สัมภาษณ์พิเศษ
บุญฤทธิ์ ผ่องเมฆินทร์
ที่ผ่านมารถยนต์รถเกาหลีหลายยี่ห้อไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเพราะไม่สามารถเจาะตลาดรถญี่ปุ่นและยุโรปได้ จึงต้องพับฐานกลับบ้านเก่าไปเกือบหมด มีเพียงยี่ห้อ เกียที่ปัจจุบันกลุ่มยนตรกิจเข้ามาดูแล และผลักดันให้ค่อยๆ เติบโตในตลาดรถยนต์อย่างมั่นคงอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
"4 WHEELS" จึงสัมภาษณ์ บุญฤทธิ์ ผ่องเมฆินทร์ กรรมการบริหาร บริษัท ยนตรกิจเกียมอเตอร์ จำกัดผู้แจ้งเกิดรถยนต์ เกีย สู่ตลาดรถยนต์เมืองไทยอีกครั้ง
4 WHEELS : คุณเข้าสู่วงการรถยนต์ได้อย่างไร ?
บุญฤทธิ์ : ผมเริ่มทำงาน พศ. 2528 ตอนนั้นจบปริญญาตรีด้านไฟแนนศ์ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา จริงๆ แล้วผมต้องทำงานเป็นนักวิชาการ หรือทำงานธนาคารมากกว่าแต่เนื่องจากว่าตัวเองชอบรถยนต์ ตอนเลือกเรียนที่ดีทรอยท์ เพราะอยากอยู่ใกล้ ต้องการเห็นว่ารถยนต์เป็นอย่างไรเลยตัดสินใจทำงานบริษัทรถยนต์ โดยเฉพาะรถยุโรป เลยมาทำงานกับยนตรกิจ
เมื่อทำได้ระยะหนึ่ง มองว่าตัวเองไม่มีความรู้เรื่องเทคนิครถยนต์ก็เลยไปศึกษาต่อเรื่องรถยนต์อย่างเดียวกลับมาก็มาอบรมฝ่ายขายในเรื่องเทคนิคต่างๆ ของรถยนต์ เพื่อนำความรู้เรื่องเทคนิคไปคุยกับลูกค้าได้
หลังจากนั้น ยนตรกิจได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่าย โฟล์คสวาเกน เอาดี แต่ตัวหลักคือ โฟล์คสวาเกนก็ได้มีโอกาสทำการตลาดของ โฟล์คสวาเกน ซึ่งการตลาดของ โฟล์ค ฯ ในช่วงนั้นคือทำทุกอย่างและเห็นว่าเป็นงานที่แปลก เพราะที่ผ่านมา ยนตรกิจทำตลาดรถเก๋งมาตลอดจนกระทั่งได้ โฟล์ค ฯ มา ซึ่งช่วงแรกเป็นรถตู้ เพราะเมืองไทยยังเป็นระบบ ซีเคดีรัฐบาลยังให้เป็นรถระบบ ซีเคดี ยกเว้นประเภทรถตู้ ดูแล้วท้าทายดี ทำอยู่ระยะหนึ่ง ก็มีการลดภาษีเปิดตลาดรถเก๋ง เพื่อให้มีการแข่งขันกับรถ ซีเคดี มากขึ้น มีโอกาสนำ โฟล์ค ฯ เก๋ง และ เอาดีเข้ามาทำตลาด ซึ่งในช่วงนั้นรถตู้โฟล์ค ฯ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดแล้วโดยเฉลี่ยจำหน่ายเกือบ 500 คัน/ปี
จากนั้นผมจึงย้ายไปทำงานที่ บีเอมดับเบิลยู ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีได้เรียนรู้ในหลายด้านได้ทำงานร่วมกับชาวเยอรมัน ในช่วงนั้นนับว่า บีเอมดับเบิลยู ประสบความสำเร็จอย่างมากมียอดขายประมาณปีละ 7,000-8,000 คัน/ปี
