มุมมองนักออกแบบ
ฟอร์ด โฟคัส, ฮอนดา ซีวิค, มาซดา 3, มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอกซ์
มุมมองนักออกแบบ เน้นเรื่องการดีไซจ์น
ฟอร์ด โฟคัส 2.0 สปอร์ท พลัส (คันที่ 1)
ภัทรกิติ์ : เรื่องการดีไซจ์น ผมให้เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มนี้ จากไวยากรณ์ที่ใหม่สดทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงเทคโนโลยีที่ใส่เข้ามาในตัวรถ ถ้าเทียบกับเจเนอเรชันก่อนๆ โฟคัส รุ่นนี้ ถือว่าก้าวกระโดดมาก จัดหนักในทุกรายละเอียด
อภิชาต : ถ้าถามแนวดีไซจ์น ผมถือเป็นภาษาดีไซจ์นแบบใหม่ ก่อนจะเป็น โฟคัส ตัวนี้ เขาทำวิจัยและทำการตลาดใหม่ โดยใช้แนวทางโฆษณาแบบเดียวกันทั่วโลก
ภัทรกิติ์ : ฟอร์ด สมัยก่อนรถในแต่ละทวีปไม่เหมือนกัน แต่ตอนนี้จะเป็นแนว GLOBAL CARS มากขึ้น แต่อย่างว่า ในอเมริกายังมีโมเดลของเขาเอง เพราะมันขายที่อื่นไม่ได้
อภิชาต : เรื่องนโยบาย เขามีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย พยายามทำให้เป็นรถคันเดียว แล้วผลิตขายได้ทั่วโลก เรื่องดีไซจ์นรุ่น 5 ประตู รู้สึกว่าขายได้มากกว่า 4 ประตู ตลาดชอบ 5 ประตูมากกว่า ภาษาดีไซจ์น เน้นไปทางรถสปอร์ท ดูโฉบเฉี่ยวมากกว่า ในเซกเมนท์เดียวกันถือว่ากินขาด จากเรื่องของอารมณ์ในการดีไซจ์นทีมีมากกว่า ความสดใหม่ เส้นสายคม และค่อนข้างโฉบเฉี่ยว โดยเป็นสไตล์ที่ค่อนข้างฉีก แหวกแนว โฟคัส ตัวนี้ทำให้ ฟอร์ด กลับเข้ามาทำตลาดได้มากขึ้น สามารถต่อสู้กับบแรนด์ญี่ปุ่นได้มากขึ้น และกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
ภัทรกิติ์ : ผมว่า ฟอร์ด โฟคัส คันนี้ เป็นรถที่ไม่มีหน้าเท่าไรนัก ถ้าเอาโลโกออก เอายี่ห้ออื่นใส่ก็พอได้ คือมันยังไม่มีหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน
ฟอร์มูลา : หน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ มันสำคัญมาก ?
ภัทรกิติ์ : ถือเป็นเรื่องใหญ่ของนักออกแบบ
อภิชาต : ที่เห็นว่าแตกต่างจากสมัยก่อนเลย คือ หน้ารถจะใหญ่กว่าและมีพื้นที่สีดำมากขึ้น
ภัทรกิติ์ : มันเหมือนการบ่งบอกถึงพลังที่ดูดอากาศมากเท่าไร เครื่องยนต์ก็ต้องใหญ่มากเท่านั้น คล้ายๆ ปลากำลังอ้าปาก ยกตัวอย่าง รถไฮบริด ปากจะต้องเล็กๆ หรือบางทีอาจจะไม่มีปากก็ได้
อภิชาต : ผมมองว่าเป็นแนวทางทำให้รถแนวอื่นหันมามองการออกแบบให้หน้าตาเป็นสไตล์นี้ ฟอร์ด เล่นเส้นสายดีไซจ์นด้านหน้าให้ดูยาว ซึ่งเหมาะสมกับตลาดปัจจุบันมากขึ้น
ภัทรกิติ์ : ดีไซจ์เนอร์ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มีรสนิยมและฝีมือดี แต่ในความคิดผม โฟคัส รุ่นสวยที่สุด คือ โฟคัส ไฮบริด
ฟอร์มูลา : ภาพรวมภายในเป็นอย่างไรบ้าง ?
