เล่นท้ายเล่ม
รักเธอ ประเทศไทย
วันที่ผมเขียนต้นฉบับเรื่องนี้ เป็นวันที่ 2 หลังจากรัฐบาลรักษาการ พตท. ทักษิณ ชินวัตร ถูกคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้การนำของพลเอก สนธิบุญยรัตกลิน ยึดอำนาจ
การดำเนินการของคณะปฏิรูป ฯ อันประกอบด้วยผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 เข้าควบคุมสถานการณ์ในเขตกรุงเทพ ฯ กับปริมณฑล ตั้งแต่เวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง
เวลาในขณะนั้น พตท. ทักษิณ ชินวัตร กำลังปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการอยู่ที่สหประชาชาติเมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
เป็นรัฐประหารอีกครั้งของเมืองไทย หลังจากว่างเว้นเรื่องแบบนี้มาได้ 15 ปี โดยครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2534 เมื่อครั้งพลเอก สุจินดา คราประยูร ยึดอำนาจจากรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
การรัฐประหาร หรือการปฏิวัติ เกิดในเมืองไทยหลายครั้ง และค่อนข้างจะมีลักษณะเหมือนๆ กัน
ความเหมือนกันในความแตกต่างที่ผมอยากพูดถึง ก็คือ ปฏิกิริยาตอบโต้จากประชาชน
ส่วนมากแล้วไม่มีใครชื่นชมการปฏิวัติ-รัฐประหาร เพราะเห็นว่าเป็นการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปฏิวัติแล้วสิ่งแรกที่คณะยึดอำนาจดำเนินการก็คือ ฉีกกฎหมายสูงสุดของประเทศทิ้ง แล้วก็รักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง
ประชาชนเห็นว่า ห้วงเวลาที่คณะยึดอำนาจเข้ามารักษาการความสงบนั้น เป็นอันตรายเพราะมีอำนาจล้นฟ้า
การยึดอำนาจที่ผมมีประสบการณ์ในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่ง เป็นการดำเนินการล้มล้างรัฐบาลด้วยพลังนักศึกษา และประชาชน ครั้ง "วันมหาวิปโยค" 14 ตุลาคม 2516 และเป็นการขับไล่รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร
เหตุการณ์นั้นเป็นการสูญเสียเลือดเนื้อ และชีวิต ระหว่างวันมหาวิปโยคผมขับรถไปตามถนน ผ่าน 4แยกแล้วก็ใจหายเพราะเกิดความรู้สึกว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป รู้สึกกลัวจนหัวใจเย็นเฉียบ
คนไทยส่วนใหญ่เมื่อเกิดการปฏิวัติ ก็ต้องนึกถึงเสียงปืน และภาพของคนที่ถูกอาวุธ
แต่ไม่ใช่คราวนี้ ครั้งนี้คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ดำเนินการด้วยความสงบเรียบร้อย ปราศจากการสูญเสียทั้งทรัพย์สินของทางราชการ และเลือดเนื้อ ไม่มีเสียงปืนดังขึ้นแม้แต่นัดเดียว
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เคยโดนยึดอำนาจครั้งเกิด "กบฏแมนฮัททัน" เคยโดนระเบิดจากเครื่องบินระหว่างอยู่บนเรือรบหลวง จนต้องกระโจนลงน้ำเจ้าพระยาเพื่อเอาตัวรอด
กำลังพลที่คณะดำเนินการเรียกมาปฏิบัติการในแต่ละครั้ง มักเป็นกำลังพลที่ดุดัน เข้มแข็ง เฉียบขาดจนประชาชนรู้สึกว่าปฏิวัติ หรือก่อการกบฏครั้งใด ครั้งนั้นหนีไม่พ้นเลือดตกยางออก เป็นเหตุการณ์ที่คนไทยไม่อยากเห็น
จาก 14 ตุลาคม ยังตามมาด้วย 9 ตุลาคม 2519 ตามมาด้วย พฤษภาทมิฬปี 2535 สะสมความรู้สึกของประชาชนผู้รักสันติ และความมีเสรีภาพ
แต่ก็ไม่ใช่ครั้งนี้ 19 กันยายน 2549 หลังจากยึดอำนาจแล้ว คณะปฏิรูป ฯ ได้ออกคำสั่งให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดธนาคาร จนถึงตลาดหลักทรัพย์ ด้วยเหตุนี้วันต่อมาประชาชนก็ได้มีโอกาสพักผ่อน และเป็นวันพักผ่อนที่พวกเขาดำเนินกิจกรรมพิเศษอย่างไม่เคยปรากฏในการทำรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมา
ประชาชนมาให้กำลังใจแก่คณะทหาร ขอถ่ายรูปรถถัง ขอบันทึกภาพร่วมกับกำลังพลที่มากับรถถังและมามอบดอกไม้สด และข้าวปลาอาหาร ตลอดจนน้ำดื่มให้แก่ทหารที่ดำเนินการยึดอำนาจ
