ระหว่างเพื่อน
ตะวันขึ้นที่เมืองไทย
วันนี้เมืองไทยมี นส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นายก ฯ หญิงคนแรกของประเทศ ซึ่งเป็นจุดสนใจของสังคมโลก ต่อการติดตามภาพแห่งประเทศไทยในวันข้างหน้า จะเป็นเช่นไรภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงสภาพบ้านเมืองของเราแต่โบราณ มีอะไรที่เป็นครั้งแรกหลายสิ่ง และก็เป็นจุดสนใจของสังคมโลก เช่นเดียวกับการที่เราเริ่มมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง เมืองไทยมีแม่น้ำเจ้าพระยาขวางทางระหว่างฝั่งพระนครกับเมืองธนบุรี ท่านผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ทว่าสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกิดขึ้นแห่งแรก คือ สะพานพระราม 6 แต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กิจการรถไฟแห่งชาติแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน คือ กรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ไม่สะดวกในการบริหาร สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ โปรดเกล้า ฯ ให้รวมทั้ง 2 กรมเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2460 เรียกชื่อเป็น กรมรถไฟหลวง และต่อมาทรงมีพระราชดำริสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมรางรถไฟของทั้ง 2 กรมให้ติดต่อเป็นสายเดียวกันได้ การลงนามสัญญาก่อสร้างกับบริษัทจากประเทศฝรั่งเศส เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2465 อัตราแลกเปลี่ยนเงินไทยกับฝรั่งเศสขณะนั้น 1 บาท แลกได้ 5 ฟรานศ์ฟรังค์ และการก่อสร้างได้เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2466 ค่าก่อสร้าง 2,714,113.30 บาท สะพานมีความยาว 442.08 เมตร กว้าง 10 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลมาตรฐาน 10 เมตร เป็นสะพานเหล็กมีทางเดินเท้าสองด้านข้าง ช่วงกลางสะพานแบ่งเป็นทางรางรถไฟ และถนนสำหรับรถยนต์ การก่อสร้างสะพานพระราม 6 แล้วเสร็จลงในเดือนธันวาคม 2469 สมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า สะพานพระราม 6 โปรดเกล้า ฯ ทรงทำพิธีเปิดให้ขบวนรถไฟขบวนแรกแล่นผ่านในวันที่ 1 มกราคม อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพรัชกาลที่ 6 และได้เสด็จไปในรถไฟขบวนนี้ด้วย สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ปี 2484-2488 สะพานพระราม 6 เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรถล่มลูกระเบิดลงหลายครั้ง หลังสงครามเสร็จสิ้น มีการซ่อมแซมใหญ่ระหว่างปี 2493-2496 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2496 สงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีส่วนสร้างประวัติศาสตร์สำคัญให้กับกรุงรัตนโกสินทร์อีก และนั่นก็คือ ประมาณตี 3 ของคืนวันที่ 8 มกราคม 2485 คนกรุงเทพ ฯ กำลังนอนหลับสบาย เพราะเป็นช่วงเวลาอากาศเย็นยิ่งกว่าเปิดแอร์อย่างทุกวันนี้ ต้องพากันสะดุ้งตกใจตื่น เพราะมีเสียงระเบิดดังกึกก้อง พร้อมกับมีเสียงเครื่องบินหลายเครื่องครางกระหึ่มบนฟ้า หลังเสียงระเบิดแล้ว อีกไม่นานเสียง หวอ สัญญาณภัยทางอากาศก็ดังขึ้น ผู้คนก็วิ่งหาที่หลบภัย ไม่ว่าจะเป็นซอกตึก ซอกตู้ในบ้านของตัวเอง โคนต้นไม้ รางระบายน้ำข้างถนน และหลุมหลบภัยที่รัฐบาลสั่งให้ทุกครัวเรือนสร้างขึ้น กรุงรัตนโกสินทร์ตั้งมานาน 160 ปี ไม่เคยมีอริราชศัตรูใดบุกเข้ามาโจมตี ก็เป็นคืนนี้แหละ ที่มีโอกาสต้อนรับข้าศึกเป็นครั้งแรก คนกรุงเทพ ฯ พากันย้ายครอบครัวไปอยู่ตามเรือกสวนไร่นา หลบภัยทางอากาศของสงคราม จนเมื่อสงครามสงบแล้ว จึงได้กลับมาเป็นคนกรุงเทพ ฯ เหมือนเดิม สวนสัตว์แห่งแรกของเมืองไทย คือ สวนสัตว์เขาดิน โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเขาดินวนา เพื่อให้เทศบาลนครกรุงเทพดำเนินการจัดทำเป็นสวนสัตว์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานเขาดินวนา พร้อมด้วยสนามเสือป่า และสวนอัมพรให้เทศบาลนครกรุงเทพ สวนสัตว์ และสวนสาธารณะภายใต้การดำเนินการของเทศบาลนครกรุงเทพ แล้วเสร็จบริบูรณ์เมื่อ 18 มีนาคม 2481 มีชื่อเรียกว่า สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์แห่งนี้ เกี่ยวพันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเช่นกัน