ชีวิตอิสระ
ขี่เสือลุยป่าต้นน้ำปิง ค้างแรมแคมพิงบนยอดดอยแม่แตง
การปั่นจักรยานเสือภูเขา เป็นกีฬาหรือกิจกรรมกลางแจ้งที่คนรุ่นใหม่สนใจกันมาก อาจเพราะว่า เป็นการออกกำลังกายที่เพลิดเพลิน เพราะจะได้ชมทัศนียภาพตามเส้นทางไปด้วย ยิ่งได้ปั่นท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามและอากาศดี ของ จ. เชียงใหม่ ถือเป็นการออกกำลังกาย และพักผ่อนที่สุดคุ้ม
ควบเสือภูเขาหลักสูตรเร่งรัด
ลองของจริงกับผู้ชำนาญการ
ผมเคยเห็นรูปแบบของกิจกรรมปั่นจักรยานเสือภูเขา จากรายการโทรทัศน์ จนทำให้อยากลองดูสักครั้ง โชคดีที่มีพรรคพวกช่วยติดต่อกับกลุ่ม เชียงใหม่ เมาท์เท่นไบค์กิ้ง จนได้จัดผู้คว่ำหวอดเส้นทางและการควบคุมจักรยานเสือภูเขา ชื่อ อัครเดช จันเทมา หรือ พี่เล็ก คอยนำทางและเป็นทเรเนอร์สำหรับการเดินทางทริพนี้
พี่เล็กเลือกจักรยานเสือภูเขาสไตล์ครอสส์คันทรี ซึ่งถือเป็นรถแบบฝึกหัด ใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย ปั่นง่ายไม่เหนื่อยมากนัก ลำเลียงใส่หลังกระบะรถ จาก อ. เมือง จ. เชียงใหม่ เพื่อนำไปปล่อยลงที่จุดเริ่มต้น บริเวณปากทางเข้า "สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด
"การจัดระเบียบให้ร่างกายถือเป็นสิ่งสำคัญ สภาพเส้นทางจะทำให้เกิดการเมื่อยล้า และอันตรายเป็นทวีคูณ อานหรือเบาะนั่งต้องปรับระดับ ปลายเท้าสัมผัสกับบันได และไม่ควรให้ขาหย่อน เวลาลงเนินชัน จะต้องยืนขึ้นทุกครั้ง เพื่อการทรงตัวที่ดีขึ้น เบรคใช้แบบบีบปล่อย หลีกเลี่ยงการเบรคที่ทำให้ล้อลอค ส่วนเกียร์ปรับให้สมดุลกับความลาดชันของสภาพเส้นทาง" ไกด์กิตติมศักดิ์ ได้อธิบายย้ำทุกขั้นตอนอย่างละเอียด เพราะหากผิดพลาด ผลลัพธ์ที่จะได้มา คือ การบาดเจ็บจนถึงบาดเจ็บสาหัส
โครงการหลวงแม่หลอด-บ้านเอียด
ทางลูกรัง ไหล่เขา 15 กม.
