DIY...คุณทำเองได้
7 วิธีดูแล "แบทเตอรี"
ปัจจุบันแบทเตอรีรถยนต์ มีราคาสูงขึ้นจากเดิมราว 20-30 % เนื่องจากต้นทุนเรื่องชิ้นส่วนมีการปรับราคาสูงขึ้น และถ้าคุณเป็นคนช่างสังเกตจะเห็นว่า แบทเตอรีรถยนต์ ในปัจจุบัน อายุการใช้งานของมันไม่ยาวนานเหมือนก่อน เฉลี่ยแล้วแบทเตอรีลูกหนึ่งจะใช้งานได้ราว 1 ปี กับอีกไม่กี่เดือนเท่านั้น ผิดกับแต่ก่อนที่แบทเตอรีจะใช้งานได้ราว 2-3 ปีกว่าจะเสื่อม มันมีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้แบทเตอรีมีอายุสั้นลงแต่ถ้าคุณรู้จักดูแลบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี มันจะช่วยยืดอายุการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. แบทเตอรี คืออะไร ?
แบทเตอรี คือ อุปกรณ์หลักสำหรับระบบไฟฟ้าในรถยนต์ มีหน้าที่สำรองไฟสำหรับระบบต่างๆ ของรถเปรียบเสมือนถ่านไฟฉายที่สามารถชาร์จไฟได้ หน้าที่คือ สำรองไฟฟ้าเอาไว้ใช้ตอนสตาร์ทเครื่องยนต์และสำรองไฟเอาไว้เวลาที่ระบบไฟฟ้าต่างๆ ถูกเปิดใช้พร้อมๆ กัน บางจังหวะไดชาร์จ อาจจะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ แบทเตอรีจะเป็นตัวป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับระบบต่างๆ แทน โดยปกติแล้วหลังจากที่เครื่องยนต์ทำงาน แบทเตอรีจะทำงานน้อยมาก เพราะเมื่อเครื่องยนต์หมุนไดชาร์จ
จะทำงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้กับระบบต่างๆ บางจังหวะที่รอบการทำงานของเครื่องยนต์ไม่คงที่ และจังหวะที่ระบบต่างๆ ต้องการกระแสไฟฟ้ามากๆ แบทเตอรีจะเป็นตัวป้อนกระแสไฟให้กับระบบแทน เมื่อประจุไฟในแบทเตอรีลดลง ไดชาร์จก็จะเป็นตัวจ่ายกระแสไฟมายังแบทเตอรีด้วย เพื่อสำรองไฟไว้ตลอดเวลา วัฏจักรการทำงานก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน
อะไรบ้างที่ต้องการไฟฟ้าเพื่อทำงานในรถยนต์ ? ถ้าจะให้บอกก็ต้องบอกว่าเยอะมากอุปกรณ์อะไรก็แล้วแต่ที่มีสายไฟฟ้าเข้าถึงมันล้วนแต่ต้องการพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น ในขณะที่รถจอดอยู่กับที่โดยไม่ติดเครื่องยนต์ อะไรบ้างที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าตลอดเวลา หลักๆ ก็มีพวก นาฬิกาของวิทยุและของตัวรถ, ระบบกันขโมย, เซนทรัลลอค ฯลฯ บางระบบแม้ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา แต่มันต้องมีไฟฟ้าไปรอไว้ เช่น ระบบเซนทรัลลอค หลายครั้งที่ระบบมีการรั่วหรือลงกราวน์ด ไฟฟ้าจากแบทเตอรีก็จะถูกดึงไปใช้ ถ้าพูดตามภาษาวิชาการ หน้าที่ของแบทเตอรี ก็คือ เก็บและคายประจุไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง ในแบทเตอรี ประกอบด้วย แผ่นธาตุบวก (POSITIVE PLATE), แผ่นธาตุลบ (NEGATIVE PLATE) แช่อยู่ในสารละลาย น้ำกรดซัลฟูริค ไฟฟ้าที่ได้จากแบทเตอรี เป็นไฟฟ้าที่ได้จากปฏิกิริยาทางเคมี การคายประจุจะเรียกว่า ดิสชาร์จิง (DISCHARGING) พูดง่ายๆ ก็คือ การจ่ายกระแสไฟฟ้าออกจากตัวแบทเตอรี เมื่อระบบไฟฟ้าต่างๆ ได้รับพลังงานไฟฟ้าเพียงพอ แบทเตอรีก็จะทำการประจุไฟฟ้าเข้าตัวมันเองซึ่งเรียกว่า ชาร์จิง ในตัวแบทเตอรี จะแบ่งเป็นช่องเซลล์ แต่ละเซลล์ก็จะมีสะพานไฟ (BUSBAR)เป็นตัวเชื่อมต่อ
