สังคม + ธุรกิจ
ไดมเลร์ ไครสเลอร์ ถอดใจ
ไดมเลร์ ไครสเลอร์ ถอดใจ
เลิกอัดเงินหนุนค่ายสามเพชร
ผู้ผลิตเมืองโสมก็โดนด้วย
ญี่ปุ่น-ไดมเลร์ ไครสเลอร์ (DAIMLER CHRYSLER) ผู้ผลิตรถยนต์สองสัญชาติ ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 37 ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์พอเรชัน (MITSUBISHI MOTORS CORPORATION ) ชอควงการรถยนต์เมืองยุ่น โดยประกาศการตัดสินใจเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ยอมอัดฉีดเงินก้อนโตเพื่อช่วยกู้ฐานะของค่ายสามเพชรที่กำลังมีอาการร่อแร่ เพราะขาดทุนหนัก
ไดมเลร์ ไครสเลอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ เมร์เซเดส-เบนซ์ (MERCEDES-BENZ) ไครสเลอร์ (CHRYSLER) จีพ (JEEP) และ สมาร์ท (SMART) ใช้เงินประมาณ 125,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นร้อยละ 37 ของ มิตซูบิชิ เมื่อเดือนมีนาคม 2000 และส่ง นาย รอลฟ์ เอครอดท์ (ROLF ECKRODT) คนของตน เข้ารับหน้าที่ ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นับแต่นั้น
การก้าวเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของยักษ์ใหญ่ ไดมเลร์ ไครสเลอร์ ส่งผลให้เกิดโครงการความร่วมมือระหว่างสองค่ายนี้ขึ้นหลายโครงการ รวมทั้งโครงการพัฒนารถ สมาร์ทฟอร์โฟร์ (SMART FORFOUR) กับ มิตซูบิชิ โคลท์ (MITSUBISHI COLT) ที่ใช้ชิ้นส่วนร่วมกันเป็นจำนวนมาก และโครงการพัฒนารถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) แบบใหม่เพื่อแทนที่รถ จีพ เชอโรคี (JEEP CHEROKEE) และ มิตซูบิชิ โชกุน (MITSUBISHI SHOGUN) รุ่นปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าอาการของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้ ไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นสักเท่าไร สินค้ารถยนต์ที่ผลิตออกจำหน่ายในตลาดยังมีปัญหาด้านคุณภาพ ถึงขนาดต้องเรียกกลับมาแก้ไขนับล้านคัน ที่แย่กว่านั้นก็คือ การพยายามปกปิดปัญหาและไม่รายงานข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย และส่งผลให้มีการจับกุมผู้บริหาร เป็นข่าวแพร่สะพัดและฉาวโฉ่ไปทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้
ฐานะทางการเงินของ มิตซูบิชิ เลวร้ายลงเรื่อยๆ ปี 2546 การเงินก็ปิดบัญชีด้วยเลขตัวแดง 76,000 ล้านบาท และที่สุดก็จำเป็นต้องร้องขอให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือไดมเลร์ ไครสเลอร์ อัดฉีดเงินช่วยเหลือเป็นมูลค่าประมาณ 94,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ได้รับการร้องขอใช้เวลาคิดไม่กี่เดือน ก็ประกาศว่า พอกันที ดังกล่าวข้างต้น
คำถามที่ถามกันไปทั่วในวงการรถยนต์ของยุโรปก็คือ นอกจากไม่ยอมอัดฉีดเงินช่วยเหลือแล้ว ไดมเลร์ ไครสเลอร์ จะตัดสินใจถอนสมอ โดยขายหุ้นที่ถืออยู่ด้วยหรือไม่หากเป็นอย่างนั้น ก็คงจะขัดกับยุทธศาสตร์ของผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่รายนี้ ซึ่งเคยคาดหวังว่า จะใช้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้เป็นฐานในการทะลุทะลวงเข้าไปในตลาดเอเชียโดยเฉพาะตลาดของรถที่ผลิตจำนวนมากๆ ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า MAINSTREAM VOLUME CAR
อย่างไรก็ตาม ไดมเลร์ ไครสเลอร์ ประกาศยืนยันว่า โครงการต่างๆ ที่ร่วมมือกับค่าย มิตซูบิชิ จะยังคงดำเนินต่อไป รวมทั้งโครงการผลิตรถ สมาร์ท ฟอร์โฟร์ และ มิตซูบิชิ โคลท์ ที่โรงงาน NEDCAR ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่วงการกำลังจับตา
ที่โดนหางเลขไปด้วยก็คือ ฮันเด (HYUNDAI) ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของเมืองโสม ซึ่งค่าย ไดมเลร์ ไครสเลอร์ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 10.5 เพราะเพียงสองสัปดาห์หลังจากกรณีของ มิตซูบิชิ ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สองสัญชาติก็ประกาศว่า ได้ตัดสินใจจะขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ และคาดว่าจะทำเงินได้ประมาณ 41,000 ล้านบาท โดยไม่ยอมเปิดปากอธิบายสาเหตุของการตัดสินใจครั้งนี้ เพียงแต่บอกว่า ถึงแม้จะขายหุ้นทั้งหมดไปแล้ว แต่โครงการความร่วมมือต่างๆ ที่กระทำกับ ฮันเด จะยังคงดำเนินต่อไป
