรจะห้ามจอดรถตลอด 24 ชม.
การจราจรในช่วงเช้าจะไม่ค่อยเป็นปัญหาเนื่องจากผู้ปกครองที่มาส่งนักเรียน จะจอดรถแล้วก็เดินทางต่อไปไม่จอดเป็นเวลานาน ส่วนตอนเย็นหลังเลิกเรียนจะมีปัญหาค่อนข้างมากเนื่องจากผู้ปกครองมักจะมาจอดรอรับนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงก่อนเลิกเรียน บางครั้งจอดซ้อนคัน ทำให้การจราจรติดขัด ทั้งๆ ที่ บริเวณหน้าโรงเรียนกำหนดให้เป็นพื้นที่ห้ามจอด และทางโรงเรียนจะไม่อนุญาตให้นักเรียนขับรถมาโรงเรียน
หลังจากที่รถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดให้บริการ จึงช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยไปได้มากทีเดียว เนื่องจาก นักเรียน/ผู้ปกครองและครู จะมาลงรถไฟฟ้าที่สถานีสุรศักดิ์ แต่บริเวณประตูโรงเรียนบนถนนสาทรการจราจรค่อนข้างติดขัดเนื่องจากผู้ปกครองจะจอดส่งนักเรียน นอกจากนี้ยังมีป้ายจอดรถประจำทางหน้าโรงเรียนซึ่งมีรถจอดค่อนข้างมาก ทำให้เสียช่องทางการจราจรไป 1-2 ช่องทาง
โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม
สน. ยานนาวา ร่วมกับ โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม จัดการจราจรคล้ายๆ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนในซอยเซนหลุยส์ 3 ช่วงเช้า/เย็น จะเป็นการจราจรแบบเดินรถทางเดียวให้เข้าจาก ถ. สาทร เพียงอย่างเดียวผู้ปกครองสามารถขับเข้าไปส่งใน รร. แล้ววนมาออกทางซอยเซนหลุยส์ 2 ข้างโรงพยาบาลเซนหลุยส์หรือจะจอดส่งหน้าโรงเรียนแล้ววิ่งตรงไปออกทางตรอกจันทน์ หรืออาคารสงเคราะห์ก็ได้ ส่วนในช่วงเวลาตั้งแต่ 08.00-14.30 น. ในซอยเซนหลุยส์จะเป็นการจราจรแบบสวนทางกัน
สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา
เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรของสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการรับ/ส่งนักเรียนให้รวดเร็วและปลอดภัย โดยทางการกำหนดจุดรับ/ส่งหน้าโรงเรียนตามป้ายหมาย โดยให้คุณครูจัดนักเรียนรุ่นพี่คอยรับนักเรียนเล็กเมื่อลงจากรถเพื่อความรวดเร็วและปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกบริเวณนั้น รวมทั้งอบรมให้เด็กรู้จักวินัยการจราจร
การเตรียมพร้อมของผู้ปกครองและนักเรียนก่อนออกจากบ้าน ก็ช่วยลดปัญหาได้มาก เช่น นำกระเป๋าไว้กับตัวนักเรียน และนั่งรถประตูด้านซ้าย/ขวาให้ตรงกับจุดกำหนดในการรับ/ส่ง นักเรียนไม่นำกระเป๋าหรืออุปกรณ์ต่างๆ ไว้ที่เก็บสัมภาระท้ายรถ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและเกิดปัญหาการจราจรได้ เรื่องการนัดหมายรับนักเรียนกลับบ้าน ควรให้นักเรียนมารอยังจุดนัดพบหรือจุดรับ/ส่งที่กำหนด จะได้ไม่ต้องจอดคอยสาเหตุทำให้การจราจรติดขัด การมารับนักเรียนก่อนโรงเรียนเลิก โดยมาจอดรถรอบบริเวณหน้าโรงเรียน
หรือสถานที่ใกล้เคียงนั้น จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาจราจรอย่างยิ่ง ควรนัดแนะการมารับหลังจากที่โรงเรียนเลิกแล้วประมาณ 5-10 นาที
ย่านสะพานพุทธ และปากคลองตลาด
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
