การดูแลรักษา และซ่อมบำรุงรถยนต์ ในยามปกติการดูแลรักษาไม่น่าจะมีอะไรมากนัก เพียงแต่เข้า
ศูนย์บริการก็สิ้นเรื่อง แต่เรื่องราวมันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเจ้าของรถจำนวนไม่น้อยที่พึ่งพาการซ่อมบำรุงของอู่ทั่วไป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า เพราะการเข้าศูนย์บริการนั้น สิ่งที่แพงมักไม่ใช่ค่าอะไหล่ แต่แพงตรงค่าแรงในการเปลี่ยนอะไหล่
ในส่วนของรถใหม่ ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีการรับประกันค่อนข้างนาน เช่น 3 ปี หรือ 100,000 กม.
เป็นส่วนใหญ่ ปัญหาจึงไม่ค่อยจะเกิดกับรถใหม่ หรือรถที่อยู่ในระหว่างการรับประกัน ปัญหามักจะเกิดกับรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 4 ปีขึ้นไป การจะใช้รถให้มีอายุใช้งานยาวนานนั้น ต้องศึกษาคู่มือของตัวรถก่อนการใช้งาน เพื่อให้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม รวมถึงเรื่องของบำรุงรักษาด้วย ที่ต้องเน้นในเรื่องนี้ เพราะรถรุ่นใหม่ ถูกผลิตและออกแบบด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่
อะไรบ้างที่ต้องซ่อมแซม ?
เจ้าของรถส่วนใหญ่ มักเน้นไปที่เครื่องยนต์เป็นหลัก การดูแลรักษาต่างๆ ก็มักมุ่งไปที่เครื่องยนต์ ซึ่ง
ปัจจุบันความทนทานของเครื่องยนต์ซึ่งผิดไปจากเมื่อก่อนลิบลับ เครื่องยนต์ในยุค '70-'80 นั้นมีความทนทานน้อยมาก เมื่อผ่านการใช้งานเกินหลัก 1 แสนกม. ต้องเริ่มมีการซ่อมบำรุงกันแล้ว เช่น การทำโอเวอร์ฮอล หรือการเปิดฝาสูบออกมาทำการบดวาล์ว ขูดเขม่า หรืออาจจะต้องมีการเปลี่ยนแหวนลูกสูบร่วมด้วย สเตพต่อไป ต้องมีการเปลี่ยนลูกสูบ คว้านเสื้อสูบเพื่อขยายขนาดให้โตขึ้น เนื่องจากผนังกระบอกสูบมีร่องรอยการสึกหรอมากขึ้น จนทำให้กำลังของเครื่องยนต์ตก
สเตพสุดท้าย คือ การคว้านเสื้อสูบ และเปลี่ยนลูกสูบเป็นขนาดโอเวอร์ไซซ์ นั่นคือ ไซซ์สุดท้ายของการ
เพิ่มขนาดลูกสูบ ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่า การซ่อมแซมดังกล่าว เครื่องยนต์อาจทำงานไปแค่ 2-2.5 แสนกม. เท่านั้นเอง เครื่องยนต์ในปัจจุบันสามารถใช้งานได้อย่างน้อยๆ 3 แสนกม. สบายๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ในเรื่องของการถอดเครื่องยนต์ออกมาซ่อม หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า "ฟิทเครื่อง" การดูแลรักษารถยนต์สมัยใหม่มักจะมีเพียงการเปลี่ยนซีล ปะเก็น/ท่อทาง หรืออุปกรณ์ส่วนควบมากกว่า
นอกเหนือจากเครื่องยนต์แล้ว ตัวรถมีสิ่งที่เสื่อมโทรมทั้งคัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเกียร์/ช่วงล่าง/ระบบปรับ
อากาศ หรือแม้แต่ชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์เอง ระบบเกียร์ก็มีการสึกหรอเช่นเดียวกับเครื่องยนต์ ซึ่งความทนทานนั้นก็มีมากขึ้น เช่นเดียวกับเครื่องยนต์ในหลายๆ ระบบ เมื่อมีการสึกหรอแล้ว การซ่อมแซมก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจุดต่างๆ เหล่านี้เองที่เจ้าของรถมักไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรนัก เพราะคิดว่ามันไม่สำคัญเหมือนกับเครื่องยนต์ นั่นเป็นที่มาของหัวข้อต่อไป คือ "การเลือกอะไหล่"
อะไหล่แท้กับอะไหล่เทียม หรืออะไหล่เก่า ?
สิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คือ รถยี่ห้อ "A" เสียอย่างเดียว คือ เรื่องของอะไหล่แพง ซึ่งไม่แปลกเลยที่คน
ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่ารถยนต์ยี่ห้อ A อะไหล่แพงกว่ายี่ห้อ B นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทั้งๆ ที่คนส่วนมากไม่เคยใช้รถยี่ห้อนี้เลย แต่ก็จำๆ ฟังๆ เขามาขยายความต่ออีกที ปัจจุบันราคาอะไหล่ถูกลงมากจากหลายเหตุผล ประเด็นแรก อะไหล่ส่วนใหญ่ มักจะมาจากการนำเข้าเป็นหลัก ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบัน อะไหล่เกือบ 80 % เป็นชิ้นส่วนที่ผลิตในบ้านเรา ทำให้ต้นทุนถูกลง ราคาจึงถูกลงด้วย แต่ความทรงจำในแง่ลบนั้นมันเปลี่ยนได้ยาก น่าตลกที่ว่าอะไหล่ยี่ห้อ A แพงกว่ายี่ห้ออื่นๆ เช่น คอยล์จุดระเบิด ยี่ห้อ A นั้นสามารถเปลี่ยนได้ในราคาไม่ถึง 2 พันบาท แต่ยี่ห้ออื่นส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนทั้งจานจ่าย เพราะไม่สามารถแยกชิ้นส่วนได้ ซึ่งราคาตกอยู่ลูกละ 7-8 พันบาท โดยเฉลี่ย และมีเจ้าของรถจำนวนไม่น้อย ที่มักฝังหัวว่าอะไหล่เบิกศูนย์ ฯ แพง
อะไหล่เก่า นับว่าเป็นทางเลือกในการลดค่าใช้จ่ายก็จริงอยู่ แต่หลายคนยังมีความเชื่อฝังใจว่า อะไหล่
เบิกห้างมีราคาแพง จึงหันไปหาซื้ออะไหล่เก่า หรืออะไหล่เทียมมาใช้ โดยที่ยังไม่เคยเชคราคาของใหม่ อันที่จริงแล้วอะไหล่เก่า หรืออะไหล่เทียม มันก็เป็นทางเลือกในการซ่อมบำรุงที่ดีทางหนึ่ง เมื่อต้องการความประหยัด เพียงแต่ต้องฉลาดเลือกว่า แบบไหนควรจะใช้ หรือไม่ควรใช้ ก่อนที่คุณจะเปลี่ยนอะไหล่สักชิ้นหนึ่ง โดยเฉพาะที่มีราคาหลักพันบาทขึ้นไป ควรเชคก่อนว่า อะไหล่ใหม่เบิกห้างราคาเท่าไร ? แล้วค่อยไปสืบราคาอะไหล่เก่า หรืออะไหล่เทียม รถเก่าอายุการใช้งานมากกว่า 5-6 ปีขึ้นไป บริษัทรถจะมีการปรับราคาอะไหล่ลงมา 10-20 % และอาจจะได้ส่วนลดเพิ่มอีก 5-10 % รวมแล้วราคาก็จะถูกลงอีกไม่น้อยเลยทีเดียว
ขอให้จำไว้ว่า อะไหล่เก่า หรืออะไหล่เทียม ไม่ใช่ทางออกสุดท้ายเสมอไป...
การเลือกอะไหล่ มีผลต่อความปลอดภัย
มีอะไรบ้างที่เราต้องพิจารณาในการเลือกซื้ออะไหล่ อย่างแรกที่อยากให้มอง คือ เรื่องความปลอดภัย
และสมรรถนะการทำงานที่ใกล้เคียงของเดิม มีเรื่องแปลกเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเลือกอะไหล่ เจ้าของรถหลายคน มักเลือกอะไหล่ตัวถัง ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า/กระจัง และไฟท้าย ฯลฯ เป็นของแท้ แม้จะมือสองก็ตาม เพราะเห็นว่ามันมีผลต่อความสวยงาม และมีผลต่อสายตาผู้ที่พบเห็น แต่อะไหล่ช่วงล่างที่มีผลกับความปลอดภัยนั้น กลับใช้อะไหล่เทียม...เพราะไม่มีใครมองเห็น หรือเห็นว่าราคาถูก ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าของรถ เน้นเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่เป็นหลัก
อะไรบ้างที่ควรใช้อะไหล่ใหม่ และเป็นของแท้ ตรงนี้อยากให้พิจารณากันให้มากๆ ว่าอะไรที่เกี่ยวข้อง
กับความปลอดภัยต่อชีวิต สิ่งนั้นก็ควรใช้ของแท้ เพราะชีวิตคุณ และคนรอบข้าง มันมีค่ามากกว่ากันเยอะ หรือความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แล้วจะต้องไปจ่ายค่าซ่อมนั้น มันไม่คุ้มค่ากันเลย ระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยตรง คือ ระบบช่วงล่าง ระบบเบรค ยาง ระบบบังคับเลี้ยว จะเห็นได้ว่าเครื่องยนต์นั้น ผมให้เป็นเรื่องรองลงมา ลองคิดดูนะครับว่าถ้าเครื่องยนต์ดับแต่เบรคทำงานได้ดี กับเครื่องยนต์ไม่ดับแต่เบรคไม่อยู่ อย่างไหนมันจะอันตรายกว่ากัน !?!