ภัทรกิติ์ : มันเป็นภายในที่ดีที่สุด ในกลุ่มรถที่ราคาประมาณ 1 ล้านบาทเศษๆ มีทั้งการคุมแสงสีที่ประณีต คือ ใจเดียวมาก แสงสีฟ้า เหมือนกันทั้งคัน แสดงให้เห็นว่ามีการยึดมั่นในเรื่องการคุมโทน แล้วอีกอย่างที่ทำให้รถรุ่นนี้พิเศษกว่าใครคือ การให้แสงสว่าง (ILLUMINATION) ในห้องโดยสาร เขาออกแบบให้แสงไฟแอลอีดี ภายในห้องโดยสารยิงไปตามจุดต่างๆ จะเห็นชัดเจนตอนกลางคืน ซึ่งรถในกลุ่มเดียวกันไม่มี
อภิชาต : เขาหันมาให้ความสนใจเรื่องทริมมากขึ้น บริเวณแดชบอร์ด ทริมตามประตู ในแนวทาง GLOW IN THE DARK
ภัทรกิติ์ : ผมว่า ฟอร์ด เขาเป็นขวัญใจของคนชอบงานดีไซจ์นเลยทีเดียว ทั้งภายนอกและภายใน
ฮอนดา ซีวิค 2.0 อีแอล เนวี (คันที่ 2)
ภัทรกิติ์ : ถ้าพูดถึงเรื่องดีไซจ์น รถคันนี้ไม่ได้ทำให้เราตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าได้ลองขับแล้วจะพบว่าลงตัว เพราะการดีไซจ์นไมได้ฉีกกรอบของ ซีวิค เอฟดี (รุ่นก่อนหน้านี้) สักเท่าไร เหมือน ฮอนดา ตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศทางการออกแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก และมักจะเป็นแบบนี้เกือบทุกบริษัท คือ พอทำอะไรสำเร็จขึ้นมาอย่างหนึ่งแล้ว กลัวว่าจะทำออกมาสู้ตัวเก่าไม่ได้ เลยใช้สูตรสำเร็จเดิมๆ ตัวเก่ามีอะไรดี ก็จะใช้แบบนั้น เลยกลายเป็นว่าคนซื้อรถแทนที่จะได้เจออะไรสดๆ ก็ไม่เจอ แต่ถ้ารถรุ่นเก่า มีปัญหาเราจะได้พบเจออะไรใหม่ๆ แน่นอน
อภิชาต : รถรุ่นนี้ผลิตออกมาแบบไม่มีอะไรหวือหวามากนัก ต่างจาก ซีวิค เอฟดี ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่อาจเป็นเพราะหลายคนให้ความหวังว่า จะมีอะไรที่ฉีกแนวออกไป ในเจเนอเรชันนี้ ถ้าเป็นคนทั่วไปมองรถคันหนึ่งที่ว่าใหม่ ก็คงจะพบว่ามีอะไรใหม่สักอย่าง แต่ในสายตานักออกแบบเราจำเป็นต้องหาแนวทางการออกแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอก
ภัทรกิติ์ : ซีวิค เอฟบี คันนี้ก็ถือว่าใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นภายนอก เครื่องยนต์ (รุ่น 2.0 ลิตร) แต่ภายในใหม่ที่คล้ายของเดิม (ซีวิค เอฟดี) นี่แหละ ทำให้เส้นสายต้องเป็นแนวทางเดิมๆ ทำให้ดูหนาเทอะทะ แต่สิ่งที่ผมสัมผัสได้ คือ ซีวิค เปลี่ยนฐานลูกค้า จากเดิมถูกใจวัยรุ่น แต่คันนี้อายุของลูกค้าน่าจะเพิ่มขึ้นพอสมควร จากเดิมที่ถูกใจคนอายุ 25 ปี กลายเป็นถูกใจคนอายุ 35 ปี
ฟอร์มูลา : เหมือนเขาตั้งใจเปลี่ยนเซกเมนท์ชัดเจนไปเลย
ภัทรกิติ์ : รถรุ่นนี้เปลี่ยนบุคลิกจาก แนวรถ "ซิ่ง" ดูร้อนแรง แต่สำหรับรุ่นเจเนอเรชันนี้ เขากลายเป็นรถรักษ์โลกแทน