อาจารย์ ปรารภ ศรีแจ่ม ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ฝ่ายบริหารทั่วไป
โรงเรียนสวนกุหลาบประสานงานทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยึดแนวทางการปฏิบัติในภาคเรียนที่ผ่านมา
การจราจรภายในบริเวณโรงเรียน ทางฝ่ายบริหารโรงเรียนยังคงจัดการให้รถเดินทางเดียว โดยเปิดให้รถผู้ปกครองเข้าทางประตูตรีเพชร (ถนนตรีเพชร) และวนไปออกทางประตูจักรเพชร (ถนนจักรเพชร)
ส่วนด้านหน้าโรงเรียน จัดจุดรับ/ส่งนักเรียน ซึ่งจะมีนักเรียนรุ่นพี่มาคอยรอรับนักเรียนรุ่นน้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง โดยในช่วงเย็น สน. พระราชวัง ได้กำหนดพื้นที่และเวลาผ่อนผันพิเศษให้ผู้ปกครองจอดรถรับนักเรียนได้
เนื่องจากเป็นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นโรงเรียนชายล้วน นักเรียนส่วนหนึ่งจะโดยสารรถประจำทางไป/กลับ จึงช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดหน้าบริเวณโรงเรียนไปได้บ้าง
โรงเรียนราชินี
ฝ่ายธุรการ โรงเรียนราชินี ซึ่งดูแลในส่วนของงานจราจร
เนื่องจากภายในบริเวณโรงเรียนไม่สะดวกกับการนำรถเข้า/ออก ประกอบกับมีพื้นที่ติดบริเวณปากคลองตลาดรถผู้ปกครองจึงต้องจอดริมถนน ซึ่งทำให้เสียช่องทางจราจรบนถนนมหาราชไปอย่างน้อย 1 ช่องทางในช่วงเช้า และ 2 ช่องทางในช่วงเย็น
ช่วงเช้า ผู้ปกครองมาไม่พร้อมกัน การจราจรบริเวณถนนมหาราชรถสวนทางเป็นปกติ ผู้ปกครองสามารถจอดรถส่ง ในจุดที่ทางโรงเรียนราชินีจัดจุดรับ/ส่ง ตามโครงการพี่รับน้องที่ร่วมกันกับ สน. พระราชวัง ซึ่งได้จัดนักเรียนยุวกาชาด มาคอยรอรับรุ่นน้องจากรถผู้ปกครอง และส่งเข้าโรงเรียนแทนผู้ปกครอง
ในช่วงเย็น ผู้ปกครองจะมาจอดรถรอรับก่อนเวลาเลิกเรียน นักเรียนกว่า 3,000 คน รถเกือบ 3,000 คันใช้พื้นที่ค่อนข้างมากทาง สน. พระราชวัง จัดการเดินรถทางเดียว เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถจอดรถรอริมถนนมหาราช โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิปอเต็กตึ้ง ซึ่งในปีนี้จะมีการจัดแบ่งโซน เพื่อลดปริมาณรถที่จะเข้ามาจอดบริเวณหน้าโรงเรียน แลระบายรถออกได้เร็วยิ่งขึ้น
สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง
พตท. นพดล สุคนธวิท รองผู้กำกับการ (จราจร) สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง
สน. พระราชวัง ได้เตรียมความพร้อม ทั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ประสานงานกับโรงเรียนในพื้นที่และแผ่นพับแนะนำเส้นทางจราจรให้แก่ผู้ปกครอง
เริ่มจาก บุคลากรที่เป็นหัวใจสำคัญ สน. พระราชวังได้คัดเลือกเจ้าหน้าที่ ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี ใจเย็นเพื่อดูแลในส่วนพื้นที่บริเวณหน้าโรงเรียน เพื่อหลีกเลี่ยงจากการมีปากเสียงกับผู้ปกครองในเรื่องห้ามจอดรถ มาเป็นการอำนวยความสะดวกและจัดระเบียบการจราจร
สน. พระราชวัง ยังได้จัดให้มีจุดผ่อนผันพิเศษ/ถนนหน้าโรงเรียน ในช่วงเช้าเวลา 6.00-8.00 น.และช่วงเย็นเวลา 15.00-17.00 น.
