สาระเชิงโฆษณา(formula)
เราจะฝ่าวิกฤต
สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกับผู้ใช้รถใช้ถนน อย่างจัง !!!
"ฟอร์มูลา" จึงขอเสนอแนวทางในการปรับตัวเข้ากับสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อรถที่เหมาะสม (กับฐานะ) โดยเน้นเรื่องการประหยัดเชื้อเพลิงเป็นหลัก รวมถึงการแนะนำรถยนต์ ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงราคาถูก ที่ผู้อ่านอาจยังไม่ทราบว่ามีจำหน่ายในบ้านเรา (แต่บางคันราคาไม่ถูก) พร้อมแนะนำวิธีการขับขี่ให้เผาผลาญเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ปิดท้ายด้วย แอพพลิเคชัน (พโรแกรมประยุกต์) บนโทรศัพท์มือถือ ที่มีส่วนช่วยในการวางแผนการเดินทาง เชิญติดตามได้จากรายงาน
รถยนต์ทางเลือกใหม่ ยุคน้ำมันแพง
น้ำมัน ถือเป็นเชื้อเพลิงหลัก ที่ใช้กับรถยนต์ โดยเมื่อราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น ผู้ที่กำลังจะเลือกซื้อรถยนต์ จึงจำเป็นต้องเลือกรถที่ตอบโจทย์ให้กับเรื่องนี้ได้อย่างถูกทาง สำหรับรถยนต์ทางเลือกยุคน้ำมันแพงนั้น มีมากมายหลากหลาย ซึ่งเราคัดสรรมาให้พิจารณากันตามหัวข้อ ดังต่อไปนี้
รถยนต์พลังไฟฟ้า
ไม่ง้อน้ำมัน แถมไร้มลภาวะ
เปลี่ยนแนวคิดจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีของบริษัทผู้ผลิต ทำให้วิวัฒนาการในการออกแบบ รวมถึงเลือกใช้พลังงานแบบใหม่ด้วยไฟฟ้า หมดปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ด้วยการชาร์จไฟเข้าแบทเตอรี แล้วนำมาใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อน
ปัจจุบันในประเทศไทย ยังเป็นโครงการที่กำลังพัฒนา แต่ในประเทศญี่ปุ่นกับอีกหลายประเทศในยุโรป รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างมีรถไฟฟ้าวิ่งใช้งานทั่วไปกันมานานพอควรแล้ว พร้อมมีสถานีบริการจ่ายกระแสไฟแบบรวดเร็ว (QUICK CHARGE) ที่สามารถประจุไฟได้ประมาณ 80 % ของแบทเตอรี โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ชม. แต่หากจะชาร์จแบบปกติ ต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 ชม./การชาร์จ 1 ครั้ง แต่รถไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดอยู่มากมาย และหนึ่งในนั้นคือ เรื่องของระยะทางการใช้งานที่ค่อนข้างจำกัด (รถไฟฟ้าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สามารถใช้งานได้ไม่เกิน 200 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง)
สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ เทสลา โรดสเตอร์ (TESLA ROADSTER) นิสสัน ลีฟ (NISSAN LEAF) มิตซูบิชิ ไอ เมียฟ (MITSUBISHI I MIEV)
อีโคคาร์
รถแห่งความประหยัด
เพื่อสอดคล้องกับยุคสมัยและนโยบายของภาครัฐ ค่ายผู้ผลิตจึงพัฒนารถยนต์ในรูปแบบอีโคคาร์ ที่สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคได้ใช้รถยนต์ราคาถูก ประหยัดเชื้อเพลิง และมีมลพิษต่ำ
สำหรับชื่อ อีโคคาร์ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็น ECONOMY CAR หรือ รถราคาถูก แต่ความจริงแล้วคือ ECOLOGY CAR หมายถึง รถที่ประกอบในประเทศไทย มีเครื่องยนต์เบนซินความจุไม่เกิน 1.3 ลิตร หรือเครื่องยนต์ดีเซลความจุไม่เกิน 1.4 ลิตร มีอัตราสิ้นเปลือง 20 กม./ลิตร (หรือมากกว่า) ปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศไม่เกิน 120 กรัม/กม. พร้อมมาตรฐานความปลอดภัย UNECE 94 และ 95 ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยของยุโรป แล้วถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดที่กล่าวมาได้ครบทุกประการ ตัวรถจะได้รับการเก็บภาษีในพิกัดอัตราพิเศษ และส่งผลให้มีราคาจำหน่ายถูกกว่ารถระดับเดียวกันที่ไม่ผ่านมาตรฐาน