อภิชาต : ดูอบอุ่นมากขึ้นครับ
ภัทรกิติ์ : เหมาะเป็นรถที่ใช้งานในเมืองจริงๆ GO GREEN มากๆ เป็นวิถีใหม่ เหมือนเป็นพาหนะที่พาเราจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ไม่ต้องคิดอะไร นี่คือ วิถีที่มาจากญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นไม่คิดอะไร เขาต้องการให้รถเป็นเครื่องมือในการเดินทางเท่านั้น แต่ยังรู้สึกว่าขับสนุกอยู่นะ
อภิชาต : ผมว่าภายนอกขาดความลงตัว โดยโครงสร้างของพื้นผิว ไม่ค่อยตื่นเต้น เพราะการออกแบบรถยนต์ ทีมนักออกแบบต้องทำให้คนรู้สึกอยากเข้าไปจับต้อง อยากสัมผัส แต่คันนี้ยังขาดความรู้สึกเร้าใจ แต่ไม่ใช่ผมไม่ชอบ เพียงแต่ยังไม่เร้าอารมณ์ผมเท่าไร
ภัทรกิติ์ : รถคันนี้เขางามพิศ ไม่ใช่งามผาด ทำนองว่า ไม่ใช่รักแรกพบ แต่ต้องได้เรียนรู้สัมผัสภายนอกภายในอย่างลึกซึ้ง พูดง่ายๆ คือ รักต้องลอง นิยามของคันนี้เลย
ฟอร์มูลา : อยู่กันไปแล้วไม่เบื่อ ได้เรื่อยๆ ยิ่งลองยิ่งรัก
อภิชาต : ด้านหลังสำหรับผมรู้สึกเหมือนง่วงๆ แต่ชอบกว่าด้านหน้า เพราะการออกแบบไฟท้ายที่ดูลงตัว แต่ถามว่ามีอะไรพิเศษไหม อาจจะน้อยกว่าคู่แข่งเล็กน้อย สิ่งที่ทำให้รถดูปราดเปรียวขึ้น มาน่าจะเป็นบริเวณไฟท้าย จากด้านล่างมาถึงกันชน ทำให้รถดูมีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง
ฟอร์มูลา : นำข้อดีในรุ่นเก่า อาทิ การทำงานช่วงล่าง มาปรับเปลี่ยนในรุ่นนี้ สิ่งที่คนบ่นกันในรุ่น เอฟดี ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ในรุ่นนี้ กลายเป็นว่า รุ่นนี้ขับดีขึ้น แต่อารมณ์สปอร์ทที่เคยมีอยู่ในรุ่น เอฟดี กลับลดน้อยลง
ภัทรกิติ์ : มีความครบถ้วน ครบครัน ทำให้รถดูเป็นแมสส์ มากขึ้น แต่ก่อนรถรุ่นนี้เหมาะกับวัยรุ่นโดยแท้ ทำให้คนรุ่นใหญ่ไม่กล้าซื้อ เพราะดูไม่เหมาะกับเขาเท่าไร แต่ตอนนี้เปิดกว้างขึ้นแล้ว ดูเป็นรถบริษัทมากขึ้น เพราะรถบริษัทเขาก็ไม่กล้าซื้อรถที่หน้าตา "ซิ่ง" มันดูไม่น่าเชื่อถือ
อภิชาต : ด้านรูปทรง ถ้าเป็นคนที่ชอบดีไซจ์น คงไม่เพียงพอ แต่เราก็ต้องดูว่า ตัวรถรุ่นนี้รองรับกลุ่มคนอายุเท่าไร ไม่ใช่จะว่าอะไรๆ ก็ไม่ดี
ภัทรกิติ์ : ผมว่าเราถูก ซีวิค เอฟดี ล้างสมองไปหมดแล้วครับ เพราะรุ่นนั้นถือเป็น ซีวิค เจเนอเรชัน ที่ดูดีที่สุด
อภิชาต : สรุปเลยว่า ฮอนดา ซีวิค ค่อนข้างจืดสำหรับผม แต่ถ้าผมไม่เจอ "ซูม-ซูม" กับ "โฟคัส" ผมก็อาจจะว่ามันดีก็ได้
ฟอร์มูลา : อาจารย์ชอบเห็นอะไรที่ทำให้หัวใจเกือบหยุดเต้นใช่ไหมครับ ?
