พิเศษ(formula)
1 ปี มหาอุทกภัย
มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะกรณีโรงงานประกอบรถยนต์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ. พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกจู่โจมอย่างรวดเร็ว จมรถยนต์ผลิตใหม่กว่า 1,000 คัน ไว้ใต้น้ำ "ฟอร์มูลา" สรุปภาพรวมของ "มหาวิปโยค" อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบันและอนาคต
ในส่วนผู้ผลิตรถยนต์ ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) เป็นบริษัทแรกที่ถูกมวลน้ำเข้าโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัว สร้างความเสียหาย ทำให้ต้องประกาศหยุดการผลิตแบบไม่มีกำหนด และไม่นานต่อจากนั้น โรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศมาเลเซีย ก็ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวเช่นกัน เนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตจากประเทศไทย
ด้าน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้แถลงลดกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในไทย ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่ ทำให้ยอดผลิตลดลง 6,300 คัน และการที่ โตโยตา ต้องปิดโรงงาน 3 แห่งในไทย ทำให้ยอดผลิตหายไปกว่า 40,000 คัน
บริษัท มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ถึงแม้ว่าโรงงานผลิตรถยนต์ร่วมทุนของ 2 ค่ายนี้ จะไม่โดนผลกระทบจากน้ำ แต่ก็ต้องหยุดการผลิตไปด้วยเช่นกัน
บริษัท นิสสัน มอเตอร์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่โดนอุทกภัยในครั้งนี้ แต่ก็ได้ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานประกอบรถยนต์ไม่โดนน้ำท่วม แต่ยังต้องหยุดการผลิตด้วย ทั้งรถยนต์นั่ง และรถกระบะ เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบจากผู้ผลิตในท้องถิ่น ทำให้การผลิตลดลงประมาณ 30,000 คัน
สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นแถลงว่า อุทกภัยในประเทศไทยครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น 9 แห่ง ทำให้จำนวนการผลิตรถยนต์ในไทย หายไปวันละ 6,000 คัน โดยดูจากตัวเลขการผลิตรถยนต์ในไทยปี 2553 แล้วจำนวน 1.6 ล้านคัน/ปี คิดเป็นตัวเลขมากกว่าร้อยละ 90 จากปริมาณการผลิตทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลำดับเหตการณ์มหาอุทกภัยตุลาคม-ธันวาคม 2554
6 ตุลาคม 2554 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ต้องปิดการจราจร เนื่องจากน้ำท่วมสูง รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้
8 ตุลาคม 2554 กำแพงกั้นน้ำสูง 10 เมตรในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานการผลิตหลายแห่งได้พังลง หนึ่งในนั้น คือ โรงงานประกอบรถยนต์ ฮอนดา บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กระแสน้ำที่ไหลแรงได้ขัดขวางความพยายามสร้างกำแพงกั้นน้ำใหม่ ส่งผลให้พื้นที่ทั้งหมดของนิคม ฯ นี้ จมบาดาล ไม่สามารถใช้การได้เลย
19 ตุลาคม 2554 กรมทางหลวงรายงานว่า น้ำท่วมถนนไปแล้ว 117 สาย ครอบคลุมพื้นที่ 21 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ผ่านได้ 49 สาย ผ่านไม่ได้ 88 สาย
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเปลี่ยนเส้นทางรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง เดือดร้อนไปตามๆ กัน
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือไม่ให้ใช้ทางด่วนเป็นที่จอดรถ เพราะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม แต่ประชาชนยังจอดรถบนทางด่วนทำให้ทางด่วนยกระดับหลายแห่งการจราจรติดขัด จากการจอดซ้อนคัน และจอดบริเวณทางขึ้นและลงทางด่วน
2 พฤศจิกายน 2554 ศูนย์ควบคุมและสั่งการการจราจร บชน. (บก.02) สั่งปิดถนน 29 สาย รอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงแนะนำเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง ซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5 พฤศจิกายน 2554 มีเส้นทางที่สั่งปิดไปแล้ว 50 เส้นทาง แบ่งเป็นปิดตลอดสาย 17 เส้นทาง ปิดเป็นระยะๆ 21 เส้นทาง และควรหลีกเลี่ยง 21 เส้นทาง
7 พฤศจิกายน 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดการจราจรถนนเพชรเกษม บริเวณปากซอยวัดเทียนดัด และซอยหมอศรี ฝั่งขาเข้ากรุงเทพมหานครในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ขณะที่จังหวัดนนทบุรีปิด 7 เส้นทางรวมถึงการทางพิเศษตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2554 โดยปิดเป็นบางช่วง
23 พฤศจิกายน 2554 ชาวบ้านจากชุมชน ริเวอร์ ปาร์ค วัดประยูร เซียร์รังสิต ชุมชนริมคลองคูคต-ลำลูกกา คลอง 1 ชุมชนปิดถนนทางด่วนโทลล์เวย์ ขาเข้าบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต เกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมปะทะกับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง โดยมีรถยนต์คันหนึ่งได้เคลื่อนรถขับไล่ดันชาวบ้านให้ออกจากถนน จนทำให้ชาวบ้านระงับอารมณ์ไม่อยู่ กระโดดขึ้นไปบนหลังคารถ พร้อมทั้งทุบกระจกรถคันดังกล่าว
27 ธันวาคม 2554 บริษัท ฮอนด้าออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ. อุทัย จ. พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มทำลายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยมีรถยนต์ที่ต้องทำลาย 1,055 คัน แบ่งเป็น บรีโอ 217 คัน แจซซ์ 213 คัน ซิที 353 คัน ชีวิค 150 คัน แอคคอร์ด 91 คัน ซีอาร์-วี 30 คัน และ ฟรีด 1 คัน
จากวันนั้นถึงวันนี้ของ 3 ผู้ประสบภัยในวงการยานยนต์
พิทักษ์ พฤทธิสาริกร
รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด มหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา ฮอนดา ถือว่าเป็นบริษัทรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ด้วยความตั้งใจและยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ทำให้วันนี้ ฮอนดา สามารถกลับมายืนที่จุดเดิมได้ และพร้อมสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้าต่อไป
ฟอร์มูลา : ฮอนดา วางแผนป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างไรบ้าง?