ระบบช่วงล่าง สิ่งที่เราไม่เห็นแต่มันน่ากลัวกว่าที่คุณคิด ผมเคยประสบปัญหาเรื่องลูกหมากปีกนกหลุดระหว่างขับขี่ โดยไปเปลี่ยนลูกหมากกับร้านช่วงล่างใหญ่ โดยย้ำว่าให้เบิกของแท้จากศูนย์ ฯ เพราะเราทำที่เขาหลายอย่าง ค่าแรงคิดระบบเหมาทำให้ถูกกว่าเข้าศูนย์ ฯ เยอะ หลังจากขับไปสัก 2 เดือน ปัญหาก็เกิด คือ ระหว่างที่เลี้ยวในซอย ลูกหมากปีกนกล่างหลุด ล้อหน้าพับเข้ามาในซุ้มล้อ พวงมาลัยไม่สามารถบังคับได้ โชคดีที่เป็นทางลัด ซึ่งเป็นซอยเล็กๆ จึงไม่ได้ใช้ความเร็วอะไร แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาจราจรรถติดยาวตลอดไปทั้งซอย
ชิ้นส่วนอย่างที่กล่าวไว้ เช่น ลูกหมากต่างๆ ผ้าเบรค ฯลฯ ราคาของแท้ถือว่าค่อนข้างแพงทีเดียว อย่าง
ลูกหมาก ปีกนกของรถบางรุ่น ราคาเบิกห้างตัวละ 2,500-3,500 บาท แต่ของเทียมราคาจะถูกกว่าครึ่งหนึ่ง นั่นก็ทำให้รู้ได้ว่าคุณภาพมันต้องผิดกันชัดเจน โดยเฉพาะลูกหมากแรค ซึ่งเป็นระบบบังคับเลี้ยว จะเห็นได้ชัด ของแท้จะเป็นเหล็กหล่อสีออกเทาดำ แต่ของเทียมจะเป็นสีออกน้ำตาลทอง เคยเอาลูกหมากแรคของเทียมมาผ่าดูภายใน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความแข็งของชิ้นส่วนที่แตกต่างจากของแท้ และภายในมีความเรียบลื่นผิดกัน และหลายครั้งคุณภาพในการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือที่เรียกว่าหลุด QC จำไว้ว่า ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ควรกัดฟันซื้อของแท้ !
ยังมีอีกหลายระบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย แต่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงานของระบบ
โดยรวม ไม่ว่าจะเป็นระบบเครื่องยนต์/ระบบปรับอากาศ/ระบบหม้อน้ำ และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้ของแท้เช่นเดียวกัน
ระบบปรับอากาศก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรใช้ของแท้ทั้งระบบ เพราะมีผลต่อความเย็นฉ่ำของแอร์ เนื่อง
จากบ้านเราเป็นเมืองร้อน อย่างรังผึ้งแอร์ หรือที่เราเรียกว่า คอยล์ร้อน ของเทียม BTU จะต่ำกว่าของแท้มากๆ แม้ขนาดเท่ากัน เป็นเพราะคุณภาพของวัสดุ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าจำนวนหลอด และครีบระบายความร้อนน้อยกว่าของแท้มากทีเดียว ท่อทางที่เป็นยาง ดไรเออร์ หรือแม้แต่คอยล์เย็นต้องใช้ของแท้ เพราะมีผลต่อเนื่องเหมือนกันหมด มีเพียงอย่างเดียวที่พออนุโลมใช้ของมือสองได้ ก็คือ คอมเพรสเซอร์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเชคราคาของใหม่ก่อนว่าเท่าไร ? รถญี่ปุ่นบางรุ่นคอมเพรสเซอร์ ราคา 12,000 บาท แต่ของมือสอง หรือของรีบิลท์ ราคา 6,000-7,000 บาทก็มี ถ้าเป็นอย่างนี้ ตัดใจซื้อของใหม่ดีกว่า เพราะใช้ได้สบายๆ อีกหลายปี เพราะของมือสองอาจจะต้องซ่อมในเวลาที่ไม่นานนัก เว้นแต่ราคาแตกต่างกันมากกว่า 2-3 เท่า ค่อยเปลี่ยนเป็นของมือสอง
กรณีที่เป็นรถใหม่ ขอแนะนำให้เข้าศูนย์บริการไปก่อนจนกว่าจะหมดการรับประกัน อย่าไปคิดว่าของ
เบิกห้างแพงเด็ดขาด เพราะปัจจุบันนี้บรรดาผู้ผลิตต้องการใช้บริการหลังการขายมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้า เพราะเหตุผลหลักอันดับต้นๆ ที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อรถ นั่นก็คือ ซ่อมง่าย อะไหล่ถูก ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผู้ผลิตพยายามปรับลดราคาลงให้ต่ำสุดเท่าที่จะเป็นได้
รถเก่าซ่อมศูนย์หรืออู่ดี ?