ต่อมา บีเอมดับเบิลยู เข้ามาดำเนินธุรกิจเอง ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มฟองสบู่แตก แต่ก็เป็นจังหวะที่โฟล์ค ฯ กรุพ ได้มีการเจรจากับยนตรกิจ ต้องการแบ่งแยกการบริหารงานของ โฟล์คสวาเกน เอาดี เซอัตออกมาอย่างชัดเจนซึ่งแต่เดิมนั้นการบริหารงานร่วมแบรนด์ จะแยกเพียงการตลาด แต่การขายร่วมกันอยู่ผมจึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่ โฟล์คสวาเกน อีกครั้งหนึ่ง เป็นยุคแรกของการทำโฟล์คสวาเกน พัสสาท
ต่อมามีการทำบริษัทร่วมทุนด้านการตลาด โดยมี โจบาเบรา เป็นกรรมการผู้จัดการกำลังอยู่ในช่วงวางแผนทีมงานผมชอบทำอะไรแปลกใหม่ คิดว่าตัวเองเรียนรู้มามาก ในช่วง 14 ปีที่อยู่ในธุรกิจรถยนต์และผ่านงานมาทุกฝ่ายทั้งฝ่ายขาย ฝึกอบรม การตลาด ประชาสัมพันธ์ ดูแลตัวแทนจำหน่าย และสาขารู้สึกว่าน่าจะมีโอกาสวางแผนงานด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นช่วงที่ยนตรกิจได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถ เกีย พอดีผมจึงตัดสินใจรับหน้าที่บริหารงาน เกีย
4 WHEELS : เพราะอะไรจึงตัดสินใจที่จะบริหารเกีย ?
บุญฤทธิ์ : ช่วงนั้นมีคนทักท้วงเรื่องรถยี่ห้อ เกีย เยอะ เพราะมีภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดีรวมถึงการทำตลาดนั้นยากเนื่องจากมีการปรับอัตราภาษี ทำให้รถมีราคาแพง ภาพของผมที่ผ่านมาจะทำรถยุโรปมาตลอดผมคิดว่าจากประสบการณ์การทำงานของผม ภาพพจน์ของผม ผมเป็นคนสร้างสินค้าไม่ใช่สินค้าสร้างตัวผม เพราะฉะนั้นไม่ว่าผมจะทำแบรนด์อะไร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สินค้าเหล่านั้นเราเป็นคนทำตลาดเท่านั้นดังนั้นจึงไม่ยึดติดกับแบรนด์ และเหตุผลที่กล้าทำเพราะว่าได้ศึกษาทั้งเรื่องคุณภาพ ราคา การตลาดและมองเห็นช่องว่างของตลาด รวมทั้งได้มีโอกาสบริหารงาน และวางแผนระบบงานทุกอย่าง
ในช่วงแรกผมเริ่มศึกษาภาพพจน์ของสินค้าเกาหลีในเมืองไทยที่มีอยู่ 4 แบรนด์ คือ ฮันเด เกีย แดวูและซันยงโดยสินค้า เกีย ช่วงนั้น คือ สปอร์เทจ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และประเทศไทยเปิดตลาดให้นำรถซีบียู เข้ามาทำตลาดโดยมีการลดภาษี แต่ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีของรถเกาหลีอาจสู้ญี่ปุ่นไม่ได้จึงจัดกลุ่มรถเกาหลีไว้เป็นรถเกรดต่ำกว่ารถญี่ปุ่น และเมื่อตั้งกลุ่มรถเกาหลีต่ำกว่ารถญี่ปุ่นแล้วจะทำอย่างไรให้ราคาแข่งขันได้เนื่องจากรถญี่ปุ่นเป็นรถประกอบในประเทศ แต่รถเกาหลีเป็นรถนำเข้า ถึงแม้ว่าภาษีจะลดลงแล้วก็ตาม