พิทักษ์ : ช่วงน้ำท่วม บริษัท ฯ ป้องกันอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากปริมาณน้ำที่มานั้นมีปริมาณมากเกินกว่าที่จะรับมือได้ ไม่สามารถป้องกันโรงงานไว้ได้ และน้ำท่วมเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งหลังจากน้ำท่วมแล้วต้องเปลี่ยนเป็นแผนฟื้นฟู โดยเริ่มต้นการวางแผนเรื่องเครื่องจักร พอน้ำลงก็ระดมกำลังทั้งหมด ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ 24 ชม. สุดท้ายก็กลับมาผลิตได้ตามปกติ
ความสำเร็จครั้งนี้ ได้รับความร่วมือเป็นอย่างดีจากเครือข่าย ซัพพลายเออร์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ภาครัฐได้ให้การช่วยเหลืออย่างมากในเรื่องการนำเข้าเครื่องจักร ที่กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้งานดำเนินได้อย่างรวดเร็วตามไปด้วย
จากการร่วมแรงร่วมใจครั้งนี้ ทำให้เกิดความเห็นใจ ส่งผลให้งานสำเร็จ สร้างความแข็งแกร่งและความเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น
ฟอร์มูลา : ใช้งบประมาณในการฟื้นฟูมากน้อยเพียงไร ?
พิทักษ์ : การลงทุนในการฟื้นฟูครั้งนี้ ใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะเครื่องจักรต้องเปลี่ยนเกือบทั้งหมด ทั้ง 2 โรงงาน ซึ่งมองย้อนไปหากสร้างโรงงานขึ้นแห่งหนึ่ง ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก โดยสูงกว่าราคาที่ดินด้วยซ้ำ แต่เงินส่วนใหญ่ได้จากการประกัน จะมีบ้างก็ตรงที่ต้องการความรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถรอได้ เพราะมีบางส่วนที่สามารถซ่อมแซมได้ แต่ไม่อาจรอได้เพราะต้องใช้เวลา จึงตัดสินใจเปลี่ยน เพราะสิ่งสำคัญต้องรีบทำให้โรงงานกลับมาผลิตให้ได้เร็วที่สุด เพื่อผลิตรถส่งมอบให้แก่ลูกค้าอย่างเร็วที่สุดด้วย
ฟอร์มูลา : คุณวางแผนไว้อย่างไร หากมีเหตุการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นอีก ?
พิทักษ์ : การวางแผนป้องกันขณะนี้ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ รัฐบาลได้สนับสนุนการทำเขื่อนรอบนิคม ฯ ที่ระดับสูงกว่าน้ำทะเล 6 เมตร ซึ่งถ้าระดับน้ำมากเท่ากับปีที่แล้ว ยังสามารถรับได้อย่างสบาย ส่วนการสร้างกำแพงรอบนิคม ฯ ครั้งนี้แข็งแรงพอสมควร เนื่องจากได้มีการสร้างเชื่อนโดยฝังกำแพงลงไปในพื้นดิน 2 เมตร เพื่อกันน้ำจากใต้ดิน เมื่อดำเนินการสร้างเสริจจะมีกำแพงสูงขึ้นเป็นรั้วประมาณ 1 เมตร ซึ่งหากมีน้ำท่วมอีกครั้งหนึ่งก็ไม่สามารถมุดดินขึ้นมาได้ ซึ่งมั่นใจหากระดับน้ำเท่ากับปีที่แล้ว เขื่อนก็สามารถรับได้
อีกอย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่าในระยะสั้น ระดับน้ำในปริมาณที่เท่ากับปีที่แล้ว หรือสูงกว่าไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอีก ซึ่งหากเกิด ต้องมีปัจจัยหลายด้านจริงๆ จึงจะเกิดขึ้นเหมือนปีที่แล้ว และปัจจุบันภาครัฐได้เข้าใจ และตระหนักถึงจุดนี้อย่างดีว่า การดำเนินการแก้ไขเรื่องต่างๆ รัฐบาลจะมีการตัดสินใจแบบเป็นศูนย์รวมมาจากที่เดียว เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และคนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ อีกทั้งยังได้เตรียมแผนการป้องกันเรื่องของการขุดลอกคูคลอง ทำถนนให้สูงขึ้น สร้างเชื่อนดิน สิ่งเหล่านี้จะช่วยรับมือกับน้ำได้อย่างแน่นอน และปริมาณน้ำก็จะไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เพราะนั่นคือ การเดิมพันความเชื่อมั่นของประเทศ
สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรก ทำให้เกิดความเห็นใจจากนักลงทุนต่างประเทศ ที่ยังคงให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนต่อ ตัวอย่างเช่น นักลงทุนญี่ปุ่นให้โอกาสประเทศไทยในการไม่ย้ายฐานการลงทุน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องตระหนักว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องไม่เกิดขึ้น เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาได้ ทำให้การบริหารน้ำปัจจุบันขาด เพราะแล้งยังดีกว่าน้ำท่วม ทำให้ไม่มีความกังวล
ฟอร์มูลา : หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก และฮอนดา ได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่กลับพลิกฟื้นสถานการณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณคิดว่าปีนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัท ฯ จะเป็นอย่างไร ?