ด้านความร่วมมือกับทางโรงเรียน สน. พระราชวัง จัดจุดรับ/ส่งนักเรียน ตามโครงการพี่รับน้องและได้สอดแทรกระเบียบวินัยจราจรและลดอุบัติเหตุ ตามโครงการลูกชาย/ลูกสาวห่วงใย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ปกครองและนักเรียนในภาคเรียนที่ผ่านมา
และได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเพิ่มบริเวณหน้าโรงเรียนราชินี ซึ่งมีแต่เด็กนักเรียนหญิง เพื่อสร้างความอบอุ่นใจให้แก่ผู้ปกครอง
ในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ สน. พระราชวัง ได้เตรียมแผ่นพับแจ้งวิธีปฏิบัติและแยกจุดรับ/ส่งเด็กโตออกมาจากพื้นที่ติดขัด เพื่อให้สามารถรับ/ส่งได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องขับรถเข้าไปติดด้านหน้าโรงเรียน โดยเฉพาะหน้าโรงเรียนราชินี และถนนมหาราช ซึ่งมีพื้นที่ติดปากคลองตลาด ในช่วงเย็นอาจสร้างปัญหารถติดยาวถึงสะพานพุทธ ฯ และฝั่งธนบุรี
ย่านรามคำแหง
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
หน่วยงานสวัสดิการและรักษาความปลอดภัยมหาวิทยาลัยรามคำแหง
หน่วยงานสวัสดิการและรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีหน้าที่ดูแลการจราจรภายในบริเวณมหาวิทยาลัย และประสานงานกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก สำหรับการจราจรบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยฝั่งที่ติดกับถนนรามคำแหง
ระบบจราจรภายในของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดแบบมาตรฐาน คือ มีเส้นแบ่งจราจรชัดเจน มีระบบเดินรถทางเดียว และเดินรถสวนทาง มีที่จอดรถเฉพาะสำหรับคณะอาจารย์ ที่จอดรถสำหรับนักศึกษาและบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความเรียบร้อย
ในช่วงเปิดภาคเรียน มีรถเข้า/ออกมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถผู้ปกครอง รถนักเรียนของโรงเรียนสาธิตราม ฯ รถอาจารย์ และรถนักศึกษา รวมถึงผู้ที่มาติดต่อ บางครั้งเกิดปัญหารถติดสะสมบริเวณทางเข้า/ออก ฝั่งถนนรามคำแหง จึงต้องประสานงานกับ สน. หัวหมาก เพื่อช่วยระบายรถ และไม่ให้เกิดการสะสมบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (วิทยาเขตหัวหมาก)
นคร ระวิวรรณ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัย
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ตั้งแต่เวลา 7.00 -9.30 น. และ16.00 น. เป็นต้นไป บริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยและบริเวณใกล้เคียงโดยเน้นเรื่องการระบายรถเป็นหลัก ส่วนจุดที่มีปัญหาคือบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นถนนคอขวดมีการสะสมของรถบริเวณดังกล่าว จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยเร่งระบาย เพื่อความคล่องตัว และวางตัวเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกตั้งแต่ถนนเสรี 4 ขึ้นมาจนถึงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย
สำหรับพื้นที่ภายใน มีการจัดสถานที่จอดรถให้แก่อาจารย์ และผู้มาติดต่อ รวมถึงนักศึกษาปริญญาโท/เอกอย่างเป็นสัดส่วน โดยปกติทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีนำรถเข้ามาจอดภายในมหาวิทยาลัย แต่มีสถานที่จอดรถซึ่งจัดโดยเอกชนบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยคอยให้บริการ
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีการประสานงานกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก เกี่ยวกับงานจราจรและการรักษาความปลอดภัย โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการฝึกอบรม จนมีความชำนาญและสามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เป็นอย่างดี และมีการประชุมกับทางสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก เกี่ยวกับปัญหาและความก้าวหน้าในการดำเนินการอยู่ตลอดเวลา
สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก
พตท. รัฐวุฒิ เจียมศรีพงษ์ สารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก
สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก มีภารกิจทางด้านการจราจร ในเขตความรับผิดชอบ โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้คอยอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ ทาง สน. มีการประสานงานกับโรงเรียนต่างๆ และให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎระเบียบ รวมทั้งปลูกจิตสำนึกและสร้างวินัยในการใช้รถใช้ถนน
สำหรับการปฏิบัติงานในช่วงสถานศึกษาเปิดภาคเรียน มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเต็มกำลัง โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียนเพื่อเร่งระบายรถ และมีการจัดกำลังตามจุดต่างๆ เช่น จุดกลับรถหน้าการไฟฟ้าหน้าบริษัท โอสถสภา ฯ แยกพรีเมียร์ แยกรามคำแหง หน้าโรงพยาบาลรามคำแหง ปากซอยรามคำแหง 21,32, 39, 42, 46, 50 และ 87 ทางเข้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง แยกลำสาลี ฯลฯ
ทาง สน. มีการประชาสัมพันธ์ทางสถานีวิทยุ รายงานสภาพการจราจร เช่น จส.100/สวพ. 91 โดยรายงานสดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เปิดสถานีดังกล่าว สามารถทราบสถานการณ์และเลือกใช้เส้นทางได้อย่างถูกต้อง และทาง สน. มีการประสานงานกับ สน.ข้างเคียง เพื่อการระบายรถได้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้บังคับบัญชาจัดให้มีการประชุมระดับสารวัตรจราจรขึ้นไปทุกๆ สัปดาห์เพื่อร่วมปรึกษางานด้านการจราจร
ย่านปทุมวัน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บัญชา ชลาภิรมย์ ผู้อำนวยการส่วนรักษาความปอลดภัยและยานพาหนะ
"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีถนนผ่านเข้า/ออกสู่ถนนหลายสาย โดยในแต่ละวันจะมีรถหมุนเวียนในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 6.00-9.00 น. เกือบ 10,000 คัน ซึ่งถ้าเป็นในช่วงเปิดเทอมจะมีรถเพิ่มมากขึ้น บางครั้งเกิดโกลาหลเล็กน้อย ทั้งนี้เกิดจากผู้ปกครองนักเรียนใหม่ ของโรงเรียนสาธิตจุฬา ฯ ประมาณ 100 คน และนิสิตใหม่อีกประมาณ 2,000 คน เนื่องจากยังไม่ชินกับสภาพการจราจร ทางมหาวิทยาลัย ฯ ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดการจราจร
โดยวิธีการจัดการจราจรภายในมหาวิทยาลัย ฯ จะเป็นการเดินรถทางเดียว ไม่มีรถวิ่งสวนทาง ส่วนเรื่องของที่จอดรถมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะจัดให้แก่อาจารย์ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ ส่วนนิสิตนั้นจะให้จอดในมุมต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ส่วนสติคเกอร์ที่จัดทำขึ้นนั้นจะแบ่งเป็น 2 สี คือ อาจารย์/บุคลากร และเจ้าหน้าที่จะเป็นสีฟ้า ส่วนของนิสิตจะอนุญาตให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 3-4 เท่านั้น เนื่องจากไม่สนับสนุนให้นิสิตขับรถมาจะใช้สติคเกอร์สีชมพู นอกจากนี้บางคณะมีตราของคณะ รถพวกนี้มีสิทธิ์จอดได้ ส่วนสติคเกอร์ที่เหลือเป็นเพียงบัตรแสดงการเข้า/ออกผ่านประตูปทุมวันกับพญาไท เพื่อแสดงว่ารถที่ติดสติคเกอร์สามารถผ่านได้
ส่วนการแก้ไข มหาวิทยาลัยได้จัดรถ SHUTTER BUS บริการขึ้น 3 สาย คือ 1. ออกจากมหาวิทยาลัยผ่านถนนอังรีดูนังต์สยามสแควร์ เพื่อรับคนจากสถานีรถไฟฟ้าเข้ามหาวิทยาลัย ถนนพญาไท2. เชื่อมระหว่างทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก ถนนพญาไท เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ถนน 2 ฝั่งให้เดินทางมาเล่นกีฬา ศาลาพระเกี้ยว สโมสรนิสิต และ 3. ไปสามย่าน เนื่องจากมีหอพักนิสิตนักศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเก็บค่ารถ 2 บาททุกสาย ซึ่งจุดนี้มหาวิทยาลัยต้องเสียค่าใช้จ่ายปีละ 9 แสนบาททั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาลดจำนวนรถให้น้อยลงและสำหรับผู้ที่นำรถมาก็มีมาตรการต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่
ผู้อื่น เช่น ห้ามขับรถเร็ว และก่อความรำคาญ จอดรถไม่เป็นที่ หากฝ่าฝืนจะมีการหักคะแนนความประพฤติหรือลอคล้อ และจะต้องจ่ายค่าปรับคันละ 100 บาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นยกเลิกไม่ให้นำรถมา
นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างอาคารจอดรถ 10 ชั้น บริเวณสนามกีฬา เพื่อให้มีที่จอดรถเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,500 คัน แต่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ในขณะนี้จึงยังไม่สามารถสรุปว่าจะมีการสร้างเมื่อไร
แต่ถ้าเป็นโรงเรียนสาธิตจุฬา ฯ จะมีการติดในช่วงเช้าที่ผู้ปกครองมาส่งเด็กนักเรียนและไม่อยู่ในระเบียบวินัยเนื่องจากได้มีการจัดช่องจราจรสำหรับรถที่มาส่งเด็กให้เข้าช่องที่ 1 แต่ก็มีผู้ปกครองบางท่านมาใช้ช่อง 2เพราะไม่อยากรอ ตรงส่วนนี้ต้องการสร้างให้เกิดวินัยกันเอง
บางครั้งผู้ปกครองบางท่านไม่สนใจจอดส่งลูกนาน ไม่แคร์ว่ารถจะติดอย่างไร เป็นเรื่องที่พยายามแก้ไขแต่ต้องใช้สังคมบังคับ ให้เห็นว่าสังคมเดือดร้อน ซึ่งบางครั้งทนไม่ได้ก็มาจอดส่งหน้าโรงเรียน บางทีก็จอดส่งทางม้าลาย แต่เหตุการณ์เช่นนี้ก็จะเป็นไม่นานจะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 7.20-7.50 น.
