ฟ้ากว้าง ทางไกล
แดนหิมาลายันใต้ (1)
ความหนาวเหน็บท่ามกลางหิมะขาวโพลนตามถนนที่เลี้ยวคดไปตามภูเขาลูกแล้วลูกเล่าพื้นถนนที่ฉาบไปด้วยน้ำแข็งใส ทำให้ นายติน เล คนขับรถของเราใช้ความเร็วเพียง 20 กม./ชม.เขาต้องคอยระวังไม่ให้รถเสียหลักลื่นไถลลงข้างทางที่เป็นเหวลึกในระดับความสูงกว่า 3,000 ม.
ในสภาพอากาศที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสบนเทือกเขาสูงของแดนหิมาลัย ในเดือนมกราคมความยากลำบากในการใช้ชีวิตบนเทือกเขาสูง และผู้คนที่ไม่ย่อท้อต่อการเดินทาง เกิดเป็นคำถามขึ้นในใจเราว่าคนภูฐานมาจากไหน อยู่กันอย่างไร มีหนังสือหลายเล่มที่ต่างชาติเขียนไว้มีความคิดและความเชื่อบางอย่างต่างกับคนภูฐานเอง
การตามหาร่องรอยประวัติศาสตร์ จนกระทั่งวันสุดท้ายก็ยังไม่พบคำตอบที่แน่ชัด
อาจเป็นเพราะบันทึกสมัยโบราณของคนภูฐาน ที่เก็บรวบรวมไว้ตามวัด และป้อมปราการ ถูกทำลายไปพร้อมๆ กับอุบัติเหตุไฟไหม้เนื่องจากตามวัดมักมีการจุดตะเกียงน้ำมันเนยไว้บูชาในวัดหลายๆ ดวงพร้อมกัน
คนภูฐานเองเชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากมองโกเลีย โดยเฉพาะคนที่อยู่ทางตะวันตกของประเทศพวกเขาเรียกตัวเองว่า "งาหลอบ" (NGALOPS) หมายถึงลูกหลานของชนเผ่ามองโกล เหนือแดนหิมาลายาพวกเขายืนยันถึงเค้าโครงใบหน้าและรูปร่างว่า ชนเผ่ามองโกลเป็นบรรพบุรษของพวกเขาชุดประจำชาติที่แต่งกายกันมาถึงทุกวันนี้นั้นก็คล้ายมองโกลมาก และยังมีภาพวาดเมื่อประมาณปี พศ. 2187 เป็นภาพชาวมองโกลกำลังล่าจามรี และเสือ บนผนังวัดภายในปาโลซง ซึ่งเป็นที่ทำการศาสนา
และว่าการบริหารของจังหวัดปาโล ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ
ส่วนชาวทิเบต ที่อยู่ติดกับภูฐานทางตอนเหนือ เรียกผู้คนในดินแดนแถบนี้ว่า คนภูเขาในแดนหิมาลัยใต้ หรือด้านหลังของภูเขาหิมาลัย มีทิเบต อยู่ด้านหน้า ชาวทิเบตเป็นพวกแรกที่เริ่มข้ามลงมาอาศัยด้านหลังของภูเขาหิมาลัย ที่ปัจจุบันเป็นตอนเหนือของประเทศภูฐาน เมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อน บนเขาสูงกว่า 4,000 ม.ที่มีสภาพอากาศหนาวจัด บางแห่งมีหิมะปกคลุมเกือบตลอดปี จากคำบอกเล่าของคนภูฐาน
ที่เรียนประวัติศาสตร์ชนชาติตนเองเล่าว่า ต่อมาอีก 400-500 ปี หรือตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 คนมองโกลเริ่มลงมาตั้งถิ่นฐานทางตอนกลางของประเทศ เดินทางเข้ามาทางตะวันตกของประเทศคำบอกเล่าของเขาเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่อาณาจักรมองโกลกำลังยิ่งใหญ่ และแผ่อำนาจ หลังจากนั้น 200 ปี ชาวเนปาล
อพยพเข้ามาทำมาหากินทางตอนใต้ และตามมาด้วยคนจากอรุนาชาลประเทศ (ARUNACHAL PRADESH)ปัจจุบันเป็นแคว้นหนึ่งของอินเดีย ที่มีชายแดนติดกับภูฐานทางตะวันออก คนกลุ่มนี้รู้จักกันในาม เชอร์ชอบ์ ที่แปลว่าคนตะวันออก