พิทักษ์ : ฮอนดา ได้เริ่มเดินหน้าการผลิต เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ภายหลังจากต้องหยุดการผลิตไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นการฟื้นฟูที่เร็วมาก ใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือนกว่า สามารถกลับมาผลิตได้อย่างดี เริ่มต้นด้วยการผลิต 1,000 คัน/วัน โดยจะสามารถผลิตได้ถึง 240,000 คัน/ปี ซึ่งได้เร่งการผลิตอย่างเต็มที่ ทั้งในการเพิ่มกะ และการทำโอที น่าจะเพิ่มได้อีกประมาณ 20,000-30,000 คัน แต่บริษัท ฯ ได้เริ่มผลิตเต็มที่ปีนี้เพียง 9 เดือน ดังนั้นคาดว่ายอดขายน่าจะไม่ต่ำกว่า 150,000 คัน ซึ่งมากกว่ายอดขายทั้งปีของปีที่แล้วเกือบเท่าตัว ทั้งนี้เนื่องจากมียอดค้างส่งของลูกค้าจากปีที่แล้ว และยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอีกส่วนยอดส่งออกปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 9,000 คัน ปีที่แล้วส่งออก 7,000 คัน
ฟอร์มูลา : ผู้บริโภคให้ความมั่นใจมากน้อยเพียงไร ?
พิทักษ์ : ช่วงน้ำท่วมมีลูกค้าจองรถอยู่ตลอด ฮอนดา ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าจะอยู่ในเมืองไทยต่อไป ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบ และบริษัท ฯ มีแนวทางการดำเนินงานด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทย ด้วยการยึดมั่นโดยการประกาศว่าจะอยู่ในเมืองไทยต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในขณะที่หวั่นไหว หรือกังวลใจเรื่องคุณภาพของรถที่จมน้ำ ฮอนดา ก็สร้างความมั่นใจด้วยการทำลายรถให้เห็น ซึ่งความสนใจของสื่อเป็นตัวสะท้อนอย่างดีว่า เป็นความสนใจของสังคม การทำอย่างไรให้เกิดความมั่นใจ และทำให้เห็นว่าทำลายอย่างไร มีมาตรฐานตามหลักสากลนอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าได้เห็นชัดยิ่งขึ้น บริษัท ฯ ได้บริจาคเงิน 100 ล้านบาทแก่สภากาชาดไทย และจัดตั้งกองทุน ฮอนดา เคียงข้างไทย ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิฮอนด้า ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมในการมอบความช่วยเหลือฉุกเฉิน ยามที่ประเทศไทยอาจเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมอบเงินสมทบ 1,000 บาท ต่อการขายรถยนต์ 1 คัน 100 บาท ต่อการขายรถจักรยานยนต์ 1 คัน และ 10 บาทต่อการขายเครื่องยนต์อเนกประสงค์ 1 เครื่อง ซึ่งคาดว่าปีแรกจะมีเงินสมทบเข้ากองทุนประมาณ 300 ล้านบาท และภายหลังจากการช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง จะมียอดสะสมสูงสุดที่ 1,000 ล้านบาท สิ่งที่ ฮอนดา บริหารและตัดสินใจดำเนินการครั้งนี้ ถือว่าเป็นการมองปัญหาและเสียงสะท้อน นำมาวิเคราะห์ตอบสนองการคลี่คลายปัญหาต่างๆ จนสำเร็จ
ฟอร์มูลา : คุณมองว่าทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปีหน้า จะเป็นอย่างไร ?
