DIY...คุณทำเองได้
เตรียมแอร์ ให้พร้อมสู้ลมร้อน
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อากาศบ้านเราร้อนมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะ ในตอนกลางวัน รถใหม่ป้ายแดง
บางคัน แอร์ยังแทบสู้ไม่ไหว นับประสาอะไรกับรถเก่าที่มีอายุ 4-5 ปีขึ้นไปจะทนไหว
ยิ่งรถเก่ายิ่งแล้วใหญ่แอร์แทบจะทำงานแบบซีซัน คอนทโรล เลยก็ว่าได้ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ยิ่งข้างนอกร้อน แอร์จะเย็นขึ้นเหมือนระบบแอร์อัตโนมัติในรถใหม่นะครับ แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งข้างนอกร้อนแอร์ยิ่งไม่เย็น กว่าจะรู้สึกว่าแอร์รถตัวเองเย็นฉ่ำได้ ก็ต้องรอบ่ายคล้อย หรือไม่ก็ดวงอาทิตย์ลาลับไปโน่นละ จึงจะรู้สึกว่าแอร์เย็นขึ้นมาบ้าง ยิ่งรถอายุมาก เรื่องแอร์ ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกับคนที่ต้องใช้
รถเวลากลางวันเป็นประจำ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก ถ้าจะปรับปรุงระบบแอร์ ให้กลับมาทำงาน
มีประสิทธิภาพดีขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่ยากนักถ้าจะลงมือทำ มาดูกันว่าอย่างแรกเราต้องลงมือทำอะไร
ก่อน
ระบบระบายความร้อนสำคัญมาก ?
อย่าเพิ่งคิดว่า เราจะคุยกันเรื่องแอร์ เพียงอย่างเดียว ระบบแอร์ ถือว่าเป็นระบบรองลงมา เพราะ
มันไม่สามารถทำงานได้ถ้าเครื่องยนต์ไม่ติด ฉะนั้นเครื่องยนต์ต้องทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบก่อน
ระบบต่างๆ จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมา ระบบระบายความร้อนถือว่าสำคัญมาก ไม่
ว่าระบบแอร์ของคุณจะสมบูรณ์แค่ไหน หรือเย็นยะเยือกปานใด ถ้าความร้อนขึ้นสูงกว่าปกติเมื่อไร
ก็เป็นอันจบเห่ในบัดดล ดังนั้นต้องดูแลรักษาระบบระบายความร้อนให้ทำงานได้อย่างเต็ม
ประสิทธิภาพเสียก่อน รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 4 ปีขึ้นไป มีหลายจุดที่ต้องดูแลมากขึ้น
เริ่มจากสิ่งที่มองเห็น และสัมผัสได้ง่ายก่อนเป็นอันดับแรก ไล่จากท่อยางหม้อน้ำมาก่อน หลังจากการ
ใช้งานไปสักระยะหนึ่ง ท่อยางก็จะเริ่มเสื่อมเนื่องจากความร้อน จะสังเกตได้จากร่องรอยการแตกร้าว
หรือที่เราเรียกกันว่า แตกลายงา ถ้าพบว่าท่อยางมีลักษณะเช่นนี้ บวกกับอาการบวมเสียรูป
ควรจะรีบเปลี่ยนโดยไว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาท่อยางแตกระหว่างการเดินทาง เพราะน้ำรั่วเมื่อ
ไหร่ ความร้อนก็จะขึ้นตามมาทันที
ตรวจเชคสภาพหม้อน้ำว่ามีการรั่วซึมที่ใดบ้าง ตามปกติถ้ามีการรั่วซึมที่หม้อน้ำ จะมีคราบสนิม
หรือคราบสารหล่อเย็นเกาะอยู่ ถ้าพบเห็นร่องรอยของการรั่วซึมให้รีบนำรถเข้าทำการตรวจเชค
