ระหว่างเพื่อน
รัฐบาลกับน้ำมัน
เมืองไทยของเราเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ถึงวันนี้ก็มีอายุ 80 ปี ถ้าเป็นอายุขัยของผู้คน ถึงตายไปก็คงไม่มีปัญหา เพราะที่อยู่มาเป็นกำไรชีวิต ตามสำนวนที่ว่ากัน แต่ระบอบการปกครองคงไม่ใช่อายุคน การเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งต้องมีเหตุมีผลผมกำลังอ่านหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง ชื่อ THE SEVEN SISTERS เขียนโดย แอนโทนี แซมพ์สัน นักข่าวชาวอังกฤษ เสียชีวิตแล้ว หนังสือเล่มนี้พิมพ์จำหน่ายในปี 2515 หรือเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน ว่าด้วยน้ำมันของโลก ผมเข้าใจว่า หนังสือเล่มนี้คนในวงการน้ำมันคงคุ้นเคย หรืออย่างน้อยก็ได้ยินคำว่า THE SEVEN SISTERS ซึ่งผู้บัญญัติคำเป็นซาร์เศรษฐกิจชาวอิตาเลียนชื่อ เอนรีโก มัตเตอี หมายถึง บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ 7 บริษัท รวมหัวกันครองโลกด้วยน้ำมัน ไม่น่าเชื่อว่า น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นผู้ทรงอิทธิพลใหญ่สุดของโลก เปลี่ยนแปลงทุกอย่างบนโลกนี้อย่างน่าอัศจรรย์ คนเราบริหารงานอยู่ดีๆ และเป็นคนสามัญอยู่ดีๆ น้ำมันก็เปลี่ยนหัวหาง กลายเป็นคนพิเศษ เป็นอัครมหาเศรษฐี แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้อัครมหาเศรษฐีฉิบหายวายวอดได้โดยไม่รู้ตัว ผู้นำบริษัทน้ำมันหลายคน เรียกว่า ทอพสุดของบริษัท มีชีวิตหอมหวาน ยึดครองเก้าอี้บริษัทเป็นสิบๆ ปี บางคนก็ 20 บางคนก็ 30ปี เป็นผู้ทรงอิทธิพล มีอำนาจสูง ถ้าเป็นคนอังกฤษก็ได้เป็นท่านเซอร์ได้เครื่องราช ฯ แต่ฉากจบของผู้นำ ไม่สวยอย่างที่ควร เพราะน้ำมันเกี่ยวข้อง บ้างก็กลายเป็นผู้ทรยศ บ้างก็กลายเป็นลูกหาบของจอมเผด็จการฮิทเลร์ของเยอรมนี ทุกสิ่งล้วนเกิดจากน้ำมัน นอกจากมีอิทธิพลกับผู้คนแล้ว น้ำมันยังทรงอิทธิพลทางการทูต มีบทบาทร่วมในการเมืองระหว่างประเทศ ประเทศที่รุกรานดินแดนกันเสมอ รวมตัวกันได้เพราะน้ำมัน นักการทูตหลายคนต้องทำหน้าที่ดำเนินการทางการทูตเกี่ยวข้องบริษัทน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำมันบันดาลทุกสิ่ง มีอำนาจเหนือรัฐบาล มีรายได้สูงกว่างบประมาณแผ่นดินของรัฐ การเล่นแร่แปรธาตุของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัทน้ำมัน เหนือชั้นกว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ กลไกหรือเครื่องมือของรัฐซึ่งจัดการบริษัทการค้าทุกชนิดได้นั้น แตะต้องไม่ได้ในการค้าเดียว คือ การค้าน้ำมัน ดูความจริงของวันนี้ ก็จะพบว่า น้ำมันเป็นของรัฐเป็นส่วนใหญ่ เพราะเม็ดเงินมหาศาล ปริมาณการค้าของมันก็มหาศาล ราคาน้ำมันกระดิกขึ้นแค่เซนต์เดียว แต่กำไรบานตะไท หรือกระดิกลงเซนต์เดียว นั่นก็แปลว่า วิกฤตโลกมาถึงแล้ว เพราะนั่นหมายถึง การผลิตล้นความต้องการ น้ำมันจะท่วมโลกไม่ได้ แต่ก็จะขาดแคลนไม่ได้เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องซัพพลาย-ดีมานด์ กฎระเบียบพื้นฐานของธุรกิจการค้า แต่เป็นเพราะอิทธิพลของวัตถุเหลวสีดำที่ลื่นไหล สงครามแต่ละครั้ง น้ำมันเล่นบทพระเอกทุกครั้ง ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามใด พระเอกต้องเป็นน้ำมันทุกครั้ง