ประชาชนที่มามีทั้งผู้ชาย/ผู้หญิง เด็ก และผู้อาวุโส พวกเขามาพบกับทหารและพบกับรถถังตั้งแต่คืนวันที่มีการยึดอำนาจ
มาทั้งๆ ที่อยู่ในชุดนอนก็มี มาแล้วก็มายืนดู ไม่วิตก ไม่เกรงกลัว อะไรทั้งสิ้น ถ้าเอากล้อง หรือมือถือติดตัวมาด้วย ก็จะบันทึกภาพเหมือนกับออกมางานลอยกระทง หรือออกมาดูลำตัด ยี่เก อะไรประมาณนั้น
วันต่อมาที่เป็นวันหยุด นอกจากกิจกรรมพิเศษที่ประชาชนมีอารมณ์ร่วมกับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยแล้ว ผมดูโทรทัศน์ยังพบรายหนึ่งทำธุรกิจในด้านอสังหาริมทรัพย์ขับรถยนต์ส่วนตัวราคาเกิน 10 ล้านบาทมาพบทหาร
รถยนต์ราคามากกว่า 10 ล้านบาทของเขา ถูกพ่นสีแดงด้วยถ้อยคำให้กำลังใจแก่หัวหน้าคณะปฏิรูปคือพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน พ่นสีเป็นตัวอักษรลงไปบนรถอย่างไม่เสียดาย เมื่อนักข่าวถาม ชายหนุ่มผู้นั้นก็ตอบว่า
"แผ่นดินไทย มีค่ามากกว่ารถของผมครับ"
สำหรับผม หรือคนไทยอย่างผม เมื่อได้ยินคำนี้แล้ว ความรู้สึกก็เหลืออยู่อย่างเดียว และนั่นก็คือ ความซาบซึ้งถึงก้นบึ้งหัวใจ ราษฎรไทยท่านผู้นั้นกล่าวได้อย่างถูกต้อง แผ่นดินไทยแผ่นดินของพวกเราประเทศไทย-ประเทศของพวกเรา มีค่า และมีบุญคุณอย่างล้นเหลือ
เหตุการณ์แบบนี้ ก็น่าจะเป็นอีกวาระหนึ่ง สำหรับสายตาคนต่างชาติที่จะต้องประหลาดใจ และเห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์อย่างยิ่ง
ชาวต่างประเทศเคยรู้สึกมหัศจรรย์กับประเทศไทยมาครั้งหนึ่งแล้ว ต่อความรู้สึกในความจงรักภักดีและเทิดทูนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความพร้อมเพรียงทั้งชาติ บัดนี้พวกเขาก็ต้องทึ่งในเหตุการณ์ของการรัฐประหาร 19 กันยายน อีกครั้ง
ทุกครั้งที่เกิดปฏิวัติ-รัฐประหารในต่างดินแดน เรามักได้เห็นภาพที่รุนแรง ด้วยการเสียเลือดเนื้อ และทรัพย์สิน บางแห่งบางประเทศไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ แค่ประท้วงกันธรรมดา ก็รุนแรง และเลือดตกยางออกแล้ว
เพราะฉะนั้น ทันทีที่กรุงเทพ ฯ เกิดการรัฐประหาร ต่างประเทศก็หยุดข่าวอื่น หันมาให้ความสนใจกับความพยายามในการทำรัฐประหารที่กรุงเทพ ฯ โดยทันที เป็น "บเรคิง นิวส์" ที่ยืดยาว เพราะคิดว่าคงจะมีเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นหวาดเสียว
ยิ่งได้เห็นอากัปกิริยาของผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย รายงานข่าวกลับไปยังสถานีในต่างประเทศ ได้เห็นความร้อนรนของเขาแล้ว ก็ยิ่งนึกไปด้านเดียว นั่นก็คือ การยิงต่อสู้กัน และอาจนำพาไปถึงการสูญเสียชีวิต และเลือดเนื้อ
ที่ผมพูดมาอย่างยืดยาวนี้ ก็เพื่อยืนยันว่า ประเทศไทย ก็คือ ประเทศไทย วิถีชีวิตคนไทยด้วยกันก็เป็นแบบนี้ ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน
และเมื่อประเทศไทยของเราเป็นแบบนี้ เราจึงไม่เดือดร้อนกับความเข้าใจจากคนต่างชาติ แต่เราเข้าใจในความประหลาดใจที่พวกเขาเห็นความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์นองเลือดครั้ง 14 ตุลา 2516 นั้น มีทั้งการทำลายสถานที่ราชการทั้งกองสลาก และส่วนหนึ่งของกรมสรรพากร ตลอดกระทั่ง สำนักงานตำรวจนครบาล แต่เมื่อเหตุการณ์สงบแล้ว ประชาชนก็ออกมาขวักไขว่กันเต็มถนน ไปดูภาพความเสียหายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ซึ่งก็ไม่ใช่ครั้งนี้อีกเช่นกัน
ครั้งนี้เป็นการดำเนินการยึดอำนาจ และระหว่างควบคุมสถานการณ์ ประชาชนก็ออกมาแสดงอารมณ์ร่วมอย่างไม่หวาดหวั่น
ดูภาพแล้วเหมือนไม่ใช่เหตุการณ์ของความพยายามในการทำรัฐประหาร จากกองทัพ จากขบวนรถถังที่ติดตั้งอาวุธหนัก หรือจากกำลังพลที่มาจากหน่วยรบ
ครับ เพราะนี่คือ ประเทศไทย และ รักเธอ...ประเทศไทย
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2549
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม