ประกันภัย
สั่งถอนใบอนุญาต
ตามที่ คปภ. ย้ำนโยบายด้านประกันภัยที่เข้มข้นต้องสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจประกันภัยไทยพร้อมแข่งขันในเวทีอาเซียน ( AEC ) ได้ โดยเดินตามนโยบายที่ออกมาแล้ว และปรับให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจ พร้อมจัดการขั้นเด็ดขาด
กับบริษัทที่มีปัญหา หรือ ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและประกาศต่างๆ ฉบับนี้นำเสนอ คปภ. ได้ลงดาบเสนอให้รัฐมนตรีลงนามสั่งถอนใบอนุญาต บริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 576/2556 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด ด้วยบริษัทมีพฤติการณ์ที่หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัย หรือประชาชน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ข้อสรุปข้อเท็จจริง ดังนี้
1. บริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด (บริษัท) มีการดำเนินการในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อ ผู้เอาประกันภัย หรือ ประชาชน บริษัทไม่มีระบบควบคุมการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พรบ.) ไม่มีระบบควบคุมการสอบยันกรมธรรม์ประกันภัยที่จำหน่าย และเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้ถูกต้องตรงกัน ไมมีระบบ ควบคุมการบันทึกบัญชี และสมุดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด มีการบันทึกบัญชีโดยใช้เกณฑ์เงินสด ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่รับรองงบการเงิน
2. นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่ง พรบ. ประกันวินาศภัย พศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พศ. 2551) สั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 และให้บริษัทดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาดของบริษัทเกี่ยวกับฐานะ และการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2556
3. เนื่องจากการแก้ไขประเด็นปัญหายังไม่ลุล่วง ประกอบกับ บริษัทได้ร้องขอขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาออกไป นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้ขยายระยะเวลาการแก้ไขประเด็นปัญหาของบริษัทออกไปอีก 30 วัน โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาดของบริษัทที่มีอยู่เดิมให้แล้วเสร็จ
4. สำนักงาน คปภ. ได้ให้โอกาสบริษัทในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว แต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัทได้ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มเติม ได้แก่ บริษัทไม่ส่งงบการเงิน และรายงานการดำรงเงินกองทุน ตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทมีการกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เรียกเอกสารเพื่อการตรวจสอบการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัท ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถประเมินการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทได้ ดังนั้น หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2556
5. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆ
6. เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับความเดือดร้อน สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือ จากบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 22 บริษัท ยินดีรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ทำประกันภัยไว้กับ บริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด ที่ยังมีผลผูกพันอยู่ โดยขอความร่วมมือให้ผู้เอาประกันภัยซื้อกรมธรรม์ประกันภัยในแบบเดิม ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี แล้วบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือของกรมธรรม์ประกันภัยเดิม ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิ์ที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือจากผู้ชำระบัญชี หรือจากกองทุนประกันวินาศภัยให้แก่บริษัทที่รับโอนกรมธรรม์ประกันภัยนั้นด้วย
7. สำหรับผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี และกองทุน ประกันวินาศภัย ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยออกประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชน ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อผู้ชำระ บัญชีของบริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด ได้ ตามสถานที่ดังต่อไปนี้
1. ส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้
(1) สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทร์เกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
(2) สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
(3) สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
2. ส่วนภูมิภาค ยื่นที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ
8. สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่และภายในกำหนดเวลาที่ระบุข้างต้น พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียน นิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ
9. ปัจจุบันมีกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อชวยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัย จะต้องไปขอรับชำระหนี้จากผู้รับชำระบัญชี และ/หรือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายก่อน หากจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท (ผู้ชำระบัญชี และ/หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) มีไม่เพียงพอ เจ้าหนี้ ดังกล่าวมีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากกองทุน ฯ แต่รวมกันแล้วทุกสัญญาไม่เกิน 1 ล้านบาท/ราย
สำหรับรายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย สามารถดูได้จากเวบไซท์ ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186
รายชื่อบริษัทที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย และผู้มีสิทธิ์เรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ลำดับที่ ชื่อบริษัท
1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
4. บริษัท เอไอจี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน)
9. บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
10. บริษัท นิวอินเดีย แอสชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย
11. บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย
12. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน2 จำกัด (มหาชน)
13. บริษัท ฟินิกซ์ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
14. บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด (สาขาประเทศไทย)
15. บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
16. บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
17. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
18. บริษัท สหมงคลประกันภัย จำกัด (มหาชน)
19. บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)
20. บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)
21. บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
22. บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
สำหรับ ท่านผู้อ่านที่มีกรมธรรม์ประกันภัยไว้กับ บริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด หรือ มีญาติ มี เพื่อน ทำประกันไว้กับบริษัทดังกล่าว แนะนำให้ไปรีบดำเนินการตามที่ คปภ. ประกาศไว้ข้างต้น ถ้าช้าไปจะยิ่งเสียหายมากยิ่งขึ้น และควรเลือกทำประกันกับบริษัทที่มีฐานะมั่นคงทางการเงินเป็นอันดับแรก อย่ากลัวแพง สิ่งที่น่ากลัวคือไม่มีจ่าย หรือ เจ๊งก่อนจ่าย" นะครับ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ประกันภัย