- แบทเตอรีแบบตะกั่วกรด (LEAD ACID)
แบทเตอรีแบบนี้มีใช้มานานมาก และเป็นแบบที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในแบทเตอรี ประกอบด้วยแผ่นธาตุบวก (POSITIVE PLATE), แผ่นธาตุลบ (NEGATIVE PLATE) แช่อยู่ในสารละลาย น้ำกรดซัลฟูริค ไฟฟ้าที่ได้จากแบทเตอรี เป็นไฟฟ้าที่ได้จากปฏิกิริยาทางเคมี แบทเตอรีแบบนี้มีต้นทุนต่ำ แต่มีข้อเสียหลายอย่าง เช่น ต้องระวังตำแหน่งการวาง เพราะแต่ละช่องเซลล์จะมีจุกปิดสำหรับเติมของเหลว เช่น น้ำกรด และน้ำกลั่น ที่จุกปิดนี้จะมีช่องระบายไออยู่ด้วย เพราะเมื่อเกิดปฏิกิริยาทางเคมีในการจ่ายกระแสไฟ หรือประจุไฟฟ้าก็แล้วแต่ มันจะเกิดความร้อนสูง จนทำให้ของเหลวเดือดและกลายเป็นไอ ซึ่งไอของน้ำกรด และน้ำกลั่นที่ระเหยออกมานั้น จะทำให้ชิ้นส่วนที่เป็นสีหรือโลหะเกิดการกัดกร่อนไม่นานก็จะทำให้เกิดสนิมและความเสียหายตามมา แบทเตอรีชนิดนี้จะต้องคอยเติมน้ำกลั่นเป็นประจำ เนื่องจากการระเหยตัวของน้ำกลั่นในระบบ หน้าที่ของน้ำกลั่น คือ เป็นตัวทำให้สารละลายอีเลคโทรไลท์ เจือจางอยู่ในระดับที่เหมาะสม เวลาที่จอดรถไว้นานๆ จำเป็นจะต้องมีการสตาร์ทเครื่องยนต์ และเปิดใช้ระบบไฟฟ้าต่างๆ ด้วย เพื่อให้ไดชาร์จทำงาน และแบทเตอรีจะได้ครบวงจร ไม่เช่นนั้นแบทเตอรีจะเสื่อมสภาพก่อนเวลา
- แบทเตอรีแบบเมนเทแนนศ์ ฟรี (MAINTENANCE FREE)
เป็นแบทเตอรีที่มีการดูแลรักษาต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องดูแลรักษาเลยคนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่า แบทเตอรีแบบนี้ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นอีกเลย แต่ความเป็นจริงแล้ว ต้องมีการดูแลรักษาเหมือนเดิม เพียงแต่ยืดระยะเวลาในการดูแลรักษาให้นานกว่าเดิม ไม่ต้องดูแลกันบ่อยๆแบทเตอรีชนิดนี้พัฒนาต่อมาจากแบบตะกั่วกรด โดยการเปลี่ยนมาใช้แผ่นธาตุแบบตะกั่วแคลเซียม (PB-CA) นอกจากนี้ในส่วนของแผ่นกั้นยังถูกออกแบบมาให้มีความต้านทานไฟฟ้าต่ำ เพื่อลดการสูญเสียประจุไฟฟ้าเมื่อเกิดปฏิกิริยาทางเคมี อีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ จุกปิดของแต่ละช่องเซลล์ที่มีช่องระบายไอ จุกปิดนี้มีการพัฒนาใหม่ให้มีการดักไอที่ระเหยออกมากลับเข้าไปใหม่ เพื่อลดการสูญเสียน้ำกลั่นในระบบ ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็ยังมีการระเหยอยู่ดี
การพัฒนานี้ช่วยให้แบทเตอรีมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นราว 20-25 % เมื่อมีการกักเก็บไอระเหยได้ดีก็จะช่วยให้ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อยๆ และช่วยป้องกันไม่ให้ห้องเครื่องยนต์เสียหายจากไอน้ำกรดที่ออกมาจากตัวแบทเตอรี เหมาะกับสภาพอากาศหนาวมากกว่าบ้านเรา เพราะบ้านเราอากาศร้อนมากจะทำให้การระเหยมีมากกว่าเมืองหนาว ดังนั้นต้องมีการดูแลเรื่องการเติมน้ำกลั่นเป็นปกติ
เพียงแต่จะยืดระยะเวลาในการดูแลรักษาให้นานออกไปอีก เจ้าของรถที่ละเลยการดูแล ปล่อยให้น้ำกลั่นแห้ง อายุการใช้งานก็ไม่แตกต่างจากแบทเตอรีธรรมดา
อีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของเมนเทแนนศ์ ฟรี คือ แบทเตอรีแห้งแท้แบบนี้จะเป็นแบบที่ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรเลย พอเสื่อมก็ทิ้งไป ไม่ต้องมีการเติมน้ำกลั่นเพิ่มเติม แต่สนนราคาสูงมาก ถ้าคุณมีงบประมาณพอ และขี้เกียจดูแลแบทเตอรี ก็เลือกแบบนี้เลยจะเป็นการดี
2. สัญญาณเตือนว่า ต้องเปลี่ยนแบทเตอรี
- เริ่มสตาร์ทยากในตอนเช้า รู้สึกได้เลยว่าเครื่องยนต์หมุนเหมือนไม่ค่อยมีกำลัง หรือสตาร์ทอืดๆก่อนจะติดปกติ- หลังจากที่ดับเครื่องแล้วสตาร์ทใหม่ทันที หรือทิ้งไว้สักครู่แล้วสตาร์ท จะสตาร์ทติดยากหรือมีอาการแบบตอนเช้า คือ หมุนอืดๆ ก่อนจะติด - รู้สึกว่ากระจกไฟฟ้าทำงานอืดมากขึ้นกว่าเดิม
- ไฟหน้าวูบ เมื่อแอร์ตัดต่อ หรือวูบตามเครื่องเสียง (กรณีติดตั้งเครื่องเสียงเพิ่ม)
- ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อยกว่าปกติ
- ต้องมีการพ่วงชาร์จในบางครั้ง
ถ้าเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ต้องรีบเปลี่ยนแบทเตอรีโดยเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องสตาร์ทรถไม่ติดในสถานที่ๆ เรียกช่างลำบาก เพราะการขับรถไปเปลี่ยนแบทเตอรี ตอนที่มันวิ่งเองได้ย่อมดีกว่า
3. อะไรบ้างที่ทำให้แบทเตอรีเสื่อมสภาพ ?
- สิ่งปนเปื้อนในน้ำกลั่น ก่อให้เกิดปัญหากับการใช้งานของแบทเตอรีโดยตรงเราควรเลือกน้ำกลั่นที่มีคุณภาพได้รับการรับรอง อย่าเห็นแก่ของถูก เพราะเคยเจอน้ำกลั่นที่กรอกโดยตรงจากก๊อกน้ำประปาก็มี ดังนั้นต้องซื้อน้ำกลั่นที่เชื่อถือได้ในเรื่องของคุณภาพ เพราะการปนเปื้อนในน้ำกลั่นนั้น จะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่ไม่สมบูรณ์ และทำให้แบทเตอรีเก็บไฟไม่อยู่ รวมถึงเวลาที่เปิดจุกเติมน้ำกลั่นด้วยนะครับ เพราะฝุ่นละออง หรือคราบน้ำมันที่ปนเปื้อนเข้าไป จะทำให้เกิดสาเหตุเดียวกันก่อนที่จะเปิดจุกเติมน้ำกลั่นต้องทำความสะอาดตัวแบทเตอรีเสียก่อน- โอเวอร์ชาร์จ กรณีนี้จะทำให้น้ำกลั่นระเหยเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้แผ่นธาตุบวม ซึ่งอาจจะส่งผลให้ตัวแบทเตอรีบวมด้วย สาเหตุเกิดจาก ไดชาร์จผลิตกระแสไฟมากเกินความต้องการ หรือไดโอดเสื่อมสภาพ
- ไฟไม่ชาร์จ จะทำให้การประจุไฟเข้าไปยังแบทเตอรีไม่เพียงพอ หลายครั้งที่เราเข้าใจผิดว่าแบทเตอรีเสื่อมสภาพ แต่ความจริงนั้นไม่ใช่โดยตรง กลับมีสาเหตุมาจากไดชาร์จเสื่อมสภาพด้วยเพราะไม่สามารถผลิตกระแสไฟได้อย่างเพียงพอ ซึ่งกรณีนี้ต้องดูด้วยว่าสายพานไดชาร์จ นั้นปกติหรือไม่เพราะสายพานหย่อนหรือตึงเกินไป ก็ส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของไดชาร์จ
- การลัดวงจร เกิดขึ้นได้จากภายในตัวแบทเตอรี เนื่องจากการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น
- ไฟรั่ว อาจจะเกิดจากการติดตั้งอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เครื่องเสียง, ระบบกันขโมย,ที่มีการตัดต่อสายไฟเกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งความบกพร่องของช่างทำให้ไฟรั่วได้ ไม่นานไฟจากแบทเตอรี ก็หมดลงได้ง่ายๆ
4. เลือกแบทเตอรีอย่างไรให้เหมาะสม ?
เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับการเลือกแบทเตอรี เพราะถ้าเลือกไม่เหมาะสมก็จะส่งผลต่อการใช้งานได้โดยตรง มีหลักในการเลือกแบทเตอรีสำคัญๆ ดังนี้
- ต้องเลือกขนาดแบทเตอรี, ขั้ว, ทิศทางของขั้วให้เหมือนเดิม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลังว่าต้องวิ่งไปเปลี่ยนใหม่อีกรอบ
- อย่าเพิ่มแอมพ์ให้มากขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะการเพิ่มแอมพ์มากขึ้น เป็นการเพิ่มภาระให้ไดชาร์จอาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการประจุไฟว่าไม่เต็มสักที หลักง่ายๆ ในการเพิ่มแอมพ์ของแบทเตอรี คือต้องเลือกความจุของแบทเตอรี ให้น้อยกว่าขนาดแอมพ์ของไดชาร์จ ที่ผลิตได้ 20 % เพื่อให้ไดชาร์จสามารถประจุไฟเข้าแบทเตอรี ได้เต็มที่ตลอดเวลา
- เมื่อรู้ล่วงหน้าว่า จะต้องเปลี่ยนแบทเตอรี ให้ไปที่ร้านที่ไว้ใจได้ เลือกแบทเตอรีที่เหมาะสมกับรถของคุณ แล้วให้ทางร้านชาร์จแบบช้าไว้ให้ โดยชาร์จข้ามคืนรอเอาไว้ เป็นการกระตุ้นเซลล์ การชาร์จแบบช้าจะทำให้แบทเตอรีมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า เช่นเดียวกับแบทเตอรีของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
5. ดูแลลรักษาอย่างไร ให้อายุยาวนาน ?
เนื่องจากแบทเตอรีลูกหนึ่งราคาไม่ใช่แค่ 400-500 บาท ตอนนี้ราคาเริ่มต้นประมาณ 1,500 บาท จากเดิมที่เริ่มต้นอยู่ราวๆ 1,200 บาท ดังนั้นต้องดูแลดีๆ เพื่อให้คุ้มค่ามากที่สุด ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยคุณประหยัดเงินอย่างเดียวนะครับ แต่เป็นการช่วยลดปริมาณขยะพิษเมื่อต้องมีการเปลี่ยนแบทเตอรีด้วย เพราะน้ำกรดที่อยู่ภายใน และตะกั่วที่ใช้ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวการที่จะทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการยืดอายุการใช้งานของแบทเตอรี- หมั่นตรวจเชคระดับน้ำกลั่นอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้น้ำกลั่นที่มีคุณภาพเท่านั้น เพื่อเป็นการรักษาระดับความเข้มข้นของน้ำกรดให้คงที่ ระดับน้ำกรดภายในเซลล์นั้นต้องอยู่สูงกว่าแผ่นธาตุประมาณ 1 ซม. ต้องรักษาระดับนี้ไว้เสมอ
- หมั่นตรวจเชคทำความสะอาดขั้วแบทเตอรีอยู่เสมอ เพราะคราบเกลือที่เกาะอยู่ที่ขั้วจะทำให้กระแสไฟเดินไม่สะดวก ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าอื่นๆ ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ การทำความสะอาดนั้นใช้น้ำร้อนราดที่ขั้วแบทเตอรีโดยตรง แล้วถอดขั้วออกมาขัดเบาๆ ด้วยกระดาษทราย เพื่อขจัดคราบสกปรกต่างๆ ออก แต่ไม่ต้องขัดแรงมาก ทั้งขั้วที่ตัวแบทเตอรี และขั้วของสายไฟ จากนั้นใช้จาระบีป้ายบางๆ ทั้ง 2 ด้าน ก่อนจะประกอบกลับเข้าไป เพราะจาระบีจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดคราบเกลือได้ง่าย
- หมั่นตรวจเชคความตึงของสายพานไดชาร์จ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอสำหรับรถเก่าควรตรวจเชคประสิทธิภาพการทำงานของไดชาร์จด้วย เพราะการทำงานที่ผิดปกติของไดชาร์จ จะส่งผลให้แบทเตอรีเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร
6. การถอดขั้วแบทเตอรี
เป็นเรื่องสำคัญมาก แม้จะดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้น มันยากที่จะแก้ไขได้ทันท่วงทีจำไว้เสมอว่า ตัวถังรถที่เป็นโลหะนั้น คือ ขั้วลบของระบบไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้นเมื่อต้องถอดแบทเตอรีต้องถอดขั้วลบของแบทเตอรีออกก่อนเสมอ แต่เวลาใส่ขั้วกลับเข้าไปยังแบทเตอรี ต้องใส่ขั้วบวกก่อนเพราะการลัดวงจรยิ่งเกิดใกล้แบทเตอรีมากเท่าใด โอกาสจะเสียหายก็มีมากเท่านั้น เคยพบเหตุการณ์ที่เจ้าของรถรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถอดขั้วบวกออกก่อน แล้วประแจพาดไปโดนตัวถัง แค่ชั่วพริบตาจะดึงประแจก็ไม่ออกแล้ว เพราะมันลัดวงจรจนทำให้ประแจร้อนจัด ละลายติดตัวถัง และพริบตาต่อจากนั้น แบทเตอรีก็ระเบิดทันที ดังนั้นต้องจำไว้เสมอว่า ถ้าต้องทำการซ่อมที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า หรือต้องมีการเชื่อมตัวถังด้วยไฟฟ้า ต้องถอดขั้วแบทเตอรีออกก่อนเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากความผิดพลาด
7. การพ่วงแบทเตอรี
เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าทำโดยประมาทก็จะเกิดความเสียหายร้ายแรงได้ไม่แพ้กันการพ่วงแบทเตอรี ต้องศึกษาจากคู่มือประจำรถเป็นการดีที่สุด เพราะรถแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อนั้นมีรายละเอียดและการประกอบที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นต้องศึกษาจากคู่มือ หรือฝ่ายเทคนิคของแต่ละยี่ห้อ
ถ้าไม่มีคู่มือประจำรถ ให้ปฏิบัติดังนี้ จอดรถคันที่จะนำมาพ่วงให้ห่างกันพอสมควร ดึงเบรคมือทั้ง 2 คันติดเครื่องคันที่จะนำมาพ่วง ให้พ่วงขั้วลบเข้าด้วยกันก่อน จากนั้น พ่วงขั้วบวกจากคันที่จะนำมาพ่วงแล้วค่อยต่อเข้ากับรถคันที่จะพ่วง เร่งเครื่องยนต์ประมาณ 2,000 รตน. จากนั้นจึงค่อยติดเครื่องรถคันที่ถูกพ่วง เมื่อเครื่องยนต์ติดแล้วต้องค่อยๆ ถอดสายพ่วงด้านบวกออกจากรถคันที่ถูกพ่วงก่อน แล้วจึงปลดจากรถคันที่นำมาพ่วง จากนั้นค่อยถอดสายพ่วงด้านลบเป็นลำดับต่อไป ขณะที่ทำการพ่วงต้องแน่ใจว่าคีบสายพ่วงแน่นดีทุกจุด และต้องระวังเรื่องสายพ่วงที่พาดผ่านตัวถัง เพื่อความปลอดภัยควรหาฉนวนหนาๆ เช่น ผ้ายางปูพื้น หรือพรมปูพื้นรถ มารองระหว่างตัวถังกับสายพ่วงเอาไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลัดวงจรกรณีที่สายพ่วงเสื่อมสภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมามากมาย และการพ่วงที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ระบบไฟฟ้า เช่น กล่อง ECU ของระบบต่างๆ เกิดการลัดวงจรเสียหายได้ง่าย
การดูแลรักษาแบทเตอรี ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่คุณต้องใช้ความสม่ำเสมอในการดูแลรักษาเพราะแบทเตอรีเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าของรถทั้งคัน ไม่ยากครับ ที่จะลงมือทำด้วยตัวเอง
ABOUT THE AUTHOR
พ
พหล ฯ
ภาพโดย : -นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : DIY...คุณทำเองได้