พิทักษ์ : ยอดขายปีหน้าคงจะเติบโตกว่าปีนี้ยาก เนื่องจากปีนี้การเติบโตของตลาดรวมเป็นการนำความต้องการของอนาคตมาสร้างให้ตลาดเติบโตอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตพื้นฐานของเศรษฐกิจ จะชดเชยความต้องการที่ใช้ไปก่อนล่วงหน้า โดยพยายามไม่ให้ตกไปกว่าปีนี้ แต่คงไม่เติบโตเหมือนกับปีนี้
เย็บ ซู ชวน
ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน)
บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงงานที่ดำเนินการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมาตั้งแต่แรก โรงงานแห่งนี้มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ควบคุมโดยวิศวกรและพนักงานผู้ชำนาญงานและผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้แก่ อุปกรณ์จัดยึด ชิ้นส่วนปั๊มขึ้นรูป ถังน้ำมัน และแม่พิมพ์ อาปิโก ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยอย่างรุนแรง ทั้งที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ ป้อนโรงงานประกอบรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น โตโยตา อีซูซุ นิสสัน ฮอนดา และ มิตซูบิชิ ฯลฯ พยายามป้องกันเต็มกำลัง อย่างไรก็ตามในวันนี้เขากลับมาแล้ว "ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์ เย็บ ซู ชวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน)
ฟอร์มูลา : แนวทางการป้องกันน้ำท่วมโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ปี 2554 เป็นแบบไหน อย่างไร รวมถึงแผนสำรองในขณะนั้น และเพราะอะไรถึงเอาไม่อยู่ ?
เย็บ ซู ชวน : ในปีที่แล้วเราไม่ได้เตรียมแผนฉุกเฉินในการรองรับน้ำท่วม แต่ปัจจุบันเราได้เตรียมการเป็นอย่างดี น้ำได้ทะลักเข้ามาทางด้านใต้ของพนังกั้นน้ำ ซึ่งไม่ได้จัดทำโดยเรา
ฟอร์มูลา : มูลค่าความสูญเสีย และผลกระทบหลังเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับโรงงาน ?
เย็บ ซู ชวน : เป็นเรื่องยากทีเดียวที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงาน ผลกระทบโดยตรงในความเสียหายต่อทรัพย์สินเครื่องจักรอุปกรณ์ ฯลฯ มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท แต่ยิ่งไปกว่านั้น คือ การผลิตที่หยุดชะงักในกระบวนการผลิตในโรงงานซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้ประมาณว่าหลายพันล้านบาท
ฟอร์มูลา : การฟื้นฟูโรงงานใช้เวลา และงบประมาณเท่าไร รวมถึงได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเรื่องใดบ้าง ?
เย็บ ซู ชวน : หลังเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านพ้นไป เราพยายามที่จะกลับมาฟื้นฟูให้เร็วที่สุด เนื่องจากโรงงานของเราทำการชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้กับโรงงานรถยนต์เกือบทุกค่าย ดังนั้นเราจึงตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ทั้งหมด ใช้งบประมาณในการฟื้นฟูโรงงานใช้เงินไปกว่า 1,000 ล้านบาท โดยในวันที่ 1 ธันวาคม 2554 เครื่องปั๊มขึ้นโลหะตัวแรกก็สามารถทำงานได้เป็นครั้งแรกหลังจากน้ำท่วม และในวันที่ 10 มกราคม 2555 ก็เริ่มกลับมาผลิตได้ 50 % จนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 สายการผลิตทั้งหมดก็สามารถกลับมาผลิตได้เต็ม 100 % อีกครั้ง สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นรัฐบาลมิได้ชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนใดๆ ในส่วนของการซ่อมแซมโรงงาน ทางบริษัท ฯ ต้องทำการเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัย ซึ่งทางเราทำประกันไว้ในวงเงินกว่า 2 พันล้านบาท การสร้างพนังกั้นน้ำได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือเยียวยาทางอ้อมมิฉะนั้นทางบริษัทคงต้องเสียเงินมากกว่านี้
ฟอร์มูลา : คุณได้ทำอะไรเป็นการพิเศษ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ และปีต่อๆ ไปบ้าง ?
เย็บ ซู ชวน : บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าพนังกั้นน้ำที่สร้างขึ้นจะช่วยป้องกันน้ำท่วม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้อีก ถ้าพนังกั้นน้ำแตกหรือพังอาจทำให้ต้องหยุดการผลิต แต่ด้วยพนังกั้นน้ำใหม่นี้สร้างให้มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ โดยมีความสูงประมาณ 5.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และขณะเดียวกันในนิคมอุตสาหกรรมได้สร้างถนนที่มีความสูงมากกว่าปกติเชื่อมต่อกับถนนสายหลักไว้แล้ว ทางเราจึงมั่นใจว่าถึงเกิดเหตุการ์น้ำท่วมอีกครั้งทางเราก็ไม่จำเป็นต้องหยุดกระบวนการผลิต
ฟอร์มูลา : คุณยังมั่นใจที่จะลงทุนในประเทศไทยอยู่หรือไม่ ?
เย็บ ซู ชวน : บริษัทฯ ยังคงมั่นใจว่าประเทศไทยยังน่าลงทุน เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ ผมอยู่เมืองไทยมา 28 ปี มีโอกาสได้เห็นวิกฤติหลายอย่างที่เกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งทุกครั้งก็ผ่านไปด้วยดี เราจึงมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต
ฟอร์มูลา : คุณเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลหรือไม่ อย่างไร ?
