ประกันภัย
ส้มหล่นทำเบี้ยประกันโต
ต่อเนื่องจากฉบับก่อนๆ ได้นำเสนอเรื่องที่รัฐบังคับให้ประชาชนซื้อประกันภัยป้องกันทรัพย์สิน ตาม พรบ. ภัยพิบัติแห่งชาติ ทำเอาประชาชนตื่นตัวซื้อประกันภัยป้องกันทรัพย์สินกันอย่างกว้างขวาง ผลพวงทำให้เบี้ยประกันภัยโตขยายต่อเนื่อง และปีนี้ถือเป็นความโชคดีของประกันภัย เนื่องจากไม่มีเหตุภัยพิบัติที่เสียหายรุนแรง ค่าสินไหมทดแทนยังพอจะเก็บไว้ไปชดเชยความเสียหายปีที่ผ่านมาพอมาเข้าไตรมาสที่ 3 ส่งท้ายปี ธุรกิจประกันภัย ยังคงได้รับอานิสงส์ส้มหล่นจากโครงการรถยนต์คันแรก ประชาชนแห่เข้าโครงการซื้อรถคันแรกทะลุเป้ากว่า 5 แสนคัน หลายท่านพยากรณ์อาจถึง 7-8 แสนคัน รัฐบาลอาจต้องเตรียมเงินจ่ายคืนภาษีเฉียดแสนล้านบาทแน่ และมีรายงาน คปภ. เผยธุรกิจประกันภัยไทยเดือนตุลาคมโต 32.23 % สอดรับส้มหล่นจริงๆ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยตัวเลขภาพรวมธุรกิจประกันภัยในเดือนตุลาคม 2555 เติบโตโดดเด่นถึงร้อยละ 32.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งสิ้น 49,716 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยจากธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งสิ้น 18,303 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งถึงร้อยละ 44.83 และเป็นเบี้ยจากธุรกิจประกันชีวิตจำนวน 31,413 ล้านบาท ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 25.85 ส่งผลให้รวม 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2555) ธุรกิจประกันภัย ขยายตัวร้อยละ 20.39 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 455,920 ล้านบาท ประเวชองอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2555 ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัญญาณการปรับตัวดี โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอีเลคทรอนิคส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม 2555) ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 455,920 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.39 โดยแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 308,594 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการที่ธุรกิจประกันชีวิตมีการแข่งขันการขายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่พัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสนองต่อความต้องการของประชาชน มีการพัฒนาการให้บริการหลังการขาย การพัฒนาช่องทางการขายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประกันภัยได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ให้สิทธิผู้ซื้อประกันชีวิตสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ โดยเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด คือ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 258,372 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.89 รองลงมาการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม จำนวน 38,798 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 25.97 และการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 4,520 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.24 และจากธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวนรวมทั้งสิ้น 147,326 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันภัยรถมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด จำนวน 84,865 ล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 23.35 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงร้อยละ 263.7 ในเดือนตุลาคม ปี 2555 จากมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก และการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ของรถยนต์ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ รองลงมาการประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 50,173 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.84 และการประกันอัคคีภัย จำนวน 8,001 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.90 เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ในปี 2555 แม้ธุรกิจประกันภัยจะเผชิญปัญหาจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ และผลกระทบหลังจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อฐานะการเงินของหลายบริษัท แต่ธุรกิจประกันภัยก็สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ซึ่งเห็นได้ว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยสูงเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นปีแรกในรอบกว่าทศวรรษที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีอัตราการเติบโตสูงกว่าธุรกิจประกันชีวิต ทั้งนี้ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อประกันภัยของประชาชนที่สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มครองตามที่ต้องการ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต และทรัพย์สินของตนเอง