แต่โดยนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ส่งเสริมให้มีรถวิ่งภายในจุฬา ฯ เนื่องจาก ไม่สนับสนุนการใช้รถ อาคารเรียนอยู่ริมถนน มีรถวิ่งทำให้เกิดมลพิษ เรื่องเสียง และอากาศ อยากให้จุฬาลงกรณ์เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว แต่ สจร. ขออนุญาตขอให้รถวิ่งผ่าน
ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ทดลองสร้างทางเดิน CROSS WAY จากอาคารจุฬา ฯ ไปป้ายรถเมล์ ทั้งนี้เพื่อให้คนที่เดินไม่ร้อน และถ้าฝนตกก็ไม่เปียก ซึ่งถ้าทำได้ผลจะทำทุกสาย
การจราจรและการที่รถติดนั้น เกิดขึ้นจากวินัย และไม่มีความเกรงกลัว ตัวอย่างเช่น สัญญาณไฟ ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาช่วงใดก็ไม่ควรฝ่าฝืน ต้องสร้างเป็นนิสัย จอดไม่ได้ก็ไม่สมควรที่จะจอด แต่คนส่วนใหญ่มีข้อแก้ตัวตลอด จุดนี้แก้ไม่หาย"
สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน
พตท. บุญฤทธิ์ กิตติถิระพงษ์ สารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน
"พื้นที่ของสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ครอบคลุมทั้งหมด 4.9 ตารางกิโลเมตร เริ่มต้นทิศเหนือคลองแสนแสบ สะพานกษัตริย์ศึก คลองผดุงกรุงเกษม ต่อเนื่องเขตรถไฟหัวลำโพง จนถึงถนนพระราม 4ตลอดสาย จนถึงแยกศาลาแดง โรงพยาบาลจุฬา ฯ ราชดำริตลอดสาย จนถึงคลองแสนแสบอีกด้านหนึ่งตรงแยกประตูน้ำ มีเจ้าหน้าที่ 65 คน
ช่วงเปิดเทอมของทุกปีที่ผ่านมามี 2 แบบคือ โรงเรียนทั่วไปคือ โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีโรงเรียนในสังกัดที่มีนักเรียน และรถจำนวนมากคือ สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาธิตปทุมวันเตรียมอุดมศึกษา จะเปิดเทอมในช่วงวันที่ 16 พฤษภาคม ส่วนโรงเรียนอื่นไม่ค่อยมีปัญหามากนักโดยช่วงเวลาที่รถติดจะอยู่ประมาณ 7.30-8.00 น.
ปริมาณรถของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ประมาณ 3,000 คัน โรงเรียนสาธิตปทุมวัน 1,300 คันโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1,200 คัน ส่วนใหญ่จะเป็นรถเก๋ง และอยู่ในถนนสายหลักทำให้เกิดผลกระทบกับการจราจรภาพรวมได้ ที่เหลือจะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในซอย
เปิดเทอมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รถก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าโรงเรียนทั่วไป โดยจะเปิดในช่วงเดือนมิถุนายน
การแก้ปัญหาจะเริ่มตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมจะเข้าไปประชาสัมพันธ์ เรื่องการรับ/ส่งนักเรียนแก่ผู้ปกครองในช่วงการประชุมสมาคมผู้ปกครองนักเรียนใหม่ เช่น โรงเรียนเตรียมอุดม และสาธิตปทุมวันโดยจะเป็นในเรื่องของการแนะนำการเตรียมความพร้อมก่อนลงจากรถเพื่อให้เกิดความรวดเร็วเช่น กระเป๋านักเรียน เป็นต้น