อภิชาต : ก็ไม่ขนาดนั้น แต่เราเป็นนักออกแบบ ควรจะมีอะไรที่ดูสร้างสรรค์ แสดงถึงความสุนทรีย
ภัทรกิติ์ : รถคันนี้ทำให้หัวใจเราเต้นช้าลง ไม่ใช่ไม่ดี แต่มันรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ดูเข้ากันได้กับกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นเดิม
อภิชาต : เมื่อ ซีวิค เอฟบี ต้องมาเจอคู่แข่งอย่าง "ซูม-ซูม" ที่มีสไตล์เหมาะกับวัยรุ่นโดยแท้ ถ้าเปรียบเป็นเสื้อผ้า ซีวิค ดูเฉยๆ สะอาดสะอ้าน ไม่ว่าคนใส่จะเป็นแบบไหน
ภัทรกิติ์ : แต่ถ้าเอาบริการหลังการขายมาเป็นตัวตัดสิน รถคันนี้คือ ขวัญใจมหาชน
มาซดา 3 สปอร์ท แมกซ์ซ์ (คันที่ 3)
ภัทรกิติ์ : ผมขับแล้วรู้สึกว่าถูกใจกว่า ฟอร์ด โฟคัส แต่ถูกใจกว่าในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เร็วกว่าหรือแรงกว่านะครับ แต่มันลงตัวแบบง่ายๆ สบายๆ
อภิชาต : ทีมวิศวกรเซทอัพมาดีจริงๆ
ฟอร์มูลา : คันนี้น่าจะเป็นขวัญใจนักออกแบบ เพราะเขาทำตามยุคตามสมัย
อภิชาต : มาซดา นำเสนอดีเอนเอของตัวเองชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเราเห็นได้จากรถที่ใช้อักษรคันจิ ที่แปลว่า "น้ำ" กับ "ลม" ซึ่งเราไม่แปลกใจ เพราะรถญี่ปุ่นต้องใช้อยู่แล้ว แต่ที่แปลกใจคือ ดีไซจ์เนอร์กลับเป็นคนฝรั่งเศส ซึ่งตรงนี้เราก็เห็นว่าการทำให้รถมีคาแรคเตอร์ และตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคสมัยปัจจุบันได้ดี คือ มาซดา โดยประเด็นที่ผมมองคือ ดีไซจ์เนอร์พยายามสร้างความแตกต่างของบแรนด์ มาซดา แต่ก็ไม่สามารถหนีความเป็นญี่ปุ่นได้ ดังนั้นการที่ใช้ดีไซจ์เนอร์ชาวต่างชาติ แล้วผสานเส้นสายแบบเอเชียเข้าไป ซึ่งตอนนี้ มาซดา พยายามเสนอแคมเปญที่แตกต่างจากเจ้าอื่นให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ซูม-ซูม ถ้าประสบความสำเร็จ ทั้งที่เขาแชร์พแลทฟอร์มกับ ฟิเอสตา (มาซดา 2) ซึ่งมันสามารถทำอะไรไม่ได้มาก เพราะมีข้อจำกัด ดังนั้นจึงต้องยกความดีให้ทีมเอนจิเนียริง กับทีมดีไซจ์เนอร์ ที่ทำงานภายใต้ข้อกำหนด
ภัทรกิติ์ : การออกแบบรถคันนี้จริงๆ แล้ว มันคือ ความเคลื่อนไหว คล้ายกับคลื่นหรือริ้วทราย ซึ่งตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่รถดีไซจ์นแบบจัดหนักๆ หลายคัน ไม่สามารถก้าวไปในกลุ่มแมสส์ได้ ตัวอย่างเช่น มาซดา 3 คันนี้ เป็นต้น ที่ไม่ชนะใจกลุ่มแมสส์ได้ แต่สร้างความฮือฮาได้ คนที่ซื้อก็ซื้อ คนที่ไม่ชอบก็จะไม่เอา ไม่มองเลย รถที่มันแรงเกินไป ชัดเจนเกินไป กลายเป็นอย่างนั้นไป มันเป็นความชัดเจนเกินไปของรถรุ่นนี้