เมื่อก่อนจะลดภาษีด้วยการถอดอุปกรณ์ออกให้มีอุปกรณ์น้อยที่สุด แล้วก็นำรถเข้ามาในเมืองไทยก่อนอย่างรุ่นนี้ถูกหน่อยก็มีแอร์อย่างเดียว ราคาสูงก็เป็นกระจกไฟฟ้าและออพชันอื่นๆ เพิ่มเมื่อก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แต่มีปัญหาในเรื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งคุณภาพไม่เหมือนกันและไม่มีสตอคอะไหล่อย่างการนำเข้ารถมาในแต่ละลอทนั้น อุปกรณ์ที่ติดตั้งเป็นคนละบริษัท ทำให้รถที่ขายในตลาดอะไหล่บางอย่างไม่เหมือนกัน อย่างแอร์บางครั้งก็เดินกันคนละระบบทำให้เกิดปัญหา ถ้ารถไม่มีมาตรฐานด้านอะไหล่พอเข้าอู่ซ่อมต้องรออะไหล่ เพราะไม่รู้ว่าใส่อุปกรณ์อะไร ตอนที่เริ่มทำ เกีย ใหม่ๆ ลูกค้านำ สปอร์เทจ มาซ่อม
ปัญหาที่พบคือสตอคอะไหล่ไม่ได้เลย โดยเฉพาะอะไหล่ที่ติดอุปกรณ์เมืองไทยผมมองเห็นว่าสิ่งนี้ทำให้ภาพพจน์รถเกาหลีในเมืองไทยเสีย
เมื่อยนตรกิจนำ เกีย เข้ามาทำตลาด ผมจึงมองว่า สินค้าเราต้องมีคุณภาพ จะไม่มีการลดต้นทุนทุกสิ่งต้องมาจากเกาหลี เพราะว่ากว่าจะผลิตออกมาได้นั้นต้องมีการคิดค้นพัฒนาเป็นเวลานานแต่ยังมีอุปกรณ์บางอย่างที่สามารถนำมาทำภายหลังในเมืองไทยได้ เช่น เบาะอาจจะนำมาหุ้มหนังแท้ภายหลังหรือมาใส่ลายไม้ที่พวงมาลัย คืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากต้นแบบเดิม
4 WHEELS : มีหลักเกณฑ์อะไรในการเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่าย ?
บุญฤทธิ์ : ตอนเลือกมีอยู่ 2 เหตุผล ความจริงแล้ว เกีย มีรถหลายประเภททั้ง เก๋ง เอมพีวี โฟร์วีล-ดไรฟรถตู้ การทำตลาดในเมืองไทยต้องดูช่องว่างของตลาดว่าจะเจาะไปที่กลุ่มใด แต่สิ่งแรกที่ตัดสินใจคือ รถเก๋งไม่ทำแต่อนาคตอีกเรื่องหนึ่ง เพราะรถเก๋งไม่มีทางที่จะเกิดได้ ตอนนี้บ้านเรา โตโยตา ฮอนดาเป็นสินค้าหลักในตลาดอยู่แล้ว ราคาแข่งไมได้ รวมถึงโชว์รูม จึงมองว่ารถกลุ่มไหนที่ญี่ปุ่นไม่ได้ทำตลาดอย่างจริงจัง นั่นคือ เอมพีวี ซึ่งแต่เดิมฮอนดา เคยทำโดยนำ ออดิสซีย์ เข้ามา ที่ประสบความสำเร็จขายได้ปีละ 800 คันแต่เมื่อมีการปรับภาษีเพิ่มขึ้นทำให้รถมีราคาแพงมากขึ้น แต่หลังจากนั้นก็มี เซอัต อลัมบรา ที่ทำตลาดอยู่อีกยี่ห้อหนึ่ง ยอดขายประมาณ 30-35 คัน/เดือน แต่ราคาก็ค่อนข้างสูง จึงมองว่าการเจาะเข้าในตลาดนี้มีความเป็นไปได้ จึงตัดสินใจเลือก คาร์นิวัล มาทำตลาดและในตลาดขณะนั้นมีแค่ 3 ยี่ห้อเท่านั้น คือ ฮอนดา ออดิสซีย์ เซอัต อลัมบรา และโฟล์คสวาเกน ชารานแต่ถ้าดูที่บอดีแล้วรถพวกนี้จะมีบอดี 4.8 เมตร เป็นรถเล็ก ส่วน เกีย คาร์นิวัล มีบอดี 4.9 เมตรใหญ่กว่าและเป็นรถประตูสไลด์นั่นคือข้อได้เปรียบ รวมถึงสามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่า เปิดตลาดที่ราคา 1.46 ล้านบาทซึ่งเป็นการเปิดเซกเมนท์ใหม่ของตลาด ปัจจุบัน คาร์นิวัล มียอดขายกว่า 3,000 คัน
หลังจากนั้นก็นำรุ่นใหม่เข้ามาอีก 1 รุ่น คือ รถตู้ เกีย ปเรโจเนื่องจากมองว่าตลาดในกลุ่มนี้มียอดขายประมาณปีละ 7,000 คัน แบ่งเป็น โตโยตา ไฮเอศ ประมาณ 6,000 คัน ที่เหลือก็จะแชร์กันระหว่าง นิสสันเมร์เซเดส-เบนซ์ และโฟล์คสวาเกน ซึ่งความตั้งใจไม่ต้องการแข่งกับ โตโยตาแต่มองคอนเซพท์ของสินค้า และหาช่องว่างที่จะเสนอกับลูกค้าให้ได้ รถประเภทนี้มีผู้ใช้ 3 กลุ่ม คือ 1. รถใช้เพื่อการพาณิชย์ 2. กลุ่มรถฟลีท 3.รถใช้ส่วนตัว
เมื่อมองคุณสมบัติของรถ จะรู้ถึงข้อได้เปรียบกว่ารถยี่ห้ออื่น ในเรื่องความกว้าง ช่วงล่างอิสระ 4 ล้อนั่งสบายแต่ก็มีข้อเสียคือบรรทุกสัมภาระได้ไม่มากนัก จึงมุ่งเป้าหมายหลักไปที่รถใช้ส่วนตัวการตัดสินใจนำรถรุ่นนี้มาจำหน่ายได้นับว่าประสบความสำเร็จมียอดขายในปีที่แล้ว 1,000 คันแบ่งเป็นรถใช้ส่วนตัวถึง 75%
4 WHEELS : เตรียมความพร้อมและวางแผนงาน ในอนาคตสำหรับ เกีย ไว้อย่างไร ?
บุญฤทธิ์ : เกีย คาร์นิวัล นับว่าประสบความสำเร็จทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทยอย่างเดียวทำให้บริษัทมีความมั่นใจที่จะประกอบ เกีย คาร์นิวัล ในประเทศไทย และได้มีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนามฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่สามารถจะใช้ประโยชน์จากอาฟตา ให้สามารถแข่งขันในตลาดเซาธ์อีสต์เอเชียปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนทำ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ใช้ เพราะถึแม้ว่ามาเลเซียจะผลิตเกียแล้วก็ตามแต่ยังไม่สรุปว่าจะเข้าร่วมอาฟตาหรือไม่ ซึ่งหาก คาร์นิวัลผลิตในประเทศก็จะสามารถทำตลาดในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ด้วย
ในส่วนของ ปเรโจ ก็ประสบความสำเร็จมีการเจรจากับเกาหลีในเรื่องของ เกีย ปเรโจที่ปัจจุบันในเกาหลีนั้นมีหลายรุ่น เช่น ช่วงล่างสปริง ช่วงล่างแหนบ มีทั้งเกียร์อัตโนมัติ 12 และ 15 ที่นั่งแต่มีเฉพาะพวงมาลัยซ้ายต่อไปอยากเสนอให้ประกอบ ปเรโจ ในรูปแบบอื่นที่เป็นพวงมาลัยขวา เพราะนอกจากประเทศไทยแล้วประเทศอื่นๆ ก็มีความต้องการเช่นกัน เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ซึ่งขณะนี้เกาหลีอยู่ระหว่างการศึกษา