ที่ปากทางเข้า มีร้านกาแฟชื่อ "แป้นเกล็ด คอฟฟี" เรานำจักรยานเสือภูเขา ลงจากหลังกระบะรถสู่พื้นดิน และแวะดื่มกาแฟให้ชื่นใจก่อนลุย จากจุดนี้สภาพทางจะเป็นแบบชนบท ที่เป็นดินลูกรัง เลาะไหล่เขาลาดชัน ท่ามกลางธรรมชาติหลากอรรถรส พร้อมแต่งองค์ด้วยอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อความปลอดภัย
ประตูทางเข้ามีป้ายขนาดใหญ่ว่า "สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด" จากจุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางที่บ้านเอียด เส้นทางประมาณ 15 กม. แค่เริ่มควบคุมจักรยานเสือภูเขาก็มีความรู้สึกประทับใจ ทั้งการปั่นและการสัมผัสธรรมชาติ ตลอดเส้นทางนั้นจะต้องปั่นไปตามถนนชนบท ที่รายล้อมด้วยธรรมชาติ และภูเขาสูงชัน
หลังจากปั่นมาได้ 3 กม. จะมีเนินสูงชันระยะทางประมาณ 100 ม. ผมไล่เกียร์อยู่นาน เล่นซะลิ้นห้อยเป็นหมาหอบแดด จึงตัดสินใจลงจูง ถือว่าเป็นการเก็บกำลังขาเอาไว้ เพราะระยะทางเหลืออีกไกล บนยอดเนินนี้จะพบกับโรงเรียนบ้านผาแตก จุดพักแห่งแรกหลังจากอยู่บนหลังเสือนานราว 30 นาที
บ้านผาแตก-บ้านผาแด่น
ชมบัวตอง และนาขั้นบันได
ออกเดินทางอีกครั้ง ช่วงนี้ค่อนข้างสบายกว่าเดิม ระยะทางประมาณ 5 กม. เพื่อไปยังบ้านห้วยตาด ส่วนใหญ่เป็นทางลงเขา แต่ในความสบายก็แฝงไปด้วยอันตราย เพราะจักรยานไม่มีแรงหน่วงใดๆ นอกจากการเบรค เวลาไหลลงเนินจึงต้องดูไลน์เพื่อวางล้อและควบคุมเบรคให้ดี ไม่งั้นมีหวังผ้าเบรคไหม้
ระหว่างทางยังมีพันธุ์ไม้หลากชนิด แต่มีอยู่ชนิดหนึ่ง คือ ดอกบัวตอง ที่ได้เห็นต้นจริง ดอกจริง และที่สำคัญ มีนาขั้นบันไดที่ยังไม่ค่อยเขียวขจีมากนัก รวมถึงได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวเขาในหมู่บ้านผาแตก โดยใช้เป็นจุดพักแห่งที่ 2 ซึ่งขณะที่พัก พี่เล็ก ได้อธิบายทริคในการปั่นแบบกระจายแรงและไม่เปลืองแรง เพราะต่อไปจะเป็นทางขึ้นเขาสูง และทางลงลาดชันกว่าเดิม
เส้นทาง 5 กม. ที่ผ่านมา แทบจะไม่ได้บั่นทอนพลังไปสักเท่าไร เพราะเป็นทางลงเขา เราแวะพักจุดนี้ประมาณ 15 นาที ดื่มน้ำ และพูดคุย พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเสร็จเรียบร้อย ก็ออกเดินทางกันอีกครั้ง
บ้านผาแด่น-บ้านเอียด
สัมผัสป่าต้นน้ำปิง ขณะที่ความฟิทร่อยหรอ
เป็นช่วงสุดท้ายที่ได้คุมหลังเสือ กับระยะทางที่เหลือไม่ถึง 10 กม. ผมปั่นลัดเลาะไหล่เขาไปตามลำธารน้ำแม่ริม การมองจากที่สูงทำให้เห็นการไหลของสายน้ำที่เลี้ยวลัดเลาะ ไปตามแนวโขดหิน และบางช่วงยังต้องข้ามสะพานไม้ไผ่ที่ชาวบ้านทำไว้
