บทความ
จับตา "เลือดใหม่"
วงการรถยนต์ในเมืองไทย มีเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้นที่ยังคงรักษาความเป็นธุรกิจของคนไทยไว้ได้ และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญแทบทุกตระกูลกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการถ่ายเลือด จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก
"ฟอร์มูลา" จับตา 6 เลือดใหม่ในวงการรถยนต์สาขาต่างๆ ที่ต้องสืบทอด และนำพาธุรกิจของตระกูลสู่ความสำเร็จ ท่ามกลางการแข่งขันในโลกที่รุนแรงแตกต่างจากยุคบุกเบิกอย่างสิ้นเชิง !
ประนัปดา พรประภา
ลูกสาว รวย เก่ง ของ ดร. พรเทพ พรประภา
ประนัปดา พรประภา หรือ แพม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามกลการเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อายุ 29 ปี เป็นบุตรสาวคนโตของ ดร. พรเทพ พรประภา มีน้องชายคือ ประณิธาน และประกาสิทธิ์ พรประภา จบการศึกษาด้านธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกามาทำงานที่เมืองไทย กับ บริษัท จีอี แคปปิตอล จำกัด ได้เพียงปีเดียว ก็กลับไปศึกษาต่อด้านการออกแบบที่แอลเอ
หลังจบการศึกษาครั้งล่าสุด กลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว โดยรับผิดชอบ บริษัท สยามกลการเซลส์ ฯ
"งานส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการ วางแผน ดำเนินงาน แก้ปัญหา รวมถึงการกระตุ้นพนักงานซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ได้พูดคุยกับคนทั่วไป และโดยส่วนตัวแล้วเข้ากับคนง่าย ปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ได้ดี อาจจะเป็นเพราะว่าฝึกมาตั้งแต่เด็ก ไปเมืองนอกก็ไปคนเดียว คุณพ่อบอกว่ามีความมั่นใจในตัวเอง"
เมื่อเข้ามาดำเนินการ ก็จัดการเปลี่ยนแปลงโดยรวมบริษัท สยามกลการเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับบริษัท สยามกลการเทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นบริษัทเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาขั้นตอนการทำงานมาก แข่งขันกันเอง แต่การรวมกันทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ลดต้นทุนเกิดความแข็งแกร่ง และที่สำคัญคนคนเดียวสามารถที่จะทำได้หลายอย่าง
หลังจากนั้นมุ่งเน้นที่การตลาดและการขาย ปรับปรุงเรื่องการบริการเป็นอันดับแรก โดยให้พนักงานเข้าใจว่าลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ทำให้ลูกค้าพอใจในบริการ แล้วทุกอย่างจะสมบูรณ์ มีการทำเอกสารการทำงานเพื่อวัดผลความสำเร็จ ซึ่งหลังจากมีการปรับปรุงแล้ว รู้สึกพอใจกับผลงานที่ทำ พนักงานพอใจ และมีความเชื่อว่า หากมีอะไรให้แก่พนักงาน พนักงานก็จะกล้ามากขึ้น มีความสุข และรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท"
"ยอมรับว่ายากมากที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ซึ่งเมืองนอกกับเมืองไทยแตกต่างกัน เมืองนอกจะตรงไปตรงมา เห็นแก่ตัว เน้นถึงผลที่ได้ แต่คนไทย เกรงใจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงบริษัทที่มีอายุกว่า 50 ปี อย่าง สยามกลการ ฯ ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ถึงวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสยามกลการเซลส์ ฯ คือ ก้าวใหม่ของ นิสสัน ในอนาคต เมื่อนึกถึง นิสสัน ต้องนึกถึงเรา"
แพม ใช้หลักการบริหารง่ายๆ ว่า พนักงาน คือ สิ่งสำคัญที่สุด และให้เขาทราบว่าบริษัทให้โอกาสมีความก้าวหน้า เชื่อมั่นในความชำนาญของตนเอง และมีความสุขกับการทำงาน