อภิชาต : ด้วยคาแรคเตอร์ที่แตกต่างไปจากพี่น้อง เรื่องภาษาดีไซจ์นต้องให้ 5 ดาว แม้ว่าลึกๆ หลายคนอาจไม่ชอบ พอเห็นปุ๊บเรารู้ว่ามีอะไรใหม่ แต่บริษัท ฯ พยายามดีไซจ์นออกมาให้มีความแตกต่าง หลากหลาย ชัดเจน มีทรวดทรงเส้นสาย และทำให้ตัวรถมีความเคลื่อนไหว
ภัทรกิติ์ : มันเป็นรถสำหรับคนที่ชอบแล้วจะรักเลย ถ้าคนไม่ชอบมันก็ไม่ใช่เอาเสียเลย เช่น คุณป้า คุณย่า คุณยาย ทั้งหลายที่จะซื้อรถใหม่สักคัน ต้องการรถขนาดกลางเอาไว้จ่ายกับข้าว หลังเกษียณอายุ รถคันนี้คงไม่ใช่ เลยจริงๆ ป้าหัวใจจะวาย แต่สำหรับคนที่ว่าใช่ เห็นแล้วหลงรักตั้งแต่แรก มีชีวิตอยู่กับรถคันนี้ได้ ใช้แล้วภูมิใจ รวมถึงมีการการเล่นสีสันภายในที่น่าสนใจ
อภิชาต : ภายนอกมีความน่าสนใจ พอเขาเริ่มมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนขึ้น จากประสบการณ์ของผม ทำให้รู้สึกว่างานดีไซจ์นไปในทิศทางเดียวกันมากกว่าเดิม เหมือนมีคำพูด มีแนวทาง มีการนำธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกคนจินตนาการตามภาพที่สร้างไว้ แล้วก็จะเจอดีไซจ์นแบบนี้เกือบทุกส่วนของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็น ฝากระโปรงหน้า กระโปรงท้าย กันชนท้าย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจภาษาที่เขาพยายามสื่อความเป็น มาซดา ส่วนการแข่งขันในตลาด เหมือนเป็นการแสดงให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจน แสดงจุดเด่นออกมาให้โลกเห็น พยายามดึงลูกค้าให้เข้ามาหาบแรนด์เอง จดจำในบแรนด์ ณ จุดนี้ มาซดา สามารถยืนหยัดในตลาดได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว ด้วยรูปทรงอย่างนี้ไม่มีที่ไหนในโลกแน่นอน ดังนั้นถ้าเป็นคนชอบดีไซจ์นจะต้องหลงรักคันนี้ เพราะรถเต็มไปด้วยเส้นสายเล็กๆ น้อยๆ มากมาย และน่าสนใจจริงๆ กันชนท้ายดูประณีต มีเส้นเริ่มต้นและเส้นจบ ถ้าให้คะแนนเรื่องการดีไซจ์น ผมให้เต็ม เพราะสิ่งที่ดีไซจ์เนอร์มองคือ การสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาในชิ้นงาน มากกว่าจะอยู่กับอะไรเดิมๆ ที่เห็นแล้วเห็นอีก
ภัทรกิติ์ :�คันนี้คล้ายกับทีมออกแบบเขาทุบโมเดลเดิมทิ้งไป แต่ยังคงความเป็น "ซูม-ซูม" ไว้ เขาวางตัวเองอยู่แนวสปอร์ท ทุกอย่างฟอร์มว่าเป็นแนวเรซิงมาก แต่เป็นเครื่องยนต์รุ่นเดิม เปลี่ยนเกียร์ แต่เราเป็นนักออกแบบ เราพูดแค่เรื่องงานดีไซจ์นอย่างเดียวพอ
ฟอร์มูลา : การออกแบบภายในเป็นอย่างไรบ้าง ?