สำหรับปัจจุบันอีโคคาร์ถูกเปิดตัวออกสู่ท้องตลาดแล้ว 4 บแรนด์ แต่มี 5 รุ่น ได้แก่ ซูซูกิ สวิฟท์ 1.2 นิสสัน มาร์ช นิสสัน อัลเมรา มิตซูบิชิ มิราจ และฮอนดา บรีโอ ส่วนแฟนพันธุ์แท้ โตโยตา คงต้องร้องเพลงรอกันไปอีกสักพัก (ใหญ่) ถึงจะได้ยลโฉมฮีโคคาร์จากค่ายสามห่วง
ไม่ใช่ อีโคคาร์
แต่บริโภคน้ำมันแค่ "จิบ"
รถนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีเครื่องยนต์ไม่เกิน 1.3 ลิตร เป็นทางเลือกในยุคน้ำมันแพงด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้เข้าข่ายอีโคคาร์ เพราะไม่ตรงตามข้อกำหนด ส่วนใหญ่รถกลุ่มนี้ จะมีขนาดเล็ก กะทัดรัด และประหยัดเชื้อเพลิง เหมาะกับชีวิตคนเมือง ได้แก่ เกีย ปิกันโต/เชอรี คิวคิว และ เอ 1/ปโรตอน เซฟวี และ ซากา รวมไปถึง สโกดา ฟาบีอา
ไฮบริด
ขุมพลังลูกผสม
เทคโนโลยีรุ่นล่าสุด ที่จับต้องได้ หนีไม่พ้น ระบบไฮบริด ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ในส่วนของเครื่องยนต์ ยังคงใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง แต่มอเตอร์ไฟฟ้าจะใช้พลังงานจากแบทเตอรี เป็นแหล่งกำเนิดของกำลัง ซึ่งทั้ง 2 ระบบ จะทำงานร่วมกัน
ผลพลอยได้ของการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้า นอกจากจะประหยัดเชื้อเพลิง ในรถยนต์บางบแรนด์ยังช่วยให้มีอัตราเร่งดีขึ้น เมื่อเทียบกับรถรุ่นเดียวกัน ที่ใช้เฉพาะเครื่องยนต์สันดาปภายในความจุเท่ากันอีกด้วย
รถยนต์ไฮบริดที่มีจำหน่ายในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นของค่าย โตโยตา เช่น แคมรี/ปรีอุส และเพื่อนร่วมตระกูล อย่าง เลกซัส จีเอส/แอลเอส ส่วนทางค่ายยุโรปก็มีให้เลือกเช่นกัน ได้แก่ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 แอคทีฟ ไฮบริด กับ โพร์เช พานาเมรา เอส ไฮบริด
เชื้อเพลิงซีเอนจี
แกสธรรมชาติ ราคาเบาๆ
เชื้อเพลิง ซีเอนจี (COMPRESSED NATURAL GAS) คือ แกสธรรมชาติที่ได้จากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ ตามชั้นหินดินต่างๆ เป็นเวลาหลายร้อยล้านปี โดยมีแกส "มีเธน" เป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนใหญ่แล้วแกสชนิดนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุสาหกรรมต่างๆ แต่ในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกเพื่อให้ดูเหมาะที่จะนำมาใช้ในยานพาหนะว่า เอนจีวี (NATURAL GAS VEHICLE) ที่มาจากอ่าวไทยและประเทศพม่า สำหรับขั้นตอนการผลิตต้องผ่านกระบวนการอัดด้วยความดันสูง เพื่อความได้สะดวกต่อการบรรจุและขนส่ง
รัฐสนับสนุน แต่ไม่มีปั๊มเติม
แกสซีเอนจี มีสถานะเป็นแกส เมื่อรั่วไหลสู่ภายนอก จะลอยหายไปในอากาศ (เบากว่าอากาศ) ทำให้ติดไฟได้ยาก ด้วยคุณสมบัติข้อนี้ การนำแกสซีเอนจีมาใช้กับรถยนต์ทั่วไป จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ลดลงเล็กน้อย หากไม่ได้ปรับปรุงเครื่องยนต์เพื่อรองรับค่าออคเทนประมาณ 120 ของแกสซีเอนจีโดยเฉพาะ และด้วยแรงดันประมาณ 280 บาร์ จึงทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ต้องมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้ราคาอุปกรณ์สำหรับติดตั้งแกสชนิดนี้มีราคาสูง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงให้การสนับสนุน ทำให้ราคาแกสซีเอนจี มีราคาต่อหน่วยประมาณ 10 บาท/กก. ซึ่งถูกมากเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน แต่ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องปั๊ม หรือสถานีบริการ ที่ยังมีน้อย การเติมใช้เวลาต่อคิวนาน และข้อจำกัดเรื่องการใช้เชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางไกล เพราะการบรรจุแกสลงถัง 1 ครั้ง ในรถยนต์ทั่วไป สามารถใช้งานได้ระยะทางเฉลี่ยไม่เกิน 250 กม.
