ระหว่างเพื่อน
สิชลไม่เคยหลับ
ขณะข้าพเจ้าบันทึกเรื่องนี้ เป็นเวลาที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่กับหลายจังหวัดในภาคใต้ ชีวิต และทรัพย์สินของราษฎรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยพิบัติภัยเกิดแต่หินจากภูเขาแตกทะลักน้ำป่ามากับดินโคลน หลังจากฟ้าพิโรธเทน้ำฝนติดต่อกันหลายวันหลายคืน
นครศรีธรรมราช คือ จังหวัดใน 8 จังหวัด ที่ต้องเผชิญหน้ากับเคราะห์กรรมทางธรรมชาติ แบบไม่มีทางเลี่ยงเมือง
ธรรมชาติของกระแสน้ำย่อมไหลไปลงทะเล นครศรีธรรมราชด้านทิศตะวันออกก็ติดอ่าวไทย น้ำป่าก็พยายามตีด่านเพื่อไปลงทะเล ลักษณะคล้ายกับเราปลูกต้นไม้ชิดกัน 2 ต้น ทั้ง 2 ต้น ก็ใช้ความพยายามสูงช่วยตัวเองเพื่อความอยู่รอด หาอากาศหายใจ ต้นที่เป็นพันธุ์เตี้ยกว่า ก็จะเบนยอดไม้ของมันออกไปทางหนึ่งเพื่อการหายใจของมัน
ภูมิประเทศของนครศรีธรรมราช มีลักษณะคล้ายกระทะใบใหญ่ ด้านตะวันตกที่ติดกับจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี นั้นประกอบด้วยภูเขาและเนินสูง ระหว่างภูเขาก็เป็นที่ราบ เช่นเดียวกับลักษณะเมืองทางด้านตะวันออกที่เป็นที่ราบ พื้นที่ริมทะเลอ่าวไทยจึงเหมาะแก่การทำสวนมะพร้าว สวนยาง สวนปาล์ม และการประมง
พื้นที่หลายอำเภอของนครศรีธรรมราชติดริมทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ ขนอม ผ่านสิชล ท่าศาลา แหลมตะลุมพุก อ. เมือง และปากพนังไปจนถึงหัวไทรที่ติดกับจังหวัดสงขลา
เมื่อพิบัติภัยธรรมชาติโจมตีนครศรีธรรมราชครั้งนี้ สิขล ได้รับความเสียหายอย่างหนัก นานาทิวเขาดูจะชุกชุมทางตอนเหนือของจังหวัดมากกว่าทางใต้
ในขนอมเองก็มีทั้งเขาโหมเมือง เขาชัยสน เขาหลวงพนม ลงไปถึงเขาพลายคำซึ่งใกล้กับสิชล แล้วยังมีเขาช่องลมใต้ เขาพนม เขาหลวง อีกจิปาถะภูเขา
เมื่อสื่อมวลชนทำข่าว ก็ได้สัมภาษณ์ผู้คน และพบความจริงว่า สวนยางพื้นที่ไม่น้อยกว่า 38 ไร่ เหลือแต่ดินโคลนและก้อนหิน ไม่มีต้นยางให้เห็นแม้แต่รากของมัน
ลักษณะความเสียหายคราวนี้ใหญ่หลวงนัก บ้านทั้งหลังหายไปไหน ไม่มีใครรู้ และไม่รู้แม้กระทั่งว่า อาณาเขตที่บ้านของเขาเคยตั้งอยู่นั้น อยู่ตรงจุดใด มหันตภัยพัดเอาความทรงจำของเจ้าบ้านหายตกทะเลอ่าวไทยไปด้วยกัน
นครศรีธรรมราช เป็นเมืองเอกเมืองหนึ่งของประเทศไทย เป็นด้ามขวานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันเป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยอย่างยิ่ง ความเรืองรองของนครศรีธรรมราชทั้งในด้านการเมือง การศาสนา วัฒนธรรมในการปกครอง เริ่มด้วยความยาวนานก่อนสมัยสุโขทัย
อาณาจักรสุโขทัยในราชวงศ์พระร่วง เริ่มแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 แต่นครศรีธรรมราชเป็นอาณาจักรในภาคใต้มาก่อนหน้านั้น กษัตริย์พระองค์แรกของอาณาจักรนครศรีธรรมราช คือ พระยาศรีธรรมาโศกราช รักความสงบและเชื่อมั่นในพระศาสนา
