สังคม + ธุรกิจ
ใครว่าชื่อไม่สำคัญ ?
ใครว่าชื่อไม่สำคัญ ?
ตั้งชื่อรถไม่ดีมีปัญหา
ใช้ตัวเลขก็ยังปวดหัว
สหรัฐอเมริกา-วิจารณ์กันว่า ในแวดวงธุรกิจรถยนต์ทุกวันนี้ ภารกิจที่หนักหนาสาหัสที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่เคยคาดคิดกัน อย่างการออกแบบตัวถังรถยนต์ หรือการจัดการทางวิศวกรรม แต่เป็นการตั้งชื่อรถยนต์แต่ละแบบแต่ละรุ่นให้ต้องจิตต้องใจผู้ซื้อ
บทวิเคราะห์วิจารณ์ในนิตยสารรถยนต์ระดับโลกฉบับหนึ่งระบุว่า การตั้งชื่อรถกำลังเป็นปัญหาที่ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าของผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์หลายๆ รายในขณะนี้พร้อมทั้งยกกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
เริ่มจากกรณีของ ไครสเลอร์ (CHRYSLER) ซึ่งเคยตัดสินใจไว้แล้วว่า รถรุ่นใหม่ที่จะออกมาแทนรถ ดอดจ์ นีออน (DODGE NEON) ในปีโมเดล 2006 จะตั้งชื่อว่าเรเซอร์ (RAZOR) เป็นชื่อที่ดูเข้าท่า และเคยใช้มาแล้วกับรถแนวคิดของค่ายนี้ ที่ปรากฏตัวเมื่อปี 2002 พอข่าวการตัดสินใจนี้แพร่ออกไป ก็มีเสียงจาก RAZOR USAบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นผู้ผลิตรถสกูเตอร์ซึ่งเคยฮิทระเบิดเถิดเทิงเมื่อสองสามปีก่อน ยืนยันว่าเป็นเจ้าของสิทธิชื่อที่ว่านี้ ถ้า ไครสเลอร์ จะนำไปใช้ก็ไม่ว่าอะไร แต่ต้องจ่าย
ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ยังมีอีกหนึ่งปัญหากับชื่อ ไฟร์เพาเวอร์ (FIREPOWER) ซึ่งนำไปตั้งเป็นชื่อของรถแนวคิด ที่ปรากฏตัวในงานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถ้า ไครสเลอร์ บรรจุรถแบบนี้เข้าสู่สายการผลิต ก็คงจะต้องคิดหาชื่ออื่น เพราะชื่อนี้มีผู้ใช้อยู่ก่อนแล้ว คือ บริษัทผู้ผลิตแบทเตอรี EXIDE
ยักษ์รอง ฟอร์ด (FORD) ก็หนีไม่พ้นปัญหาเรื่องชื่อ กรณีล่าสุดคือ รถขนาดครอบครัวแบบใหม่ ซึ่งปรากฏตัวที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเช่นกัน แรกเริ่มเดิมที ยักษ์รองของเราประกาศไปแล้วว่าจะใช้ชื่อ ฟิวเจอรา (FUTURA) ซึ่งเป็นชื่อเก่าแก่ ที่เคยใช้มาแล้วกับรถที่ผลิตจำหน่ายในช่วงทศวรรษหลังปี 1960
เกิดปัญหาขึ้นจนได้ทั้งๆที่เคยใช้มาแล้ว เพราะปรากฏว่า หลังจาก ฟอร์ด ปลดรุ่นดังกล่าวจากสายการผลิต และเลิกใช้ชื่อนี้ไปแล้ว PEP BOYS บริษัทผู้ผลิตเครื่องตกแต่งรถยนต์รายหนึ่งของเมืองมะกัน ได้นำชื่อนี้มาใช้กับยางรถยนต์ราคาย่อมเยา ดังนั้นทันทีที่ได้ยินข่าว บริษัทนี้ก็ประกาศยืนยันว่า ไม่มีทาง ผลที่สุด เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมานี่เอง ฟอร์ด จึงตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ชื่อ ฟิวชัน (FUSION) ซึ่งเป็นชื่อที่เดียวกับรถขนาดเล็กที่จำหน่ายในตลาดยุโรป