รถยนต์พลังซีเอนจี จากโรงงาน
รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้ และได้รับการติดตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิต ปัจจุบันมีด้วยกันหลากหลายค่าย อาทิ เชฟโรเลต์ อาวีโอ ซีเอนจี/โตโยตา อัลทิส ซีเอนจี/ปโรตอน เพอร์โซนา ซีเอนจี/มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ซีเอนจี/เมร์เซเดส-เบนซ์ อี 200 เอนจีที
ดีเซลประหยัดเชื้อเพลิง
เทคโนโลยีของวันนี้
ทเรนด์เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งพัฒนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ยังไม่มีที่สิ้นสุด หลายคนคงเคยสัมผัสกับเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่า ที่มีทั้งควันดำ และมีอัตราเร่งที่เชื่องช้า แต่สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตหลายราย ได้พัฒนาติดตั้งระบบหัวฉีดแบบคอมมอนเรล ซึ่งมีกล่องอีซียูเป็นตัวควบคุมการจ่ายน้ำมัน พร้อมระบบเทอร์โบชาร์จ และอินเตอร์คูเลอร์ จนทำให้ได้อัตราเร่งที่ดี แถมประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทย มีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลจำหน่ายอยู่มากมายหลายบแรนด์ แต่ทั้งหมดมาจากค่ายยุโรปกับอเมริกาเท่านั้น อาทิ แจกวาร์ เอกซ์เจ 3.0 ดี/เชฟโรเลต์ ครูซ 2.0 วีซีดีไอ แอลทีเซด/บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 320 ดี/ซีรีส์ 5 520 ดี และ 525 ดี/ซีรีส์ 7 730 แอลดี/เปอโฌต์ 508 เอซดีไอ/โพร์เช พานาเมรา ดีเซล/เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ 250 ซีดีไอ/อี-คลาสส์ 350 ซีดีไอ และ เอส-คลาสส์ 350 ซีดีไอ/โวลโว เอส 80 ดี 3/ เอมทีเอม เอ 7 3.0 ทีดีไอ/เอาดี เอ 6 ทีดีไอ เป็นต้น
แกสโซฮอล อี 85
น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาถูก
เชื้อเพลิงแกสโซฮอล ที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศ ต้องบอกว่า แกสโซฮอล อี 85 ราคาถูกที่สุด เพียงลิตรละไม่ถึง 24 บาท โดยเป็นเชื้อเพลิงมีส่วนผสมของ เอธานอล ที่กลั่นมาจากอ้อยและมันสำปะหลัง 85 % ผสมกับน้ำมันเบนซินอีก 15 % และนอกจากราคาต่อหน่วยที่ถูกกว่า แล้วผลพวงที่ได้อีกอย่าง คือ ช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ให้มีรายได้งอกงาม ทั้งยังช่วยชาติลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศอีกด้วย โดยในประเทศบราซิลและอีกหลายประเทศในแถบยุโรป ใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ เป็นพลังงานหลัก เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตมีมากมาย จนทำให้ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง ฟอร์ด บีเอมดับเบิลยู โวลโว และอีกหลายค่ายได้พัฒนาเครื่องยนต์เพื่อรองรับกับเชื้อเพลิงชนิดนี้
สำหรับในประเทศไทย ยังติดปัญหาเรื่องสถานีบริการที่ยังมีน้อย แต่ก็มีค่ายรถยนต์นำรถประเภทนี้มาจำหน่าย อาทิ เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที/จีทีซี และ มุลซานน์/มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอกซ์ 1.8 เอฟเอฟวี/ โวลโว เอส 80/เอส 60 ดไรฟ และ วี 60 ดไรฟ เป็นต้น
เชื้อเพลิงแอลพีจี
รัฐไม่สนใจ แต่ใครๆ ก็นิยม
เชื้อเพลิงอีกหนึ่งทางเลือก ได้แก่ แกสแอลพีจี (LIQUEFIED PETROLEUM GAS) หรือ แกสปิโตรเลียมเหลว ซึ่งมี พโรเพน (PROPANE) บิวเทน (BUTANE) เป็นส่วนประกอบหลัก หรือที่บ้านเราคุ้นเคยกันในนาม "แกสหุงต้ม" เป็นแกสที่มีคุณสมบัติเป็นของเหลว ไม่มีสีไม่มีกลิ่น ในกระบวนการผลิตผู้ผลิตได้เติมสาร "ใข่เน่า" ผสมเข้าไปด้วย เพื่อใช้เป็นจุดสังเกตหากเกิดการรั่ว เนื่องจากแกสแอลพีจีหนักกว่าอากาศ ดังนั้นหากเกิดการรั่วไหลขึ้นแกสจะนองอยู่บนพื้น
ปัจจุบันแกสแอลพีจี ได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนกันอย่างแพร่หลาย ด้วยคุณสมบัติเด่นของตัวมันเองหลายอย่าง ทำให้เมื่อนำมาใช้กับรถยนต์สันดาบภายใน ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์โดยรวมแทบจะไม่แตกต่างจากการใช้น้ำมัน (ถ้าได้รับการปรับตั้งส่วนผสมอย่างถูกต้องเหมาะสม) มีราคาต่อหน่วยถูกกว่าน้ำมันเกินครึ่ง (ประมาณ 13 บาท/ลิตร) และด้วยแรงดันแกสไม่เกิน 7 บาร์ ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ มีราคาถูก สถานีบริการก็มีมากมายทุกหนทุกแห่งของประเทศ
เขาว่าอย่างนั้นจริงไหม ?
