ประกันภัย
เบี้ยแพงประกันภัยออกอาการ
โอ้ละพ่อ ประกันภัยไทยส่อแววอาการจะไปต่อกันยังไง หลังจากน้ำท่วมใหญ่ 2554 ค่าสินไหมทดแทนประเมินออกมาอ่วมอรทัย ตัวเลขจ่ายอาจเกินกว่า 4 แสนล้านบาท มากกว่าที่ประเมินแต่แรก 2-3 เท่า มีหลายบริษัทจ่ายค่าสินไหมไปแล้วกว่า 3-5 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ยังมีเคลมค้างยังไม่จบอีกมากมาย ทั้งธุรกิจเครียดไปตามๆ กันดังที่เคยพูดคุยกันไว้ 2-3 ฉบับก่อนหน้านี้ ที่เห็นทิศทางเบี้ยประกันภัยมีโอกาสปรับขึ้น 10-30 % เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วมเขาใหญ่ โคราช ต่อมาก็ที่หาดใหญ่ สงขลา แต่พอมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กว่า 60 จังหวัด บ้านเรือน ไร่นา ตลอดจนธุรกิจอุตสาหกรรมจมอยู่ใต้น้ำ บริษัทประกันภัยถึงขั้นประกาศหยุดรับประกันภัยภัยน้ำท่วมทั้งประเทศ รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกี่ยวเนื่องได้แก่ ภัยพายุ ภัยเปียกน้ำ ภัยแผ่นดินไหว เกิดความระส่ำระสายกันทั้งเมือง พอตั้งสติได้ตั้งแต่ต้นปี 2555 ทุกบริษัทยังคงหนาวๆ ร้อนๆ เนื่องจากต่างประเทศปรับสัญญาประกันภัยต่อใหม่ทั้งระบบ ที่เกี่ยวเนื่องกับภัยธรรมชาติเพิ่มเบี้ยประกัน 5-10 เท่า โดยมีกำหนดวงเงินความรับผิดเพียง 10-20%ของทุนประกันรวม แถมยังให้ผู้เอาประกันรับผิดชอบความเสียส่วนแรก 10 % ของความเสียหายแต่ละภัยแต่ละครั้ง หรือขั้นต่ำต้องรับผิดชอบเอง 100,000 บาทแรกของแต่ละภัย ลูกค้าตะลึง เมื่อบริษัทประกันภัยแจ้งเบี้ยปีต่ออายุเพิ่มจากเดิม 20 %-200 % ถึงกับด่าบริษัทประกันหน้าเลือดเอาเปรียบฉวยโอกาส ขึ้นเบี้ยแบบรับไม่ได้ ด้านบริษัทประกันภัยได้แต่ฟังตาปริบๆ บอกภัยไหนที่เบี้ยเพิ่มขึ้นแพงก็ไม่ต้องซื้อก็ได้ เพราะถ้าจะใช้อัตราเบี้ยเดิม ก็ไม่สามารถรับได้ เพราะเข้าสัญญาประกันภัยต่อไม่ได้ นอกจากนี้บริษัทประกันภัยเล็กๆ อีกหลายบริษัท ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาประกันภัยต่อกับต่างประเทศได้เลย ลูกค้าแจ้งต่อประกันก็รับงานไม่ได้ เศร้าใจแทน ลองมาฟังผู้บริหารของแต่ละบริษัท ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ จิรวุฒิ บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทต่อสัญญาประกันภัยภัยธรรมชาติได้แล้ว แต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงขึ้น จากเดิมประมาณ 4 เท่า ขณะที่ความคุ้มครองน้อยลง เหลือ 1,500 ล้านบาท จากเดิมได้ถึง 2,000 ล้านบาท สามารถขายประกันภัยธรรมชาติให้กับลูกค้าได้ทันทีก็จริง แต่ราคาเบี้ยประกันภัยที่โค้ดออกไป อาจจะไม่เหมาะสม ลูกค้าอาจจะได้เบี้ยประกันแพงเกินไปเพราะข้อมูลการจ่ายสินไหมลูกค้ารายย่อย ที่เป็นบ้านอยู่อาศัยยังไม่นิ่ง ซึ่งค่าสินไหมที่จ่ายไปคือองค์ประกอบสำคัญที่นำมาคำนวณเบี้ย เรามีบ้านอยู่อาศัยที่เป็นลูกค้าสินเชื่อแบงค์ ไทยพาณิชย์ ที่ซื้อประกันน้ำท่วมกับเรา 100,000 กรมธรรม์ จากกรมธรรม์บ้านอยู่อาศัยทั้งหมด ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม 170,000 กรมธรรม์ เราเชื่อว่าน่าจะมีลูกค้ารายย่อยกลุ่มนี้มากที่สุด ในประเทศไทยนี่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในการกำหนดราคาเบี้ยที่เหมาะสมให้กับลูกค้า แต่ตอนนี้เราเพิ่งตกลงค่าเสียหายเสร็จไปเพียง 4,500 ราย หรือประมาณ 30 % จากลูกค้าที่มีแจ้งเคลมเข้ามาแล้วประมาณ 12,000-15,000 ราย ยังเร็วเกินไป ที่จะเอาข้อมูลมาคำนวณค่าเบี้ยเพื่อโค้ดราคาให้กับลูกค้า เราก็ดูตลาดอยู่ จะเริ่มโค้ดราคากันหรือยัง แต่หากแบงค์จะขาย เราก็มีราคาให้ แต่อาจจะแพงอย่างที่ว่า รออีกหน่อยอาจจะได้ราคาถูกลง คาดว่าสิ้นกุมภาพันธ์ตัวเลขน่าจะนิ่ง ด้าน จีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทต่อสัญญาประกันภัยธรรมชาติ จบไปตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ที่ผ่านมา จ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น กว่าเดิม 10 เท่า โดยความคุ้มครองภัยธรรมชาติรวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน กี่เดช อนันต์ศิริประภา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้บริษัทจะต่อสัญญาประกันภัยภัยธรรมชาติ กับบริษัทแม่คือ แอกซา กรุพ โดยต่อสัญญาจบไปแล้วก็ตาม แต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยแพงขึ้นจากเดิม ประมาณ 5 เท่า เพราะบริษัทแม่ต้องไปซื้อประกันภัยต่อกับบริษัทอื่นด้วย นที พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เราต่อสัญญาประกันภัยทรัพย์สินเพิ่มคุ้มครองภัยธรรมชาติได้หมดแล้ว