ส่วนอีกตลาดที่น่าสนใจคือ เอมพีวี ขนาดเล็ก อย่าง ซาฟีรา ที่มี 2 โมเดล คือ เครื่องยนต์ 1.8 และ 2.2ซึ่ง เกียคาเรนส์ ในขณะนั้นมีขนาดครื่องยนต์ 1.8 และเครื่องยนต์ดีเซลแต่ก่อนที่จะทำตลาดนั้นจะต้องมองตลาด และช่องว่างก่อนว่าจะเจาะที่กลุ่มใด ดังนั้นจึงนำเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาทำตลาดเน้นความประหยัดเป็นหลัก และกลุ่มเป้าหมายในตลาดเป็นคนละกลุ่มกับ ซาฟีรา โดยตั้งเป้าขายเดือนละ 30 คัน หรือประมาณ 400คัน/ปีแต่ปัจจุบันขายได้เดือนละ 20 คัน/เดือน ซึ่งจุดนี้นับว่าไม่ตรงกับเป้าที่ตั้งไว้ขั้นต่อไปต้องให้ความรู้กับลูกค้าในเรื่องประโยชน์ของเครื่องยนต์ดีเซล ทั้งนี้เนื่องจากภาพของเครื่องยนต์ดีเซลคือ รถพิคอัพซึ่งเมื่อลูกค้าเกิดความมั่นใจ คิดว่า คาเรนส์ คงจะสามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้
นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีแผนสำหรับการประกอบรถรุ่นนี้ แต่จะเป็น เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร เบนซินซึ่งต้องเจรจากันว่าหากประเทศไทยมีความต้องการเรื่องของเครื่องยนต์ดีเซล และอินโดนีเซียผลิตให้ก็จะใช้สิทธิ์ของอาฟตาในการแลกเปลี่ยนกับ คาร์นิวัล คาดว่าไม่น่าเกิน 1 ปี จะสามารถสรุปได้
อีกตัวหนึ่ง คือ โซเรนโต เป็นสินค้าที่สร้างภาพพจน์ เนื่องจากมีคุณภาพสูง เป็นรถโฟร์วีล-ดไรฟจริง ๆไม่เหมือนกับรถยี่ห้ออื่น ที่เป็นได้ทั้งโฟร์วีล-ดไรฟ และออนโรด คือไม่ใช่โฟร์วีล-ดไรฟ 100 % แต่ โซเรนโต เหมือนเรนจ์โรเวอร์ แกรนด์ เชอโรคี ที่เป็นโฟร์วีล-ดไรฟขนาดใหญ่ สำหรับ โซเรนโตบริษัทตั้งเป้ายอดขายเพียงประมาณ100 คัน/ปีเท่านั้น เนื่องจากนำเข้ามาเพื่อสร้างภาพพจน์
4 WHEELS : กำหนดเป้ายอดขายของรถยนต์ เกีย ในประเทศไทยไว้เท่าไรหลังจากที่นำรถรุ่นใหม่เข้ามาหลายรุ่น ?
บุญฤทธิ์ : ปัจจุบัน เกีย มีรถจำหน่ายอยู่ 4 รุ่น คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 3,500 คัน/ปีแต่ถ้ามีการแตกไลน์สินค้าเพิ่มขึ้นก็น่าจะมียอดขายประมาณ 4,000 คัน/ปี แต่ไม่น่าเกิน 5,000 คัน
4 WHEELS : ถ้าจะมีการแตกไลน์ใหม่คุณคิดว่าจะเป็นในกลุ่มใด ?
