สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
ศุภพงศ์ กฤษณกาญจน์
ขณะนี้ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งการเร่งหาพลังงานมาทดแทน ล้วนเป็นปัญหาของประเทศไทยทั้งสิ้น แต่ในภาวะเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดโรงกลั่นขนาดเล็ก ที่สามารถเติบโตได้ "ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์พิเศษ ศุภพงศ์ กฤษณกาญจน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด (มหาชน)
ฟอร์มูลา : ประวัติการทำงานที่ผ่านมา ?
ศุภพงษ์ : บริษัท ทีพีไอ จำกัด อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภค ได้แก่ น้ำมันพืช เส้นหมี่ทิพ สบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด โครงการส่วนต่อขยายโรงกลั่นน้ำมัน โครงการเครื่องมือและคอมพิวเตอร์ควบคุมโรงงานบางจาก โครงการส่วนต่อขยายโรงกลั่น 2 โครงการส่วนต่อขยายโรงกลั่น 3 SI-CHANG โครงการโรงกลั่นโซลเวนท์ (SOLVENT)
และท่าเรือน้ำลึก/คลัง และ PETROCHEMICAL & PETROLEUM CONSULTANT NORTH KOREA เป็นที่ปรึกษาในการพิจารณาซื้อโรงกลั่นที่ประเทศเกาหลี
นอกจากนี้ยังมีในด้านการพัฒนาโครงการ รับผิดชอบด้านการกำหนดขอบเขตการศึกษา การศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและการเงิน การขอใบอนุญาตต่างๆ และการติดต่อประสานงาน การจัดการและควบคุมดูแลโครงการ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ รับผิดชอบด้านกระบวนการผลิต และงานวิศวกรโครงการ ตามแนวทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้คำปรึกษาแนะนำในการคัดเลือกการประมูลงานและการคัดเลือกผู้รับเหมางานก่อสร้าง รวมทั้งการควบคุมงานก่อสร้าง ด้านที่ปรึกษาการจัดการโครงการ รับผิดชอบด้านการจัดองค์กรภายในโครงการ ระบบการวางแผนงานต่างๆ ภายในองค์กร เช่น การวางแผนกำหนดอัตรากำลังบุคลากร การวางแผนพัฒนาการสรรหาทรัพยากรบุคคลการจัดการระบบข้อมูล รวมทั้งการกำหนดกฎระเบียบการปฏิบัติงานและอำนาจอนุมัติในระดับต่างๆ
ฟอร์มูลา : บริษัท ระยองเพียว ฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ศุภพงษ์ : บริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด (มหาชน) เป็นโรงกลั่นน้ำมันขนาดกลางของคนไทยเริ่มจากการมองเห็นว่าปิโตรเคมีเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในปี 2533 ซึ่งเป็นจังหวะที่มีวัตถุดิบใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ และวัตถุดิบเหล่านั้นสามารถนำมาแปรสภาพได้ ดังนั้น บริษัทจึงดำเนินการแปรสภาพคอนเดนเสท เรสสิดิว ที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตของ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยส่งผ่านท่อให้บริษัท ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มคุณค่าของวัตถุดิบจากอ่าวไทยเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ที่มีคุณภาพระดับสากลแล้ว ยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันส่วนหนึ่งจากต่างประเทศ นับว่าเป็นการลดการสูญเสียเงินรายได้ออกนอกประเทศอีกทางหนึ่ง
คอนเดนเสท (CONDENSATE) ที่อยู่ใต้ดินร่วมกับแกสใต้ดินร้อน ส่วนที่เป็นของเหลวเดือดเลยปนอยู่ในแกส พอนำขึ้นมา ส่วนที่เป็นของเหลวควบแน่นได้ สามารถแยกออกมาจากแกส เรียกการควบแน่นนั้นว่า คอนเดนเสท ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับแกส แต่หนักกว่า
แต่เดิมคนไทยไม่รู้จะใช้คอนเดนเสทมาทำอะไร เลยส่งออกต่างประเทศ ตอนหลังถึงมองเห็นว่ามีค่าเหมือนน้ำมัน เพราะมาจากแกส จึงมองว่าควรทำโครงการขึ้นมา แล้วใช้คอนเดนเสท ซึ่งมีหลายโครงการ คือ โครงการสีชัง ทีพีไอ ตรงนี้จึงทำให้เกิดโครงการระยองเพียวขึ้นมา เนื่องจากมองเห็นว่าวัตถุดิบมีคุณค่าที่จะทำได้มากกว่าน้ำมันเตา ทำดีเซล หรือน้ำมันที่เบามากกว่าน้ำมันเตาจุดเริ่มต้นจึงเกิดขึ้นจากการมองเห็นคุณค่าของกากคอนเดนเสทที่จะไปขายเป็นน้ำมันเตา
การลงทุนจดทะเบียนครั้งแรกของบริษัทคือ 150 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มทุนเป็น 400 ล้านบาทแต่ทั้งโครงการคือรวมกว่า 2,000 ล้านบาท
ฟอร์มูลา : คุณมีวิธีคิดและการบริหารงานอย่างไร จึงทำให้ระยองเพียว ฯ สามารถเกิดขึ้นได้ ?
