เพียงแค่ 5 เดือน ตลาดรถยนต์บ้านเราก็โด่งดังขึ้นมาทันที เมื่อทำยอดการขายเพียงเดือนเดียวได้ถึง 114,636 คัน เติบโตขึ้นมาถึง 105.3 % นับเป็นตัวเลขยอดขายที่สูงที่สุด ของตลาดรถยนต์ประเทศไทย ฉุดเอาตัวเลขยอดรวมขึ้นมาเป็น 478,115 คัน เพิ่มถึง 32.2 % เป็นไปตามความคาดหมายที่อุตสาหกรรมยานยนต์ ฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เรียบร้อยแล้วสาเหตุก็พอคาดเดากันได้อยู่ ว่าผู้ผลิตชิ้นส่วน สามารถกลับมาทำงานผลิตได้ตามปกติ เป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับมีรถรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดมากมาย รวมถึงอีโคคาร์ ที่นาทีนี้ ต้องจองกันข้ามปีแล้ว แต่นักการตลาดค่ายรถยนต์ก็ออกมาบอกว่า ตัวเลขในปีนี้ค่อนไปทางเชื่อถือไม่ค่อยได้ เพราะมีมาตรการนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ที่ได้สิทธิลดภาษีถึงแสนบาท/คัน มาเป็นตัวหนุน ที่จะหมดอายุภายในวันที่ 31 ธันวาคม นี้ แต่ก็เชื่อกันว่า น่าจะมีการผ่อนผันไปอีกสักระยะหนึ่ง ที่ฟากรัฐก็แบะท่าออกมาแล้ว ฟังเสียงดูน่าจะเป็นเรื่องการผ่อนผันในการรับรถมากกว่า เพราะค่ายรถยนต์ผลิตได้ล่าช้า รวมทั้งมีผู้จองเยอะด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ว่าจะถึงเป้า 3 หมื่นคัน ที่รัฐวางไว้หรือเปล่า ตามมาด้วยทางสรรพากร ก็ยกประโยชน์ส่วนนี้ให้ โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากรัฐจากการซื้อรถยนต์คันแรก เป็นจำนวนเท่ากับภาษีสรรพาสามิตของรถยนต์ที่ซื้อ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะรถยนต์คันแรกที่ซื้อระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 อันจะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ที่ยิ่งจะเป็นตัวเร่ง ให้เกิดการตัดสินใจซื้อมากยิ่งขึ้น แต่ก็จะทำให้ตัวเลขการขายในปีนี้ เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างผิดเพี้ยน จะเก็บเอาไว้อ้างอิงก็คงทำลำบาก นอกจากอ้างแล้วก็บอกว่า เป็นเพราะแรงหนุนของภาครัฐ ส่วนปีหน้า ท่าจะยาก ทางเรื่องขายก็ว่ากันไป หันมาดูทางเรื่องพลังงานบ้าง เพราะบ้านเราจะต้องเข้าอยู่ในเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน ในปี 2558 แล้ว ถึงนาทีนั้น มีแรงกดดันให้ ประเทศไทย ต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ให้สะท้อนต้นทุนตลาดโลก เพราะหากยังอุดหนุนราคาอยู่เหมือนในปัจจุบันนี้ เท่ากับจะอุดหนุนประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งขณะนี้ไทยยังอุดหนุนราคา แอลพีจี (LPG) ภาคครัวเรือนและ ซีเอนจี (CNG) แต่ตามแผนจะอุดหนุนราคา แอลพีจี ครัวเรือนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้น ต้นปีหน้า จะลอยตัว แอลพีจี ครัวเรือนและ ซีเอนจี หรือไม่คงจะต้องติดตามราคาตลาดโลกในช่วงสิ้นปีนี้ก่อน ส่วนเรื่องโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนไป เพราะเดี๋ยวนี้มีผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์มากราย ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า คาดกันว่าจะมีภาคเอกชน ผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเข้าสู่ระบบจำหน่าย มากกว่า 10 % ของความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้โครงสร้างการผลิต หรือโครงสร้างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่อยๆ เปลี่ยนไป ตามกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รอบนี้มีเรื่องค่อนข้างเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมยานยนต์ มาเล่าสู่กันฟัง เป็นเรื่องของความสามารถในการบริหารจัดการลอจิสติคส์ของประเทศไทย ที่ปรับปรุงวิธีการคำนวณ จีดีพี (GDP) ตามระบบบัญชีประชาชาติสากลล่าสุด ที่รวมเอาสาขาบริการเข้าไว้ด้วย เจ้าต้นทุนลอจิสติคส์ นี้ เกี่ยวพันกับ จีดีพี ของแต่ละประเทศ คำนวณเพื่อหาว่า ต้นทุนการดำเนินงาน ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการขนย้ายถ่ายเท ตั้งแต่ ขนย้ายวัตถุดิบ การบริหารจัดการ ต้นทุนค่าจนส่ง ต้นทุนกาเก็บรักษาสินค้าคงคลัง โดยต้นทุนลอจิสติคส์ในปี 2553 มีมูลค่ารวมประมาณ 1,644.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 15.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เมื่อลองเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว สหรัฐอเมริกา มีต้นทุนลอจิสติคส์ ต่อ จีดีพี อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศไทย แต่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ต้นทุนลอจิสติคส์ต่อ จีดีพี ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.8 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.3 ของ จีดีพี ในปี 2553 ส่วนประเทศจีน มีต้นทุนลอจิสติคส์ ต่อ จีดีพี สูงกว่าประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 17.8 ของ จีดีพี โดยมีสาเหตุสำคัญจากความเหลื่อมล้ำ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง ระหว่างมณฑลชายฝั่งทะเลตะวันออก และพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน แต่สามารถใช้ประโยชน์จากรูปแบบการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะการขนส่งทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าไทย ส่วนประมาณการ ต้นทุนลอจิสติคส์ ของปี 2554 คาดการณ์สัดส่วนต้นทุนลอจิสติคส์ต่อ จีดีพี ปี 2554 ลดลงเหลือร้อยละ 14.5 โดยมีสาเหตุสำคัญจากผลกระทบของอุทกภัย แนวโน้มของ ต้นทุนลอจิสติคส์ ต่อ จีดีพี มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.3 ต่อปี สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการจัดการด้านลอจิสติคส์ ที่ดีขึ้นตามลำดับ แต่ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกลับไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และการขนส่งที่ทันสมัย ก็น่าเป็นห่วงว่า ภาครัฐ เพิ่งจะหันมามองการพัฒนาด้านนี้ ทั้งที่บ้านเรา มีระบบขนส่งทางราง ทางเรือ ทั้งภายในประเทศ และชายฝั่ง มีมานานแล้ว แต่โครงสร้างทางการขนส่ง ยังพึ่งพาทางถนนเป็นหลัก กว่าร้อยละ 80 ซึ่งทำให้มีต้นทุนทางพลังงานสูง รวมทั้งต้องใช้งบประมาณในการบำรุงรักษาเส้นทาง ในจำนวนมหาศาล ลองหันมองทางสถาบันการศึกษา แทบจะมองไม่เห็นว่า มีที่ไหน สั่งสอนวิชาทางด้านนี้กันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ที่มีอยู่ก็เพียงสองสามสถาบันเท่านั้นเอง และเพิ่งจะเริ่มต้นมาไม่กี่ปี ที่จริงเรื่องนี้ ก็น่าจะมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีสักกระทรวงหนึ่ง ให้ดูแลกันเป็นกิจจะลักษณะไปเลย จะได้มีแผนงานระยะยาว ว่าควรจะพัฒนาอะไรกันบ้าง เพื่อให้เจ้าต้นทุนการจัดการด้านลอจิสติคส์ มันน้อยลง เพื่อจะได้แข่งขันทางด้านราคากับชาวบ้านเขาได้ หรือว่าภาครัฐเองก็ไม่มีใครอยากเสนอตัวเข้ามาทำ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่ก็ยังไม่เริ่มต้น แล้วตอนเข้าไปอยู่ในประชาคมอาเซียนแล้ว จะกลับตัวยังไงกันดีละครับ เริ่มต้นด้วยข่าวดีอย่างเป็นเลิศแท้ๆ ลงท้ายทำไมเป็นเรื่องไม่ค่อยดีละเนี่ย