การตั้งชื่อรถ ไม่ใช่ปัญหาใหม่ของยักษ์ใหญ่อย่าง เจเนอรัล มอเตอร์ส (GENERAL MOTORS) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า จีเอม (GM) คงจำกันได้ว่า ยักษ์ใหญ่รายนี้เคยทำรถออกขายแบบหนึ่ง และตั้งชื่อว่า เชฟโรเลต์ โนวา (CHEVROLET NOVA) เป็นชื่อที่ดูเก๋และฟังรื่นหู แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ตรวจสอบเสียก่อนว่า ในภาษาสเปน NOVAแปลว่า NO GO ในภาษาอังกฤษ
รถรุ่นล่าสุดที่กำลังจำหน่ายอยู่ในเมืองมะกันขณะนี้ คือ บิวอิค ลา กรอสเซ (BUICK LA CROSSE) ก็จะมีปัญหาเช่นกันถ้าส่งไปขายในแคนาดา เพราะสำหรับคนแคนาเดียนที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส LA CROSSE เป็นคำแสลง หมายถึง MASTURBATION ในภาษา
อังกฤษ หรือ "อัตกามกิริยา" ในภาษาไทย
แม้แต่การตั้งชื่อรถเป็นตัวเลข ก็ยังสร้างปัญหาได้เช่นกัน อย่างในกรณีของรถอนุกรมล่าสุดของค่ายสิงห์เผ่น คือ เปอโฌต์ 1007 (PEUGEOT 1007) เป็นตัวอย่าง ผู้ผลิตรถยนต์ฝรั่งเศสไม่สามารถเรียกชื่อรถรุ่นนี้ว่า "หนึ่งศูนย์ศูนย์เจ็ด" เพราะถูกเจ้าของ
สิทธิ์ชื่อสายลับ เจมส์ บอนด์ 007 (JAMES BOND 007) ทักท้วง จำเป็นต้องเปลี่ยนไปเรียกว่า "หนึ่งพันเจ็ด" หรือ ONE THOUSAND AND SEVEN ในภาษาอังกฤษ
ย่อยข่าว
* ฝรั่งเศส-ตลาดรถยนต์นั่งในเมืองน้ำหอม ประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของทวีปยุโรป ปิดผลประกอบการในรอบปี 2004 ด้วยยอดขายรวม 2,013,709 คัน หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.2 จากตัวเลขในรอบปี 2003 ยักษ์ใหญ่ เรอโนลต์
(RENAULT) ยังรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น โดยทำยอดขายได้สูงถึง 549,192 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากยอดขายในปี 2003 โดยมีผู้ผลิตรายอื่นๆทำยอดขายรองลงไปในสิบอันดับแรก ดังนี้
1. เรอโนลต์ 549,192 คัน
2. เปอโฌต์ 363,247 คัน
3. ซีตรอง 256,752 คัน
4. โฟล์คสวาเกน 124,145 คัน
5. โอเพล 110,329 คัน
6. ฟอร์ด 101,631 คัน
7. โตโยตา 77,923 คัน
8. เมร์เซเดส-เบนซ์ 49,187 คัน
9. เฟียต 48,283 คัน
10. นิสสัน 37,568 คัน
และเมื่อแยกตามแบบของรถ ปรากฏว่า รถขายดีที่สุดยี่สิบอันดับแรก ประกอบด้วย
1. เปอโฌต์ 206 151,250 คัน
2. เรอโนลต์ กลีโอ 137,547 คัน
3. เปอโฌต์ 307 133,956 คัน
4. เรอโนลต์ เซนิก 124,311 คัน
5. เรอโนลต์ เมกาน 98,963 คัน
6. ซีตรอง เซ ตรัวส์ 86,875 คัน
7. ซีตรอง ปิกัสโซ 55,604 คัน
8. เรอโนลต์ ทวิงโก 47,699 คัน
9. เรอโนลต์ ลากูนา 47,114 คัน
10. โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ 42,704 คัน
11. เปอโฌต์ 407 37,211 คัน
12. เรอโนลต์ โมดุส 31,946 คัน
13. ซีตรอง เซเดอซ์ 31,332 คัน
14. โฟล์คสวาเกน โพโล 29,877 คัน
15. ฟอร์ด ฟิเอสตา 29,340 คัน
16. ซีตรอง เซแซง 27,586 คัน
17. ฟอร์ด โฟคัส ซี-แมกซ์ 27,548 คัน
18. โตโยตา ยาริส 27,110 คัน
19. โอเพล มารีวา 25,962 คัน