โดยเร็ว หรือสังเกตได้จากปริมาณน้ำที่ถังพัก หรือในหม้อน้ำ หายไปต้องคอยเติมกันบ่อยๆ แสดง
ว่าต้องมีสักจุดที่เกิดการรั่วซึม เมื่อตรวจเชคแล้วก็ใช้ลมเป่าทำความสะอาดไล่ฝุ่นที่เกาะอยู่ให้
ออกไปบ้าง โดยการเป่าย้อนจากภายในห้องเครื่องออกมาข้างนอก ต้องระวังอย่าให้ปืนลม
กระแทกกับครีบระบายความร้อน เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนลดลง เหมือน
กับแอร์บ้านที่เราต้องล้างทุก 6 เดือน ถ้าจะให้ดีเวลาเอารถไปล้าง ก็ให้เขาเป่าทำความสะอาด
ด้วยยิ่งดี เพราะรถมันต้องเจอฝุ่นตลอดเวลา แผงระบายความร้อนของระบบแอร์ ก็ต้องเป่าทำ
ความสะอาดเช่นกัน
ฝาหม้อน้ำ ตรวจเชคสภาพเป็นอย่างไร ? ซีลยางและสปริง ยังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ? ถ้าสปริง
ล้าหรือซีลยางฉีกขาดจะทำให้น้ำดันออกได้ง่าย ไหนๆ เปิดฝาแล้วก็ดูในหม้อน้ำเลยด้วยว่ามี
สภาพเป็นเช่นไร ถ้าพบว่ามีคราบสนิมเกาะอยู่ภายในค่อนข้างมากก็ถือโอกาสล้างและเปลี่ยน
น้ำหล่อเย็นด้วยซะเลย ส่วนอื่นๆ ที่ต้องตรวจเชค เช่น ปั๊มน้ำดูว่ามีร่องรอยของการรั่วซึมที่บริเวณ
เสื้อสูบบ้างหรือเปล่า ถ้ามีก็รีบเปลี่ยนซะ หรือรู้สึกว่าต้องเติมน้ำบ่อยๆ เติมทีละไม่มาก แต่น้ำที่
อยู่ในถังพักน้ำอยู่ในระดับปกติ ก็แสดงว่าอาจจะเริ่มมีการรั่วซึมที่ปั๊มน้ำก็เป็นได้ จากนั้นตรวจ
เชคสภาพความตึงของสายพานซะด้วยเลย ปรับตั้งให้เหมาะสม ระบบต่างๆ จะได้ทำงานได้
อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสภาพของสายพานด้วย ถ้ามันเริ่มแตกลายงา หรือฉีกขาดให้รีบ
เปลี่ยน ยิ่งอากาศร้อนอุปกรณ์เหล่านี้ยิ่งเสื่อมสภาพเร็ว
ต่อมาถือว่าสำคัญมากไม่แพ้กัน นั่นคือ พัดลมระบายความร้อน เพราะมีผลต่อระบบระบายความ
ร้อนและแอร์ ในรถกระบะส่วนมากใช้พัดลมเครื่องจะมี FREE BLADE เป็นตัวส่งถ่ายกำลังจาก
เครื่องยนต์ไปยังใบพัด หน้าที่ของมันจะตัดการทำงานของพัดลมเมื่อรอบสูงๆ เพื่อไม่ให้กินกำลัง
เครื่อง อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ ในรอบสูงนั้น ลมที่ปะทะหม้อน้ำแรงพอสำหรับการระบายความร้อน
ในตัว FREE BLADE นั้นจะมีซิลิโคนทำหน้าที่เป็นชุดคลัทช์อยู่ภายใน เมื่อซิลิโคนเริ่มเสื่อมสภาพ
มีผลให้พัดลมหมุนช้าลง ทำให้ปริมาณลมที่จะผ่านมาระบายความร้อนลดลง ในความเร็วต่ำๆ
ทำให้ความร้อนขึ้นสูง และแอร์ก็ไม่เย็น ยิ่งตอนรถติดๆ จะเห็นผลได้ชัด ต้องเปลี่ยนตัว FREE BLADE
หรือเติมซิลิโคนเข้าไปในรุ่นที่เติมได้ จะทำให้พัดลมสามารถทำลมได้เพียงพอก็จะทำให้ความร้อน
อยู่ในระดับปกติ และแอร์ก็จะเย็นฉ่ำเหมือนเดิม
เตรียมแอร์ให้เย็นสู้ศึกร้อน ?