เย็บ ซู ชวน : เรามั่นใจว่ารัฐบาลจะมีวิธีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และจะป้องกันนิคมอุตสาหกรรมไว้ได้
ฟอร์มูลา : ความคิดเห็นเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมและสถานการณ์น้ำในประเทศไทย ปี 2555 ?
เย็บ ซู ชวน : สำหรับสถานการณ์การรับมือนำท่วมในปีนี้บริษัทฯ มีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากมีการเตรียมการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมในการสร้างพนังกั้นน้ำที่แข็งแรงแต่ยังคงมีความต้องการเรือจำนวนมากในกรณีฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือให้พนักงานที่น้ำท่วมบ้านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ฟอร์มูลา : ความมั่นใจอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ?
เย็บ ซู ชวน : ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้ดีมาก โดยคาดการณ์กันว่าจะมียอดผลิตสูงกว่า 2.1-2.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีประมาณ 1.5-1.6 ล้านคัน ในส่วนของผู้ประกอบการในกลุ่มเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีทองอีกครั้ง เราคาดว่าจะมีการเติบโตด้านรายได้มากกว่า 20 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การสร้างความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เรามีแผนที่จะลงทุนใหม่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยมีโอกาสขยายตัว โดยบริษัทรถยนต์หลายค่ายมีแผนที่ผลิตรถรุ่นใหม่ๆ รวมไปถึงลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ดังนั้นการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ก็ต้องมีแผนงานรองรับกับคำสั่งซื้อที่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรงงานใหม่ที่บริษัทจะไปลงทุนนั้น มีที่ดินอยู่แล้วที่ระยอง 45 ไร่ ชลบุรี 20 ไร่ โดยพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง ถือว่าพร้อมรองรับ ส่วนการลงทุนในแต่ละโรงงานนั้นขั้นต่ำเฉพาะค่าเครื่องจักรจะอยู่ที่ประมาณ 700-800 ล้านบาท
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์
ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ดื้อ จัดงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2554 ทั้งๆที่มีเสียงคัดค้านมากมาย แต่หลังจากงานเสร็จสิ้นลง บทสรุปที่ออกมาถือว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย จากจำนวนผู้เข้าชมงานสูงถึง 1,314,240 คน สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ จำนวน 1,200,000 คน ส่วนยอดจองรถตลอด 12 วัน มีถึง 27,021 คัน สูงกว่าที่ประมาณการไว้ ร้อยละ 8.1 (ยอดประมาณการณ์ 25,000 คัน)สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนภายในงานได้ถึง 29,500 ล้านบาท (รวมรถใหม่ รถมือสอง อุปกรณ์รถยนต์ และเครื่องเสียงติดรถยนต์ ฯลฯ) พิสูจน์ให้เห็นพลังความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้จัด ผู้ร่วมแสดง รวมถึงประชาชนที่มาชมงาน โดยเหตุผลในการตัดสินใจจัดงานทั้งๆที่สถานการณ์ยังไม่แห้งสนิทนั้น หาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์นี้
ฟอร์มูลา : ช่วยลำดับเหตุการณ์ช่วงก่อนตัดสินใจจัดงาน "MOTOR EXPO 2011 ?
ขวัญชัย : ตอนที่เราจะต้องตัดสินใจจัดงาน ฯ จะอยู่ประมาณปลายปี แต่ประมาณช่วงเดือนกันยายน มีเรื่องน้ำท่วมมาเกี่ยวข้อง บ้านผมโดนน้ำโจมตี ตอนนั้นตัวเองอยู่สภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่มีบ้านอยู่ ย้ายไปอยู่หลายที่ด้วยกัน ช่วงนั้นบอกตรงๆ ว่าใจมันห่อเหี่ยว แต่การตัดสินใจก็ต้องทำ เพราะมันใกล้ถึงช่วงเวลาจัดงาน โดยมีสิ่งที่ต้องตัดสินใจอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ เดินหน้าต่อ หยุด หรือเลื่อน ผมจึงไปพูดคุยที่บริษัท ฯ รถยนต์เพื่อหยั่งเสียง ปรากฎว่า 90 % ของผู้ร่วมงานบอกให้เราเดินหน้าจัดต่อ เราก็เก็บสิ่งนี้ไว้ในใจ เหมือนเป็นคำตอบของการบ้านข้อแรก ข้อที่ 2 