ภัทรกิติ์ :�ถามว่าดีไหม ตอบได้ว่าดีมาก และทีมงานคงทำงานกันหนักมากกว่าจะได้คันนี้ออกมา
อภิชาติ : ส่วนตัวผมรู้สึกแปลกๆ แต่ถ้าถามว่าเทียบกันในเซกเมนท์ เขาพยายามทำให้แตกต่าง จากที่เห็นรถตัวจริง ผมว่ามันดูเรียบๆ นิ่งๆ แต่มีสไตล์ และในความนิ่งสามารถสะกดสายตาไว้ได้ เข้าใจวางตำแหน่ง โดยรถที่ทำภายในเรียบ แต่มีสไตล์ลักษณะนี้น่าจะเป็น โวลโว แล้วถ้ามีใครถามถึงภายในของ ฮอนดา ซีวิค ที่ภายในเรียบๆ เหมือนกัน แต่เป็นความเรียบคนละแบบ เพราะนั่นเรียบเหมือนมีอะไรก็ใส่เข้าไป คันนี้เขาเรียบแบบมีจังหวะ มีสไตล์เป็นของตัวเอง ต่างจาก ฟอร์ด โฟคัส ที่มาแนวหวือหวา
มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอกซ์ จีที (คันที่ 4)
ภัทรกิติ์ : รถสำหรับคนที่ชอบรสนิยมแบบยุโรป ซีวิค ก็ขวัญใจมหาชน มาซดา ก็ขวัญใจวัยรุ่น แล้วคันนี้ละครับ ขวัญใจขาแรง น่าจะเหมาะ ถ้าตามยุคผมก็ว่าล้ำยุคล้ำสมัยในช่วงเวลาของเขานะ
ฟอร์มูลา : ใช่ครับ ถ้าตามยุคตอนที่ออกมาถือว่าโอเคมาก
ภัทรกิติ์ : เห็นแล้วจี๊ดมาก การออกแบบของรถคันนี้ ทำให้ใจเต้นแรงขึ้น
อภิชาต : ย้อนเวลากลับไป ณ ตอนนั้น ถือว่าสดมาก หน้าตาดี รูปร่างดุ เอาง่ายๆ สมัยนั้น เอาดี จะออกแบบด้านหน้ารถเป็นลักษณะปากกว้าง ขาแคบ ส่วนคันนี้กลับกัน โดยออกแบบเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมคางหมู มาดขึงขัง ดุดัน ซึ่งมีแค่ 2 บแรนด์เท่านั้น ที่ออกแบบในลักษณะนี้
ฟอร์มูลา : ปัจจุบันกลายเป็นว่า หน้าตาแบบนี้กลับมาฮิท น่าจะเรียกว่าก้าวล้ำนำมาก่อนเลยก็ว่าได้ ?