เมื่อระบบระบายความร้อนปกติดีทุกอย่าง ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะทำให้ระบบอื่นๆ ทำงานได้
อย่างเต็มประสิทธิภาพตามไปด้วย มาถึงเรื่องของระบบแอร์ที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คุณผ่อนคลาย
เวลาอยู่ในรถตอนกลางวันแดดจัดๆ ถ้าแอร์ไม่เย็น ยิ่งจะทำให้คุณร้อนกายร้อนใจหนักขึ้น ดังนั้นควรรีบ
ตรวจเชค และปรับปรุงระบบแอร์ให้พร้อมรบกับศึกที่หนักหนาในปีนี้ หลายท่านคงจะเคยเจอปัญหา
กับระบบแอร์กันมาบ้าง เช่น แอร์ไม่ค่อยเย็นเวลารถติดนานๆ พอวิ่งแล้วแอร์ถึงเย็น มีหลายจุดที่
ต้องตรวจสอบด้วยกัน
อย่างแรกที่ต้องตรวจสอบ คือ ปริมาณสารทำความเย็นในระบบ ที่เราเรียกติดปากกันว่า น้ำยาแอร์
เพราะปริมาณสารทำความเย็นที่มากหรือน้อยไป ก็ทำให้แอร์ไม่เย็นได้ ทั้ง 2 กรณี สามารถตรวจสอบ
ง่ายๆ ที่ตัวดไรเออร์ อุปกรณ์ตัวนี้เป็นตัวกรองความชื้นในระบบแอร์ จะมีกระจกเล็กๆ ใสๆ ที่เราเรียกกัน
ว่า ตาแมว อยู่ ให้ติดเครื่องยนต์ แล้วเปิดแอร์ จากนั้นดูปริมาณสารทำความเย็นที่ไหลผ่าน
ดูลักษณะฟองที่เกิดขึ้นว่าเป็นเช่นใด ถ้าฟองที่ไหลผ่าน ไหลเป็นเส้นประเหมือนไข่ปลา มีปริมาณเล็กน้อย แสดงว่าสารทำความเย็นพอดี ถ้าเห็นฟองมาก แสดงว่าน้อยไป ถ้าไม่เห็นฟองเลย สารทำความเย็นอาจจะรั่วหมด หรือไม่ก็มากเกินความจำเป็น การแก้ไขก็สามารถทำได้ด้วยการเติม หรือถ่ายสารทำความเย็น
ออกให้อยู่ในปริมาณที่พอดี และถ้าสังเกตว่ากระจกตาแมวที่ว่า ขุ่นมัว แสดงว่าความชื้นในระบบสูง
เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แอร์ไม่เย็นฉ่ำ ถ้าต้องเปลี่ยนตัวดไรเออร์ใหม่ ก็ถือโอกาสล้างตู้แอร์ เติมน้ำมัน
คอมเพรสเซอร์พร้อมกันไปเลย
ถ้าพบว่าสารทำความเย็นขาด หรือน้อยกว่าปกติ แสดงว่าเกิดการรั่วซึมในระบบ ต้องตรวจหาจุดที่
เกิดการรั่วซึมให้เจอก่อนแล้วค่อยซ่อม เพราะขืนเติมสารทำความเย็นเข้าไปอย่างเดียว อาจจะทำให้
คอมเพรสเซอร์พังได้ เพราะการรั่วซึมที่เกิดขึ้นนั้น น้ำมันคอมเพรสเซอร์รั่วออกไปด้วย จุดที่เกิดการรั่ว
ซึมบ่อยๆ จะเป็นบริเวณข้อต่อต่างๆ มักจะมีโอริงกันรั่วอยู่ เมื่อใช้ไปนานๆ โอริงจะเสื่อมสภาพ ถ้าตรวจ
เชคตามข้อต่อ แล้วไม่พบร่องรอยการรั่วซึม อาจจะเกิดการรั่วซึมจากคอยล์เย็นภายในห้องโดยสาร
หรือที่แผงระบายความร้อนหน้าหม้อน้ำก็เป็นได้ ต้องทำการตรวจสอบให้ละเอียด นอกจากนี้ความ
ตึง และสภาพของสายพานก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน การที่สายพานหย่อนเกินไป หรือลื่นทำให้
คอมเพรสเซอร์ทำงานได้ไม่เต็มที่ ยังไงแอร์ก็ไม่เย็น สำหรับรถที่ใช้งานเกินแสน กม. ขึ้นไป
คอมเพรสเซอร์จะเริ่มสึกหรอ ทำให้ไม่สามารถสร้างแรงอัดได้เท่าเดิมในรอบต่ำ เมื่อแรงอัดตกแอร์ก็
ไม่เย็นเหมือนเดิม ดังนั้นต้องทำการตรวจเชคกำลังอัดด้วย
ทำอย่างไรเมื่อต้องล้างตู้แอร์ ?