ต้องคิดว่าพวกเราเอง (พนักงานบริษัท ฯ) เป็นอย่างไร สภาพตัวเอง บอกตรงๆ ไม่พร้อมเลย มันไม่เคยเจอ แต่ยังไงก็ตามเรามองว่า เราต้องทำใจให้ได้ ส่วนพนักงาน ถามไถ่กันไปก็โดนน้ำไปเกือบครึ่งบริษัท ฯ เราก็ต้องคิดก่อนว่าเราจะทำอย่างไร เริ่มจากหาที่อยู่ให้พนักงานก่อน เพื่อจะให้พนักงานเตรียมพร้อม เมื่อตัวเองและพนักงานพร้อม เราก็ถามคนข้างนอกตามที่บอกไป เมื่อผู้ร่วมงานพร้อม เราพร้อม ยังไม่พอ ในส่วนสถานที่ล่ะ พร้อมไหม เราก็ลุยน้ำไปดูสถานที่จัดงาน ซึ่งเข้าได้ทางเดียว คือ ลงทางด่วน เข้าไปคุยกับผู้บริหารอิมแพคท์ ซึ่งมั่นใจได้เพราะระบบป้องกันน้ำของเขาจัดอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว แล้วก็หลายครั้งที่น้ำทะลักเข้ามา แต่เขาสามารถผลักออกไปได้ภายในไม่กี่ชม. นี่ยิ่งทำให้เรามั่นใจยิ่งขึ้น แล้วช่วงนั้นน้ำล้อมอิมแพคท์ เมืองทองธานี ไว้หมดทุกด้าน แต่แนวป้องกันเขาดีมากสถานที่พร้อมแน่นอน
เมื่อพร้อมหลายอย่าง เหลืออีกอย่างที่ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือ ผู้ก่อสร้าง ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ประสบปัญหาเหมือนกันหมด แต่ปรากฏว่าทุกเจ้าสู้กันหมด เพราะถ้าไม่สู้ก็จบ เนื่องจากลงทุนไปแล้ว ฉะนั้นอะไรที่เสียหายไป เขาจะทำทดแทนขึ้นมา เราก็มีความรู้สึกว่า เหมือนโดนบังคับแล้วว่ายังไงก็ต้องจัด เพราะถ้าไม่จัดความเสียหายจะเกิดขึ้นเยอะกว่า สุดท้ายเราก็ต้องมาดูผู้ชม เรามี 2 มาตรฐานว่าอะไรที่จะเป็นแรงจูงใจให้คนมาชมงาน เราเลยคิดว่า 1. ค่าตั๋ว ปกติใบละ 100 บาท เราก็เปิดให้เข้าชมฟรี นี่ก็เหมือนว่าเราแจกเงินให้คนมาชมงาน 2. เราอำนวยความสะดวกในเรื่องรถรับ/ส่ง ซึ่งแต่ก่อนจะอยู่ที่ สถาที่รถไฟฟ้าหมอชิต เพียงแห่งเดียว แต่นี่เราจัดให้เพิ่มเป็น 4 จุดด้วยกัน ส่วนเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่ไม่ต้องพูดถึงโฆษณาธรรมดาเลย คนไม่พูดถึงอยู่แล้ว เราต้องไปขอเข้าโฆษณาช่วงข่าวเช้าของรายการทีวีทุกช่อง ให้เขาช่วยประชาสัมพันธ์ให้งานเราด้วย ทีมประชาสัมพันธ์ของงานเราก็รับผิดชอบกันไป แต่ช่วงนั้นบอกตรงๆ ว่าหนัก สถานการณ์น้ำค่อนข้างเลวร้ายมาก แต่สุดท้ายเมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าจะจัดก็ประกาศข่าวกันไป ว่าเรายืนยันจัดงานตามกำหนดการเดิม วันเวลาเดิม ซึ่งบางคนชม บางคนว่า บางคนด่าเลย สารพัด แต่ผมก็ต้องทำใจไว้แล้ว
ฟอร์มูลา : จากประสบการณ์ ฝ่าวิกฤต ในปี 2554 คุณได้เตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรบ้าง ?
ขวัญชัย : จากที่รับฟังมาก็ไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งส่วนตัวผมเป็นนักตีกอล์ฟจะรู้สึกอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้านักกอล์ฟพัทท์บนกรีน หากคนแรกพัทท์ไม่ถึงหลุม คนสองจะพัทท์เลยหลุม ส่วนคนสามกลับมาจะพัทท์ไม่ถึงหลุม แล้วคนสี่จะพัตต์เลยหลุมอีก เพราะความรู้สึกพอเห็นคนพัทท์สั้นคนต่อไปจะเริ่มว่า ให้น้ำหนักน้อยเกินไปต้องพัตต์แรงหน่อย เปรียบได้กับปี 2554 น้ำมามากเพราะเราเก็บน้ำไว้เยอะ แล้วเมื่อเขาเห็นความผิดพลาด พอมาปี 2555 เขาจะต้องพัทท์สั้น คือ จะแล้ง ซึ่งรัฐบาลอาจจะเถียงว่าไม่จริง ซึ่งเชื่อว่าถ้าฝนไม่ตกปีนี้จะแล้งทำให้ปล่อยน้ำออกมาเกินไป แต่ปีนี้เรามีเวลาโดยส่วนตัวผมก็เตรียมตัวไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น ที่โกดังของ บริษัท สื่อสากล จำกัด ปกติจะมีชั้นเดียวแต่ตอนนี้ปรับปรุงเป็น 2 ชั้น ถ้าน้ำมาถึง พระนครศรีอยุธยา เรามีเวลาเตรียมตัว 9 วัน ขนของขึ้นชั้น 2 แล้ว ผมจะไม่สู้น้ำ เพราะสู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนที่บ้านก็แบบเดียวกัน ผมใช้สีแบบเดียวกับที่ใช้กับพ่นรถยนต์มาทาบ้าน ถ้าน้ำมาก็ให้เขาอยู่ไป 2-3 เดือน พอน้ำลดก็ขัดสีแล้วเขาอยู่ได้เหมือนเดิม ตรงนี้เราเตรียมตัวไว้แล้ว ไม่กลัวอะไรอีกต่อไป แต่หวังว่าจะไม่มาก็แล้วกัน
ฟอร์มูลา : คุณมองภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหลังเหตุการณ์น้ำท่วมว่าเป็นอย่างไร ?