อภิชาต : เขาเป็นพี่ใหญ่ที่ออกแบบมาก่อน ให้คะแนนนำไปแต้มหนึ่งแล้วครับ ในฐานะที่ออกมาก่อน ในเรื่องการออกแบบในฝั่งเอเชียก็มี มิตซูบิชิ รายเดียวเท่านั้น ที่พยายามออกแบบกระจังหน้าในลักษณะนี้
ภัทรกิติ์ : รถคันนี้ฟอร์มค่อนข้างเรียบง่าย แต่ไม่น่าเบื่อ ผมคิดว่าแม้มันอยู่กับเรามานานพอสมควร แต่ก็ยังให้ความรู้สึกที่ไม่น่าเบื่อ และจะดูไม่น่าเบื่ออีกนานนะ เพราะมันลงตัวพอดี ด้วยคาแรคเตอร์ของรถขับเคลื่อนล้อหน้าแท้ๆ แต่วางฝากระโปรงยาวเหมือนรถขับเคลื่อนล้อหลัง รถขับล้อหน้าของญี่ปุ่นเป็นแบบฝากระโปรงสั้นทั้งนั้น แต่รถคันนี้หัวยาว ฉีกแนวไป หัวกดลงต่ำทำให้หน้าดุดัน
อภิชาต : คาแรคเตอร์แบบนี้ ทำให้ผมนึกถึง เชฟโรเลต์ แนวทางการออกแบบกระจังหน้าของเขาจะใหญ่ๆ เห็นปุ๊บแล้วนึกถึง เชฟวี แต่เราไม่ได้ว่าลอกแบบมานะ เพราะรู้สึกว่า แลนเซอร์ คันนี้ ทำมาก่อน เทียบในฝั่งเอเชียด้วยกัน ถือว่าสด โดยเฉพาะถ้าเทียบในเซกเมนท์ จริงๆ แล้วโดยพื้นฐานองค์กรของเขา มีการทำงานไม่รวดเร็วเหมือนทาง โตโยตา หรือ ฮอนดา เพราะเป็นเอกชนล้วน พโรดัคท์ใหม่จะมีผลต่อการผลิต แต่ มิตซูบิชิ เหมือนรัฐวิสาหกิจ มีตารางออกแบบอยู่แล้ว ว่าจะดีไซจ์นช่วงเวลาไหน คันหนึ่งจะใช้เวลานาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางขั้นตอนพัฒนารถรุ่นใหม่ ค่ายนี้จะไม่ได้อยู่ในวงจรที่จะออกรถรุ่นใหม่เร็ว เหมือนค่ายอื่นๆ ที่เน้นออกรถเยอะๆ เพื่อให้มียอดขาย มีกำไรเยอะ ที่สำคัญการออกแบบไม่ธรรมดา หลายค่ายส่งรถรุ่นใหม่ออกมาแต่กลับดูน่าเบื่อ
ภัทรกิติ์ : รูปลักษณ์ภายนอกดูเหมือนไม่มีอะไรเลย มันไม่ใช่รถที่เน้นตรงจุดนี้ แต่มุ่งเน้นเรื่องสัดส่วนความลงตัวมากกว่า เขาเน้นความธรรมดาของรูปร่างมาตั้งแต่แรกแล้ว ตอนที่ออกมา ถ้าเทียบกับรถในรุ่นราวคราวเดียวกัน ถือว่าล้ำมาก เป็นนวัตกรรมทางรูปร่างก็ว่าได้ สดสุดๆ จนหลายคนมึนกับกระจังหน้ากันอยู่พักใหญ่ และมีสาวกหลายคนบอกว่า ช่วยกรุณานำหน้า เอโวลูชัน 10 มาใส่ด้วยได้ไหม ถ้าเอามาใส่ก็เข้าทางคนที่ชอบหน้าดุ ส่วนคนรับไม่ได้ก็ไม่เอาเลย แต่ต้องยอมรับว่า ในบ้านเราคนที่เลือกใช้รถเซกเมนท์ที่ใช้เครื่องยนต์พิกัด 2.0 ลิตร มีอยู่ไม่มาก และส่วนใหญ่ตัวรถจะมีความพิเศษเฉพาะตัว รถยนต์คันไหนที่ขายความเฉพาะตัวไม่ได้ก็ไม่อยู่ในสายตา แล้วจะกลายเป็นรถธรรมดาๆ คันหนึ่ง เครื่องยนต์ความจุเยอะไม่ได้หมายความว่าพิเศษมากขึ้น ลูกค้าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งควรได้อะไรที่มากขึ้นตามมาด้วย สำหรับ มิตซูบิชิ รู้สึกได้ว่าจ่ายมากได้มาก เพราะทริมของรุ่น 1.8 กับ 2.0 ต่างกันราวฟ้ากับเหวเลย จะว่าไปถ้าจะเรียกว่า OLD SCHOOL ก็ได้อยู่นะ แค่ไม่กี่ปีกลายเป็น OLD SCHOOL DESIGN ไปซะแล้ว พวกรถยนต์แนวใหม่ๆ เราต้องดู ฟอร์ด โฟคัส ภายในห้องโดยสาร ซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่ห้องโดยสารคันนี้เข้ามาแล้ว ไม่มีอะไรให้เล่นมากนัก เน้นความเรียบง่ายจริงๆ
อภิชาต : เขาเขาปรับออพชันเพิ่มขึ้นกว่าเปิดตัวครั้งแรก โดยเน้นไปที่เครื่องเล่นดีวีดี พร้อมจอขนาด 7 นิ้ว เพราะในยุคที่เขาเกิดมาผมบอกว่าด้านในยังไม่โดนยังไม่พอ คือ น่าจะมีอะไรบางอย่างมากกว่านี้ เหมือนไม่ได้ออกแบบ เหมือนจับใส่ ผมมองเรื่องดีไซจ์นแดชบอร์ดมากกว่า รายละเอียดต่างๆ นี่แหละที่เขาต้องพัฒนามากขึ้น แต่เขามีกรอบการทำงานที่ชัดเจนตามแนวทางที่วางไว้
ภัทรกิติ์ : ดูกร่อยไปหน่อยหนึ่ง
ฟอร์มูลา : ตอนที่ออกสู่ท้องตลาดในบ้านเราครั้งแรกนั้นดูล้ำมาก แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งในปัจจุบันเหมือนโดนคู่แข่งก้าวนำไปหรือเปล่า
ภัทรกิติ์ : ผมว่าอย่างมากแค่ครึ่งก้าวเองครับ แล้วถ้ายิ่งเทียบกับค่ายญี่ปุ่นด้วยกันเองก็ไม่ค่อยเท่าไร แต่ถ้าเทียบกับค่ายยุโรปนี่โดนก้าวแซงไปพอสมควรเลย
อภิชาต : ต้องยอมรับว่าอยู่ในปลายอายุเขาแล้ว ออกสู่ท้องตลาดบ้านเราครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 2552
ภัทรกิติ์ : ผมเห็นรถรุ่นนี้ครั้งแรกที่ แอลเอ รู้สึกว่า โดนมาก ถือว่าฮือฮา และสวยงามมากๆ พอมาบ้านเราเขาให้ออพชันที่ดูอลังการมากนะจัดหนักเลย ล้อ 18 แต่นั่นถือเป็นเรื่องออพชัน ส่วนเรื่องการดีไซจ์นถือว่าเยี่ยมในตอนนั้นให้อารมณ์รถขับเคลื่อนล้อหน้าที่เหมือนรถขับหลัง
***บทสรุป***
อภิชาต : ในเซกเมนท์รถราคาเกิน 1 ล้านเล็กน้อย กลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถราคาขนาดนี้ยังใช้ อารมณ์เป็นตัวตัดสินใจ รถที่มีดีไซจ์นโดดเด่นจะได้เปรียบ
ภัทรกิติ์ : เห็นได้ชัดเลยอย่างรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ คนซื้อรถรุ่นนี้ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยเอาไปขนของจริงๆ จังๆ กันสักเท่าไร ในกลุ่มนี้คนกล้าลองของใหม่ก็ต้อง ฟอร์ด โฟคัส ถ้าคนชอบเสี่ยงต้อง มาซดา 3 เพราะเป็นพวกวิถีคนกล้า
อภิชาต : ถ้าคนชอบชื่อเสียงเก่าๆ อยากขับ เอโวลูชัน ต้อง มิตซูบิชิ
ภัทรกิติ์ : คนรักษ์โลกต้อง ฮอนดา ครับ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2556
คอลัมน์ Online : มุมมองนักออกแบบ