บุญฤทธิ์ : บริษัทแม่มองว่าตลาดใหญ่ของไทยคือ รถเก๋ง เพราะถ้ามองตลาดของ เกียในขณะนี้จะเห็นว่าตลาดโดยรวมจะเป็นเซกเมนท์ที่เล็กมาก ขายอยู่ที่ประมาณ 2,000 กว่าคัน ดูได้จากตลาด เอมพีวี ขนาดเล็กมีตลาดรวมอยู่แค่ 5,000 คัน/ปี ส่วนตลาดเอสยูวี ขนาดใหญ่ ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว รวมแล้วไม่รู้ว่าปีหนึ่งจะถึง200 คันหรือเปล่า ส่วนตลาดรถตู้ ปีหนึ่งขายอยู่ที่ประมาณ 7,000 คัน สรุปแล้ว 3 ตลาดจะมีอยู่ประมาณ12,000 คัน หากรวม คาร์นิวัล ยอดในตลาดแค่ 1,000 คันเท่านั้น สรุปแล้ว เกีย มีรถจำหน่ายอยู่ 4 รุ่นโดยตลาดรวมของรถทั้ง 4 กลุ่ม มียอดขายรวมแค่ 13,000 คันเท่านั้น ซึ่งหาก เกีย ทำยอดขายได้ประมาณ 2,500 คันหรือเกือบ
20 % ของตลาด ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
แต่เกาหลีมองว่าตลาดใหญ่คือ รถเก๋ง คาดว่าปีนี้น่าจะได้ประมาณ 480,000 คันแน่นอนเกาหลีมองว่าน่าจะมีรถเก๋ง แต่ถ้าจะนำรถเก๋งมาจำหน่ายในประเทศไทยโดยไม่มีอัตราเสี่ยงสูง ต้องนำรถซีบียู เข้ามาแต่เมื่อดูตลาดในปัจจุบันรถเก๋งขนาดเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี โดยมี วีออส ซีที เป็นตัวนำตลาดจำหน่ายที่ราคาประมาณ 5 แสนบาท ถ้านำรถซีบียูเข้ามาจะต้องเสียภาษีนำเข้าประมาณ 200 % สมมติว่า เกียตั้งราคาจำหน่ายถูกกว่า 15 %โดยมีสมรรถนะ และคุณภาพ เท่าเทียมกัน และขายความเป็นเกาหลี ราคาของรถก็จะอยู่ที่ประมาณ450,000บาท แต่เมื่อมาเจอกับภาษีนำเข้า 200 กว่าเปอร์เซนต์ ราคารถต้องอยู่ที่ 3,000 เหรียญเพื่อมาขายในประเทศไทยในราคา 450,000 บาท จุดนี้จึงลืมได้เลยที่จะนำรถเก๋งซีบียูเข้ามาเพราะลองคำนวณแล้วราคาจะอยู่ที่ประมาณ 8 แสนบาท การนำเข้ามาจำหน่ายจึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากการผลิตในประเทศ แต่ก็ไม่มีตลาดการที่จะลงทุนผลิตยิ่งเป็นไปไม่ได้ สรุปไม่ได้ว่าจะเจาะตลาดรูปแบบใด มีเพียงช่องทางเดียวคือ การใช้สิทธิ์อาฟตาแต่ก็คงต้องใช้เวลานาน เนื่องจากปัจจุบันรถ เกีย ยังไม่มีการผลิตในภูมิภาคนี้แต่ถ้ามีการผลิตก็อาจลองนำเข้ามาทำตลาดดูในราคาย่อมเยา ซึ่งก็มีความเป็นไปได้แต่ต้องรอให้มีการประกอบขึ้นในกลุ่มประเทศอาฟตาเสียก่อน
4 WHEELS : นอกเหนือจากตลาดรถเก๋ง ทางเกาหลีมองตลาดรถประเภทใดไว้อีก ?
