ประกันภัย
ประกันภัยใจฝ่อ
นับเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยเลยทีเดียว เมื่อบริษัทประกันภัยทั้งหลายรวมหัวกันออกประกาศ งดรับงานประกันภัยน้ำท่วมในประเทศไทย ซึ่งเงื่อนไขภัยน้ำท่วมเป็นแค่เพียงภัยย่อยๆ ที่มีให้ซื้อความคุ้มครองได้ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย การประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิด และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 โดยอ้างเหตุผลอันเนื่องมาจากบริษัทรับประกันภัยต่อ (REINSURER) งดต่อสัญญารับประกันภัยในเงื่อนไขเดิมทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องมาจากภาพข่าวความเสียหายจากภัยน้ำท่วมในประเทศไทยได้ถูกเผยแพร่กระจายอย่างระบาดไปเป็นที่รับรู้ทั่วโลก แบบวนเวียนซ้ำซากยาวนานหลายเดือน ทั้ง บ้านเรือน ร้านค้า โรงงาน รถยนต์และทรัพย์สินต่างจมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะภาพความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย ประเมินกันว่าเฉพาะส่วนของนิคมอุตสาหกรรมน่าจะเสียหายเกินกว่า 2 แสนล้านบาท การที่มีบริษัทประกันภัยต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากและได้รับทราบถึงความเสียหายอย่างรุนแรง จึงเป็นตัวช่วยยืนยันถึงความเสียหายของภัยพิบัติในครั้งนี้เป็นอย่างดี ทำให้บริษัทประกันภัยต่างชาติในไทยเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ประกาศงดรับงานประกันภัยน้ำท่วมทุกกรณี ทั้งกรณีลูกค้ารายใหม่ และลูกค้ารายเก่าที่ต่ออายุกรมธรรม์ รวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ซึ่งครอบคลุมภัยน้ำท่วมและภัยธรรมชาติอื่นอยู่ด้วย โดยขอให้ลูกค้าเลือกทำประกันภัยประเภทอื่นๆ แทน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้บริษัทประกันภัยสัญชาติไทยหลายบริษัทต้องจำใจปรับความคุ้มครองงดรับภัยน้ำท่วมไปด้วย เนื่องจากถูกบังคับจากสัญญาประกันภัยต่อในส่วนของประกันภัยทรัพย์สิน แต่ส่วนของประกันภัยรถยนต์ก็มีปรับเงื่อนไขไม่รับประกันประเภท 1 กรณีที่ลูกค้าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม (รวมลูกค้าเก่าที่ต่ออายุประกันด้วย) โดยขอให้ทำประกันประเภทอื่นแทน เรื่องนี้เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่ทำให้เกิดการไปยื่นร้องเรียนที่สำนักงาน คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธรุกิจประกันภัย) ถึงความไม่ชอบธรรมที่บริษัทประกันภัยปฏิบัติต่อลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้ารายเก่าที่ทำประกันภัยมาก่อนหน้านี้หลายปี และมีการคุ้มครองภัยน้ำท่วมมาตลอด แต่พอมาปีนี้กลับถูกบริษัทประกันภัยเดิมปฏิเสธการต่ออายุประกันภัยในส่วนของภัยน้ำท่วมโดยอ้างเหตุผลของสัญญาประกันภัยต่อมีการเปลี่ยนแปลง ในมุมมองของลูกค้าเห็นว่า เมื่อตนเองซื้อประกันโดยรวมภัยคุ้มครองน้ำท่วมมาตลอด จ่ายเบี้ยประกันเพิ่มในส่วนนี้มาตลอดก็เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองเมื่อเกิดภัยน้ำท่วมและได้รับความเสียหาย ขณะเมื่อมีเหตุการณ์ภัยน้ำท่วมจริง บริษัทกลับมาปฏิเสธการต่ออายุในเงื่อนไขเดิม จึงทำให้เสียความรู้สึกและเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัย ในมุมมองของบริษัทประกันภัยเห็นว่า เงื่อนไขในการทำประกันภัยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี และในระหว่างปีที่อยู่ในอายุสัญญา หากเกิดภัยความเสียหายขึ้นจากภัยที่คุ้มครอง เช่น ภัยน้ำท่วม บริษัทมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบคุ้มครองตามสัญญา แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทั้งบริษัทและลูกค้าต่างก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขข้อตกลงที่จะให้คุ้มครองในปีต่ออายุได้ เช่น บริษัทจะขอปรับเพิ่ม/ลดอัตราเบี้ยประกัน ปรับเปลี่ยนแปลงลดภัยที่จะคุ้มครอง หรือแม้กระทั้งงดรับต่ออายุประกัน ทั่งนี้ภายใต้กรมธรรม์และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยซึ่งดูแลโดยสำนักงาน คปภ. ในทำนองเดียวกันลูกค้าก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขคุ้มครองของกรมธรรม์ในปีต่ออายุประกันได้ เช่นขอลดภัย หรือซื้อภัยเพิ่มที่จะให้คุ้มครองปีต่ออายุ หรือ ขอต่อรองเงื่อนไขอื่นๆ หากตกลงกันได้ก็ต่ออายุกรมธรรม์ตามเงื่อนไขใหม่นั้น แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ลูกค้าก็ไม่ต่อประกันกับบริษัทประกันเดิม อาจเปลี่ยนไปทำประกันภัยกับบริษัทใหม่ก็ถือเป็นสิทธิ์ของลูกค้า ดังนั้นการจะต่อประกันหรือรับประกันภัยต่อหรือไม่ ถือเป็นสิทธิ์ของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายเท่าเทียมตามแต่จะพึงพอใจต่อกัน ภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์และกฎหมาย ดังนั้นเมื่อบริษัทประกันภัยต้องอยู่ภายใต้สัญญารับประกันภัยต่อที่จะร่วมรับเสี่ยงภัยแจ้งงดรับประกันภัยน้ำท่วม หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองของภัยน้ำท่วม บริษัทจำเป็นต้องแจ้งลูกค้าว่าหากจะประสงค์ต่ออายุกรมธรรม์ เงื่อนไขความคุ้มครองในส่วนภัยน้ำท่วมต้องปรับเปลี่ยนใหม่ตามข้อตกลงของสัญญารับประกันภัยต่อ ถ้าลูกค้ารับได้ก็ต่อประกันในเงื่อนใหม่ หากรับไม่ได้ก็ไม่ต้องซื้อภัยน้ำท่วม ถือเป็นการทำหน้าที่ของบริษัทผู้รับประกันภัยโดยชอบ ส่วนการที่ลูกค้าจะไม่พอใจก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจในความรู้สึก แต่ก็อยากให้ลูกค้าเข้าใจบริษัทประกันภัยในฐานะที่ต้องอยู่ภายใต้สัญญาประกันภัยต่อที่เข้ามาร่วมรับเสี่ยงภัยด้วย เนื่องจากสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาแบบปีต่อปี และมีกำหนดแน่นอน ในทางปฏิบัติถือเป็นสัญญาสุภาพบุรุษ หรือจารีตประเพณีแต่เดิมของวงการประกันภัย คือ บริษัทจะให้สิทธิ์ลูกค้าเดิมโดยคงเงื่อนไขเดิมไว้ตลอดแม้ในปีต่ออายุ ยกเว้นจะมีประกาศ คปภ. หรือเงื่อนไขทางกฎหมายให้เปลี่ยนแปลง หากบริษัทใดเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองในปีต่ออายุที่แตกต่างไปจากเดิมและเป็นโทษต่อผู้เอาประกัน บริษัทนั้นๆ ก็จะไม่ได้รับความนิยมจากลูกค้า เพราะความรู้สึกของลูกค้า คือ กำลังถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัย แตกต่างกับสัญญาในกรมธรรม์ประกันชีวิตจะมีอายุสัญญามากกว่า 1 ปีตามที่ตกลงกัน หรืออาจตลอดชีวิต บริษัทจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ ระหว่างสัญญาได้ ยกเว้นการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขที่เป็นคุณแก่ผู้เอาประกัน ที่นี้เราลองมาดูถึงสภาพความเป็นจริงว่าสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด ถึงทำให้บริษัทรับประกันภัยต่อ ปฏิเสธที่จะรับประกันภัยต่อในส่วนภัยน้ำท่วม