ระหว่างเพื่อน
เมืองพระพุทธศาสนา
เมื่อต้นปีพุทธศักราช 2554 ที่ผ่านมา นักวิจัยพระพุทธศาสนา 22 ชาติ สดุดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุปถัมภ์และสนับสนุนการศึกษาภาษาบาลี ส่งผลให้ประเทศไทย สามารถรักษาภาษาบาลีได้ถูกต้องตามพุทธพจน์มากที่สุดในโลก
นี่ก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ปวงชนชาวไทยโชคดีมีพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่ง ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเหลือแก่พสกนิกรของพระองค์
นักวิจัยพระพุทธศาสนาทั้ง 22 ชาติ ได้มาประชุมสัมมนาผลงานวิจัยนานาชาติครั้งที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เขตอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือนมกราคม 2554
หัวข้อการสัมมนาดังกล่าวคือ "BUDDHISM: TRUTHFUL KNOWLEDGE AND QUALITY OF LIFE" (พระพุทธศาสนา: ความรู้แท้และคุณความดีแห่งชีวิต)
การสัมมนานั้น เป็นการสัมมนาด้วยภาษาบาลี อันนับได้ว่าเป็นเวทีแห่งแรกของโลก มีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี ทั้งฝ่ายเถรวาท มหายานและวัชรยาน จาก 22 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ฮังการี ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา และสหภาพพม่า เป็นต้น
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ กล่าวในการเปิดการสัมมนาว่า พระพุทธศาสนา: ความรู้แท้และคุณความดีแห่งชีวิต ก็คือการนำเอาหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อชีวิต และสังคม
ประการสำคัญก็คือ ต้องมีการค้นหาความจริงที่ว่า พระพุทธศาสนา คือ ศาสตร์อันสามารถพิสูจน์ได้เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์
สิ่งที่นักวิจัยทั้งหลายต้องหาคำตอบร่วมกัน คือ การขจัดซึ่งความแตกต่างทางความคิด เป็นต้นว่า ฝ่ายเถรวาทถือเอาวันเพ็ญเดือน 6 เป็น วันวิสาขบูชา (วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า) ขณะที่ฝ่ายมหายาน ถือเอาวันที่ 8 เมษายนของทุกปี
นักวิจัยส่วนใหญ่ของที่ประชุม แสดงความห่วงใยในประเด็นการสื่อสารด้วยภาษาบาลีของชาวพุทธกำลังถูกท้าทายด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยี หากปล่อยปละละเลยต่อไป ความศักดิ์สิทธิ์ของภาษาบาลีก็จะลดคุณค่าลง
และทุกวันนี้ การใช้ภาษาบาลีในพระพุทธศาสนาก็มีเพียงบทสวดมนต์เท่านั้น
ที่ประชุมเห็นด้วยกับความคิดส่วนใหญ่นี้ และตกลงมอบหมายให้นักวิจัยจาก 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย พม่าและศรีลังกา ร่วมกันทำวิจัยหาวิธีการอันจะทำให้เกิดการสื่อสารภาษาบาลีในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น
องค์ประกอบสำคัญของเรื่องนี้ อยู่ที่วิธีการดังกล่าวนั้น ต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การนำเอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเผยแผ่แก่ชาวโลก แพร่หลายยิ่งขึ้น
งานนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ คือ ท่านพระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ประธานจัดงานได้เปิดเผยหลังการสัมมนาว่า
ที่ประชุมได้ยกย่องสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมะ อีกทั้งยังทรงให้การอุปถัมภ์และสนับสนุนการศึกษาภาษาบาลีอย่างเข้มแข็งในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะในการจัดตั้งกองทุนเล่าเรียนหลวง ให้ทุนสนับสนุนแก่พระภิกษุสามเณรที่ศึกษาภาษาบาลี เป็นการให้กำลังใจการศึกษาของคณะสงฆ์
และที่สำคัญ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติธรรมกรรมฐานด้วยพระองค์เอง ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งในหลวงของปวงชนชาวไทย ประเทศไทยจึงได้รับการยกย่องจากที่ประชุมครั้งนั้นว่า มีความเข้มแข็งในการใช้ภาษาบาลีอย่างถูกต้องตามพุทธพจน์มากที่สุดในโลก
"ทศพิธราชธรรม" เป็นธรรม 10 ประการของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีมาก่อนพุทธกาล ปรากฏในคัมภีร์ชาดก ถือได้ว่าเป็นปรัชญาทางการเมืองของโลกตะวันออก วางกรอบการใช้อำนาจของผู้ปกครองให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม และความถูกต้องดีงาม
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงแสดงธรรมเทศนา เรื่องทศพิธราชธรรมถวาย
ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2493 ดังความตอนหนึ่งว่า
"พระมหากษัตริย์ไทยต้องยึดถือหลักปฏิบัติที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม หรือธรรม 10 ประการของพระมหากษัตริย์ เป็นไปตามหลักพุทธศาสนาดังคาถาบาลีว่า
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหิสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ
ตโต เต ชายเต ปีติ โสมนสฺ สญฺจน ปุปกํ
แปลความว่า ขอพระองค์ผู้เป็นกษัตราธิราช จงทรงพระปรีชาสามารถพิจารณาเห็นราชธรรม ที่เป็นกุศลส่วนชอบ 10 ประการ ให้ดำรงในพระราชสันดานเป็นนิตย์ ดังนี้
ทานํ การให้ 1 การตั้งสังวร รักษากาย วาจา ให้สะอาดปราศจากโทษ 1 ปริจฺจาคํ การบริจาคสละ 1 อาชฺชวํ ความซื่อตรง 1 มทฺทวํ ความอ่อนโยน 1 ตปํ การขจัดความเกียจคร้านและความชั่ว 1 อกฺโกธํ การไม่โกรธ 1 อวิหิสญฺจ การไม่เบียดเบียนผู้อื่นตลอดถึงสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก 1 ขันติญฺจ ความอดทนต่อสิ่งควรอดทนเป็นเบื้องหน้า 1 อวิโรธนํ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากที่ถูกที่ตรง และดำรงอาการคงที่ ไม่ให้วิการด้วยอำนาจยินดียินร้าย 1
บรรจบเป็นกุศลส่วนชอบ 10 ประการ ลำดับนั้น พระปิติและพระโสมนัสไม่น้อยจักเกิดมีแต่พระองค์ เพราะได้ทรงพิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้มีในพระองค์เป็นนิตย์"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงครองราชย์มายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในโลก
ทรงประกาศพระราชปณิธานการปกครองประเทศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม 2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณด้วยพระปฐมบรมราชโองการว่า
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
บัดนี้ ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา ก็เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่มหาชนชาวสยามและชาวโลกแล้วว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นพระราชหฤทัยปกครองไพร่ฟ้าประชาชนโดยธรรม ทรงมีพระราชจริยวัตรอันงดงามยิ่ง มีพระวิริยอุตสาหะประกอบพระราชกรณียกิจอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย จนทรงได้รับคำสรรเสริญทั่วไปในโลกว่า
"เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก"
เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ เป็นไปดังพระปฐมบรมราชโองการนั้นโดยสมบูรณ์ โดยทั้งพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้วนแสดงถึงความเป็นธรรมิกราชา สมบูรณ์ด้วยทศพิธราชธรรม ธรรม 10 ประการของพระมหากษัตริย์โดยแท้
ABOUT THE AUTHOR
&
"สยาม เมืองยิ้ม"
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : ระหว่างเพื่อน