สำหรับรถที่ใช้งานมา 4-5 ปีขึ้นแล้วไม่เคยล้างทำความสะอาดตู้แอร์เลย มันถึงเวลาที่ต้องล้างตู้
แอร์หรือคอยล์เย็นบ้างสักครั้ง เนื่องจากห้องโดยสารของรถยนต์นั้นมีฝุ่นมาก โดยเฉพาะฝุ่นที่ติดมา
กับรองเท้าด้านคนนั่ง ซึ่งคอยล์เย็นของระบบแอร์ก็จะอยู่แถวๆ นั้น เมื่อมันสะสมฝุ่นมากทำให้เกิด
การอุดตัน นอกจากกลิ่นเหม็นอับแล้ว ลมก็ไม่แรง ทำให้ความเย็นไม่ทั่วถึงทั้งห้องโดยสาร รวมถึง
การอุดตันที่เอกซ์เพนชันวาล์วในคอยล์เย็น ก็ทำให้แอร์ไม่เย็นเช่นกัน
ก่อนลงมือล้างตู้แอร์ควรตรวจเชคการรั่วซึม กำลังอัดของระบบแอร์ด้วย ถ้าพบว่ากำลังอัดของ
ระบบแอร์ต่ำควรจะทำการเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้เสียค่าแรงหลายต่อ หลายคนพบปัญหา
ว่าหลังจากล้างตู้แอร์แล้วแอร์ยังไม่เย็นฉ่ำอย่างที่ควรจะเป็น นั่นเป็นเพราะว่าขี้เหนียวไม่เข้าเรื่อง
อะไหล่บางตัวควรเปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน การจะทำอะไรกับระบบแอร์นั้น ถือว่าเป็นการลงทุน เพราะ
การถอดใส่อุปกรณ์เพียงบางชิ้น แล้วต้องทำการแวกซ์เติมสารทำความเย็นใหม่ มันไม่คุ้มค่าเลย
เนื่องจากสารทำความเย็นตัว R134 นั้นมีราคาแพง ค่าแรงก็แพง ไหนๆ จะทำแล้ว ก็ควรยอม
กระเป๋าแบน เพื่อให้แอร์เย็นฉ่ำอย่างที่ควรจะเป็น
เมื่อตัดสินใจจะล้างตู้แอร์ สิ่งที่ควรเปลี่ยนพร้อมกัน คือ เอกซ์เพนชันวาล์ว เจ้าตัวนี้จะติดอยู่กับ
คอยล์เย็น มันมีหน้าที่ฉีดสารทำความเย็นที่เป็นของเหลวให้กลายเป็นไอ เมื่อมันอุดตัน
ประสิทธิภาพในการฉีดจะลดลง ทำให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นลดลงไปด้วย ควร
ต้องเปลี่ยนไปเลย ราคาอยู่ที่พันนิดๆ ขึ้นไป ตัวที่ 2 ที่ต้องเปลี่ยน คือ ดไรเออร์รีเซิร์ฟเวอร์
มีหน้าที่ดูดความชื้นภายในระบบ ถ้าทุกอย่างดี แต่ความชื้นสูง ยังไงๆ แอร์ก็ไม่เย็น และดไรเออร์นั้น
ต้องเปลี่ยนของแท้เท่านั้น ดไรเออร์สีดำตัวละ 100 กว่าบาทนั้น ไม่ต้องยุ่งกับมัน
ไม่กี่เดือนก็เสื่อมสภาพแล้ว ถ้าจะต้องเปลี่ยนภายหลังซ้ำอีก ค่าแรงจะแพงกว่าตัวดไรเออร์
อีก ของดีๆ เริ่มที่ 400 บาทขึ้นไป ถ้ากำลังอัดของคอมเพรสเซอร์ดี แล้วไม่เปลี่ยน 2 ตัวนี้