ส่วนเรื่องการออกแบบก็ไม่ทิ้งเพราะว่ามีใจรัก เมื่อทุกอย่างลงตัว ก็อยากที่จะทำงานด้านนี้ หรือทำอะไรที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ถ้ามีโอกาสก็จะออกแบบ แต่งบ้านบ้าง หรือไปดูแลธุรกิจนำเข้าเสื้อผ้าที่ทำอยู่
เวลาว่างก็จะท่องเที่ยว เพราะการไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ จะได้เห็นอะไรในหลายๆ แง่มุมของชีวิตอีกอย่างหนึ่ง คือ ฝึกโยคะ เพราะทำให้จิตใจสงบ และรู้สึกผ่อนคลาย
ประกาสิทธิ์ พรประภา
ทายาทรุ่นที่ 3 ของ พรประภา
ประกาสิทธิ์ พรประภา คุณหนึ่ง หรือ แพท ผู้จัดการฝ่ายประสานงานการตลาด บริษัท สยามกลการอะไหล่ จำกัด บุตรชายคนสุดท้องของ ดร.พรเทพ พรประภา จบไฮสกูลที่ ลอว์เรนศ์ อคาเดมี สหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาตรี สาขา INTERNATIONAL STUDIES ที่ วิทยาลัย เบนท๊ลีย์ บอสตัน โดยศึกษาด้านวัฒนธรรม ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์รวมถึงสังคมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคน
"ผมถูกปลูกฝังจากคุณพ่อมาตั้งแต่เด็กเรื่องการทำงานทีแรกไม่ทราบว่าจะต้องมาดูแลธุรกิจในส่วนไหน แต่หลังจากจบการศึกษาคุณพ่อก็ให้พี่สาวคือประนัปดา พรประภา ดูแลเรื่องธุรกิจรถยนต์ พี่ชาย ประณิธาน พรประภา ดูแลเกี่ยวกับการตลาดรถยกโคมัตสุ ส่วนตัวผม ดูแลเรื่องอะไหล่"
"ช่วงแรกเหมือนกับให้ทดลองดูก่อน และไม่ค่อยสนุกเท่าไร เพราะว่าชอบรถยนต์มากกว่าแต่มองว่าหากให้พี่สาวมาดูอะไหล่คงไม่เหมาะสม ต้องเดินในโรงงาน เจอลูกค้าค่อนข้างมากแต่เมื่อทำได้ระยะหนึ่งเริ่มชินกับระบบดีเลอร์ และการได้เจอลูกค้าที่หลากหลาย จึงเริ่มชอบ"
ขณะนี้ ประกาสิทธิ์ ดูแล บริษัท สยามกลการอะไหล่ จำกัด ผลิตภัณฑ์ ชอคอับ คายาบา รถตัดหน้า-ขุดหลัง เจซีบี บริษัท สยามยีเอสเซลส์ จำกัด ผลิตภัณฑ์ จีเอส แบทเตอรี และ บริษัท เอ็น เอส เคแบริ่งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตลับลูกปืน เอนเอสเค
"ผมเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานหลายด้าน เช่น ปรับโครงสร้างบริษัท ปรับช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า เพื่อสร้างความแตกต่าง และเสริมจุดเด่นในด้านบริการเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่ขายสินค้าให้ดีเลอร์ แล้วดีเลอร์ไปขายต่อเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ต้องเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น เข้าไปคลุกคลีกับดีเลอร์ ไปพบลูกค้า พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีควบคู่ไปกับการสร้างลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องนำคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดใหม่ๆ เข้ามาร่วมงาน ตัวอย่างเช่น การเปิดชอพ จีเอสแบทเตอรี ทั่วประเทศ"
"การทำงานช่วงแรก คุณพ่อสอนเสมอว่าอย่าทำตัวเป็นลูกเจ้าของ ให้ทำตัวเป็นลูกจ้างเหมือนเป็นพนักงานคนหนึ่ง ต้องใช้เวลาในการศึกษา หาแนวทาง เพราะหากเข้ามาแล้วเปลี่ยนแปลงก็จะถูกมองว่าเป็นลูกเจ้าของกิจการ แต่เมื่อได้ศึกษาก่อน ทำให้เกิดความกล้าที่จะแก้ไขระบบการทำงานเพื่อให้เกิดผลดีแก่บริษัท"
"หลังจากเข้ามาบริหารงานแล้ว คุณพ่อก็ยังคงมาดูแลอยู่ โดยให้คำปรึกษา และแนวทางในการทำงานการสอนไม่ใช่การสอนแบบครูกับนักเรียน แต่ให้ดูวิธีการทำงาน และเรียนรู้เป็นตัวอย่าง รวมทั้งมีการนำวิธีการทำงานของตนเองมาผสมผสานด้วย โดยจะเน้นในเรื่องให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย"