ศุภพงษ์ : การทำโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็ก หลายคนมองว่าขาดทุน แต่เรามองว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ได้ก็เลยคิดว่าสิ่งที่จะแข่งขันได้ คือ การประหยัดพลังงาน อย่าให้มีการสูญเสีย ทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าสูงๆ และสิ่งสำคัญที่จะแข่งขันได้คือ การลงทุนที่ต่ำ และการลงทุนต่ำคือ การทำโรงงานเฉพาะวัตถุดิบ ไม่ต้องซื้อเทคโนโลยี ออกแบบเอง ใช้เงินกู้ และสร้างอุปกรณ์ภายในประเทศไทย หรือนำอุปกรณ์ใช้แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการบริหารงาน ทำให้บริษัทประหยัดได้ถึง 25 % และระยองเพียว ฯ เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 จึงต้องระมัดระวังตัวอย่างมาก เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ดี และไม่ใช้เงินลงทุนต่างประเทศ
จะเห็นได้ว่าโรงงานของระยองเพียว ฯ ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตที่เท่ากันไม่เทียบโรงงานต่อโรงงานเพราะโรงงานไม่เท่ากัน ตัวอย่าง การลงทุนโรงงานง่ายๆที่ใช้การกลั่นธรรมดา จะลงทุนประมาณ 5,000-8,500 เหรียญ/กำลังการผลิต 1 บาร์เรล/วัน เท่ากับ 159 ลิตร แต่โรงงานที่มีขนาดใหญ่ ต้องลงทุน 12,500 เหรียญ/กำลังการผลิต 1 บาร์เรล/วันส่วนของเราลงทุนไม่ถึง 1,000 เหรียญ ทำให้มีจุดที่เป็นช่องทางการตลาดที่แตกต่างกัน
ในแง่ของการบริหารด้านอื่นๆ ก็จะมีเรื่องของการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ การใช้วัตถุดิบไม่ให้สูญเสียการใช้พลังงานประหยัดที่สุด การทำให้สินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐาน และการทำให้โรงงานมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพียงแค่นี้ทุกคนก็จะแข่งขันกันได้ ส่วนบริษัทมีการลงทุนที่น้อยกว่าบริษัทอื่น เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีขนาดเล็กกว่า แต่ในด้านการแข่งขันแล้ว สามารถที่จะแข่งขันได้ จนกระทั่งปัจจุบันนี้บริษัทดำเนินการมาแล้ว 8 ปี
ฟอร์มูลา : โรงงานระยองเพียว ฯ มีกำลังการผลิตเท่าใด ?
ศุภพงษ์ : ปีแรกเดินเครื่องผลิต 6,500 บาร์เรล/วันเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 17,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่กำลังการผลิตเต็มที่ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าจะมาแข่งขัน แต่ความจริงแล้วไม่ต้องแข่งกันหรอก เพราะอีก 3 ปี กำลังการผลิตของบริษัทก็จะเต็ม เพราะบริษัทมีอัตราเติบโต 70 % ซึ่งไม่ทันแล้ว จึงจำเป็นที่ต้องสร้างโรงงานใหม่
บริษัทเป็นคู่ค้ากับทุกคน แต่ไม่ใช่คู่แข่งของใคร เพราะการขายน้ำมันราคาถูกกำหนดโดยตลาดความคิดคือ ทำอย่างไรให้ประหยัดที่สุด เพื่อให้บริษัทอยู่ได้ ซึ่งการบริหารงานที่ผ่านมาทำให้สามารถบริหารได้อย่างต่อเนื่อง
ฟอร์มูลา : แผนงานต่อไปในอนาคตวางไว้อย่างไร ?
ศุภพงษ์ : บริษัทเกิดมาจากโอกาสเฉพาะตัว มองว่าความสามารถที่มี คือ ความคล่องตัว ดูแลจัดงานได้ทั้งหมด ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีจากที่อื่น การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆสามารถที่จะทำได้เอง โดยไม่ต้องรอใคร ทำให้เลือกที่จะไปสู่การลงทุนอื่นๆ เป็นตลาดที่ไม่ใหญ่แต่มีลักษณะนิชมากกว่า และอีกส่วนที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ การเลือกไปสู่ธุรกิจที่มีความชำนาญอย่าไปแก่งแย่งกับธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญ เพราะโดยพื้นฐานแล้วเราไม่มีฐานที่จะไปแข่งขันได้นั่นคือการลงทุนในส่วนที่มีความชำนาญเป็นหลัก
ดังนั้นบริษัทจะเน้นการลงทุนในเรื่องที่ถนัด นั่นคือ ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และพลังงาน อย่างเรื่องของเอธานอล ที่ใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการติดต่อกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตผลิตแอลกอฮอล์ เพราะโรงงานเหล่านี้ก็ต้องหาโรงกลั่นน้ำมันที่จะมาผสมได้ ดังนั้น บริษัทก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต เอธานอล ไบโอดีเซล
ฟอร์มูลา : แสดงว่าคุณมองไปสู่การขยายธุรกิจ และการลงทุนอื่นๆ อีกด้วย ?
ศุภพงษ์ : บริษัทเริ่มเปิดโครงการเพชรบุรี คือ เป็นการสร้างโรงกลั่นอืกโรงหนึ่งที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า และโครงการที่เวียดนาม เกิดขึ้นจากการค้าขายที่มีการส่งออกไปที่จีน และเวียดนามทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสว่าการเปิดโรงงานที่นี่จะสามารถใช้ความเป็นคนท้องถิ่นทำการค้าอย่างต่อเนื่องได้ และหากวัตถุดิบมีเหลือก็จะสามารถนำมาใช้ได้
อีกส่วนหนึ่งที่บริษัทเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คือ เอเนอร์จี พาร์ค ซึ่งการทำโรงกลั่นเล็กๆที่เป็นโรงกลั่นเฉพาะทาง ตอบสนองกับชุมชุนตรงนั้น
สำหรับเอเนอร์จี พาร์ค แห่งแรกที่มองไว้คือ ที่ทหารเรือ เพราะสร้างถัง และมีเรืออยู่แล้ว มองว่าที่ใดมีถังก็สามารถที่จะสร้างโรงงานเล็กๆ ได้ ก็จะสามารถสร้างโครงการได้ เช่น ที่ เพชรบุรี สัตหีบ และเกาะสีชัง ซึ่งการนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์มาใช้เต็มที่ ก็จะทำให้ทั้งประเทศได้คุณค่ามากขึ้น
เอเนอร์จี พาร์ค อยู่ได้ในจุดที่มีแหล่งน้ำมัน ไม่ว่าจะอยู่ริมทะเลที่ใดที่หนึ่งที่นำน้ำมันเข้ามาได้ง่ายหรืออยู่ตามแหล่งขุดเจาะน้ำมัน ที่มีน้ำมันโดยไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ทำให้ประหยัด มีโรงไฟฟ้าโรงเผาขยะทำไฟฟ้า กังหันลม โซลาเซลล์ และมีโรงผสมไบโอทั้งหมด นั่นคือ เอเนอร์จี พาร์คที่สามารถรวมทุกอย่างที่นำมาใช้ทำพลังงานได้ และเลือกใช้สิ่งที่ถูกก่อน สิ่งที่ถูกที่สุดคือ ขยะต่อจากนั้นมี แดดใช้แดด มีลมใช้ลม เมื่อไหร่ที่ไม่พอเติมด้วยโรงไฟฟ้า โดยโรงกลั่น ผลิตน้ำมันให้โรงไฟฟ้า นี่คือความรู้ที่นำมาปรับใช้เพื่อให้เป็นนิช
ฟอร์มูลา : โครงการที่เพชรบุรีจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ?
ศุภพงษ์ : ปัจจุบันโครงการที่เพชรบุรี ระยองเพียว ฯ ไม่ได้ทำแล้ว เพราะว่าเป็นห่วงเรื่องปัญหาของการเมืองท้องถิ่น จึงตัดสินใจไม่ทำ แต่มีสิทธิ์ที่จะกลับเข้าไปซื้อได้ แต่โรงงานนั้นเป็นสิ่งที่เกิดมาจากแนวคิดของบริษัท คือ การลงทุนต่ำที่สุด และเป็นโรงงานเฉพาะ
ฟอร์มูลา : ถ้าเป็นเช่นนั้นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการขยายโครงการใหม่จะเป็นที่ใด ?
ศุภพงษ์ : สถานที่สำหรับการขยายโครงการใหม่ๆ นั้น ทุกที่สามารถจะสร้างได้ เพราะหลักการของบริษัทคือสิ่งที่สร้างแล้วคือการลงทุน เหมือนกับการเปิดคลังที่นครสวรรค์ เป็นการเช่าสถานที่ที่มีอยู่แล้ว ส่วนที่นครราชสีมา ต้องสร้างเองเนื่องจากไม่มีสถานที่ที่สร้างไว้แล้ว โดยสถานที่เหล่านั้นจะต้องมีคลังและท่าเรือ มีแหล่งน้ำมันมากพอสมควร และบริษัทก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งกับใคร เพียงแต่นำวัตถุมาทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น น่าจะมองบริษัทเป็นประชาชนที่ดี มากกว่าคู่แข่งมากกว่า
ฟอร์มูลา : แล้วโครงการที่เวียดนามเป็นอย่างไร ?