ถ้าเป็นระบบเครื่องยนต์ ไฟฟ้า ระบบเกียร์อัตโนมัติ ควรจะเข้าศูนย์เพราะช่างเขาได้ผ่านการฝึกอบรม
มาก่อนแล้วรวมถึงยังมีคู่มือ หรือเครื่องมือพิเศษสำหรับรถรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะ อย่างน้อยก็ตัดปัญหาความเสี่ยงได้มาก รวมถึงการรับประกันในชิ้นส่วนอะไหล่ และผลงานการซ่อมแซม ไม่เหมือนกับอู่ทั่วไปกว่าจะมีความชำนาญในเครื่องรุ่นใหม่ๆ ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าอู่ทั่วไปไม่เก่งนะครับ อู่เก่งๆ มีเยอะ แต่กว่าจะทราบรายละเอียดของเครื่องตัวใหม่ๆ ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ หลังจากรถรุ่นนั้นเปิดตัวแล้ว แต่ช่างในศูนย์บริการจะทราบข้อมูลเทคนิคของเครื่องตัวนั้นก่อนเปิดตัวหลายเดือน
ในส่วนของเกียร์อัตโนมัติ สามารถใช้อู่ที่รับซ่อมเกียร์อัตโนมัติโดยตรงได้ ราคาก็จะถูกลง ปัจจุบันมีอู่รับ
ซ่อมเกียร์อัตโนมัติเพียงอย่างเดียวหลายแห่ง แต่ที่มีความรู้ มีเครื่องมือครบถ้วนเทียบเท่า หรือมากกว่าศูนย์บริการบางแห่งสามารถซ่อมได้ทุกยี่ห้อนั้นมีไม่กี่แห่ง เรื่องนี้อยากเตือนว่าระบบเกียร์อัตโนมัตินั้น ผู้ที่จะซ่อมได้ ไม่ใช่ว่ามีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว มันต้องมีเครื่องมือครบถ้วน มีคู่มือ และไดอแกรมของเกียร์ลูกนั้นๆ ด้วย จึงจะสามารถซ่อมได้ดี อุปกรณ์ที่ถอดมาจะได้ใส่ครบถ้วนและถูกตำแหน่ง
ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตเองเกือบทุกยี่ห้อในบ้านเรา จะมีแผนกซ่อมเกียร์อัตโนมัติเกือบจะทั้งหมด และการซ่อมแซมนั้นไม่ใช่การเปลี่ยนทั้งหมดอย่างที่หลายคนเข้าใจ เขาสามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนตามอาการ หรือตามคำสั่งของเจ้าของได้ สิ่งสำคัญ คือ เกียร์ที่ผ่านการซ่อมจากศูนย์บริการโดยตรงนั้น ก่อนจะส่งกลับมาประกอบเข้ากับตัวรถ จะถูกทดสอบการทำงานมาแล้วตามมาตรฐานของยี่ห้อนั้นๆ
ที่แนะนำว่าให้เข้าศูนย์นั้น ไม่ใช่ว่าศูนย์จะซ่อมแล้วหายทุกครั้งนะครับ อย่างน้อยเวลาเกิดปัญหาจาก
การซ่อม คุณยังพอไล่เฉ่งได้ไงละครับ เพราะอู่ทั่วไปมักจะขาดความรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เพราะมันจะกลายเป็นต้นทุน เรื่องอาการบ่ายเบี่ยงโยกโย้ จึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ศูนย์บริการนั้นไม่กล้า เพราะมีชื่อเสียงและบริษัทแม่ค้ำคออยู่ ถ้าสุดท้ายแล้วเป็นความบกพร่องจากทางศูนย์ ฯ ก็มีคนรับผิดชอบ ส่วนอู่ทั่วไปต้องเชคประวัติให้ดีๆ จะได้ไม่ต้องปวดหัว อู่ดีๆ มีฝีมือ และความรับผิดชอบมีเยอะ ขณะเดียวกันอู่ที่ไม่มีจรรยาบรรณก็มีไม่น้อยเหมือนกัน
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม
นิตยสาร 409 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2550