ความสำเร็จในการทำงานของ ประกาสิทธิ์ อาจจะยังน้อย แต่สำหรับวัย 25 ปี ถือว่ามีความรับผิดชอบค่อนข้างมาก และยังมีอะไรที่จะต้องทำอีกหลายอย่าง โดยยึดระบบคังเซน ของญี่ปุ่นเป็นแนวทาง คือ พัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง
การรักษาอันดับหนึ่งในตลาดของสินค้าที่ดูแลอยู่ในปัจจุบัน และการขยายตลาดให้มากขึ้น นั่นคือเป้าหมายในการทำงานของ ประกาสิทธิ์ พรประภา แต่อนาคตของเขาไม่ได้ต้องการหยุดเพียงแค่นี้เพราะกำลังมองธุรกิจใหม่ที่แตกต่างจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การลงทุนในธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์
พรพินันท์ พิสุทธิ์วัชระกุล
คลื่นลูกใหม่ของ ดันลอพ
พรพินันท์ พิสุทธิ์วัชระกุล หรือ เชอร์รี อายุ 31 ปี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไลฟ์เซฟเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปรียบเสมือนลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะเธอคือ ลูกสาวคนโตของ ไพศาล พิสุทธิ์วัชระกุล กรรมการผู้จัดการ ไลฟ์เซฟเวอร์ ฯ
ที่จริง พรพินันท์ ไม่คิดว่าจะต้องมาทำธุรกิจของครอบครัว เพราะหลังจบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เป็นผู้แทนยา บริษัท ดีแอสเอส เทรดดิ้ง จำกัด
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานได้ 1 ปี ก็ไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านบริหารโครงการที่มหาวิทยาลัย จอร์จ วอชิงทัน ดีซี สหรัฐอเมริกา พอจบการศึกษาก็กลับมาทำงานที่เมืองไทย กับบริษัท เทลเลอร์เนลซัน ฟอร์ฟเฟส ประเทศไทย จำกัด ในตำแหน่ง ผู้จัดการโครงการจากนั้นจึงตัดสินใจที่จะมาช่วยงานของครอบครัว
"ตอนแรกไม่คิดว่าต้องกลับมาทำงานกับครอบครัวเพราะที่ผ่านมาคุณพ่อไม่เคยปูพื้นฐานในเรื่องธุรกิจของครอบครัว ต้องการให้ลูกหาประสบการณ์แต่เมื่อธุรกิจต้องขยายจึงต้องกลับมาทำ อีกทั้งยังมีความมั่นใจว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมารวมถึงการใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา ทำให้น่าจะเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะทำงานในด้านใดก็ตาม"
พรพินันท์ ชอบงานด้านบริหาร และธุรกิจยางรถยนต์ก็มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต เนื่องจากตลาดรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงสินค้ายางนำเข้า ก็มีผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง และยาง ดันลอพ ก็ถือว่าเป็นยางนำเข้าที่มีคุณภาพ จึงไม่หนักใจนักในเรื่องนี้
พรพินันท์ มีพ่อของเธอเป็นพื้นฐานในทุกด้านตั้งแต่เด็ก ทุกคนจะมองว่าเธอเป็นลูกพ่อพ่อจะชี้แนวทางให้ดำเนินไป และไม่เคยก้าวพลาด การทำงานครั้งนี้เธอจึงถือว่าพ่อเป็นเหมือนทุกอย่างที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ
"การเข้ามารับช่วงต่อจากครอบครัว โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างยาง ดันลอพ ให้รักษาความเป็นผู้นำยางนำเข้าสูงสุดอันดับหนึ่งต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับรางวัลติดต่อกัน 5 ปีแล้ว ซึ่งเป้าหมายสำหรับปีนี้คือ 1.6 แสนเส้น หรือเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 20 % พร้อมกันนี้จะมีการขยายบุคลากรเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายงาน โดยเฉพาะฝ่ายขายที่จากเดิมมีอยู่ 8 คน เพิ่มเป็น 13 คน"
ส่วนในระยะ 3-5 ปี ทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจในคุณภาพของสินค้ามากที่สุด มีความภักดีต่อสินค้า หรือที่เรียกว่า แบรนด์รอยัลที เพราะปัจจุบันสินค้าๆ หนึ่ง มีให้ผู้บริโภคเลือกหลายยี่ห้อ เมื่อผู้บริโภคลองใช้แล้วพอใจในคุณภาพหรือยี่ห้อเหล่านั้นไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้นจุดต่อไปหลังจากเกิดความพึงพอใจแล้ว ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่ามีความภักดีต่อสินค้า เมื่อซื้อสินค้าครั้งต่อไปคิดถึงยี่ห้อเราเป็นอันดับแรก หรืออันดับแรกที่อยู่ในใจ
อุปสรรคต่างๆ ผ่านจุดลำบากใจมานานแล้วเพราะเข้ามาบริหารงาน 3 ปีแล้วแต่สิ่งที่จะคอยเตือนตัวเอง คือ การเป็นอันดับหนึ่งของยางนำเข้า ซึ่งเหมือนเป็นเครื่องเตือนสติเป็นที่มาของการสร้างยอดขายให้เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี
ปัจจุบันผู้บริโภคยอมรับยางนำเข้ามากขึ้น จากเดิมที่จะมองว่ามีราคาแพงทำให้ลูกค้าเป็นกลุ่มนิชมาร์เกท แต่เมื่อตลาดแข่งขันขึ้น ภาษีที่เข้ามามีส่วน ทำให้กลุ่มผู้บริโภคยอมรับยางนำเข้ามากขึ้น ซึ่ง ดันลอพได้ตอบสนองลูกค้าในทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ยางรถเก๋ง โฟร์วีล และรถจักรยานยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นจุดแข็งของดันลอพ"
พลภัทร์ ลีนุตพงษ์
ทายาท เปอโฌต์
พลภัทร ลีนุตพงษ์ อายุ 29 ปี เป็นบุตรของ พงษ์เทพ ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหาร ยนตรกิจ กรุพที่มาสานต่อกิจการของตระกูลในตำแหน่ง กรรมการบริหาร บริษัท ยูโรเปียนออโตโมบิลส์ จำกัดผู้แทนจำหน่ายรถยนต์เปอโฌต์ จบการศึกษาด้าน COMPUTER SYSTEMS, COMMUNICATIONS, & ELECTRONIC ENGINEERING จากมหาวิทยาลัยอาร์มิท ประเทศออสเตรเลีย เริ่มงานครั้งแรกที่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นไปศึกษาต่อปริญญาโท MBA WITH A CONCENTRATION IN MIS ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา
"หลังจากเรียนจบกลับมาเมืองไทย คุณพ่อบอกว่าอยากให้มาทำงาน และถามว่าสนใจจะทำแบรนด์ไหน ผมเห็นว่าขณะนั้น เปอโฌต์ เพิ่งจะนำเข้า รุ่น 206/307 และ 607 เอสดีไอ เห็นว่าการนำรถ ซีบียู เข้ามาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่นำรถมาประกอบ ในรุ่น 405/406 และ 405 นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และเป็นสิ่งท้าทายสำหรับผมที่จะทำให้เปอโฌต์ กลับมามีชื่อเสียงเหมือนในอดีต แต่จะเป็นคนละแนว โดยผมจะเน้นแบรนด์อิเมจมากกว่าจึงตัดสินใจเลือกทำ เปอโฌต์
ส่วนสิ่งเกี่ยวข้องอื่นๆ อาจจะเป็นเพราะก่อนไปเรียนบ้านอยู่บนอู่ของ เปอโฌต์ ตรงรองเมืองโตขึ้นมากับเปอโฌต์ 11 ปี ก่อนที่จะไปเรียนเมืองนอก"
"ผมไม่เคยคิดจะมาดูแลธุรกิจของครอบครัว ต้องการที่จะหาประสบการณ์การทำงานมากกว่ามีบางวันที่ผู้ใหญ่เริ่มพูด หลังจาก เจเนอเรชัน 2 ก็พูดกันว่าใครจะดูแล ซึ่งคิดว่าผู้ใหญ่วางแผนเหมือนกัน แต่ไม่ได้บอกใคร และนับว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวเช่นกัน เพราะคุณปู่ ได้สร้างบริษัทในภาวะที่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเติบโต คุณพ่อมารับช่วงต่อเพื่อทำให้ทุกอย่างเติบโต ส่วนรุ่นที่ 3 ยังไม่ชัดเจน แต่น่าจะเป็นการสร้างแบรนด์กับการสร้างความสัมพันธ์แก่ลูกค้า"