บุญฤทธิ์ : ตลาดที่ เกีย พยายามพัฒนาอยู่คือ รถพิคอัพ เพราะตอนนี้ เกีย ยังไม่มี และสนใจตลาดนี้เพราะตลาดหลักของ เกีย คือ อเมริกา และอเมริกาเป็นตลาดรถพิคอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลกอันดับสองคือประเทศไทยมองแล้วเห็นว่ารถพิคอัพน่าสนใจแต่บริษัทเองก็ยังไม่ได้ศึกษาในจุดนี้มากเพราะตลาดรถพิคอัพในเมืองไทยจะเจาะเข้าไปยาก มีแค่ อีซูซุ โตโยตา เท่านั้นที่สามารถทำตลาดแล้ประสบความสำเร็จส่วนยี่ห้ออื่นไม่ว่าจะเป็น นิสสัน มิตซูบิชิ ก็ยังเจาะไม่เข้า อย่าง โอเพล เคยมาทำก็ไม่สำเร็จ แต่จุดนี้คงไม่ต่ำกว่า 5ปีถึงจะพัฒนาเสร็จ
ส่วนที่น่าสนใจมากที่สุดคือ กลางปีหน้า เกีย จะผลิตรถรุ่นใหม่ รหัสเคเอม นั่นก็คือ สปอร์เทจ ตัวใหม่ที่มีทั้งเครื่องยนต์ดีเซล และเบนซิน เป็นเซกเมนท์เดียวกับ ซีอาร์-วีซึ่งคาดว่าพวงมาลัยขวาจะมาเปิดตัวในช่วงงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 21ตลาดนี้น่าสนใจมากเห็นได้จากมีสินค้าใหม่เข้ามาในตลาดหลายรุ่น เช่น ฟอร์ดเอสเคพ มาซดา ทรีบิวท์ ทำให้ตลาดกลุ่มนี้คึกคักยิ่งขึ้น คาดว่าตลาดนี้จะเติบโตได้ถึงปีละ10,000 คัน
แต่จะไม่ใช้ชื่อ สปอร์เทจ เพราะ สปอร์เทจ ถูกผลิตขึ้นมาเป็นโฟร์วีล-ดไรฟจริงๆ ไม่หมือน ซีอาร์-วีที่เป็นรถออนโรด ส่วน มาซดา ทรีบิวท์ ฟอร์ด เอสเคพ ก็จะเป็นกึ่งๆ โฟร์วีล-ดไรฟได้ ออนโรดก็ได้ การเป็นโฟร์วีล-ดไรฟอย่างเดียวนั้นจะมีข้อเสียตรงที่นั่งไม่สบาย รถกระด้าง แต่พอได้ลุยแล้วเหมือนปลาได้น้ำรถรุ่นนี้จะเปลี่ยนชื่อใหม่คอนเซพท์จะเหมือน โซเรนโต เป็นโฟร์วีล-ดไรฟก็ได้ หรือเป็นออนโรดก็ได้ คือเป็นโฟร์วีล-ดไรฟอัตโนมัติพอออนโรดก็วิ่งล้อหลัง 2 ล้อ และเมื่อต้องการใช้อัตโนมัติปรับเองเป็น 4 ล้อ แต่ลุยได้ใช้แค่สวิทช์เหมือนรถโฟร์วีล-ดไรฟ รุ่นเคเอม มีความนุ่มนวลมากขึ้น ใช้ออนโรดเกาะถนนดีขึ้นมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากขึ้นเป็นรุ่นที่น่าสนใจ ไม่เหมือนกับ ซีอาร์-วี
4 WHEELS : จากนี้ไป เกีย จะมีการลงทุนเพิ่มในประเทศไทย อีกหรือไม่ ?
บุญฤทธิ์ : งานลงทุนหลักเป็นการลงทุนของยนตรกิจ แต่ว่าเกาหลีก็พยายามใส่โนว์ฮาวพยายามมีบุคลากรเอนจิเนีย เข้ามาประจำ และขณะนี้ก็มีการเจรจากันถึงการที่จะส่งทีมเทคนิเชียลเข้ามาประจำอยู่ด้วยเพื่อจะช่วยให้การบริการลูกค้าดีขึ้น
ส่วนเรื่องเงินนั้นคงต้องอีกระยะหนึ่ง เพราะการที่จะมาเป็น เกีย ประเทศไทย นั้นคงจะอีกนานสำหรับในเรื่องของการผลิต คาร์นิวัล นั้น โรงงานยนตรกิจค่อนข้างพร้อม ที่ผ่านมามีการประกอบรถ บีเอมดับเบิลยูโฟล์คสวาเกน เอาดี ใช้ระบบเลเซอร์เวลดิง เราลงทุนไปมากแล้ว ส่วน เกีย ก็เป็นอีกหนึ่งโมเดลแต่คงจะไม่เป็นการลงทุนที่มากนัก