1. ถาม : รถเกียร์ธรรมดา ประหยัดกว่าเกียร์อัตโนมัติ
ตอบ : จริงและไม่จริง ในอดีดนั้นจริง เนื่องจากเกียร์อัตโนมัติ ต้องแบ่งกำลังส่วนหนึ่งจากเครื่องยนต์ไปหมุนทอร์คคอนเวอร์เตอร์ในเกียร์ ส่วนเกียร์ธรรมดาไม่ต้อง ส่วนที่ไม่จริงเพราะรถสมัยใหม่ได้พัฒนาเกียร์อัตโนมัติให้มีแรงเสียดทานน้อย เช่น เกียร์ ซีวีทีในอีโคคาร์ เกียร์แบบนี้ถึงเป็นเกียร์ธรรมดาก็สู้ไม่ได้
2. ถาม : รถเก๋งเครื่องยนต์ดีเซล ประหยัดกว่ารถเก๋งเครื่องยนต์เบนซิน
ตอบ : จริง รถเก๋งเครื่องยนต์ดีเซล จะมีอัตราสิ้นเปลื่องน้อยกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ที่มีความจุเท่ากัน เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลสามารถพัฒนาต่อยอดได้มากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน โดยเฉพาะระบบควบคุมการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (ระบบคอมมอนเรล) ให้สามารถควบคุมปริมาณการฉีดได้แม่นยำ และให้แรงบิดสูงกว่าในรอบที่ต่ำกว่าอีกด้วย
3. ถาม : ขับรถปิดแอร์ช่วยประหยัดน้ำมัน
ตอบ : จริง เนื่องจากระบบปรับอากาศต้องอาศัยกำลังส่วนหนึ่งในเครื่องยนต์มาขับคอมเพรสเซอร์เพื่อหมุนเวียนน้ำยาแอร์ในระบบ ลองสังเกตในขณะขับขี่เปิดแอร์ตามปกติ หากคอมเพรสเซอร์หยุดทำงาน ผู้ขับจะรู้สึกได้ถึงกำลังเครื่องยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อภาระของเครื่องยนต์ลดลง อัตราสิ้นเปลืองจะลดลงเช่นเดียวกัน
วิธีขับรถให้ประหยัด
การขับรถให้ประหยัดเชื้อเพลิง ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากน่าจะเป็นการข่มใจต่อสิ่งเร้ารอบข้าง ที่มักยั่วยวนกวนอารมณ์อยู่เสมอ "ฟอร์มูลา" ขอเสนอวิธีขับรถให้ประหยัดเชื้อเพลิงอย่างง่ายๆ เผื่อผู้อ่านบางท่านอาจจะ "ลืม" ข้อใดข้อหนึ่งไป มีวิธีไหนบ้าง ไปดูกัน...
(1) ออกรถอย่างราบเรียบ ไม่ใช้รอบเครื่องที่สูงนัก ไม่เร่งรอบเครื่อง เวลาจอดอยู่กับที่
(2) ใช้ความเร็วไม่สูง รถยนต์โดยทั่วไป ความเร็วที่ประหยัดน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 กม./ชม.