คราวนี้มาดูการเปลี่ยนแปลงของเมืองไทยเรา ไม่เกี่ยวกับน้ำมันเมื่อปี 2475 แต่เกี่ยวกับการยึดอำนาจที่ไม่เสียเลือดเนื้อ ซึ่งเมื่อยึดได้ก็พยายามรักษารูปทรงของการไม่มีเลือดทาแผ่นดินให้คงอยู่ ก็เบี่ยงเบนเป้าหมายจากแข็งกระด้างเป็นความอ่อนตัว การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 มีการเทียบเชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะชัดเจนว่า พระยามโนปกรณ์ ฯ เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ มีความคิดทันสมัย อีกประการหนึ่ง ท่านก็ได้รับการสนับสนุนจากคนต้นคิดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ ดร. ปรีดี พนมยงค์ นั่นเป็นจุดแข็งของพระยามโนปกรณ์ ฯ แต่จุดอ่อนของท่านก็มีเป็นธรรมดาของมนุษย์ ในทางการเมือง ท่านเป็นขุนนางของอำนาจเก่าที่ถูกยึดอำนาจ จุดอ่อนอันนี้กลายเป็นผู้เนรมิต ชุบฟื้นอำนาจเก่าที่ตายไปแล้วให้ฟื้นคืนชีพ ท่านนายก ฯ พระยามโนปกรณ์ ฯ ก็เลยขนขุนนางเก่ามาร่วมคณะรัฐมนตรี ไม่เว้นแม้แต่คนที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับฝ่ายคณะราษฎร์ ซึ่งเป็นคณะยึดอำนาจ หัวหน้าคณะราษฎร์ฝ่ายทหาร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ยังถูกหลอกให้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ด้วยข้ออ้างที่ว่า อำนาจก็ยึดแล้ว ฉะนั้นก็ปล่อยให้เป็นการบริหารจัดการของพลเรือนไปเถอะ ท่านก็หลงเชื่อลาออกจากตำแหน่ง ผบ. ทบ. อำนาจหลุด อำนาจตัวใหม่ก็มา บุคลิกตัวละครเปลี่ยนใหม่ทั้งชุด ออกกฎหมายกันครึกครื้น รวมทั้งออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทน ฯ เรียกประชุมไม่ได้จนกว่าจะมีสมาชิกสภาขึ้นมาใหม่ ซ้ำยังยุบ ครม. ยกเว้นนายกรัฐมนตรี โดยดึงเอากลับมาเป็นนายก ฯ ใหม่ แล้วก็ตั้งรัฐมนตรีหน้าเดิมมาเล่นกันใหม่ นอกจากคนของคณะราษฎร์ ซึ่งรวมทั้ง ดร. ปรีดี พนมยงค์ บทบัญญัติอีกข้อหนึ่งในพระราชกฤษฎีกา ยังระบุประหลาดอีกข้อ โดยระบุว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อใดที่ขัดกับ พรก. นี้ ให้ระงับการใช้ แบบนี้พูดตรงๆ ก็คือ พรก. เหนือชั้นกว่า รัฐธรรมนูญ และเมื่อเป็นแบบนี้ ก็ต้องมีคำถามว่า พระยามโนปกรณ์ ฯ ท่านเรียนกฎหมายมาจากอังกฤษ แล้วไง...ท่านทำกับมือของท่านได้ยังไง ? นอกจากนี้อำนาจใหม่ยังจัดการเนรเทศ ดร. ปรีดี พนมยงค์ มันสมองแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองพร้อมภรรยา ตั้งเงินพึงจ่ายปีละ 1,000 ปอนด์ และมีหนังสือจากกระทรวงต่างประเทศ ถึง...TO0 WHOM IT MAY CONCERN...ว่า หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บัดนี้ได้ท่องเที่ยวไปในฐานะคนธรรมดา ตรวจและศึกษาภาวะแห่งเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ พอคุณหลวงท่องเที่ยวตามใบบอกของกระทรวงต่างประเทศ ทางนี้ก็จัดการออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ ปีพุทธศักราช 2476 เป็น พรบ. คอมมิวนิสต์ฉบับแรกของเมืองไทย เหยื่อรายแรกของกรอบกฎหมายฉบับนี้ คือ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ปิดประตูไม่ให้กลับเข้าเมืองไทย ด้วยข่าวที่ออกมาว่า หลวงประดิษฐ์เป็นคอมมิวนิสต์ เมืองไทยขณะนั้น ยังไม่มีปั๊มบริการน้ำมัน