และการปรับตัวของธุรกิจประกันวินาศภัยเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มเสรีมากขึ้นในอนาคต ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันวินาศภัยสามารถพลิกฟื้นและเติบโตได้ในอัตราเร่ง สืบเนื่องจากการที่ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยขยายอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน คปภ. จึงกล้าประกาศยืนยันว่าธุรกิจประกันไทยแข็งแกร่ง และพร้อมรับมือ AEC ยันประเทศไทยได้รับผลดีจากคาดการณ์ จีดีพี อาซียน อีก 5 ปี เฉลี่ยโต 5.8 % ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยโดยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตและประกันวินาศภัยของไทยถือว่าแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะหากมองกลุ่มประเทศในอาเซียน จะพบว่าอัตราการเติบโตของ จีดีพี เฉลี่ยอยู่ ในระดับ 5.2 % ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตของ จีดีพี ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่ง อัตราการเติบโตของ จีดีพี ในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว หรือ จี 3 เป็น 1 ใน 3 ของเรา เราเองอัตราการเติบโตก็ยังสูง ขณะเดียวกันอัตราการออมของกลุ่มประเทศอาเซียนเฉลี่ยย้อนหลังอยู่ที่ 33 % ของ จีดีพี ขณะที่ทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 22 % อัตราการออมของอาเซียนเฉลี่ยแล้วพบว่า ของอาเซียนก็สูงกว่าอัตราการเติบโตของ จีดีพี อาเซียน ก็ยังสูงกว่า แต่อัตราการเข้าถึงประกันภัย คือ อัตราเบี้ยประกันภัยต่อ จีดีพี เฉลี่ยของอาเซียนอยู่ที่ 3 % ขณะที่ทั่วโลก 7 % อัตราการเข้าถึงประกันของอาเซียน ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยอัตราการเข้าถึงประกันยังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราเฉลี่ยของโลก ตัวเลขเหล่านี้ได้บ่งบอกได้อย่างดีว่า ในภูมิภาคอาเซียน ธุรกิจประกันภัยของอาเซียนสามารถจะเติบโตไปได้อีกมาก โดยเฉพาะถ้ามองไปในอีก 5 ปี ข้างหน้า ที่มีการมองกันว่าอัตราการเติบโตของ จีดีพี ภูมิภาคอาเซียนเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 5.8 % ขณะที่อัตราของโลกน่าจะเกิน 3 % สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเลขบ่งบอกอุตสาหกรรมประกันภัยของเราว่าเติบโตไปในลักษณะสอดคล้องกัน คาดในอนาคตอุตสาหกรรมประกันภัย สามารถเติบโตได้อีก เพราะจากตัวเลข จีดีพี ของอาเซียนที่ 5.8 % ของโลกที่กว่า 3 % แล้วก็อัตราเบี้ยประกันภัยต่อ จีดีพี ที่เราน้อยกว่าทั่วโลก 7 % ของเรา 3 % ขึ้นไปได้แต่ละเปอร์เซนต์จะทำให้เราโตเป็นตัวเลขบ่งบอกมองไปข้างหน้า อุตสาหกรรมประกันภัยในเอเชียจะโตมากขึ้น ไทยน่าจะได้รับผลพวงจากการโตเช่นกัน หากดูความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมประกันภัยไม่ว่าในภาวะวิกฤตที่ผ่านมา แม้จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ มีภัยพิบัติ เราก็ยังเติบโตได้อย่างแข็งแรง และจะเติบโตต่อไป "ก้าวต่อไปที่มอง คือ การเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะผ่านการตรวจ ผ่านการสร้างกฎเกณฑ์ความมั่นคงทางการเงินที่เรียกว่าความเพียงพอของเงินกองทุน ซึ่งมาตรฐานนี้ยังดำเนินอยู่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ให้บริการตั้งอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน มีความมั่นคงทางการเงิน เพื่อมีความพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชน มีขีดความสามารถ มีศักยภาพในการให้บริการ" ส่วนผู้เอาประกันเองการให้ความรู้แก่ผู้เอาประกันเรื่องธุรกิจประกัน เรื่องผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คปภ. จะเน้น ไมโครอินชัวรันส์ หรือ ประกันสำหรับรากหญ้ามากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือน ณ ขณะนี้จำนวนกรมธรรม์ที่ผู้เอาประกันถือว่าสูงขึ้นทุกปี แต่ยังกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลางมา ซึ่งเราอยากจะไปขยายทางภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ไมโครอินชัวรันส์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าสามารถเป็นเครื่องมือในการบุก ทะลุทลวงเข้าไปในภูมิภาค ไมโคร เป็นกรมธรรม์เล็กๆ เบี้ยไม่สูง ให้ความคุ้มครองไม่ซับซ้อน จะสร้างความมั่นใจ สร้างศักยภาพ สร้างการเข้าถึง อย่างไนไรก็ตาม ธุรกิจประกันภัยไทยยังต้องปรับตัวให้พร้อมรับการแข่งขันในทุกด้าน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของภาพเศรษฐกิจ และสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความผันผวนตลอดเวลา อาจจะเกิดมหันตภัยขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยในการอยู่รอดของธุรกิจ อีกปัจจัย คือ โครงสร้างของกฎหมาย กฎระเบียบ ต่างๆ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสำนักงาน คปภ. ก็กำลังเร่งนำเสนอเพื่อแก้ไขปรับปรุงอยู่ บางส่วนกระทรวงการคลังได้นำเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ส่วนกฎหมายหลักต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ตามกระบวนการทางกฎหมาย รายละเอียดจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับต่อๆ ไป นะครับ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ประกันภัย