ไม่มีโลหะคู่ใด ไม่ว่าจะเป็นชนิดเดียวกันหรือแตกต่าง จะเสียดสีกันด้วยความเร็ว และแรงกดสูงได้ โดยไม่เกิดความเสียหายในรูปความสึกหรอที่ผิวสัมผัสถ้าปราศจากสารช่วยหล่อลื่น ที่คั่นระหว่างหน้าสัมผัสไว้ เครื่องยนต์ที่พวกเราใช้กันอยู่ และมีอายุยืนยาวอย่างไม่น่าเชื่อในยุคนี้ ก็เพราะน้ำมันหล่อลื่น ที่เรียกกันคุ้นกว่าว่า น้ำมันเครื่อง ถูกปรับปรุงจนมีคุณภาพสูงมากครับ ถ้าเครื่องยนต์ถูกสร้างด้วยวัสดุคุณภาพสูง ฝีมือผลิตละเอียดถูกต้องตามแบบ ผู้ใช้ และผู้ดูแล (ซึ่งอาจจะเป็นคนเดียวกัน คือ เจ้าของรถ หรือคนละคนเช่น เจ้าของรถ และคนขับ หรือลูกน้องที่ทำหน้าที่ดูแล) ปฏิบัติตามที่คู่มือผู้ใช้รถแนะนำไว้ ระยะทาง 400,000 ถึง 500,000 กม. หรือมากกว่านี้ สำหรับเครื่องยนต์ เป็นไปได้ไม่ยากครับ เลิกกลัวรถใช้แล้ว ที่ถูกใช้มาเกิน 100,000 กม. กันได้แล้วครับ ถ้าพวกเราที่หาซื้อรถใช้แล้วเลิกกลัว ฝ่ายที่ขายรถก็จะได้เลิกเปลี่ยนเลขบอกระยะทางที่มาตรวัดกันบ้าง ซึ่งก็คงเป็นส่วนน้อยอยู่ดีนะครับ เพราะถ้าเป็นจริง ก็จะยังคงเหลือพวกที่ใช้มาหลายแสน กม. แต่ถูกปรับให้เหลือเกิน 1 แสนไปไม่มาก อย่างไรเสียก็ยังหลอกกันได้ยากขึ้นหน่อยครับ เพราะสภาพของชิ้นส่วนอื่นมันไม่ได้ถูกใช้น้อยตามระยะทางที่ถูกเปลี่ยน
ไม่มีใครที่ถนอมรถ ไม่สนใจเรื่องน้ำมันเครื่องครับ เพราะเป็นสิ่งที่เราเลือกใช้ได้ และใครที่เน้นเรื่องนี้อยู่ ผมเชื่อว่าก็คงจะอยากทราบอย่างมากว่า เครื่องยนต์ที่ถูกรีดกำลังอย่างสุดขีด ชิ้นส่วนภายในต้องรับภาระ สุดโหดอย่างเครื่องยนต์ เอฟ วัน นั้นใช้น้ำมันอะไรหล่อลื่น
ในเครื่องยนต์ที่เพลาข้อเหวี่ยงหมุนด้วยความเร็วเกือบ 20,000 รตน. อย่างเครื่องยนต์ เอฟ วัน นั้นการหล่อลื่นที่เกิดความผิดพลาดแค่ครึ่งวินาที ก็ทำให้เครื่องยนต์ผังได้ทันทีครับ เพราะแค่ช่วงเวลาที่สั้นจู๋นี้ เพลาข้อเหวี่ยงหมุนไป 150 รอบแล้วเป็นจำนวนเดียวกับที่ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นลงพร้อมกับที่แหวนลูกสูบครูดกับกระบอกสูบ ถ้าไม่ถูกออกกฎควบคุมความเร็วสูงสุดของเครื่องยนต์ไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว (ปัจจุบันถูกลดจาก 19,000 รตน. เหลือ 18,000 รตน.) เครื่อง เอฟ วัน ของปีนี้ จะต้องทำงานได้เกิน 20,000 รตน. ไปแล้ว ด้วยความก้าวหน้าด้านวัสดุ และการออกแบบชิ้นส่วนครับ