ศุภพงษ์ : โครงการที่เวียดนามเป็นโรงงานขนาดเล็ก มีกำลังการผลิต 2,500 บาร์เรล เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นทดลองตลาด โดยสาเหตุที่เลือกที่เวียดนาม เนื่องจากที่ผ่านมามีการทำการค้าที่จีนกับเวียดนาม ซึ่งเป็นการส่งออก ปิโตรเคมี และปิโตรเลียม ปีละ 1,000 ล้าน ทำให้มองศักยภาพและโอกาส ในการค้าขายรวมถึงมองเห็นว่าเป็นประเทศที่เติบโตเร็ว มีประชากร ที่ดิน ทะเล เป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายใน 10 เดือนข้างหน้านี้
ส่วนประเทศอื่นๆ ก็มองไว้เหมือนกัน แต่ยังไม่พร้อม ตัวอย่าง เช่น พม่า โอกาสมี สิ่งที่น่าทำมีเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ต่อคน ด้วย แต่บรรยากาศยังไม่พร้อม ส่วนลาว ต้องการสร้างโรงงานอย่างของบริษัท โดยส่งคนเข้ามาติดต่อ แต่ลาวไม่มีทะเล ไม่มีท่อน้ำมัน ทำให้ไม่เหมาะสม
ฟอร์มูลา : คุณรู้สึกอย่างไรกับระยองเพียว ฯ ที่สามารถเติบโตมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ ?
ศุภพงษ์ : ผมรู้สึกว่าเราเกิดในจังหวะที่มีวัตถุที่จะทำได้ และมีแนวคิดการทำงาน ซึ่งสามารถเอาตัวรอดมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก แต่เรื่องภายในเป็นเรื่องวิสัยทัศน์ หรือกิจกรรม และวัฒนธรรมขององค์กร ที่วางไว้ ทำให้บริษัทก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้
ฟอร์มูลา : การขยายงานของ ระยองเพียว ฯ จะขยายไปในทิศทางใด ?
ศุภพงษ์ : บริษัทมองที่โอกาสว่าตรงไหนมีความเป็นไปได้สำหรับการลงทุน ก็จะทำตรงจุดนั้นแต่ต้องไม่เสี่ยงกับโอกาสที่จะทำ
ฟอร์มูลา : คุณวางเป้าหมายของระยองเพียว ฯไว้อย่างไร ?
ศุภพงษ์ : เป็นบริษัทไทยที่ประสบความสำเร็จด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และพลังงาน ที่ขนาดไม่สำคัญ เพราะหากใหญ่มากก็จะรักษาไว้ยาก แต่เพื่อความปลอดภัย และในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใหญ่ แต่อยู่ได้ เพราะยิ่งใหญ่ยิ่งซับซ้อน ทำให้การบริหารจัดการไม่ทะลุเป้าหมาย ความไม่ซับซ้อนทำให้ทุกส่วนอยู่ใกล้ลูกค้า สถานการณ์ และไม่มีการปกครองหลายชั้น ทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจจุดประสงค์ และบทบาท ได้ชัดเจน
ฟอร์มูลา : การขยายตลาดในเมืองไทยจะเป็นไปในรูปแบบใด ?
ศุภพงษ์ : ระยองเพียว ฯ มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3-4 % เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากทำให้บริษัทมองการขยายไปในต่างจังหวัด เนื่องจากตลาดยังพอมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกโดยการขยายไปในรูปแบบของการทำสถานีบริการขนาดเล็กในหมู่บ้านที่มองว่ามีศักยภาพในการขยาย ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน ให้มีงานทำ นอกเหนือจากการทำการเกษตร
ฟอร์มูลา : การขยายไปสู่ชุมชนมีบ้างหรือยัง ?
ศุภพงษ์ : มีบ้างแล้วสำหรับการลงทุนของคนในชุมชนนั้น แต่หลังจากนี้บริษัทมีแผนให้คนที่สนใจเข้าร่วมนั้นไป กู้ เงินจาก ธกส. เพื่อมาทำการลงทุน โดยการลงทุนจะใช้เงินประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งขณะนี้มีคนเสนอชื่อมาแล้ว 15 แห่ง หากการกู้เงินผ่านเรียบร้อยแล้วก็จะสามารถเปิดบริการได้ทันที และเมื่อถึงเวลานั้นก็จะมีการเปลี่ยนแปลงชุมชนจากภาคเกษตร มาสู่ภาคอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : เกรียงศักดิ์ ปันสมนิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)