พลภัทร เริ่มงานที่ เปอโฌต์ ด้านบริการหลังการขาย ต่อจากนั้นดูแลในส่วนรถที่ส่งมาจากต่างประเทศว่าจะทำตลาดได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องราคา จำนวนรถ ผลงานที่ผ่านมาของเขา ได้แก่ เปอโฌต์ 206 และ 307 เปิดประทุน
"ช่วงแรกการทำงานต้องเรียนรู้งานเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การตลาด การขายเพราะดูตลาดในประเทศไทยแตกต่างจากต่างประเทศมาก คนไทยจะนิยมรถ บีเอมดับเบิลยู และเมร์เซเดส-เบนซ์ แต่รถเปอโฌต์ กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จึงพยายามหาแนวทางแก้ไขให้เปอโฌต์ ประสบความสำเร็จในเมืองไทยมากกว่านี้"
ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น การบริการซึ่งปีที่แล้วประสบความสำเร็จในส่วนอะไหล่ ก็พยายามปรับปรุงให้ได้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาภาพพจน์ในเรื่องอะไหล่รถ เปอโฌต์ ค่อนข้างไม่ค่อยดี แต่ได้มีการแก้ไขให้เป็นสินค้าราคาเดียวทั่วประเทศ และชี้ให้ลูกค้าเห็นว่าอะไหล่แท้นั้นดีกว่าของเทียม เพราะมีการรับประกัน
ส่วนด้านบริการได้นำระบบ OCS เข้ามาใช้ในด้านการบริการหลังการขาย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ CUSTOMER SERVICE MODULE/QUALITY CONTROL MODULE และ OVERALL ORGANIZATION MODULE ที่ปรับปรุงให้แต่ละสาขาใช้ระบบเดียวกันเพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ประทับใจ"
พลภัทร ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากจะนำเข้ารถรุ่นใหม่ๆ มาจำหนายในประเทศไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้นเพราะนั่นคือ การสร้างยอดขายให้บริษัท โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ปีละ 400 คัน สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ เปอโฌต์จากเดิมที่ลูกค้ามองว่า อะไหล่แพง ซ่อมไม่หาย เปลี่ยนไปจากเดิม เน้นการดูแลลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด
ด้วยความมุ่งมั่น และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากทั้งปู่ และพ่อ จึงตั้งใจว่าจะทำให้ เปอโฌต์จะเป็นรถหนึ่งในใจของคนไทย และให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุดในการบริการ
อภิชาติ ลีนุตพงษ์
ลูกไม้ไม่ไกลต้นของ ลีนุตพงษ์
อภิชาติ ลีนุตพงษ์ ที่ปรึกษา บริษัท บาร์เซโลนา มอเตอร์ จำกัด บุตรชายของ อลงกรณ์ ลีนุตพงษ์กรรมการบริหาร ยนตรกิจ กรุพ หลังจบการศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประกอบกับเป็นคนชอบรถ จึงได้มีโอกาสมาทำงานในแผนกหนึ่งของ บริษัท ไทยยานยนตร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำ และจัดจำหน่ายรถ บีเอมดับเบิลยู โดยนำรถ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 อี 36 มาตกแต่งเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สปอยเลอร์ ล้อแมก สีพิเศษ 3 ปีครึ่งจำหน่ายได้ 400 คัน ถือเป็นประสบการณ์แรกของการทำงาน
หลังจากนั้นไปศึกษาต่อ เอมบีเอ ที่ มหาวิทยาลัย คลาร์ค ด้านการตลาดกับ เอมไอเอสหลังจบการศึกษาต้องบินกลับมาเมืองไทย เนื่องจากคุณปู่ป่วย ทำให้เกิดจุดหักเหในชีวิต คือต้องมารับผิดชอบดูแล บริษัท บาร์เซโลนา ฯ เพราะคุณปู่
"ผมไม่เคยอยากที่จะมาทำงานของครอบครัว เพราะรู้สึกว่าถ้าจะกลับมาทำต้องมีคุณค่าพอที่บริษัทเรียกมาทำ แต่ไม่ได้กลับมาทำเพราะมีนามสกุล ลีนุตพงษ์ ถ้าเป็นอย่างนั้น ขอเงินบริษัทและอยู่เฉยๆ ดีกว่าเพราะถ้ามาแล้วต้องทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้า เพราะเป็นการลงทุนที่บรรพบุรุษสร้างมา"