เรากำลังเดินทางจากตะวันตกของประเทศไปใจกลางภูฐาน ที่เมืองจาร์การ์ (JARKAR) หรือปัจจุบันเรียกว่า บุมทังตามรายทางเราเห็นสถูปปกคลุมไปด้วยหิมะ พวกเขาสร้างคร่อมทางน้ำไหลระหว่างช่องเขา น้ำที่ไหลผ่านเข้าสถูปแล้วกระทบกงล้อ PRAY WHEEL ภายในสถูปให้หมุนอยู่ตลอด เป็นวิธีเดียวกับหมุนกังหัน ชาวบ้านละแวกนั้นหรือผู้ใจบุญสร้างไว้เพื่อให้คนมาสวดมนต์ขอพรให้โชคดี ปลอดภัยจากการเดินทาง ลักษณะการเคารพนี้ เป็นสิ่งใหม่สำหรับเรา จนต้องขอจอดรถออกไปเดินดู แต่ด้วยความไม่ระวัง เราจึงลื่นไถลไปกับถนนที่มีน้ำแข็งใสๆเกาะอยู่ และเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้นเวลาเหยียบลงไปในแต่ละก้าว
จาร์การ์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นอู่วัฒนธรรมของภูฐาน มีหลักฐานพบวัดเก่าแก่ที่สุดในภูฐาน ชื่อ วัดจัมปาเป็นวัดเล็กๆ บรรยากาศของวัดให้ความเป็นกันเอง เชื่อว่าพระทิเบตสร้างขึ้นในปี พศ. 1202 วันเดียวกับที่สร้างวัดทาจิจู ที่เมืองปาโล ทางตะวันตกของประเทศ กำแพงวัด อาคารวัด และเจดีย์ทรงทิเบต ของวัดจัมปา ล้วนสร้าง
ด้วยการนำหินมาวางซ้อนๆ กันให้เป็นรูปร่างตามต้องการ แสดงถึงความเก่าแก่กว่าพันปี ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา นิกายมหายานของชาวภูฐาน เห็นได้ทั่วทุกหนทุกแห่งไม่ว่าตามเมืองเล็กเมืองใหญ่ ทุกเช้าที่วัดแห่งนี้จะมีผู้เฒ่าผู้แก่มาเดินเวียนขวาถือลูกปัดสวดมนต์ไปนับไป หมุน PRAY WHEEL เป็นประจำทุกเช้า เปรียบเสมือน
เดินจงกรมบ้านเรา พวกเขาเดินไม่จำกัดรอบ แต่ต้องเป็นเลขคี่ ผู้เฒ่าบางคนใช้วิธีเอาหินมากองไว้ตรงที่เริ่มเดินพอเดินครบหนึ่งรอบก็หยิบออกหนึ่งก้อนเอาไว้ข้างๆ จะได้รู้ว่ากี่รอบแล้ว
หมู่บ้านอูลา เป็นสถานที่อีกแห่งที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดที่ยังอยู่กันมาจนทุกวันนี้ ตั้งอยู่ในหุบเขาสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 3,100 ม. เราจึงเห็นหิมะปกคลุมตามหลังคาบ้านเรือน และสนามหญ้า เราโชคดีที่บังเอิญพบการ์มา ดีเช ดอร์จี เด็กน้อยวัย 10 ขวบ คอยพาเราเดินชมรอบๆ หมู่บ้านและเชิญไปเยี่ยมบ้าน เป็นบ้านที่สร้างด้วยหิน มีมีดผูกเป็นกากบาทกับไม้ห้อยที่มุมหลังคาทั้งสี่ด้าน ของใช้ภายในบ้านล้วนทำจากวัสดุธรรมชาติมีบันไดไม้กับราวบันไดที่ทำง่ายๆ มีห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องสวดมนต์ ห้องเก็บของ เป็นบ้านสองชั้นกับห้องใต้หลังคาอีกครึ่งชั้น บางบ้านมีห้องนอนสำหรับพระที่มาทำพิธีที่บ้านแล้วค้าง เช่น พิธีทำบุญบ้าน ทุกบ้านต้องมีห้องสวดมนต์ และมักจะกว้างกว่าห้องส่วนตัวอื่นๆ พวกเขาสวดมนต์เป็นประจำในตอนเช้าและเย็นทุกครั้งที่เราเดินไปตามห้องต่างๆ การ์มา จะคอยเปิดม่านที่แขวนหน้าประตูห้องของแต่ละห้องให้เราทุกครั้งม่านของเขาเป็นผ้าผืนที่นำผ้าหลายสีมาเย็บเป็นลวดลาย