ความไพศาลของอำนาจในนครศรีธรรมราชยุคสมัยนั้น มองได้จากลักษณะการปกครองที่แบ่งการปกครองเมืองขึ้นเป็น 12 นักษัตรตามปูมโหร และให้ใช้ตรารูปสัตว์ประจำปีเป็นตราของเมืองขึ้นเหล่านั้น เช่น เมืองสาย (บุรี) ถือตราหนู (ชวด) เมืองปัต (ตานี) ถือตราวัว (ฉลู) เมืองกลันตัน ถือตราเสือ (ขาล) เมืองพัทลุง ถือตรางูเล็ก (มะเส็ง) เมืองตรัง ถือตราม้า (มะเมีย) เมืองชุมพร ถือตราแพะ (มะแม) และเมืองกระ (บุรี) ถือตราหมู (กุน) เป็นต้น
ส่วนสำหรับตราเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มิได้มีการระบุไว้ เป็นที่เข้าใจกันว่าน่าจะใช้ ตราบัว เพราะดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ปทุมวงศ์
คนสมัยนี้อาจรู้จักคำว่า เทมาเสค แต่ตำนานแห่งนครศรีธรรมราชนั้น ระบุว่า เกาะตรงปลายแหลมมลายูที่สิงคโปร์ เดิมเรียกว่า ทุมาเสค (TUMASEK) ซึ่งก็มาจากคำว่า ธรรมาโศก ชื่อย่อของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชนั่นเอง
นครศรีธรรมราช ชาวจีนเรียก ตั้งมาหลิ่ง อินเดีย เรียก ตามพรลิงค์ ฝรั่งเรียก ลิกอร์ อายุยืนยาวกว่าพันปี ถึงสมัยอยุธยามีฐานะเป็นเมืองชั้นพระยามหานคร เป็นเมืองเอกเทียบเท่าเมืองพิษณุโลก
ผู้รักษาเมืองนครศรีธรรมราชขณะนั้น ได้รับสุพรรณบัฏจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
ท่านผู้อ่านที่สนใจบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ย่อมเคยได้ยินชื่อ ศรีปราชญ์ ฉลาดในทางโหราศาสตร์ และพระไตรปิฎก มีพรสวรรค์เชี่ยวชาญในทางแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งสนพระทัยในเรื่องโหราศาสตร์และกาพย์กลอน ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยง
ศรีปราชญ์ แต่งโคลงถวายเป็นที่ถูกพระทัย จึงได้รับพระราชทานรางวัลอยู่บ่อยครั้ง
ต่อมาศรีปราชญ์ลอบมีเพลงยาวเข้าไปถึงนางสนมในพระราชวัง พระเจ้าแผ่นดินทรงพิโรธ แต่ด้วยทรงเห็นว่าเป็นศรีปราชญ์ ฉลาดในเรื่องบทกลอนและความผิดก็ไม่หนักหนาอะไรนัก จึงเนรเทศไปอยู่ที่นครศรีธรรมราช
ศรีปราชญ์ไปอยู่ตรงไหนก็ดังกระหึ่ม มาอยู่เมืองนคร ฯ คนนครก็คลั่งบทกลอนตามไปด้วย คนที่สนใจบทกลอนของศรีปราชญ์นั้นส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นอิสตรี ประตูหลังของบรรดาข้าราชการในเมืองนคร ฯ ไปจนถึงนางในคุ้มของเจ้าพระยานคร
ก็เสร็จศรีปราชญ์อีกแหละครับ อยู่ไม่ช้าไม่นานดันลอบส่งเพลงยาวไปจีบภรรยาของเจ้าพระยานคร เจ้าพระยานครจับได้ ก็โกรธสั่งฆ่าศรีปราชญ์ โดยไม่ฟังเสียงทัดทาน
ในเวลาที่จะลงดาบ ศรีปราชญ์ก็ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดิน คำประกาศของศรีปราชญ์เป็นอมตะมาถึงวันนี้
ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนั้นคืนสนอง