แต่แล้วปัญหาก็เริ่มมาเยือน พลังที่หายไปจากความเหนื่อยล้า ขาเริ่มสั่นและอ่อนแรง หายใจสั้น ถี่และเร็วขึ้น สาเหตุจากช่วงทางขึ้นเขายาวๆ แต่ก็ยังมีร่มไม้ให้เราได้พักเหนื่อยตามแบบฉบับของพงไพร ซึ่งก็พอทำให้คลายความเหนื่อยล้ากันได้บ้าง
ผมรีบปล่อยจักรยานลงเขา ทันทีที่ถึงริมธารน้ำใสไหลเย็น ซึ่งมารู้ทีหลังว่าสายน้ำแห่งนี้จะไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง ถ้าไปตามสายน้ำก็จะไปโผล่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ได้
ตอนนี้เริ่มหมดสภาพ ใช้เวลาพักตรงนี้นานมาก สาเหตุหลักน่าจะมาจากความเหนื่อยล้า แต่ที่สัมผัสได้อย่างแท้จริงก็คือ ความร่มรื่นของสุมทุมพุ่มไม้ เสียงสายน้ำไหลลัดเลาะกระทบโขดหิน ความเย็นสบายที่รับรู้ได้แม้ว่าจะไม่ได้นั่งแช่อยู่ในลำธารก็ตาม
เห็นถนนแม่แตงอยู่รำไร
ใจแข็ง แต่ขามันอ่อน
พักเหนื่อยกันครู่ใหญ่ พลังของผมมันฟื้นคืนมาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้รู้สึกดีขึ้นเป็นอย่างมาก เริ่มที่จะเรียนรู้และปฏิบัติทางด้านการปั่นด้วยศักยภาพที่เพิ่มขึ้น เริ่มมีพัฒนาการในทางที่ดี แต่อุปสรรคมันช่างยากลำบากจริงๆ ระยะทางก็แบบเดิม ทักษะดีขึ้น แต่สังขารมันไม่ไหว
ระยะทางที่เหลืออีกน้อยนิด ซึ่งพอมองเห็นถนนแม่แตงอยู่รำไร ผมจำเป็นต้องโดดลงจากหลังเสืออีกครั้ง และมันก็เป็นครั้งสุดท้าย ผมเอาจักรยานเสือภูเขาที่คบกันมากว่าครึ่งวัน พิงไว้กับต้นไม้ใหญ่ และลงนั่งกับพื้นถนนที่เป็นดิน ด้วยทีท่าที่หมดสภาพอย่างสิ้นเชิง
"ใจยังสู้...แต่ขามันสั่น"
อาการดังกล่าวทำให้ผู้นำทางตัดสินใจถามเราว่า "กลับเลยไหมครับ ?" ไม่มีเสียงตอบจากปากผมแน่นอน แค่เงยหน้ามอง แล้วจากนั้น ก็ก้มหน้าลงนิดๆ พร้อมกับลิ้นไม่อยู่ในอุ้งปากก็เป็นคำตอบอย่างชัดแจ้ง และหนักแน่นพอที่จะทำให้ไกด์รับทราบถึงคำตอบทันที พร้อมสื่อสารกับพลขับรถกระบะที่ขนจักรยานเสือภูเขา ให้รีบมารับโดยเร็ว ซึ่งถือว่าจบการเดินทางบนหลังเสือ ที่เหนื่อย หอบ ล้า แต่ก็มันและสะใจไปอีกแบบ
ที่กิน+ที่พัก
หลงขึ้นดอยเจอของดี
เวลาเปลี่ยน สถานที่เปลี่ยน
หลังจากลำเลียงจักรยานเสือภูเขาขึ้นหลังกระบะรถ ผมย้อนกลับมาที่ตลาดแม่ริมเพื่อบรรจุเสบียง เตรียมตัวแคมพิงบนยอดดอย ซึ่งพี่เล็กคนเดิมเป็นผู้แนะนำให้ขึ้นไปพักที่บนยอดดอย ปางกื๊ด ฟังชื่อแล้วตลกดี ไม่เคยได้ยินชื่อนี้เลยต้องลองตามไปดู ว่าจะเป็นอย่างไร เผื่อจะได้เอาจักรยานเสือภูเขาไปถ่ายภาพพระอาทิตย์อัสดง
พี่เล็กบอกว่า ที่นี่สวยไม่แพ้ที่อื่น เมื่อ 1-2 ปีก่อน เคยมาพักแรมที่บนดอยแห่งนี้ เรามุ่งหน้าออกจากตลาดแม่แตง ตามทางหลวงหมายเลข 107 เลยจากปางช้างแม่ตะมาน ประมาณ 2 กม. ก็จะพบกับทางเข้าวัดป่าปางกว้าง มุ่งตรงไปตามทางปูน ลัดเลาะไหล่เขา ประมาณสัก 20 กม. ก็จะพบศูนย์ฝึกอบรมนิคมเชียงดาว