เดือนนี้อยู่ในช่วงหน้าหนาว โรงเรียนปิดเทอมตั้งแต่ 10 ธันวาคม ถึง 10 มีนาคม ทั่วประเทศ เราจึงเห็นเด็กๆวิ่งเล่นกันในบริเวณวัด ไม่นานนัก เด็กๆ ก็รวมกลุ่มกันนั่งกลางแจ้งตรงลานวัดคอยรับไออุ่นจากแสงแดด มีรุ่นพี่มาคอยติวภาษาซงข่า (DZONG KHA) ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ เขานำตำรามากางกับเหล็ก แล้วใช้ไม้ชี้ตัวอักษร
ซงข่า ทีละตัวๆ ให้เด็กๆ อ่านออกเสียง เสียงเด็กๆ ที่ท่องอาขยานจึงดังลั่นไปทั่วทั้งวัด
หลักสูตรการเรียนการสอนของภูฐาน เรียนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้นภาษาซงข่า เด็กเริ่มเข้าโรงเรียนกันตั้งแต่ประมาณ 5-6 ขวบ รัฐกำหนดให้ใส่ชุดประจำชาติตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน เด็กทุกคนต้องใส่ชุดนักเรียนเหมือนบ้านเรา เพียงแต่ใช้แบบเดียวกันหมดทั่วประเทศคือ ชุดประจำชาติ แต่ละโรงเรียนมีสีและลายผ้าต่างกันเท่านั้น
ระหว่างเดินชมหมู่บ้าน เราเห็นหญิงคนหนึ่งกลางหมู่บ้านกำลังรวบรวมฟืนนำใส่ตระกร้าใบใหญ่ แล้วแบกขึ้นหลังเดินกลับบ้าน รัฐบาลอนุญาตให้คนในชนบทตัดต้นไม้ฟรี ปีละ 2 ต้น ไปทำฟืน ชาวบ้านจะไปตัดไม้บนเขาให้เป็นท่อนๆ แล้วจ้างรถบรรทุกขนในราคาประมาณ 4,500 บาทต่อเที่ยว พวกเขาพยายามตัดไม้ให้ขนได้ภายในเที่ยวเดียว
การ์มา เป็นเด็กที่น่ารัก และอัธยาศัยดี ก่อนที่เราจะขึ้นรถกลับ เราได้แวะไปทักทายแม่ของเขา นางจางชุก วังมอวัย 29 ปี เธอกำลังรับจ้างทอผ้าขนสัตว์อยู่ บนลานโล่งกลางแดดฝั่งตรงข้ามบ้านเธอความประทับใจที่สองแม่ลูกมอบให้เรา ทำให้ต้องร่ำลากันอยู่นาน ก่อนเดินทางกลับตัวเมืองจาร์กา
เมื่อถึงตัวมืองเป็นเวลาเย็นพอดี ลมแรงจัด ผู้คนเดินผ่านไปมาแสดงอาการหนาวสะท้านไปทั้งตัว เราจึงเปลี่ยนความตั้งใจที่จะเดินเล่นเป็นเข้าร้านน้ำชานั่งดื่มชาเนยอุ่นๆ กับขนมเค้กแบบภูฐานแทน เราเห็นกลุ่มผู้ชายคุยกันสนุกสนาน นั่งเล่นไพ่กันดื่มน้ำชากันไป ภายในร้านขายของใช้อย่างอื่นด้วย มีสินค้ามากมายจากเมืองไทย
วางขาย ตั้งแต่อาหารสำเร็จรูปอย่าง มาม่าคัพ สบู่ ครีมนีเวียกระปุกใหญ่ ส่วนราคาขายนั้นรวมค่าขนส่งจึงสูงกว่าบ้านเราสองเท่า
เรากลับโรงแรม เมาเทน ลอดจ์ บนเขา ที่ตกแต่งสวยงาม มีเตาผิงในห้องนอนแล้วมีป่องควันออกจากเตาผิงแบบเดียวกับที่ใช้ในกระโจมมองโกล คืนนั้นเราได้ไออุ่นจากเตาผิงทั้งคืนทำให้หลับสบาย
ABOUT THE AUTHOR
อ
อุษณีย์ กฤษณาวารินทร์
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : ฟ้ากว้าง ทางไกล (4wheels)