ซึ่งปรากฏว่า ดาบนั้นคืนสนองเจ้าพระยานคร เนื่องจากต่อมาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินคลายความพิโรธแล้ว โปรดให้ข้าราชการไปตามตัวศรีปราชญ์เข้ามา ครั้นทราบจากใบบอกกราบทูลก็ทรงพระพิโรธ โปรดให้มีท้องตราออกไปเอาตัวเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมาประหารชีวิตเสียด้วยดาบที่ฆ่าศรีปราชญ์นั้นเอง
ปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนาในนครศรีธรรมราชมีมาก ทั้งวัดพระมหาธาตุ-วัดเก่าดั้งเดิมของเมือง มีสิ่งสำคัญเป็น พระมหาธาตุเจดีย์ ที่สร้างขึ้นตามลัทธิพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน วัดหน้าพระลาน ซึ่งแต่เดิมมาเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ในวัดพระมหาธาตุ ที่หอสวดมนต์มีพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ขนาดเท่าตัวคน สร้างแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
คนเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีนิสัยอ่อนโยน มีสติปัญญาหลักแหลมด้วยเหตุที่เป็นเมืองใหญ่ มีการค้าขายระดับนานาชาติมาแต่โบราณกาล การสมาคมระหว่างชาวต่างประเทศก็ได้รับความรู้นานาประเภท ล้วนเป็นความรอบรู้อย่างใหม่ๆ แก่วิถีชีวิตคนไทย กระทั่งศิลปะความสัมพันธ์กับคนต่างชาติก็ถูกหลอมขึ้นมาด้วยคารมคมคาย
สภาพทางเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราชมีความสั่นคลอน หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 เป็นความยับเยินจากสงคราม มีการแตกฉานซ่านเซ็น การทำมาหากินไม่อาจดำเนินต่อไปได้ในทางปกติ การค้ากับต่างประเทศชะงัก คนไทยแตกเป็นก๊กถึง 5 ก๊ก
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอนุมานเหตุผลทางการเมืองและความมั่นคงของประเทศชาติ ได้อย่างยอดเยี่ยม ทรงสร้างขุมกำลังแห่งชาติไว้เป็นระบบสามเส้าในสามหัวเมืองสำคัญ อันได้แก่ นครศรีธรรมราช, กัมพูชา และเมืองนครเชียงใหม่
นครศรีธรรมราชนั้นเหมาะสมตามแง่ยุทธศาสตร์ทั้งทางบกและทางน้ำ อีกทั้งประกอบด้วยเมืองบริวารตั้งแต่ชุมพรลงไปจนถึงเมืองปัตตานี ไทรบุรี และตรังกานู บริบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ กำลังทางเศรษฐกิจและสมรรถกำลังของผู้คนที่กล้าหาญ
นี่เป็นเพียงบางส่วนของตำนานแห่งเมืองนครศรีธรรมราช ก่อนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วันเดียวกับที่ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ ก็ได้ยินว่าการศึกษาของชาติตกต่ำลงไปแยะหลังจากการประกาศผลสอบโอเนทพบว่า นักเรียนไทยสอบตกวิชาภาษาไทยได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 42.61 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน
น่าตกใจครับ ไม่ทราบว่านักเรียนกี่คนที่รู้จักเมืองนครศรีธรรมราชดีแค่ไหนวันนี้ ?
ABOUT THE AUTHOR
&
"สยาม เมืองยิ้ม"
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2554
คอลัมน์ Online : ระหว่างเพื่อน