ขวัญชัย : ปีที่แล้วมีปัญหาอย่างเดียว คือ บริษัทรถยนต์ไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันตามเวลา เพราะว่ามีปัญหาที่ขั้นตอนการผลิต ถ้าไม่เกิดโรงงานประกอบก็มาจากผู้ผลิตชิ้นส่วนได้รับผลกระทบ เพราะรถยนต์มีชิ้นส่วนประกอบกว่า 3-4 หมื่นชิ้น ขาดไปชิ้นหนึ่งก็ไม่สมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นปัญหา บางรายรอ 3 เดือน บางรายรอ 6 เดือน โดยปี 2554 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมเลยจบเท่ากับปี 2553 ติดลบอยู่ประมาณไม่ถึง 1 % แสดงให้เห็นว่าตลาดไม่ได้กระทบมาก เพียงแต่ว่าส่งมอบของไม่ได้เท่านั้น ฉะนั้นเรามีความเชื่อว่าปีนี้จะเติบโตตามปกติ หรือ ประมาณ 10% ซึ่งบริษัทรถยนต์เขาเดากันว่าราวๆนี้ แต่สุดท้ายตัวเลขกลับจบลงตรงที่โตขึ้นประมาณ 30% อันนี้ก็หลายเหตุผล เพราะในงาน งาน MOTOR EXPO มีการแนะนำรถใหม่หลากหลายรุ่นด้วยกัน ทั้งมีนโยบายรถคันแรกอีก ทำให้คนเป็นเจ้าของรถใหม่ง่ายขึ้น ทำให้คนอยากหาซื้อรถเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขยอดจำหน่ายจากเดิม 8 แสนกว่าคัน เพิ่มเป็นกว่า 1.2 ล้านคัน ซึ่งจำนวนนี้เป็นยอดโตที่ไม่ปกติ เพราะปีที่แล้วยอดจำหน่ายไม่ค่อยจะดีก็เลยอั้นมาจนปีนี้ เหมือนเป็นการนำดีมานของปีหน้ามาใช้ในปีนี้เยอะเลย ฉะนั้นในปี 2556 อาจจะจืดลง ปีนี้ขึ้นสูง ปีหน้าอาจจะปรับตัวนิดหน่อย ปีนี้จะเป็นปีแรกที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศตัวเลขเกิน 1.2 ล้านคัน เป็นครั้งแรกเลย ส่วนภาคของการส่งออกก็ดี ซึ่งเราคำนวณว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่ผลิตรถถึง 2 ล้านคัน ส่งผลให้เราอยู่ในอันดับ 10 ของโลกฉะนั้นถือเป็นเรื่องดีของอุตสาหากรรม
ฟอร์มูลา : คุณเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลหรือไม่ อย่างไร ?
ขวัญชัย : เห็นว่าจะทดลองปล่อยน้ำ ในวันที่ 5-7 กันยายน 2555 (สัมภาษณ์วันที่ 31 สิงหาคม 2555) ผมก็ไม่เข้าใจว่าจะทำทำไม ทำไมไม่ทำเป็นแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ แต่ว่าหลายๆ อย่างที่เห็นเอง ไม่มั่นใจเท่าไร แต่ถ้าเป็นแบบครั้งที่แล้วที่น้ำมาเราไม่มั่นใจ เพราะไม่มีมาตรการอะไรที่ชัดเจน เช่น จังหวัดปทุมธานี กลายเป็นที่เก็บน้ำ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น จะเอาออกไปทางตะวันตกก็ไม่ได้ เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง เอาไปทางตะวันออก คนตะวันออกก็ต่อต้าน ทั้งๆ ที่สามารถระบายออกทางนั้นได้เยอะ ไปทางฉะเชิงเทรา ก็ไม่เข้าใจ ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นจุดกักน้ำที่สำคัญ เพราะกทม. ก็กั้นไม่ให้น้ำเข้า เพราะฉะนั้นก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร ฉะนั้นครั้งหน้าถ้าน้ำมา ผมมีเวลาเตรียมตัว 12 วัน เก็บของแล้วหนี เท่ากับว่า เดี๋ยวนี้เราต้องมีบ้านไว้หนีน้ำ...ซึ่งมันไม่ถูกต้อง แต่ดูมาตรการแล้วไม่ค่อยไว้ใจ เพราะดูจากครั้งที่แล้ว เขาไม่ยอมรับว่าบริหารน้ำผิดพลาดเยอะมาก แล้วคิดว่าจะเกิดขึ้นอีกได้ไหม...ได้นะ สรุปว่า ถ้าถามผม ผมไม่ไว้ใจมาตรการ แต่คิดว่าจะไม่ท่วมอีก
ปีนี้จะ "เอาอยู่" หรือไม่ ?