ยังไม่เคยเห็นหน้าตาของปั๊มบริการโผล่ขึ้นข้างถนนเหมือนวันนี้ การคมนาคมของผู้คนหนักไปทางเรือ และรถลาก ทั้งๆ ที่ตะวันออกไกลก็มีแหล่งน้ำมัน โลกมีเรือบรรทุกน้ำมันเดินทะเลข้ามมหาสมุทร ทรงอิทธิพลไปทั่วทุกซีกโลก โดยเฉพาะยุโรปกับสหรัฐอเมริกา เป็นชนวนให้สหรัฐอเมริการ่วมมือกับอังกฤษล่อกับผู้นำเผด็จการเยอรมนีกับผู้นำเผด็จการอิตาลี น้ำมันมีตัวแสบในลักษณะเฉพาะของมัน คือ พอใจมันก็แห่กันมา ไม่สบอารมณ์มันก็หายหัว คนฉิบหาย ก็คือ บริษัทน้ำมัน มีมากตลาดก็พัง มีน้อยก็ต้องสำรวจแหล่งใหม่ เช่นเดียวกับอำนาจในระยะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขณะที่อำนาจใหม่กำลังครึกครื้น นายพลโททหารปืนใหญ่จากฝรั่งเศสคนหนึ่งก็ปรากฏตัวขึ้น คือ พันโทหลวงพิบูลสงคราม จะด้วยความกล้าหาญ หรือด้วยความมุทะลุก็ไม่ทราบ เข้ายึดอำนาจ เสียงเฮฮา-เงียบกริบเรียบร้อยในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 หลวงพิบูล ฯ ค่อนข้างฉลาด ทำตัวเป็นผู้ไร้เดียงสาเดินตามหลังพระยา มอบตำแหน่งหัวหน้าคณะยึดอำนาจให้ พระยาพหลพลพยุหเสนา ส่วนพระยาคนเดิม คือ พระยามโนปกรณ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีชุดครึกครื้น เดินตามรอย ดร. ปรีดี พนมยงค์ ออกไปนอกประเทศ แต่ไปไม่ไกล แค่ปีนัง และท่านก็ถึงแก่อนิจกรรมที่นั่น การเปลี่ยนแปลงเริ่มใหม่อีกครั้ง มีการเปิดรัฐสภา และเอารัฐธรรมนูญกลับมาบังคับใช้ เพื่อให้การปกครองอำนาจอยู่ในความรัดกุม ระมัดระวังตัวมากขึ้น การเดินหมากทางกองทัพของหลวงพิบูล ฯ จึงค่อนข้างแยบยล เหมือนการเดินหมากของบริษัทน้ำมันรวมหัวกันสร้างเครือข่ายครองโลก ด้วยการตั้งกลุ่มบริษัทพลังงานข้ามชาติทั้งหลาย (CARTEL) รวมตัวกันกำกับราคาและการผลิตน้ำมัน ตามประเทศต่างๆ มีรายได้สูงกว่าประเทศที่ตัวเองปักหลักอยู่ด้วยซ้ำ หลวงพิบูล ฯ เล็งไปที่พระยาคนใหม่ เป็นนายทหารระดับเสนาธิการ คือ พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ปราดเปรื่องเรืองเดช (คนละเรื่องกับ จ้ำบ๊ะคณะนายเปรื่อง เรืองเดชนะครับ) มาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารเยอรมนี อยู่ในกลุ่มของพระยามโนปกรณ์ ฯ การจับตัวพระยามโนปกรณ์ ฯ ไปนอกประเทศ เป็นเรื่องยากง่ายไม่เหมือนบทที่จะต้องจัดการกับทหารเสืออย่างพระยาทรง ฯ แต่หลวงพิบูล ฯ ก็ทำไร้เดียงสาเหมือนเคย พระยาทรง ฯ มีเกียรติศักดิ์เป็นถึงเสนาธิการ มองตาหลวงพิบูล ฯ ก็รู้ว่าหัวใจของหลวงพิบูล ฯ มีรูปทรงอย่างไร ก็เลยชวนพระประสาทพิทยายุทธหลบไปอยู่ที่ลังกา 2 ปี ก่อนจะกลับมาตั้งโรงเรียนการรบขึ้นที่เชียงใหม่ ซึ่งอนุมัติโดยสภากลาโหม การณ์ครั้งนี้ อยู่ในสายตาอันคมกริบของหลวงพิบูล ฯ มีหน่วยสืบราชการลับ จนในที่สุดต้องระเห็จพระยาทรง ฯ ให้ออกจากกองทัพ และให้ออกนอกประเทศ เหมือนกับน้ำมันของโลก บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ทุกบริษัทจำเป็นต้องมีหน่วยสืบราชการลับเป็นของตัวเอง สอดส่องดูแลงานฝ่ายตรงข้าม ที่เป็นคู่ปรปักษ์ทางการค้าและความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลเพื่อบริษัท จะได้ฟันกำไรต่อไปตราบเท่านิรันดร์กาล...!?!
ABOUT THE AUTHOR
ส
สยาม เมืองยิ้ม
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : ระหว่างเพื่อน