"ผมค่อนข้างมีความสุขเพราะ บีเอมดับเบิลยู เป็นแบรนด์ที่ชอบ และเพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเอง เนื่องจากบาร์เซโลนา ฯ ไม่ได้เป็นองค์กรภายใต้ ยนตรกิจ 100 % คนที่จะบอกว่าดีหรือไม่ดีคือ บีเอมดับเบิลยูไทยแลนด์ ฯ รวมถึงพนักงาน ที่สนใจว่าจะทำยอดขายให้ได้เท่าไร ถือเป็นการพิสูจน์ตัวเองในระดับหนึ่ง"
หน้าที่รับผิดชอบจะมี 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเริ่มด้วยการแสดงให้ลูกน้องเห็นว่าเราสามารถลงไปทำงานในส่วนต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยรถการปิดการขาย คือ เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ช่วงที่ 2 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และปลายปี 2545 มีโอกาสได้ไปเรียนหลักการบริหารงาน ที่ มิวนิค และกลับมาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการจนปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ เช่น การเงิน ลูกค้าวีไอพี
"ผมถือว่างานที่ผ่านมาทุกอย่างประสบความสำเร็จเพราะได้รับการยอมรับจากฝรั่ง โดยเฉพาะจากผู้บริหารของ บีเอมดับเบิลยู ขายได้ตามเป้าหมาย และการเป็นที่หนึ่งในด้านความพึงพอใจสูงสุดลูกค้าของ บีเอมดับเบิลยู ซึ่งเป็นผลจากทีมงาน เห็นได้จากอดีตคนจะมองว่า ยนตรกิจ อะไหล่แพง บริการไม่ดี ช่างโกง แต่เมื่อมาถึงวันนี้ บาร์เซโลนา ฯ ในเครือ ยนตรกิจ กรุพ เป็นที่หนึ่งในการเป็นดีเลอร์ บีเอมดับเบิลยู"
อภิชัย ตั้งวงศ์ศิริ
เจเนอเรชันกลางของ ต.สยาม ฯ
อภิชัย ตั้งวงศ์ศิริ กรรมการผู้จัดการ อายุ 30 ปี บริษัท ต.สยาม คอมเมอร์เชียล จำกัด บุตรชายของประวิทย์ ตั้งวงศ์ศิริ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหลังจากนั้นเริ่มทำงานในตำแหน่ง TRADER กับ CARGILL SIAM CO., LTD. เกี่ยวกับวัตถุดิบการเกษตร ทำได้เพียงประมาณ 1 ปี เท่านั้นเพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยสนใจเท่าไรจากนั้นมาร่วมงานในตำแหน่ง MARKETING ASSISTANT REMY (THAILAND) CO., LTD. ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสุราเลยต้องดื่มสุราทุกวัน เนื่องจากบริษัทมีสินค้าหลากหลายแต่ก็ทำได้เพียงปีกว่า
"ผมไม่เคยคิดที่จะมาทำงานของครอบครัว เพราะต้องการเป็นมืออาชีพ และก็ประสบความสำเร็จกับงานที่ผ่านมา แต่ด้วยจุดหักเหของชีวิตที่คุณพ่อป่วย ประกอบกับคุณอาที่ดูแลธุรกิจอยู่เกิดเสียชีวิต จึงเป็นจังหวะให้เข้ามา เมื่อมาดูแลแล้วก็พยายามทำให้ดีที่สุด จนปัจจุบัน 8 ปีแล้ว"
ปี 2540 ดูแลกิจการของครอบครัว คือ บริษัท ต.สยามเทรดดิ้ง จำกัด ได้ทำการตลาดโดยตรงช่วงนั้นยอดขายของยาง โยโกฮามา ยังน้อยมากปีละประมาณ 20,000 เส้น และเติบโตต่อเนื่องจนกระทั่งปี 2544 มียอดขาย 40,000 เส้น จึงตัดสินใจตั้งบริษัทใหม่บริษัท ต.สยามคอมเมอร์เชียล จำกัด
"ผมสร้างด้วยมือของตัวเอง จัดรูปแบบใหม่ ทั้งในเรื่องการวางแผนการตลาด ระบบการจัดจำหน่ายเพื่อให้เป็นบริษัทในฝันที่ดีที่สุดเป็นของตนเอง และสามารถทำให้ยอดขายในนามบริษัท ต.สยามคอมเมอร์เชียล จำกัด ในวันที่ 1 มกราคม 2545 ถึง 87,000 เส้น เติบโตกว่า 100 % ปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 116,000 เส้น และในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 เส้น พร้อมทั้งสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดยางรถยนต์นำเข้า"