น้ำมันเครื่อง เอฟ วัน เป็นน้ำมันหล่อลื่นสังเคราะห์สูตรลับสุดยอด แม้ว่าจะมีกฎควบคุมไว้ และทุกทีมต้องส่งน้ำมันเครื่องที่ใช้ให้คณะกรรมการตรวจสอบ ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ใช้ ในส่วนที่ไม่ถูกบังคับไว้ ก็เป็นโอกาสที่วิศวกรหล่อลื่นของบริษัทน้ำมันหล่อลื่น ที่เป็นผู้สนับสนุนแก่ทีมแข่ง จะเล่นแร่แปรธาตุ ด้วยสาร และสูตรลับเฉพาะระดับเดียวกับส่วนผสมหน้ายาง ของบริษัทที่สนับสนุนยางแข่ง
ในเมื่อส่วนผสมเป็นความลับสุดยอด ก็เลยเหลือสิ่งที่เราพอรู้ได้ไม่มากครับ แต่ก็ยังถือเป็นส่วนที่สำคัญมาก นั่นคือ ความหนืด หรือความข้น ถ้าให้เดากันตามหลักการน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ เอฟ วัน น่าจะข้นหรือหนืดพิเศษ เพราะต้องหล่อลื่นชิ้นส่วนที่ทำงานหนัก ภายใต้อุณหภูมิที่สูงมาก แต่ที่จริงแล้วกลับเป็นน้ำมันที่ค่อนข้างใสครับ ใสในที่นี้ คือ ข้นน้อยนะครับ ไม่ใช่มองทะลุผ่านได้สะดวก ถ้าเป็นแบบนั้น ผมจะเรียกว่าโปร่งใส เป็นจุดอ่อนโดยบังเอิญของภาษาไทยสำหรับความหมายทางเทคนิคครับ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับบางภาษาของประเทศอุตสาหกรรม
สาเหตุที่ใช้น้ำมันเครื่องใส หรือข้นน้อยกว่าที่เราคาด เพราะยิ่งน้ำมันเครื่องข้นก็จะยิ่งสร้างแรงต้านขณะที่ชิ้นส่วนเสียดสีกัน เช่น ระหว่างผิดของข้อเหวี่ยงกับแบริง ระหว่างผิวของแบริง "ตาล่าง" ของก้านสูบกับข้อเหวี่ยง ระหว่างกระบอกสูบกับลูกสูบ และแหวนลูกสูบ เพลาลูกเบี้ยวกับแบริง จุดต่างๆ ที่กล่าวมานี้ก็ตัวการที่ "กิน" กำลังที่ควรจะได้จากเครื่องยนต์ครับ ที่แบริงนั้นไม่เป็นปัญหามากในการใช้น้ำมันเครื่องใส เพราะหมุนด้วยความเร็วสูงมาก และที่สำคัญคือ ช่องว่าง (CLEARANCE) ระหว่างแบริง และเพลาในเครื่อง เอฟ วัน แคบมาก น้ำมันหล่อลื่นเล็ดลอดออกด้านข้างได้ยากครับ ในส่วนที่เสียดสีกันด้วยความดันสูง เช่น ระหว่างผิวลูกเบี้ยว และกระเดื่องวาล์วก็ต้องอาศัยสารต้านการสึกหรอ ช่วยยืดอายุชิ้นส่วนเหล่านี้ให้อยู่รอดจนพ้นการแข่งขันแต่ละสนาม พูดง่ายๆ ก็คือ วิศวกรหล่อลื่นของบริษัทน้ำมันหล่อลื่น จะเลือกน้ำมันที่ข้นน้อยที่สุด ที่ยังหล่อลื่นชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ เอฟ วัน ได้ตั้งแต่ตอนซ้อมจนจบการแข่งขัน
อีกสาเหตุหนึ่งที่มีการพยายามใช้น้ำมันเครื่องข้นน้อยที่สุด ก็คือ ความประหยัดเชื้อเพลิงครับ เพราะมีผลต่อชัยชนะของทีมน้ำมันเครื่องยิ่งใส หรือข้นน้อย แรงเสียดทานยิ่งน้อย เมื่อความฝืดน้อย ก็ย่อมใช้กำลังที่จะไปต้านความฝืดนี้น้อยลง ผลที่ได้เป็น 2 ต่อครับ คือ ได้ทั้งกำลัง และความประหยัดเชื้อเพลิงไปพร้อมกัน