4 WHEELS : ใช้กลยุทธ์อะไรที่ช่วยสร้าง เกีย กลับมาประสบความสำเร็จจนมาถึงปัจจุบัน ?
บุญฤทธิ์ : ผมว่าตรงจุดนี้ คนเราต้องมีทั้งเก่งกับเฮง ซึ่งในจุดนี้ค่อนข้างเฮง จุดหลักคือเราต้องทำให้ลูกค้ามั่นใจนั่นคือต้องมีจำนวนประชากรของโชว์รูมที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจ ซึ่งช่วงทำตลาด เกีย เป็นช่วงจังหวะที่บีเอมดับเบิลยู ประเทศไทย เลิกสัญญากับโชว์รูมยนตรกิจและโชว์รูมของเอเยนต์ของยนตรกิจจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันโฟล์คสวาเกน มีการจอยท์เวนเจอร์ ก็มีการลดจำนวนดีเลอร์ลงเพราะคิดว่าจำนวนดีเลอร์ที่มีอยู่มากเกินไปทำให้มีดีเลอร์ และสาขาจำนวนหนึ่งต้องหยุดการทำตลาด โฟล์คสวาเกน กรุพ ไม่ว่าจะเป็นโฟล์คสวาเกนเอาดี เซอัต ซึ่งจังหวะนี้ทำให้ภายใน 3 ปีของ เกีย สามารถเปิดได้ 40 แห่งทั่วประเทศตรงนี้เป็นงานหนัก
บริษัทรถยนต์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะติดปัญหาจุดนี้ จังหวะตรงนั้นทำให้ เกียมีโชว์รูมว่างทั้งสาขา ทั้งเอเยนต์ ซึ่งตอนแรกเขาก็คิดเหมือนกันว่าจะทำได้หรือ ต้องบอกให้เขารู้ว่าไม่ต้องลงทุนมากแล้วก็กล้าที่จะทำ ทำให้สามารถเปิดได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าจะเพิ่มก็จะเป็นในส่วนของต่างจังหวัดส่วนในกรุงเทพ ฯ จะชะลอการขยายโชว์รูมก่อน
อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตัวสินค้ามีคุณภาพ ราคาคุ้มค่า รวมถึงชื่อเสียงของยนตรกิจด้วยเพราะลูกค้ามั่นใจที่ผ่านมายนตรกิจก็ทำธุรกิจรถยนต์เพียงอย่างเดียว อีกจุดที่ทำให้ประสบความสำเร็จนั่นคือ ทีมงานเพราะตั้งแต่เริ่มทำงานมาจนถึงปัจจุบัน ทีมงานที่ร่วมงานมาด้วยตลอดมีความตั้งใจทำงานแบบพี่น้องกันไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำงานแล้วสบายใจ มีความสุข และโดยส่วนตัวแล้วก็ดูแลทีมงานดีที่สุดแล้วผลที่สะท้อนกลับมาทุกคนก็จะช่วยกันทำงานกันอย่างเต็มที่
4 WHEELS : จากนี้คิดว่าก้าวต่อไปของ เกีย จะทำอะไรอีกบ้าง ?
บุญฤทธิ์ : ถ้าให้คะแนนเต็ม 10 ตอนนี้ถึงจุดประสบความสำเร็จแค่ 3 เท่านั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องทำการขยายจำนวนโชว์รูมให้มากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าเพราะรถประเภทนี้เป็นรถเดินทาง เมื่อเดินทางก็ต้องมีโชว์รูม และการบริการที่ครอบคลุมหลายจังหวัด สิ่งนี้ต้องรีบพัฒนาเป็นอันดับแรก
อีกส่วนคือ คุณภาพบุคลากร เพราะต้องใช้ประโยชน์จากโชว์รูมเดิมที่ส่วนใหญ่จะเป็นรถยุโรประดับบนเพราะฉะนั้นคนเหล่านี้รู้จักดูแลลูกค้า และให้เขานำความรู้ความสามารถเหล่านี้มาบริการลูกค้า เกียซึ่งน่าจะใช้จุดนี้เป็นข้อได้เปรียบ เพราะลูกค้าบางคนอาจจะไมเคยได้รับบริการในวิธีการแบบนี้ซึ่งเราต้องอบรมให้บุคลากรรู้วิธีนำประโยชน์ตรงนี้ไปใช้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามรถเมืองไทยทุกยี่ห้อจะทำตลาดได้ดีขึ้นอยู่กับบริษัทแม่มาก เพราะว่าโลกสมัยนี้เล็กมาก ข้อมูลต่างๆ การสื่อสารรวดเร็วคนไทยสามารถเห็นภาพจากต่างประเทศมากยิ่งสินค้าที่ประสบความสำเร็จในประเทศอื่นๆ ก็จะสะท้อนมาที่ประเทศเรา หรือแม้แต่เรื่องการตลาดก็จะสะท้อนกลับมาที่ประเทศไทย ได้อย่างรวดเร็ว
เห็นได้จากการพัฒนาของประเทศเกาหลี เช่น ได้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก จัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและกำลังพยายามที่จะจัดงาน เวิร์ลด์ เอกซ์โปซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นประเทศที่สามารถจัดงานใหญ่ๆ พัฒนาเต็มที่ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่นในเอเชีย จุดเหล่านี้ทำให้เราไม่เคยเลี่ยงว่าเป็นรถเกาหลีแต่ต้องทำตรงนี้ให้แข็งแกร่งขึ้นมา และพยายามแก้ไขภาพในอดีตที่ เกีย มีปัญหา
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเวช ยอดแสง
ภาพโดย : ราชวัตร แสงจันทรานิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(4wheels)