20. เรอโนลต์ กังกู 25,818 คัน
* ญี่ปุ่น-ยักษ์รองเมืองปลาดิบ เพิ่มความเข้มข้นให้แก่การแข่งขันในตลาดของ MINI MPV หรือ รถอเนกประสงค์ขนาดมีนี โดยนำรถอนุกรมใหม่ล่าสุด คือ นิสสัน โนท (NISSAN NOTE) ออกจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา รถใหม่อนุกรมนี้ เป็นรถขนาดห้าที่นั่ง มีตัวถังยาว 3.990 ม. กว้าง 1.690 ม. และสูง 1.535 ม. มีทั้งแบบขับล้อหน้าและขับสี่ล้อ แต่มีเครื่องยนต์ขนาดเดียว เป็นเครื่อง DOHC 4 สูบเรียง 1,498 ซีซี 109 แรงม้า (รหัสเครื่องยนต์ HR15DE) ส่วนระบบเกียร์ เลือกได้ระหว่างเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติปรับอัตราทดต่อเนื่องหรือที่เรียกกันว่า เกียร์ CVT นิสสัน ตั้งเป้าหมายการขายของรถอนุกรมนี้ไว้ที่ระดับ 8,000 คัน/เดือน โดยมีคู่แข่งที่สำคัญคือ ฮอนดา ฟิท (HONDA FIT) กับ โตโยตาวิทซ์ (TOYOTA VITZ) สนนราคาอยู่ระหว่าง 0.48-0.61 ล้านบาทไทย
* อังกฤษ-ตลาดรถใหม่เมืองผู้ดี สรุปผลประกอบการในรอบปี 2004 ด้วยยอดขายที่ลดลงจากตัวเลขในปีก่อนหน้านั้นเล็กน้อย โดยที่ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง ฟอร์ด (FORD) วอกซ์ฮอลล์ (VAUXHALL) เปอโฌต์ (PEUGEOT) ซีตรอง (CITROEN) และ นิสสัน (NISSAN) ล้วนมียอดขายลดลงโดยถ้วนหน้า ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ของเมืองโสมคือ เกีย (KIA) และ ฮันเด (HYUNDAI) มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 57.8 และ 16.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยักษ์ใหญ่ ฟอร์ด ยังรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดไว้ได้ โดยมีผู้ผลิตรายอื่นๆ ทำยอดขายลดหลั่นกันไปในสิบอันดับแรก ดังนี้
1. ฟอร์ด 367,158 คัน
2. วอกซ์ฮอลล์ 325,012 คัน
3. เรอโนลต์ 189,342 คัน
4. โฟล์คสวาเกน 181,897 คัน
5. เปอโฌต์ 167,822 คัน
6. โตโยตา 121,081 คัน
7. ซีตรอง 105,596 คัน
8. บีเอมดับเบิลยู 102,200 คัน
9. ฮอนดา 91,241 คัน
10. นิสสัน 90,223 คัน
และเมื่อแยกตามแบบของรถ ปรากฏว่ารถที่ทำยอดขายสูงสุดสิบอันดับแรก คือ
1. ฟอร์ด โฟคัส 141,021 คัน
2. วอกซ์ฮอลล์ คอร์ซา 101,625 คัน
3. ฟอร์ด ฟิเอสตา 89,295 คัน
4. เปอโฌต์ 206 86,605 คัน
5. เรอโนลต์ เมกาน 86,569 คัน
6. วอกซ์ฮอลล์ อัสตรา 85,087 คัน
7. เรอโนลต์ กลีโอ 72,412 คัน
8. โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ 69,784 คัน
9. ฟอร์ด มนเดโอ 60,441 คัน
10. เปอโฌต์ 307 58,742 คัน