ระหว่างปี 2485 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2ปีเดียว เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขตกรุงเทพ ฯ และสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับสวนสัตว์ดุสิต จนต้องหยุดกิจการให้เข้าชมและพักผ่อนหย่อนใจไประยะเวลาหนึ่ง ซ้ำปลาขนาดใหญ่ในสระน้ำที่เลี้ยงไว้ สูญหายไปกับภาวะน้ำท่วมกรุงเกือบไม่เหลือ การบูรณะครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2491 แต่เป็นเพราะเทศบาลนครกรุงเทพ มีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงเป็นปัจจัยเหตุให้มี พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ขึ้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2497 มีชื่อเรียกว่า องค์การสวนสัตว์ดุสิต สำหรับสวนสาธารณะแห่งแรกของคนไทยนั้น เริ่มมีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก จึงพระราชทานนาส่วนพระองค์ที่ทุ่งศาลาแดง เนื้อที่ประมาณ 336 ไร่ ให้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานนี้ในฤดูหนาว ปี 2468 เรียกงานนี้ว่า งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ และพระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า สวนลุมพินี ทั้งทรงมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเสร็จงานนี้แล้ว สถานที่แห่งนี้จะเป็นอุทยานสวยงามแห่งหนึ่งของพระนคร ใช้เป็นรมณียสถานสำหรับการพักผ่อนของประชาชนในยามว่าง ทรงมอบให้เจ้าพระยายมราช ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับสวนลุมพินีเป็นแม่กองงาน และการเตรียมงานก็ดำเนินไปด้วยดี มีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ นำดินขึ้นมาถมที่ มีเกาะลอยกลางน้ำ ปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองจากทุกภาคส่วนของประเทศ มีการวางรางรถรางจากถนนเจริญกรุงเลียบคลองสีลม ผ่านสวนลุมพินีไปสุดปลายทางประตูน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาเข้าชมงาน แต่หัวใจปวงชนชาวไทยแหลกสลาย เมื่อองค์ผู้ให้กำเนิดสวนลุมพินีเสด็จสวรรคตในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 ทำให้ งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่กำหนดเปิดในวันที่ 1 มกราคมต้องล้มเลิก สวนลุมพินีกลายเป็นพงรก ถึงปี 2472 พระยาคทาธรสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) อดีตจเรตำรวจ ข้าราชบริพารในรัชกาลที่ 6 ขอเช่าพื้นที่ 90 ไร่ จากกรมโยธาเทศบาล จัดสร้างสวนสนุก มีเครื่องเล่นต่างๆ ม้าหมุน ชิงช้าสวรรค์ ลานสเกทช์ และการพนันประเภท 2 เช่น บิงโก ยิงเป้า ตกเบ็ด มีโรงละคร และหนังกลางแปลงสามารถขับรถเข้าไปจอดชมภาพยนตร์ได้แบบฝรั่ง มีสถานที่เต้นรำ ชื่อ บลู ฮอลล์ มีโชว์ต่างประเทศ สวนสนุกแห่งนี้เก็บค่าผ่านประตูคนละ 10 สตางค์สวนสนุกมีอายุไม่นาน สวนลุมพินีกลายเป็นที่รกร้างอีกครั้ง จนถึงปี 2478 มล. กรี เดชาติวงศ์ นายช่างชั้น 1 กองช่างนคราธร ได้เข้าดำเนินการปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ โดยมีการติดต่อกับ โอวบุ้นโฮ้ว มหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์ให้ช่วยสร้างสนามกีฬาสำหรับเยาวชนขึ้น และจัดตั้งสวนเพาะชำขยายพันธุ์ไม้สำหรับการตกแต่งพระนคร แต่นั้นเป็นต้นมา สวนลุมพินีจึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และยังเป็นสถานที่จัดงานระดับนานาชาติ รวมทั้งงานฉลองรัฐธรรมนูญ งานประกวดนางสาวไทย งานลอยกระทง งานวันเด็กแห่งชาติ ผมจำได้ว่างานใหญ่ของที่นี่สำหรับผม นอกจากโรงเต้นรำที่ต้องสวมเสื้อนอกจึงจะเข้าไปได้แล้ว ก็มีงานแสดงดนตรีของ ซาเวียร์ คูกัต ที่กำลังมีชื่อเสียง และการฉายภาพยนตร์ในระบบ ซีเนรามา 3 เลนส์ ในปี 2505 เรื่อง HOW THE WEST WAS WON ซึ่งเป็นระบบภาพยนตร์ใหม่สุด ต้องฉายด้วยเครื่องฉายพร้อมกัน 3 เครื่อง เพื่อให้จอภาพขยายออกไปเท่ากับเพิ่มอีก 3 เท่าของขนาดจอปกติ นี่เป็นเพียงบางมรดกอันน่าภาคภูมิใจของคนไทย ข้อมูลวันนี้ผมต้องขอขอบคุณ โรม บุนนาค ผู้คุ้นเคยร่วมทศวรรษเดียวกันกับผม จากหนังสือ 100 แรกมีในสยาม โดยสำนักพิมพ์สยามบันทึก
ABOUT THE AUTHOR
&
"สยาม เมืองยิ้ม"
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2554
คอลัมน์ Online : ระหว่างเพื่อน