สิ่งนี้นับเป็นเป้าหมายแรกของการเข้ามาดูแลธุรกิจ และถือว่าได้ทำสำเร็จแล้ว โดยในปี 2548 นี้ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 2 หลัก ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมายจะให้เป็นอันดับหนึ่ง 3 ปีติดต่อกันและเป้าหมายที่สอง คือ การขยายในส่วนของผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถยนต์เพราะว่าบริษัทมีความเชี่ยวชาญ และช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง ซึ่งหน้าที่ก็คือการนำผลิตภัณฑ์ใหม่อื่นๆ ที่สามารถนำเข้ามาจัดจำหน่ายในช่องทางนี้ได้ ซึ่งจะเริ่มทำในช่วงต้นปีหน้า
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงาน โดยที่เริ่มไปแล้วคือโครงการ "ADVAN TECHNICAL" มีเป้าหมายคือ 1. ต้องการให้เป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรม ลูกค้าพนักงาน เพื่อให้เข้าใจผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ 2. เป็นแหล่งข้อมูล ให้บริการที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคนั่นคือการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้บริโภคใช้ยาง โยโกฮามาแล้วเกิดปัญหา ที่ดีเลอร์ไม่สามารถแก้ไขได้ บริษัทจะให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง 3.พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย เพิ่มคุณภาพของดีเลอร์ โดยการขยาย "ADVAN TECHNICAL" ในกรุงเทพ ฯ และจังหวัดใหญ่ๆ เพื่อให้ยาง โยโกฮามา เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น
และโครงการร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตยาง โยโกฮามา นั่นคือ บริษัท โยโกฮามา ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมาโดยบริษัทถือหุ้น 5 % โดยมีเป้าหมายเฟสแรกผลิตยาง บัสแอนด์ทรัค และเรเดียลมีวัตถุประสงค์หลักคือ การส่งออก และจำหน่ายภายในประเทศบางส่วน
สำหรับการลงทุนทั้งโครงการไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านบาท โดยเฟสแรกลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาทเฟสที่ 2 ลงทุนอีก 6,000 ล้านบาท ขยายการผลิตยาง ไรท์ทรัค และ เอสยูวี ถือว่าเป็นโรงงานโยโกฮามาที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนพื้นที่ 260 ไร่ ทั้งนี้มองว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก ปีแรกมีกำลังการผลิต 315,000 เส้น ส่วนเฟสที่ 2 จะเริ่มการผลิตได้พฤศจิกายนปีหน้า กำลังการผลิต 1.4 ล้านเส้น ส่งออกทั่วโลกยกเว้นญี่ปุ่น
"ผมเป็นเจเนอเรชันที่อยู่ในช่วงกลาง สไตล์การทำงานได้มาจากประสบการณ์ จากลูกค้า ผู้บริโภครวมถึงความคิดใหม่จากที่เรียนมา และสิ่งอื่นๆ ที่เข้ามาสู่ตัวเอง นำมาผสมผสานเพราะไม่ได้ยึดแนวทางใดทางหนึ่งเป็นหลัก การทำงานบางครั้งเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีโชคด้วยผมอาจเป็นคนโชคดี บวกกับประสบการณ์ และสิ่งที่เรียนมาทำให้ก้าวมาถึงจุดนี้"
"การปรับเปลี่ยนระบบบริษัทใหม่ เป็นเรื่องที่ยากมากกับการเปลี่ยนธุรกิจครอบครัวมาเป็นมืออาชีพแน่นอนช่วงระหว่างปรับเปลี่ยนต้องมีทั้งความเจ็บปวด ชอบ และไม่ชอบ ผมต้องใส่ความเป็นมืออาชีพและจิตใจเข้าไปด้วย แต่สุดท้ายสิ่งที่ต้องคิดถึงคือเรื่องของเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของบริษัทเป็นหลัก"
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2548
คอลัมน์ Online : บทความ