รวมอยู่ในสัญญาหลัก ไม่ต้องแยกสัญญาออกมา แต่เบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นจากเดิมเยอะมาก วิ่งตั้งแต่ 2 เท่าถึง 10 เท่า ขึ้นอยู่กับภัย เพราะภัยธรรมชาติมีหลายอย่าง เช่น ลมพายุมีความเสี่ยงน้อย เบี้ยเพิ่มขึ้นมามาก แต่ถ้าเป็นภัยที่เกี่ยวกับน้ำ เบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นเยอะสุดถึง 10 เท่า อีกทั้งยังลดความคุ้มครองลงมา จำกัดวงเงินความรับผิด จำนวนเงินความรับผิด มี 3 ระดับ ไม่เกิน 1 ล้านบาท, 5 ล้านบาทและสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ของความรับผิด อยู่ที่บริษัทจะดีไซจ์นความคุ้มครองให้กับลูกค้า และพื้นที่นั้นๆ มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ แต่ละภัยมากแค่ไหนส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันกำหนดให้ลูกค้ารับผิดค่าเสียหายส่วนแรก DEDUCTIBLE จำนวนเงินขึ้นอยู่กับภัย บางภัยสูง บางภัยต่ำ โดยวงเงินคุ้มครองประกันภัยต่อความเสียหายส่วนเกิน (EXCESS OF LOSS) ที่ทางบริษัทรับประกันภัยต่อ เปิดให้กับบริษัทไม่เกิน 500 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัท และการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยด้วย แต่หากมีความต้องการมาก สามารถซื้อเพิ่มภายหลังได้ ทั้งนี้ ไทยศรีประกันภัย ฯ ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีประกันต่อ ด้านของ คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการจัดตั้งกองทุนประกันภัย ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท สำนักงาน คปภ. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยทั้ง 67 บริษัท เพื่อเตรียมการรองรับการจัดตั้งกองทุนประกันภัย ซึ่งกองทุนดังกล่าว จะให้ความคุ้มครองความความเสี่ยงภัย ใน 3 ภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว และครอบคลุมกลุ่มทรัพย์สิน ได้แก่ บ้านที่อยู่อาศัย SME และอุตสาหกรรม ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดจำนวนเงินจำกัดความรับผิด ของแต่ละกลุ่มทรัพย์สิน เพื่อให้บริษัทประกันภัย สามารถรับประกันภัยได้ตามความต้องการของตลาด จึงได้จัดให้มีการเอาประกันภัยต่อ เพื่อรองรับความเสียหายต่อเหตุการณ์ ความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ขณะนี้ สำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัย อยู่ระหว่างการร่างกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ และศึกษาอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการปรับตามพื้นที่ความเสี่ยง โดยศึกษาและเทียบเคียงจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึง เพียงพอในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทประกันภัย จะรับความเสี่ยงภัยพิบัติไว้เองอย่างน้อย 1 % หรือขึ้นอยู่กับความสามารถ ในการรับประกันภัยของแต่ละบริษัท ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ จะเป็นแบบจำกัดความรับผิด โดยภาคครัวเรือน กำหนดทุนประกันภัยไว้ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับ SME ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ให้ความคุ้มครองที่รายละ 20 % ของทุนประกันภัย ทั้งนี้ต้องไม่เกินวงเงิน 200 ล้านบาท ขณะนี้เบี้ยประกันภัย ยังคงมีราคาสูงอยู่ เนื่องจากอุทกภัยเพิ่งผ่านพ้นไป ดังนั้น กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ จะยังไม่มีการซื้อการประกันภัยต่อจากต่างประเทศ ต้องรอระยะเวลาสักช่วงหนึ่ง เพื่อให้เบี้ยประกันภัยถูกลง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เบี้ยประกันภัยถูกลง ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐาน และมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี มีประสิทธิภาพ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศ ประกอบกับหากประชาชน มีการซื้อประกันภัยมากขึ้น กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ จะมีทุนประกันภัยเพิ่มขึ้น ทำให้มีอำนาจต่อรองและสามารถซื้อประกันภัยต่อในต่างประเทศได้ในอัตราที่ถูกลง โดยสรุปแล้ว สำหรับพี่น้องประชาชน ยังคงต้องซื้อประกันภัยในอัตราเบี้ยประกันภัย อันเกี่ยวเนื่องกับภัยธรรมชาติแพงมากกว่าเดิม 2-10 เท่า จนกว่ากองทุนภัยพิบัติ จะพร้อมออกกรมธรรม์ในส่วนนี้มาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง แต่หากท่านมีข้อสงสัย ก็สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : ประกันภัย