ทุกวันในช่วงที่ทดสอบน้ำมันเครื่องสูตรใหม่ บริษัทน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนทั้งน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเชื้อเพลิง (อาจมีข้อยกเว้นบ้าง เช่น CASTROL ที่สนับสนุนเฉพาะน้ำมันหล่อลื่น) จะเก็บตัวอย่างน้ำมันที่ถูกใช้งานแล้วไปวิเคราะห์ ส่วนผสมของ "สูตร" ว่าจะใส่สารอะไรในปริมาณเท่าใด ต้องใช้คอมพิวเตอร์คำนวณตามพโรแกรมครับ โดยป้อนข้อมูลตามสภาวะที่จะแข่งในแต่ละสนาม เช่น ถ้าเป็นสนามที่มีโค้งมาก รถแข่งถูกเบรคและเร่งอยู่เกือบตลอดเวลาสลับกัน เครื่องยนต์ต้องรับภาระหนักเป็นพิเศษ อุณหภูมิน้ำมันเครื่องจะสูงมาก จะต้องใช้น้ำมันเครื่องความหนืดสูงขึ้น เพื่อให้ยังมีความข้นเพียงพอในจุดที่ร้อนจัด ถ้าทีมงานได้สูตรที่ถูกใจแล้ว ก็ยังไม่ผสมจำนวนมากเลยครับ แต่จะตวงไปส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบ ว่ามีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
งานหนักของวิศวกรหล่อลื่น จะเริ่มตอนปลายสัปดาห์ที่แข่งขัน ตัวอย่างน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์ที่ใช้ซ้อม จะถูกวิเคราะห์ด้วยเครื่องเอกซ์-เรย์ล้ำสมัย เพื่อหาปริมาณโลหะที่ปะปนในน้ำมันเครื่อง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสึกหรอของเครื่องยนต์ ว่าอยู่ที่จุดใด และมากน้อยขนาดไหน วิศวกรเครื่องยนต์จะใช้ผลวิเคราะห์โลหะในน้ำมันเครื่องประกอบการตัดสินใจ ในการเลือก หรือปรับปรุงชิ้นส่วนที่พบว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาขณะแข่งได้ เพราะความสึกหรออาจสูง จนเสี่ยงต่อการชำรุดก่อนจบการแข่งขัน
แม้ขณะแข่งขัน เซนเซอร์ต่างๆ จะส่งข้อมูลทางคลื่นวิทยุให้ทีมงานทราบสภาพของน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์ และในถังเก็บประจำรถอยู่ตลอดเวลาครับ
ในแต่ละปีที่แข่งขัน เอฟ วัน บริษัทน้ำมันหล่อลื่น จะส่งน้ำมันเครื่องให้แต่ละทีมประมาณ 30,000 ลิตร น้ำมันเกียร์ราวๆ 2,000 ลิตร หรือ 200 ลิตร ต่อการแข่งขันแต่ละครั้ง สำหรับน้ำมันเครื่อง และ 75 ลิตรเป็นน้ำมันเกียร์ครับ
ใครที่อยากทราบให้ละเอียดถึงขั้นความหนืดของน้ำมันเครื่องที่ใช้ ว่า "เบอร์" อะไรแน่ ผมว่าอย่าไปหวังขนาดนั้นเลยครับเท่าที่ผมติดตามมานานปี บริษัทที่สนับสนุนน้ำมันเครื่อง มักให้คำตอบว่าใช้ทั้งรุ่นและความหนืด ตามน้ำมันเครื่องรุ่นแพง รุ่นล่าสุด ที่กำลังอยากให้ขายดี เชื่อไม่ได้หรอกครับ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม 4wheeld@autoinfo.co.th
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2556