สถานที่แห่งนี้ คือ ที่ๆ เราจะค้างแรมกันในคืนนี้ แต่เวลาเปลี่ยน ทำให้สถานที่เปลี่ยน ที่นี่ไม่ได้เป็นสถานที่ค้างแรมสำหรับคนหลงทางอีกต่อไป หากจะเข้าพัก ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเราไม่มีการติดต่อแต่อย่างใด แต่ก็ถือว่าโชคยังเข้าข้าง เจ้าหน้าที่ของนิคมแห่งนี้ได้แนะนำให้ขับรถต่อไปอีกประมาณ 2 กม. จะมีสถานที่สำหรับพักแรมแบบแคมพิงได้ ไหนๆ มาแล้วก็ต้องลองตามไปดู
"บ้านภูแสนดาว"
พักแรม แคมพิง กับคนใจดีที่ยังมีอยู่ในสังคม
ตอนที่ไปถึงเป็นช่วงพลบค่ำ เห็นว่าที่นี่เหมาะแก่การแคมพิง จึงรวบรวมความกล้าลงจากรถไปขอชาวบ้านค้างคืนบริเวณลานดินแบบแคมพิง ซึ่งเขาตอบตกลงและยินดีให้เราถึงขั้นนอนในบ้าน รวมถึงใช้ห้องน้ำ ผมจึงบอกไปว่า ผมขอแค่พื้นที่ตรงลานดินและก็ห้องน้ำแล้วกัน แค่นี้ก็เกรงใจมากแล้ว
ชาวบ้านคนนี้ชื่อ ถวัลย์ ภัยพิลัย หรือ พี่ยุทธ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล ซึ่งในขณะที่ผมไป ที่นี่ยังไม่เปิดบริการ มีก็แต่ญาติสนิทมิตรสหายที่ผลัดเปลี่ยนมาเยี่ยมเยียน จึงถือโอกาสตอบแทนน้ำใจด้วยการนำเสนอที่พักซึ่งไม่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ พร้อมทิวทัศน์สวยงาม และกิจกรรมแบบโฮมสเตย์ ให้ผู้อ่านได้ตามรอยก็แล้วกัน
ที่นี่มีชื่อว่า "บ้านภูแสนดาว" สิ่งที่นักเดินทางจะได้พบ ก็คือ ห้องพักแบบ SEE VIEW ทุกห้อง พร้อมหมู่ดาวเต็มท้องฟ้ายามค่ำคืนในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว เวลาเช้ามองเห็นทะเลหมอกแบบเต็มๆ ตา ที่ลอยขึ้นมาจากยอดดอยเชียงดาว ในช่วงสายๆ ยังมีกิจกรรม เด็ดยอดชา เก็บลิ้นจี่ หรือคั่วเมล็ดกาแฟสดๆ จากไร่ที่ปลูกลดหลั่นตามเชิงเขา ที่สำคัญอุณหภูมิโดยรวมจะอยู่ที่ 15-25 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปี รวมถึงราคาค่าที่พัก อยู่ที่คืนละไม่เกิน 1,000 บาท
กินง่ายๆ
ข้าวต้ม+ยำสารพัด
ครั้นจะยกครัวมาทำอาหารพวกต้มยำ หรือทำแกง ดูแล้วคงจะเป็นเรื่องลำบากอยู่ไม่น้อย เมนูประจำทริพที่คิดมั่วๆ ก็ได้บรรจงสร้างออกมาในนามว่า "ยำสารพัด" ส่วนผสม ได้แก่ ไข่เค็ม ผักกาดกระป๋อง กุ้งแห้ง เห็ดเผาะ ต้นหอม ผักชี พริกสด และมะนาว นำมาเคล้ารวมและปรุงรสตามใจชอบ ทานกับข้าวต้มร้อนๆสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายได้เป็นอย่างดี ไม่เชื่อลองทำกันดูครับ !
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเทพ เผ่าจินดา
ภาพโดย : จินดา ลัยนันท์นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)