(3) วางแผนการเดินทางให้ดี หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกเส้นทางที่สั้นที่สุด
(4) เลือกอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม (ไม่เย็นเกินไป) และควรตรวจเชคระบบปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ
(5) ใช้เกียร์ให้สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ (เปลี่ยนเกียร์ให้สูงขึ้น ภายในรอบไม่เกิน 3,000 รตน.) ไม่ควรลากเกียร์
(6) ทางเดียวกันไปด้วยกัน (CAR POOL) ลดปัญหาการจราจร ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
(7) ใช้คลัทช์ให้ถูกต้อง เวลาหยุดรถแบบชั่วคราว ควรใช้เบรคเท้า หรือเบรคมือ แทนการเหยียบคลัทช์แช่ไว้ และไม่วางเท้าไว้บนแป้นคลัทช์
(8) ลดการใช้เบรคโดยไม่จำเป็น พยามยามขับรถด้วยความเร็วสม่ำเสมอ
(9) ใช้คันเร่งอย่างนุ่มนวล ไม่ควรเร่งเครื่องโดยไม่จำเป็น
(10) ไม่ติดเครื่องยนต์ค้างไว้ ขณะจอด เพราะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ที่สำคัญควันจากท่อไอเสียอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนรอบข้างอีกด้วย
(11) ติดฟีล์มกรองแสงบนกระจกรถ เพื่อลดความร้อนจากแสงแดด และยังช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย
(12) ติดตามข่าวสารการรายงานสภาพจราจรจากวิทยุ อาทิ จส. 100/สวพ.91 เป็นต้น
(13) ติดจีพีเอสไว้ อุ่นใจกว่า ในกรณีที่ต้องเดินทางในสถานที่ ที่ไม่เคยไปมาก่อน การติดจีพีเอสเพื่อบอกพิกัด และจุดหมาย ทำให้ลดเวลา (หลงทาง) ช่วยประหยัดน้ำมันได้อีกทาง
"แอพพลิเคชัน" ตัวช่วยแห่งยุค 3G
โทรศัพท์มือถือยุคปัจจุบัน มีระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยม และถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ได้แก่ APPLE IOS/ANDROID OS/BLACKBERRY OS และ WINDOW MOBILE โดยต่างมีแอพพลิเคชัน (APPLICATION) ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางจราจรที่น่าสนใจมากมาย ให้ดาวน์โหลดมาใช้งานกันแบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากค่าเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เนทที่ (จำใจ) ต้องจ่ายกันอยู่เป็นประจำทุกเดือน "ฟอร์มูลา" ได้รวบรวมแอพพลิเคชันที่น่าสนใจไว้แล้ว โดยจุดเด่นของแอพพลิเคชัน จะเน้นที่การตรวจสอบสภาพจราจร แบบนาทีต่อนาที (REAL TIME) ส่วนใหญ่ระบบเน้นที่สี่แยกใหญ่ๆ ที่มีการจราจรคับคั่งในเขตกรุงเทพ ฯ โดยจะเชื่อมต่อกับกล้อง CCTV เพื่อเรียกดูภาพเหตุการณ์ ประเภทอุบัติเหตุ หรือสภาพจราจรบนถนน ที่เราต้องการตรวจสอบ (เหตุการณ์ย้อนหลังประมาณ 5 นาที) และแอพพลิเคชันบางตัว ยังสามารถเชื่อมต่อระบบ จีพีเอส เพื่อหาจุดหมายปลายทางที่เราต้องการจะไปได้เช่นกัน
1. I TRAFFIC (APPLE IOS)
2. LONGDO MOBILE (APPLE IOS/ANDROID OS/BLACKBERRY OS/WINDOW MOBILE)
3. TRAFFIK (APPLE IOS)
4. TRAFFIC POLICE BY DTAC (APPLE IOS/ANDROID OS)
5. TRAFFY FOR IOS (APPLE IOS ของ TRUEMOVE เท่านั้น)
6. TRAFFY BSAFE (APPLE IOS/ANDROID OS/BLACKBERRY OS/WINDOW MOBILE)
7. TRAFFROID (ANDROID OS)
8. TVIS (ANDROID OS)
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พศ. 2551 หัวข้อ "ห้ามใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถ" ได้มีกำหนดใช้อย่างจริงจังแล้ว การกดโทรศัพท์เพื่อเชคสภาพการจราจร นั่นถือเป็นข้อห้ามด้วยเช่นกัน ดังนั้น การจะเชคสภาพการจราจร ควรทำขณะรถหยุดนิ่ง มิเช่นนั้น อาจไปติดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแทนก็เป็นได้
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
ภาพโดย : ราชวัตร แสงจันทรานิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : สาระเชิงโฆษณา(formula)