เผยตัวกันไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับขุมพลังของ LAMBORGHINI (ลัมโบร์กินี) ที่จะใช้กับรถรุ่นใหม่ แทนที่ขุมพลังบลอค วี 10 สูบ “เสียงหวาน” ที่ประจำการในซูเพอร์คาร์รุ่นยอดนิยมของค่ายกระทิงดุมายาวนาน ตั้งแต่ GALLARDO (กัลญาร์โด) จนถึง HURACAN (ฮูรากัน) ขุมพลังบลอคนี้ ได้รับการพัฒนาใหม่หมด จนออกมาเป็นเครื่องยนต์แบบ วี 8 สูบ รอบจัด อัดอากาศด้วยทวินเทอร์โบ แถมยังพ่วงกับมอเตอร์ไฟฟ้า !
ผู้อ่านคงสงสัยว่า เครื่องยนต์บลอคนี้ไม่ใช่ที่ประจำการอยู่ใน LAMBORGHINI URUS (อูรุส) ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวีสมรรถนะสูงหรือ ?
ต้องขอบอกว่า ไม่มีอะไรเหมือนกันแม้แต่น้อย เพราะเครื่องยนต์บลอคใหม่ที่จะใช้กับซูเพอร์คาร์ ซึ่งลือกันว่า จะใช้ชื่อ TEMERARIO (เทเมราริโอ) พร้อมกำหนดเปิดตัวเป็นทางการภายในปีนี้ จะสามารถเร่งรอบได้ถึง 10,000 รตน ซึ่งถือว่าพิเศษเป็นรองแค่ไฮเพอร์คาร์อย่าง MERCEDES-AMG ONE (เมร์เซเดส-เอเอมจี วัน), ASTON MARTIN VALKYRIE (แอสตัน มาร์ทิน วัลคีรี) และ GORDON MURRAY T.33 & T.50 (กอร์ดอน เมอร์เรย์ ที.33 กับ ที.50) ซึ่งทุกคันล้วนใช้เครื่องยนต์ไม่มีระบบอัดอากาศ และการจะทำหมุนรอบจัดขนาดนี้สำหรับเครื่องยนต์มีระบบอัดอากาศนั้น แทบจะต้องใช้เทคนิคของรถแข่ง ฟอร์มูลา วัน เลยก็ว่าได้
ขุมพลังแบบ วี 8 สูบ บลอคใหม่ของ LAMBORGHINI ความจุ 4.0 ลิตร ให้พละกำลัง 789 แรงม้า ช่วงระหว่าง 9,000 ถึง 9,750 รตน. และแรงบิดสูงสุด 74.5 กก.-ม. ช่วงระหว่าง 4,000 ถึง 7,000 รตน โดยมีการออกแบบพอร์ทไอเสียให้ปล่อยในพื้นที่ระหว่างลูกสูบทั้ง 2 ฝั่ง หรือเรียกว่า HOT-V เพื่อตอบสนองการทำงานของเทอร์โบได้อย่างกระฉับกระเฉง จากการที่ไอเสียเดินทางไปยังโข่งหลังสั้นที่สุด และด้วยรอบที่สูงถึง 10,000 รตน. เครื่องยนต์บลอคใหม่นี้จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ของคำว่า “เสียงหวาน” จนอาจทำให้คนลืมเสียงเครื่องยนต์แบบ วี 10 สูบ ที่เคยหลงใหลไปเลย
เคล็ดลับของการออกแบบให้เครื่องยนต์สามารถเร่งรอบได้สูงขนาดนั้น ต้องมาจากการที่ “มวล” หรือ “น้ำหนัก” ของชิ้นส่วนเคลื่อนไหวต่างๆ ในเครื่องยนต์ มีน้ำหนักเบาที่สุด ดังนั้น โลหะที่เบา แต่แข็งแกร่งอย่าง “ไททาเนียม” จึงถูกนำมาใช้ทำ “ก้านสูบ” และเพื่อให้การทำงานของกระเดื่องวาล์วขณะหมุนรอบสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้ก้านกดกระเดื่องแบบ FINGER FOLLOWER ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับเพลาราวลิ้นที่หมุนด้วยรอบสูง ดีกว่าการให้แคมกดลงบนถ้วยวาล์วกับชิมวาล์ว ที่ครอบบนก้านวาล์วโดยตรงเหมือนเครื่องยนต์ทั่วไป เพราะจากแนวคิดที่ว่า การมีถ้วยวาล์วอยู่เหนือก้านวาล์ว คือ การเพิ่มน้ำหนัก และยังให้ก้านวาล์วมีแรงเฉื่อยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นผลมากในเครื่องยนต์รอบจัด
การใช้ก้านกดกระเดื่องแบบ FINGER FOLLOWER สามารถลดน้ำหนักของวาล์วที่ต้องเคลื่อนที่ลงได้ราว 20 % ทำให้มันสามารถทำงานได้เบาแรงมากขึ้น แต่ก้านกระเดื่องแบบนี้มีรูปทรงซับซ้อนมาก และเนื่องจากมันต้องเสียดสีกับแคมตลอดเวลา มันจึงจำเป็นต้องมีผิวแข็งแรง และลื่นเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงต้องโคทผิวด้วยกระบวนการ DLC (DIAMOND LIKE COATING) เพื่อทำให้พื้นผิวแข็งเป็นพิเศษ
แม้กำลัง 789 แรงม้า จะดูสูงไม่น้อย แต่ในยุคที่รถไฟฟ้าทำให้ “แรงม้า” ไม่ใช่ของหายากอีกต่อไป (แม้จะยังทำได้ยากในเครื่องยนต์สันดาปภายใน) ดังนั้นเครื่องยนต์สันดาปภายในของ LAMBORGHINI จึงจับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AXIAL FLUX MOTOR หรือมักเรียกว่า PANCAKE MOTOR จากรูปทรงของมันที่แบนเหมือน PANCAKE นั่นเอง
มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AXIAL FLUX พัฒนาขึ้นโดย YASA (YOKELESS AND SEGMENTED ARMETURE) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) โดยมอเตอร์ทรงแบนของพวกเขาถูกใช้ในซูเพอร์คาร์ และไฮเพอร์คาร์ หลายรุ่น อาทิ KOENIGSEGG REGERA (โคนิกเซกก์ เรเกรา), FERRARI SF90 STRADALE (แฟร์รารี เอสเอฟ 90 สตราดาเล) และ LAMBORGHINI REVUELTO (เรบูเอลโต)
มอเตอร์ไฟฟ้าแบบนี้มีความกว้าง และแบนกว่ามอเตอร์ไฟฟ้าแบบ RADIAL FLUX แบบมาตรฐานที่เราคุ้นเคย ซึ่งการที่มันได้ชื่อว่า AXIAL FLUX เพราะเส้นแรงสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ FLUX ที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านขดลวดนั้นจะมีทิศทางไปทางเดียวกับแกนเพลา (AXLE) ของมอเตอร์ มันจึงถูกเรียกว่า AXIAL FLUX ส่วนมอเตอร์ไฟฟ้าทั่วไปทิศทางของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะแตกออกเป็นรัศมีออกจากแกนเพลา จึงเรียกว่า RADIAL FLUX
อีกจุดที่แตกต่างจากมอเตอร์แบบ RADIAL FLUX คือ มอเตอร์ไฟฟ้าแบบมาตรฐานจะพันขดลวดสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่กับส่วนที่เป็นขอบนอก และอยู่กับจุดที่เรียกว่า STATOR และส่วนที่หมุน คือ แกนเพลาส่วนที่เป็นแม่เหล็ก แต่จะเป็นแม่เหล็กถาวรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ส่วนนี้เรียกว่า ROTOR จะสอดอยู่ระหว่างวงแหวนที่เป็นขดลวด STATOR
ในทางกลับกัน มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AXIAL FLUX จะไม่มีการสอดใส่ใดๆ นอกจากเพียงแกนเพลาของโรเตอร์เท่านั้น โดยจะวางเรียงกันเป็นชั้นคล้ายกับแฮมเบอร์เกอร์ ตามปกติแล้ว ชิ้นขดลวดจะทำหน้าที่เป็น STATOR หรือส่วนที่อยู่กับที่ จะเหมือนกับไส้เนื้อของแฮมเบอร์เกอร์ และส่วนที่เป็นแม่เหล็กถาวร จะประกอบเข้ากับแกนเพลาของมอเตอร์ และจะเป็นแผ่นประกบ เปรียบเหมือนขนมปังของแฮมเบอร์เกอร์
โดยปกติมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ PANCAKE สามารถสร้างแรงบิดได้น้อยกว่าแบบคลาสสิค (RADIAL FLUX) แต่การที่มันมีน้ำหนักเบา ทำให้มีความสามารถในการหมุนรอบสูงได้ดี จึงทำให้มันได้รับความนิยมในการใช้งานที่ต้องการรอบหมุนสูง อาทิ ดโรนบิน และจากการที่มีขนาดบาง ทำให้สามารถนำมาติดตั้งเข้าที่ด้านท้ายของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ก่อนที่จะประกอบเข้ากับเกียร์คลัทช์คู่ 8 จังหวะ ได้สบาย
กำลังที่มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ PANCAKE สร้างขึ้น คือ 147 แรงม้า และมีแรงบิดสูงสุดถึง 30.6 กก.-ม. ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ามีรูปแบบการทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ วี 8 สูบ ทวินเทอร์โบ บลอคใหม่นี้อย่างไร แล้วจะให้กำลังสุทธิเท่าไร แต่เชื่อว่าการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า จะช่วยเสริมการทำงานในช่วงรอบต่ำได้แน่นอน
ส่วนที่ว่ารถรุ่นใหม่นี้จะมีมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงตัวเดียวหรือไม่ ก็ยังไม่ชัดเจน แต่เราอาจได้เห็นพวกเขาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าถึง 3 ตัวก็ได้ โดยมอเตอร์ไฟฟ้า AXIAL FLUX 1 ตัว จะติดอยู่กับเครื่องยนต์ เพื่อส่งกำลังไปยังห้องเกียร์ส่วนอีก 2 ตัว ติดไว้กับเพลาหน้า เพื่อช่วยให้มันทำงานแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งก็พอจะเดาได้ว่ามันจะต้องมีพละกำลังกว่า 1,000 แรงม้า และความเร็วปลายไม่ต่ำกว่า 350 กม./ชม. ขณะที่การใช้งานในเขตเมือง มันก็ควรจะสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างเงียบเชียบ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
คาดว่าเดือนสิงหาคม 2567 จะมีข้อมูลเกี่ยวรถรุ่นใหม่ของค่ายกระทิงดุเพิ่มมากกว่านี้ แต่อย่างน้อยเราก็เห็นได้ว่า รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ยังไม่ถอดใจง่ายๆ แถมจะเร้าใจยิ่งกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ !?!
บทความแนะนำ