ยังไงแอร์ก็ไม่เย็นอย่างที่ควรจะเป็น พวกท่ออ่อน ถ้าดูสภาพไม่ค่อยดี ก็เปลี่ยนไปซะ ถ้า
ต้องมาเปลี่ยนภายหลัง จะโดนค่าแรงค่าแวกซ์น้ำยา อย่างน้อยๆ ก็ต้องมี 800 บาทขึ้นไป
มันไม่คุ้มค่ากันเลย
แล้วล้างตู้แอร์แบบไหนดีกว่า ระหว่างรื้อออกมาล้าง และล้างแบบไม่ต้องรื้อตู้ จำง่ายๆ
อย่างนี้เลยก็แล้วกันนะครับ ถ้าเป็นรถใหม่ หรือรถที่เพิ่งซ่อมระบบแอร์มาได้ไม่นานนัก
เช่น 2-3 ปี ไม่มีตรงไหนรั่วซึม หรือต้องเปลี่ยน แต่บังเอิญว่าต้องวิ่งในเส้นทางที่มีฝุ่นมากๆ
จะทำให้แอร์สกปรก และตันเร็ว กรณีนี้ควรล้างแบบไม่ต้องถอดตู้แอร์ การล้างก็เหมือน
กับล้างแอร์บ้าน หลายคนชอบคิดว่าไม่รื้อออกมาก็ไม่สะอาด มันไม่จำเป็นขนาดนั้น
เพราะสารที่ทำความสะอาดมีประสิทธิภาพเพียงพอ เว้นแต่ต้องมีการเปลี่ยนชิ้นส่วน
ของระบบด้วย อย่างนั้นค่อยรื้อออกมาล้าง เพราะต้องเสียค่าแวกซ์เติมสารทำความเย็นอยู่ดี
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำอีก คือ การติดฟีล์มกรองแสง สำหรับบ้านเราถือว่าสำคัญมาก
ขนาดรถใหม่ป้ายแดง เจออากาศกลางวันยังแย่ นับประสาอะไรกับรถเก่าๆ ฟีล์มกรองแสง
ควรเลือกของที่มีคุณภาพ รวมติดบานหน้าด้วยราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 4,000-4,500 บาทขึ้นไป
ควรเลือกชนิดที่มีการสะท้อนความร้อนได้ดี แต่ไม่ใช่แบบที่เคลือบปรอทนะครับ
เพราะมันรบกวนสายตาผู้ใช้รถท่านอื่น
การหลีกเลี่ยงการจอดรถตากแดด มีส่วนมากที่จะลดภาระของระบบแอร์ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้
ควรแง้มกระจกทุกบานไว้เล็กน้อย เพื่อช่วยระบายอากาศ แต่ถ้าจอดในที่ๆ ไม่ปลอดภัย ไม่ควร
จะแง้มเอาไว้มาก ก่อนขึ้นรถควรเปิดประตูและหน้าต่างทั้งหมดทิ้งไว้สักครู่ เพื่อระบายความ
ร้อนภายในออกมา จะทำให้แอร์เย็นเร็วขึ้น และแอร์ทำงานไม่หนักจนเกินไป ความร้อนยังทำให้
ชิ้นส่วนภายในห้องโดยสารเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติอีกด้วย
ABOUT THE AUTHOR
พ
พหล ฯ 30
ภาพโดย : -นิตยสาร 417 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2550
คอลัมน์ Online : DIY...คุณทำเองได้