ก่อนอื่นใด ผมขอขอบคุณแทนประชาชนทั้งประเทศ และผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ ต่อทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิด “มาตรการส่งเสริมงานศิลปะ และรถยนต์โบราณ” ในที่นี้ผมขอจำกัดไว้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการอนุญาตให้นำเข้ารถยนต์โบราณเท่านั้นนะครับ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจระดับของประเทศเรา และยังมีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในกลุ่มแกนหลักด้วย ต้องมีสิ่งนี้ครับ เพราะนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติของพวกเราแล้ว ยังสามารถช่วยสร้างรายได้เสริมเข้าประเทศได้ด้วย ผมขอยกตัวอย่างคร่าวๆ ซึ่งอาจจะยังไม่ครบถ้วน โดยไม่เรียงลำดับความสำคัญ มาให้ทราบกันดังนี้
1. รายได้โดยตรง ในการรับจ้างบูรณะรถคลาสสิค จากลูกค้าในต่างประเทศ
2. รายได้จากการจัดงานแสดงรถคลาสสิคระดับสากล หากเป็นการดำเนินการอย่างมีคุณภาพ ย่อมจะมีผู้เข้าชมงาน ที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งจะถือโอกาสนี้ ท่องเที่ยวในประเทศไทยไปพร้อมกันด้วย
3. รายได้จากการจัดงาน ประกวดรถคลาสสิค ระดับภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นระดับนานาชาติ และใช้โอกาสเช่นนี้ เชิญชวนผู้เข้าร่วมงานให้เพิ่มเวลาเพื่อท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยรัฐบาลอาจออกมาตรการสนับสนุนเพื่อจูงใจ เช่น ให้ที่พักฟรีในโรงแรมระดับสูง สัก 2 คืน (โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชน และผ่อนผันการเสียภาษีเงินได้ประจำปีให้ เพื่อเป็นการตอบแทนแก่เจ้าของกิจการ ที่ให้ความร่วมมือ)
4. รายได้จากการจัดคาราวานท่องเที่ยว สำหรับเจ้าของรถคลาสสิค โดยไม่จำกัดสัญชาติของเจ้าของรถ โดยกำหนดเพียงประเภทของรถคลาสสิคที่เข้าร่วมเท่านั้น (เช่น รถที่ผลิตตั้งแต่ปีใด และไม่เกินปีใด เพราะรถที่เข้าร่วม จำเป็นจะต้องมีสมรรถนะต่างกันไม่มาก เพื่อจะได้ถึงที่หมายในเวลาที่ไม่ต่างกันมากนัก)
5. มาตรการดังกล่าวนี้ สามารถสร้างงานได้จำนวนมากพอสมควร ในสาขาที่มิได้มีในประเทศไทยมาก่อน เช่น ช่างฝีมือบูรณะรถคลาสสิค
6. ครูช่างด้านการบูรณะตัวถังรถคลาสสิค ช่างชำนาญงานซ่อมแซมเครื่องยนต์รถคลาสสิค ผู้เชี่ยวชาญการประเมินมูลค่ารถคลาสสิค ฯลฯ
7. รัฐบาลควรให้การสนับสนุน ในการก่อตั้งสถาบันการบูรณะรถคลาสสิค และเนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ของประเทศไทย จึงควรให้มีการส่งบุคลากรไปศึกษา และดูงาน ในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เป็นพิเศษ เช่น ประเทศสหราชอาณาจักร และประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน
8. เป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่โรงงานผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์ ที่กำลังประสบกับปัญหาขาดอุปสงค์ อันเนื่องมาจากความนิยมรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ลดน้อยลงไปอย่างมาก จากการมาแทนที่โดยรถไฟฟ้า ให้สามารถผลิตอะไหล่ของรถคลาสสิคแทน เช่น ลูกสูบ ก้านสูบปั๊มน้ำ เพลาข้อเหวี่ยง ฟลายวีล มอเตอร์สตาร์ท ท่อน้ำ แม่ปั๊มเบรค-คลัทช์ ผ้าเบรค ผ้าคลัทช์ ฯลฯ
9. ควรมีการนิยามคำว่า รถคลาสสิค ที่เข้าข่ายในมาตรการนี้ ให้เหมาะสม ว่าต้องมีอายุไม่น้อยกว่ากี่ปี นับตั้งแต่ปีที่ถูกผลิต ในความเห็นของผม ควรเป็นรถที่ถูกผลิตล่าสุด ไม่เกินปี คศ. 1978 หรือหากต้องการให้ลงท้ายด้วยเลขศูนย์ ก็อาจจะอนุโลมให้ถึงปี คศ. 1980 เท่านั้น
หลังจากวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ได้มีการประกาศ “นำร่อง” กรอบของมาตรการนี้อย่างคร่าวๆ ออกมา ได้มีการพยายามปล่อยข่าวลือ โดยกลุ่มผู้ที่หวังผลประโยชน์ส่วนตน ว่ารัฐบาลจะเปิดให้มีการนำเข้ารถยนต์นั่งใช้แล้ว ที่อายุไม่มาก ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จากการหาช่องโหว่ของกฎหมายเรื่องเชื้อเพลิง และฉวยโอกาสนำเข้ารถใช้แล้ว ในชื่อ “รถจดประกอบ” อันนำมาซึ่งความสูญเสียต่อชาติบ้านเมือง ในระดับหลายหมื่นล้านบาทมาแล้วครั้งหนึ่ง และตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2567 นั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ผู้ค้ารถใช้แล้วทั่วประเทศ ล้วนประสบปัญหาในการหาเลี้ยงชีพ เพราะไม่สามารถขายรถกันได้เลย เนื่องจากบรรดาลูกค้าล้วนหลงเชื่อข่าวลือที่ถูกบิดเบือน และล้วนรอความหวัง ที่จะได้ซื้อรถประเภท “จดประกอบ” กันอีกครั้ง (มีการปล่อยข่าวลือว่า แม้รถที่ผลิตประมาณปี คศ. 2000 ก็จะมีสิทธิ์ถูกนำเข้าได้) โดยหวังว่าจะได้ซื้อในราคาที่ถูกกว่ารถที่จำหน่ายอยู่ในประเทศ กว่าผู้มีอำนาจของรัฐบาลที่แล้ว จะหยุดยั้งขบวนการบ่อนทำลายชาติทางอ้อมนี้ได้สำเร็จ ก็เกิดความสูญเสียแก่ชาติไปหลายหมื่นล้านบาทครับ เพราะฉะนั้นการนิยามคำว่า รถคลาสสิค หรือรถโบราณ ที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ ว่าต้องมีอายุไม่น้อยกว่าเท่าไร หรือต้องถูกผลิตก่อนปี คศ. เท่าไร จึงจำเป็นจะต้องถูกพิจารณา และกำหนดกันอย่างละเอียดรอบคอบ และหากสามารถประกาศนำร่องอย่างคร่าวๆ ให้ประชาชนได้ทราบ ทำนองเดียวกับการประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ก็จะเป็นคุณูปการของผู้ริเริ่มโครงการนี้ ต่อผู้ค้ารถใช้แล้วที่ไม่เข้าข่ายนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่กำลังประสบมรสุมชีวิตกันถ้วนหน้า จากการขาดรายได้ มาเป็นเวลา 3 เดือนแล้วครับ
บทความแนะนำ