ธนาคารโลกประเมินความเสียหายที่เกิดน้ำท่วมในไทย มีมูลค่าประมาณ 1 ล้าน 4 แสนล้านบาท ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ ลดลงร้อยละ 1.2 ดร. วีระพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. เปิดเผยว่า จากการหารือกับประธานและคณะผู้บริหารบริษัท LLOYD INSURMCE ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยต่อขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่ประเทศอังกฤษ ไทยจำเป็นต้องมีการชี้แจงถึงแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นรูปธรรมอีกครั้ง ภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า แต่ยืนยันว่าจะมีการรับทำประกันภัยต่อ อย่างแน่นอน เพียงแต่ในช่วงแรกอาจจะประสบปัญหาในส่วนของการเจรจาถึงเงื่อนไขต่างๆ เนื่องจากต้องการรอดูท่าทีและพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่จริงจังของรัฐบาล นายอานนท์ วังวสุ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสินไหมทดแทน บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประเมินจากการตรวจสอบลูกค้าที่ทำประกันภัยทรัพย์สินและประกันภัยรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย จากน้ำท่วมที่มีการแจ้งเคลมเข้ามาแล้วจนถึง วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ค่าเสียหายรวมกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายที่บริษัทรับประกันไว้เอง หรือต้องจ่ายเองไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ที่เหลือทำประกันภัยต่อกับบริษัทรับประกันภัยต่อไว้ ด้านนายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนรวมในส่วนของบริษัทจากอุทกภัยครั้งนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ไม่รวมของนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังและบางชัน เป็นค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายเองประมาณ 300 ล้านบาท ที่เหลือเป็นประกันภัยต่อ ในค่าสินไหมทั้งหมดเป็นประกันรถยนต์ประมาณ 70 กว่าล้านบาท จากรถยนต์ 700 กว่าคัน ที่แจ้งเคลมเข้ามาแล้วประเมินค่าเสียหายเฉลี่ยคันละ 100,000 บาท เห็นตัวเลขความเสียหายจากภัยน้ำท่วมที่ประเมินกันแล้วมันมากมายมหาศาลจริงๆ ก็คงต้องเตรียมตัวเตรียมใจเตรียมกระเป๋าได้เลยว่า เงื่อนไขกรมธรรม์และเบี้ยประกันภัยแทบทุกประเภทในปีใหม่นี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่เพิ่มภาระให้ภาคประชาชนแน่นอน มิฉะนั้นบริษัทประกันภัยเองก็จะอยู่ไม่ได้ต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน โดยเฉพาะบริษัทประกันภัยเล็กๆ จะอยู่รอดได้ก็คงต้องควบรวมกันเพื่อให้เกิดความแข็งแรงทางการเงินขึ้นมา สุดท้ายก็คงฝากให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อประกันภัย หรือจะต่ออายุประกันภัย ต้องตรวจสอบเงื่อนไขกรมธรรม์ให้ชัดเจน ว่าคุ้มครองแค่ไหน ตรงกับที่เราต้องการหรือไม่ และที่สำคัญจะซื้อประกันภัยกับบริษัทใดต้องตรวจสถานะการเงินให้ดีว่ายังมีความมั่นคงดีอยู่หรือเปล่า ถ้าจะเลือกซื้อประกันแบบประหยัด ต้องระวังเป็นพิเศษ เดี๋ยวจะเจอปัญหาเมื่อถึงเวลาเกิดความเสียหายจริงขึ้นมา บริษัทแจ้งว่ายังไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ตอนเราเคลม มันจะยิ่งเจ็บช้ำกระดองใจนะครับ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : ประกันภัย