ย่อยข่าว
* ฝรั่งเศส-ตามตัวเลขที่ตีพิมพ์ในนิตยสารรถยนต์ชั้นนำฉบับหนึ่งของเมืองน้ำหอม ในช่วงห้าเดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2004) ตลาดรถยนต์ในประเทศยุโรปตะวันตกสามารถขายรถใหม่ได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 6,422,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากตัวเลขในช่วงเดียวกันเมื่อปีกลาย รถที่ขายได้มากที่สุด คือ เรอโนลต์เมกาน (RENAULT MEGANE) ซึ่งมียอดขายสูงถึง 308,750 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26 จากเมื่อปีกลาย โดยมีรถแบบอื่นๆ อีกเก้าแบบทำยอดขายลดหลั่นกันไป ดังนี้
1. เรอโนลต์ เมกาน 308,750 คัน
2. ฟอร์ด โฟคัส 250,550 คัน
3. เปอโฌต์ 206 233,570 คัน
4. โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ 231,500 คัน
5. เปอโฌต์ 307 210,610 คัน
6. เรอโนลต์ กลีโอ 178,100 คัน
7. โอเพล โคร์ซา 160,820 คัน
8. เฟียต ปุนโต 149,700 คัน
9. ซีตรอง เซตรัวส์ 140,500 คัน
10. ฟอร์ด ฟิเอสตา 138,500 คัน
* ฝรั่งเศส-ค่ายสิงห์เผ่น นำรถนาคร เปอโฌต์ 1007 (PEUGEOT 1007) รถแบบแรกในประวัติศาสตร์ของค่ายนี้ ที่ใช้รหัสอนุกรมเป็นเลขสี่ตัว ออกจำหน่ายเรียบร้อยแล้วทั้งแบบพวงมาลัยซ้ายและพวงมาลัยขวา ตัวถังซึ่งออกแบบโดยสำนัก ปินินฟารีนา (PININFARINA) และมีขนาดยาว 3.731 ม. กว้าง 1.686 ม. และสูง 1.610 ม. มีจุดเด่นที่แปลกไปจากรถประเภทเดียวกันขนาดเดียวกันที่มีจำหน่ายอยู่ในขณะนี้ คือมีประตูข้างทั้งสองด้านเป็นประตูเลื่อน ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า และใช้เวลาในการเปิดหรือปิดแต่ละครั้งเพียง 4 วินาที สนนราคาค่าตัวของรถแบบนี้ในตลาดอังกฤษ อยู่ที่ระดับ 10,500-11,500 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 0.79-0.86 ล้านบาทไทย
* ญี่ปุ่น-ในรอบปีการเงินซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โตโยตา ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของเมืองปลาดิบ สามารถสร้างสถิติขึ้นใหม่ โดยทำกำไรได้ถึง 1.16 ล้านล้านเยน (ประมาณ 0.43 ล้านล้านบาท) และกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกของญี่ปุ่นที่ยอดผลกำไรต่อปีผ่านหลักหนึ่งล้านล้านเยน วิจารณ์กันในยุโรปว่า ยอดผลกำไรที่สูงกว่ารอบปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 55 นี้ ส่วนใหญ่เป็นผลลัพธ์จากยอดขายในภูมิภาคนี้ที่พุ่งสูงถึงระดับ 898,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 122,000 คัน จากรอบปีก่อนหน้านั้น ในตลาดยุโรป ผลผลิตของยักษ์ใหญ่เมืองปลาดิบที่ยอดขายเพิ่มขึ้นมาก คือ โตโยตา ยาริส (TOYOTA VARIS) โตโยตา โคโรลลา (TOYOTA COROLLA) และ โตโยตา อเวนซิส (TOYOTA AVENSIS)
* ยุโรป-นิตยสารรถยนต์ฉบับหนึ่งของเมืองผู้ดีรายงานข่าวว่า รถติดตราดาวสามแฉกสองอนุกรม คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอล โรดสเตอร์ (MERCEDES-BENZ SL ROADSTER) ซึ่งผลิตตั้งแต่เดือนมีนาคม 2002 เป็นต้นมา กับ เมร์เซเดส-เบนซ์อี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ E-CLASS) ซึ่งผลิตตั้งแต่เดือนมีนาคม 2003 เป็นต้นมา ถูกเรียกกลับจากผู้ใช้รถทั่วยุโรป เพื่อตรวจสอบระบบห้ามล้อ ที่อาจเกิดความขัดข้องโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ข่าวเดียวกันนี้ระบุว่า มีรถเพียง 1 ใน 1,000 คันเท่านั้น ที่อาจเกิดอาการนี้ รถแบบเดียวกันนี้ที่ผลิตในบ้านเรา ไม่ทราบว่าจะมีปัญหาหรือเปล่า ?
* ยุโรป-โพร์เช และ โฟล์คสวาเกน ก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน เมื่อจำเป็นต้องร่วมกันเรียกรถกิจกรรมกลางแจ้ง โพร์เช กาเยนน์ (PORSCHE CAYENNE) และโฟล์คสวาเกน ตูอเรก (VOLKSWAGEN TOUAREG) มากกว่า 100,000 คัน กลับคืนโรงงาน เพื่อตรวจสอบความบกพร่องของระบบเข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะหลัง รถสองแบบนี้ออกแบบและพัฒนาร่วมกัน เหตุบกพร่องจึงอาจเกิดขึ้นได้เหมือนๆ กัน
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2547
คอลัมน์ Online : สังคม + ธุรกิจ