หาคำตอบได้ที่นี่ !
มาตรการป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ในปีนี้
หลังจากที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่ตามเส้นทางเดินของน้ำ โดนมหาอุทกภัยกันอย่างทั่วหน้า ทำให้มีมาตรการป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเบื้องต้นได้มีได้มีการก่อสร้างแนวป้องกันอุทกภัยที่มีความสูงกว่าเดิม 50 ซม. (จากระดับน้ำสูงสุดของปี 2554) ที่แล้วเสร็จไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมารวม 4 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้าไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรีแลนด์ ส่วนนิคมฯ สหรัตนนคร จะแล้วเสร็จในเดือนนี้ (ตุลาคม 2555)
บริษัทใครที่อยู่ในนิคมข้างต้นนี้มั่นใจได้เลยว่า ทางเขตอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เตรียมแผนการป้องกันพื้นที่อุตสาหกรรมไว้พร้อมแล้ว โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายวัตถุอันตรายขณะเกิดภัยพิบัติ และระบบการเตือนภัย โดยได้ให้คำมั่นอีกว่า เขื่อนป้องกันน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรม จะสามารถป้องกันน้ำได้ หากเกิดอุทกภัยเหมือนปีที่ผ่านมา
มาตรการป้องกันจากภาครัฐ
กรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟู เยียวยา ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยกรุงเทพมหานครขึ้น โดยได้มีการจัดทำแนวทาง มาตรการ และการเตรียมความพร้อม แบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือ มาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยมีรายละเอียดดังนี้
มาตรการระยะสั้น (ระยะเวลาดำเนินการภายใน 3-6 เดือน)
1. การเตรียมการเพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ฝนตก โดยการดูแลรักษาคลองสาธารณะ เก็บขยะวัชพืช เปิดทางน้ำไหล ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เตรียมพร้อมและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามสถานีสูบน้ำและอาคารบังคับน้ำ พร่องน้ำในแก้มลิง เตรียมความพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง
2. เพิ่มประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำ โดยการขุดลอดคูคลองและล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในเขตกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีคูคลองทั้งหมดประมาณ 1,682 คลอง มีความยาวรวมกันประมาณ 2,600 กิโลเมตร จะขุดลอกและรื้อสิ่งกีดขวางในลำคลอง ตามแผนที่จะดำเนินการในระยะเร่งด่วน
3. เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไฟฟ้าแรงสูง จำนวน 25 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำดีเซล จำนวน 29 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดจุ่ม จำนวน 48 เครื่อง และสร้างระบบเตือนภัย โดยติดตั้งเครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำในคลองระบายน้ำสายสำคัญจำนวน 15 คลอง โดยติดตั้งด้านตะวันออก 11 คลอง ด้านตะวันตก 4 คลอง
4. การดำเนินการสร้างคันกั้นน้ำชั่วคราวกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ยาวรวม 86 กิโลเมตร
มาตรการระยะกลาง (ดำเนินการภายในระยะเวลา 1 ปี ปี 2555)
ซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วมและเสริมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ รวมถึงคันกั้นน้ำพระราชดำริด้านตะวันออก โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
1. ซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์เดิมที่พังชำรุดเสียหายและเสริมความแข็งแรงของเขื่อนเดิม จำนวน 5 แห่ง ความยาวประมาณ 5.25 กิโลเมตร
2. เสริมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ยาวประมาณ 74.00 กิโลเมตร และคันกั้นน้ำพระราชดำริด้านตะวันออก ยาวประมาณ 72 กิโลเมตร โดยจะทำการเสริมความสูงคันป้องกันน้ำท่วมเดิมให้มีความสูงเพียงพอที่จะรองรับระดับน้ำสูงสุดที่เกิดขึ้นในปี 2554
มาตรการระยะยาว (ระยะเวลาดำเนินการมากกว่า 1 ปี)
ในการดำเนินการระยะยาวจะเป็นการเสริมความมั่นคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ และคันกั้นน้ำด้านตะวันออกตามแนวพระราชดำริความยาว 72 กิโลเมตรบริเวณถนนเลียบคลองสอง คลองหกวาสายล่าง ถนนหทัยราษฎร์ ถนนราษฎร์นิมิตถนนนิมิตใหม่ ถนนประชาร่วมใจ ถนนสุวินทวงศ์ ถนนรามคำแหง ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้ว ถนนบางพลี-ชายทะเล เพื่อเตรียมรองรับการเพิ่มขึ้นของน้ำหลากในอนาคต และการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย โดยการปรับปรุงก่อสร้างสถานีสูบน้ำ เขื่อนริมคลอง อุโมงค์ระบายน้ำ จัดหาแก้มลิงปรับปรุงระบบการแจ้งเตือนภัยและพัฒนาข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อประกอบการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัย โดยจะดำเนินการในปี 2556-2560
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
ภาพโดย : เกรียงศักดิ์ ปันสม/จินดา ลัยนันท์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : พิเศษ(formula)