การจราจรจะมีปัญหาในช่วงเช้า/เย็น และเกิดในช่วง 2 สัปดาห์แรก เกิดจากนักเรียนใหม่ไม่คุ้นกับเส้นทางซึ่งทำให้ใช้เวลาในการเดินทางมาก การแก้ปัญหา ในช่วงเช้า ได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรควบคุมสัญญาณไฟ ตามถนนและทางแยกในเส้นทางที่มุ่งสู่โรงเรียนเป็นหลัก เช่น สาธิตจุฬา ฯ บริเวณแยกหน้าจุฬาลงกรณ์ ฯทางเข้าจุฬา ฯ หน้าประตูใหญ่ และทางเข้าซอยจุฬา 22 และส่วนที่จะมาโรงเรียน ทั้งด้านหน้า/หลังซึ่งตั้งแต่เช้าเจ้าหน้าที่จะนำรถยกออกตรวจไม่ให้มีรถเสีย หรือรถติด ตั้งแต่เช้าเพื่อรองรับ และเจ้าหน้าที่ก็จะประจำจุด เมื่อผู้ปกครองนำรถมาก็จะแนะนำให้เข้าส่งอย่างมีระเบียบ
อีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดกับโรงเรียนที่อยู่ริมถนน คือ รณรงค์วินัยจราจร โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมจัดจราจรเป็นโครงการเชิงรุก พี่รับน้อง หนูน้อยห่วงใย รักลูกรักวินัย เช่น จัดป้ายประชาสัมพันธ์ หรือประกาศอย่าจอดรถนาน อย่าจอดรถกีดขวาง ต้องเข้าคิว หรือรุ่นพื่เตือนรุ่นน้อง ทำให้การจราจรเลื่อนไหลหรือในบางครั้งนำกิจกรรมมาเป็นวิชาเสริม ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ ทั้งนักเรียน และผู้ปกครอง
ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีรถ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรดูแลในเรื่องการข้ามถนน ซึ่งเป็นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก
ในช่วงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดจะใช้เส้นทางหลายเส้นทาง เส้นทางหลักคือ ถนนพญาไทด้านประตูใหญ่ ข้างหลังถนนพระราม 4 บรรทัดทอง ทะลุซอย 22 แล้วทะลุประตูใหญ่ ปริมาณที่จอดรถของจุฬาลงกรณ์ ฯ ไม่เพียงพอ แก้ไขโดยการจัดรถเมล์ภายในรับ/ส่งนักศึกษาไปคณะต่างๆ และออกมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้นักศึกษานำรถมามหาวิทยาลัย รวมถึงขอความร่วมมือกับสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันดำเนินการกับรถที่จอดกีดขวาง เช่น ถนนพญาไท ถนนอังรีดูนังต์ จะมีกำหนดเวลา หากไม่ทำก็ให้ลอคล้อดำเนินการตามกฎหมายทันที หรือยกรถ โดยปกติจะเสียค่าปรับ 200 บาท ค่าลอคล้อ และยกรถ 500 บาท
ส่วนถนนต่างๆ เช่น ถนนพระราม 4 ศาลาแดง สีลม ประสานกับสถานีข้างเคียง รณรงค์เพื่อไม่ให้เกิดรถติดต่อเนื่อง ซึ่งการบรรเทาการจราจรความจริงเป็นเรื่องของสำนึก โดยการจราจรจะมีอยู่ 3 ส่วน คือเรื่องกายภาพ การอบรมให้ความรู้ และการบังคับใช้กฎหมาย ในช่วงเปิดเทอมจะใช้ 2 ส่วน คือถ้าผิดเราจะจับหนัก แต่ถ้าไม่รู้จะบอกให้รู้ แต่ถ้าขัดขืนก็จะจับเลย
ที่ผ่านมาทำให้รถลื่นไหลเพิ่มขึ้น อุบัติเหตุลดลง ประชาชนหรือนักเรียนมีความรู้สึกว่าได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีความภูมิใจมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อขับรถทุกครั้ง ต้องรู้กฎถ้าไม่รู้อาจปฏิบัติไม่ถูก แต่เมื่อรู้แล้วจะต้องยึดถือปฏิบัติ เพราะกฎจราจรเป็นเรื่องของความสะดวกและปลอดภัย ความสะดวกคือ ถ้าทำตามกฎจะเลื่อนไหลไปได้โดยไม่เกิดอุบัติเหตุ ความปลอดภัย คืออุบัติเหตุจะลดลงถ้าไม่ฝ่าฝืนกฎ เรื่องการศึกษา การปฏิบัติตาม สังเกตป้าย เส้นทาง เป็นเรื่องจำเป็นเพราะการปฏิบัติผิดก่อปัญหากระทบคนอื่น และตัวเอง ถูกจับเสียเวลา เสียเงิน ศึกษาเส้นทาง กฎวิธีการเดินทาง และปฏิบัติตามพึงระมัดระวังการทำผิดกฎจราจร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวก
วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ผมขับรถมาเรียน เพราะมีรถส่วนตัว และสะดวก ส่วนใหญ่จะจอดรถหน้าคณะนิเทศศาสตร์หรือถ้ามีเรียนวิชาอื่นที่อยู่ตึกอื่น ก็จะจอดรถฝั่งตรงข้าม แล้วเดินมาเรียน ซึ่งผมมีสติคเกอร์ติดรถที่มหาวิทยาลัยออกให้เป็นรายปี จึงสามารถจอดภายในบริเวณได้ จะว่าไปแล้วสถานที่ที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอกับจำนวนรถทุกวันนี้นิสิตต้องแย่งกันจอดหน้าคณะ และสนามเทนนิสใกล้ๆ หรือถ้ามหาวิทยาลัยลานจอดรถเต็มก็ต้องขับออกมาจอดริมถนน แต่จอดได้เพียงแค่ 4 โมงเย็นเท่านั้น ถ้าจอดเกินเวลาจะถูกลอคล้อทันทีซึ่งบางครั้งลงมาเลื่อนรถไม่ทันเพราะติดเรียนก็จะต้องเสียค่าปรับ 400 บาท
ส่วนมาตรการที่ไม่ให้นำรถมาเรียนคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากนิสิตส่วนใหญ่มีรถขับมาเรียน เพราะสะดวกในการเดินทาง แต่ถ้ามีนโยบายขอความร่วมมือไม่ให้นำรถมาเรียน โดยส่วนตัวผมบอกได้เลยว่าไม่เห็นด้วยเพราะว่าผมชอบขับรถเองเวลาเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ
สำหรับสภาพการจราจราภายในมหาวิทยาลัยในบางครั้งจะหนาแน่นมากเป็นพิเศษ ซึ่งจะอยู่ในช่วงการเปิดรับสมัครนักศึกษา และบริเวณถนนหน้ามหาวิทยาลัยจะมีรถจำนวนมาก เนื่องจากถนนเส้นหลักมีศูนย์การค้าอยู่ใกล้ๆ สำหรับนิสิตที่มีรถส่วนตัวอยากให้ทางมหาวิทยาลัยปรับปรุงสถานที่จอดรถคงเป็นไปได้ยากแต่อยากให้จัดระเบียบการจอดรถสำหรับรถที่มีสติคเกอร์ คือ อาจจะแบ่งเป็นโซน เพราะถ้าไม่มีระเบียบหรือมาตรการ คนที่นำรถมาก็จะหาที่จอดรถกันเอง ทำให้จอดกันไม่เป็นระเบียบ บางครั้งไปจอดทับที่คนอื่นก็จะถูกกลั่นแกล้ง โดนงัดรถบ้าง เป็นต้น
ชนันภรณ์ สอนประเสริฐ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"การเดินทางมาเรียนผู้ปกครองขับรถมารับ/ส่ง หรือหากผู้ปกครองไม่ว่างก็จะนั่งรถมาเอง หรือมากับเพื่อนเนื่องจากขับรถมาจะมีปัญหาในเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอกับจำนวนรถ และมหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนให้นักศึกษานำรถมาด้วย หรือถ้าขับรถมาก็จะเกิดปัญหาอยู่เสมอ ซึ่งถ้าหากไปจอดในบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยหากเกินเวลาก็จะถูกลอคล้อ และต้องไปเสียค่าปรับเพราะเห็นว่าเพื่อนๆ ที่ขับรถมาก็จะมีปัญหาคิดว่าไม่ขับมาดีกว่า"
สรุป
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เราทราบถึงนโยบายและแผนปฏิบัติงาน รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายในช่วงเปิดเทอม แต่อย่างไรก็ตามแผนงานต่างๆ จะสำเร็จได้ ต้องพึ่งพาทุกฝ่ายในการร่วมกันปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
ภาพโดย : กองบรรณาธิการนิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : บทความ