ทั้งสามภาพนี้ คือส่วนหนึ่งของรถใหม่จำนวนหลายสิบคัน ที่ปรากฏตัวในงาน THE NORTH AMERCAN INTERNATIONAL AUTO SHOW หรือ มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ ครั้งล่าสุดซึ่งมีขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการ COBO CONFERENCE/EXHIBITION CENTER ในเมืองดีทรอยท์ สหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 8-23 มกราคม 2005 ภาพบนสุดคือ จีเอมซี กราไฟท์ (GMC GRAPHYTE) รถแนวคิด ในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้ง 4x4 ขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยระบบพันทาง โดยใช้เครื่องยนต์เบนซิน วี 8 สูบ 5.3 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าสองชุด ภาพกลาง คือ จีพ เฮอร์ริเคน (JEEP HURRICANE) รถแนวคิด ในรูปลักษณ์
ของรถกิจกรรมกลางแจ้ง บังคับเลี้ยว 4 ล้อ และขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยพลังจากเครื่องยนต์วี 8 สูบ 5.7 ลิตร จำนวนสองเครื่องให้กำลังสูงสุดรวม 670 แรงม้า ส่วนภาพล่างสุด คือ แซเทิร์น สกาย (SATURN SKY) รถตลาดซึ่งพัฒนาจากรถแนวคิด วอกซ์ฮอลล์ วีเอกซ์
ไลท์นิง (VAUXHALL VX LIGHTNING) ผลงานของ ไซมอน วอกซ์ (SIMON COX) นักออกแบบชาวอังกฤษ เป็นรถสปอร์ทเปิดประทุน 2 ที่นั่ง วางเครื่องหน้า/ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยพลังจากเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง 2.4 ลิตร 170 แรงม้า
ทั้งสามภาพนี้ ก็เป็นรถใหม่ซึ่งปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเช่นกัน ภาพบนสุด คือ เลกซัส แอลเอฟ-เอ (LEXUS LF-A) รถแนวคิด ซึ่งเป็นต้นแบบของรถสปอร์ทคูเประดับ "ซูเพอร์คาร์" ที่
ยักษ์ใหญ่ของเมืองปลาดิบจะนำออกสู่ตลาดในปี 2006 นี้ โดยติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 500 แรงม้า ที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีจากสนามแข่งรถ ฟอร์มูลา วัน ใช้ระบบขับล้อหลัง และสามารถทำความเร็วได้ถึงระดับ 320 กม./ชม.นั่นเทียว ภาพกลาง คือ นิสสัน
อซีล (NISSAN AZEAL) รถแนวคิด ในรูปลักษณ์ของรถสองประตูคูเป 2+2 ที่นั่งขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยพลังจากเครื่องยนต์เทอร์โบ 4 สูบเรียง 2.5 ลิตร 175 แรงม้า นับเป็นผลงานรถแนวคิดคันแรก ของศูนย์ออกแบบ NISSAN DESIGN AMERICA ซึ่ง ตั้งอยู่ในรัฐมิชิแกน และออกแบบโดยมีผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาว ที่ชื่นชอบรถคูเประดับหรู และร้อนแรงอย่าง นิสสัน 350 เซด (NISSAN 350Z) แต่ไม่มีเงินพอที่จะซื้อได้ เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ส่วนภาพล่างสุด คือ มาซดา เอมเอกซ์-ครอสสปอร์ท (MAZDA MX-CROSSPORT) รถกิจกรรมกลางแจ้งพัฒนาจากรถยนต์นั่ง ซึ่งเป็นต้นแบบของรถตลาดที่ในปี 2006 มาซดา จะนำออกขายในตลาดอเมริกาเหนือ เพื่อสู้กับรถประเภทเดียวกันของคู่แข่งร่วมสัญชาติ คือ นิสสัน มูราโน (NISSAN MURANO) และ เลกซัส อาร์เอกซ์
330 (LEXUS RX330) โดยคาดหมายกันว่า น่าจะใช้ชื่อ มาซดา 9 (MAZDA 9)
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2548
คอลัมน์ Online : สังคม + ธุรกิจ