ประกันภัย
ปัญหาประกันภัยรถคันแรก
ตามที่ได้เป็นข่าวต่อเนื่องมาว่า ตลาดประกันภัยโตแบบส้มหล่น จากโครงการประกันภัยพิบัติแห่งชาติ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และโครงการคืนภาษีรถคันแรก ที่ตัวเลขจองรถทะลุกว่าล้านคัน โครงการทั้ง 2 ของรัฐบาลช่วยปั่นกระแสให้เบี้ยประกันภัยขยายตัวโตแบบผิดปกติธรรมดาของธุรกิจ
ปัญหาที่ตามมาของความไม่ปกติ คงมีมากมายเป็นเรื่องธรรมดา อย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปัญหาการคืนภาษีจะเอาเงินจากไหนมา เพราะเกินกว่าที่โครงการตั้งเป้าไว้ถึง 2 เท่ากว่า ยังจะมีปัญหาการไม่สามารถผ่อนค่างวดรถได้ครบ จะทำอย่างไรกับภาษีที่จ่ายคืนไปแล้ว หากรถถูกยึดจากไฟแนนศ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการแก้ไขและป้องกันกันต่อไป
ในด้านประกันภัยก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากโครงการรถคันแรกเป็นรถขนาดเล็ก และผู้ใช้ก็เป็นคนขับขี่มือใหม่ มีการเคลมความเสียหายจุกจิก และบ่อยมาก จนค่าเบี้ยประกันภัยไม่พอกับค่าสินไหมทดแทน ก็มีการผลักดันให้มีการเพิ่มค่าเบี้ยประกัน ผนวกกับการปรับตัวของค่าแรงงาน ทำให้ค่าซ่อมปรับราคาสูงขึ้นไปด้วย แถมปริมาณการเคลมมากจนอู่ซ่อมรถประกันรองรับไม่เพียงพอ
ในเรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องต่างก็ออกมาชี้แจงแถลงไขกันไปคนละทิศละทาง
เริ่มจาก นายกสมาคมประกันวินาศภัย ได้เปิดเผยว่า ทางสมาคม ฯ ได้หารือกัน เพื่อเตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) ขอให้พิจารณาปรับอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ให้สอดคล้องกับอัตราค่าสินไหมที่เกิดขึ้นจากการซ่อมแซม และจ่ายค่าอะไหล่ของรถยนต์ในแต่ละประเภท แทนการกำหนดอัตราเบี้ยตามราคารถ โดยเฉพาะในส่วนของรถคันแรก
ทั้งนี้ในส่วนของรถคันแรก ถูกกำหนดให้ผูกพันตามทุนประกันและราคารถ จึงทำให้เบี้ยประกันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000-15,000 บาท/คัน ขณะที่รถรุ่นที่มีเครื่องยนต์สูงกว่า 1,500 ซีซี จะเฉลี่ยเบี้ยประกัน 20,000 บาทขึ้นไป/คัน แต่ในส่วนของอัตราส่วนค่าเสียหาย หรือ LOSE RATIO ที่บริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมเพื่อซ่อมแซมรถยนต์นั้น รถคันแรกอยู่ในอัตรา 70 % สูงกว่ารถทั่วไปที่มีอัตรา 60 % ทำให้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทประกันภัย
ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรจะมีการปรับเบี้ยประกันภัยกันใหม่ เนื่องจากว่า ในธุรกิจนี้ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงที่สูงเพิ่มขึ้น
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด เปิดเผยในเรื่องดังกล่าวนี้ว่า ตนเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างเบี้ยประกันภัยใหม่อย่างยิ่ง เนื่องจากหากพิจารณาแล้ว สำหรับธุรกิจประกันภัย อย่างที่รู้ๆ กันว่า ในเรื่องของอีโคคาร์ มันเริ่มเยอะขึ้น เนื่องจากเป็นผลพวงมาจากนโยบายรัฐบาลที่ออกมาให้ประชาชนมีรถคันแรก ทำให้บรรยากาศตลาดรถยนต์ในปีที่ผ่านมา สุดคึกคักมากเป็นพิเศษ
ในส่วนของอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะจากยอดจำนวนรถยนต์ที่จะเข้ามาสู่ระบบที่มีมากถึงล้านคันนั้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า บริษัทประกันภัยจะมีความเสี่ยงมากขึ้นขนาดไหน ตรงนี้จึงมีความเห็นอย่างยิ่งที่สมาคม ฯ จะมีการปรับเบี้ยขึ้นอีก 10 % ถือว่าการปรับเบี้ยดังกล่าวมันมีความสมเหตุสมผล และไม่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบกับการปรับอัตราเบี้ยประกันใหม่ในครั้งนี้
ในส่วนภาพรวมตลาดประกันภัยจากกรณีรถคันแรกนั้น หากวิเคราะห์กันแล้ว ถือว่าก็มีความเสี่ยงอยู่พอสมควร เนื่องจากอัตราเบี้ยประกันภัยในปัจจุบัน ไม่คุ้มต้นทุนที่แท้จริง คือ จะอยู่ที่ 1.7 หมื่นบาท ซึ่งหากทำไปก็มีแต่ขาดทุน
ความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมถึงเรื่องการปรับโครงสร้างเบี้ยประกันใหม่ ทางสมาคม ฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศ คือ บริษัท ทัทชาม (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาศึกษาถึงการปรับโครงสร้างการคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ใหม่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันมีรถยนต์รุ่นใหม่ ประเภท อีโคคาร์ และซิทีคาร์ เกิดขึ้นจำนวนมาก จากเดิมโครงสร้างเบี้ยประกันจะไปผูกติดกับทุนประกันเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้การปรับโครงสร้างการคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจประกันได้รับผลกระทบจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากการจ่ายชดเชยค่าสินไหมทดแทนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใน 10 เดือนแรกของปีที่แล้ว อัตราการจ่ายชดเชยเพิ่มขึ้นกว่า 20 % เมื่อเทียบกับปี 2554
"สิ่งที่สมาคม ฯ ได้ชี้แจง คือ การปรับโครงสร้างเบี้ยประกันภัยใหม่ทั้งระบบ ซึ่งอาจจะทำให้รถบางรุ่น บางประเภท อาจจะต้องปรับค่าเบี้ยขึ้น หรือลดลงประมาณ 5-10 % ซึ่งโครงสร้างเบี้ยดังกล่าวนั้น กำลังศึกษาอยู่และคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี โดยศึกษาตั้งแต่ปีที่แล้ว"
ทางด้าน บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด กล่าวเช่นเดียวกันว่า การคิดอัตราเบี้ยประกันนั้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะปัจจุบันมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาจำนวนมาก
บริษัท ทัทชาม (ประเทศไทย) จำกัด ทำการศึกษาโครงสร้างประกันภัยของไทย โดยได้จัดกลุ่มรถยนต์จาก 5 กลุ่ม เป็น 20 กลุ่ม โดยแบ่งตามอัตราความเสี่ยงภัย ความปลอดภัย ค่าสินไหม อะไหล่รถยนต์ และขนาดรถ ซึ่งในเบื้องต้นผลของการจัดโครงสร้างเบี้ยประกันรถยนต์ใหม่นั้น จะทำให้มีการปรับขึ้น หรือปรับลงของเบี้ยประกันระหว่าง 5-10 %
สำหรับการคิดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ จะแตกต่างกันไปตามรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอยู่หลายประเด็น เช่น ลักษณะการใช้งานส่วนตัวหรือเชิงพาณิชย์ ขนาดเครื่องยนต์ การระบุหรือไม่ระบุผู้ขับขี่ ระดับอายุผู้ขับขี่ พื้นที่การใช้งาน พื้นที่จดทะเบียน จำนวนเงินดาวน์ ทุนประกันที่ต้องการ เลือกซ่อมอู่หรือซ่อมห้าง (ศูนย์บริการ) รวมไปถึงความนิยมในรถรุ่นต่างๆ ความยากง่ายในการหาอะไหล่ และแนวทางการส่งเสริมการขายของบริษัทประกันภัย ที่มีอยู่จำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันสูงอีกด้วย
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้ซื้อรถที่จะต้องศึกษาข้อมูลก่อนเลือกว่าจะใช้บริการของบริษัทประกันภัย หรือตัวแทนประกันภัยรายใด และจะเลือกให้ความสำคัญกับส่วนใดมากกว่ากัน เช่น ทุนประกัน หรือมูลค่าความคุ้มครองรถ คุ้มครองคน หรืออัตราการจ่ายเบี้ยรายปี
ในส่วนของ บริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้มาตรการรถยนต์คันแรกจะเป็นประโยชน์ ทั้งช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ และเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค แต่มาตรการนี้เป็นการดึงความต้องการในอนาคตมาใช้ สร้างแรงจูงใจให้คนซื้อรถมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่มีกำลังซื้อหรือผ่อนเพียงพอและไม่เพียงพอ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในระยะต่อไปคือ ความเสี่ยงเรื่องความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของกลุ่มที่มีกำลังซื้อหรือ ผ่อนไม่สูงพอ
"เมื่อมีคนมาจองรถกันเยอะมาก คาดว่าจะทำให้การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ อู่ไม่พอ ซ่อมไม่ทัน เนื่องจากแรงงานขาดแคลน และยังส่งผลให้ค่าแรงและค่าบริการเพิ่มขึ้น ผลก็ต้องกลับไปอยู่ที่ผู้บริโภค ในเรื่องดังกล่าว บริษัทเตรียมแผนรับมือคือ เตรียมเพิ่มจำนวนอู่ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น"
อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าโครงการรถยนต์คันแรก ที่มียอดจองซื้อรถกว่า 1.25 ล้านคัน จะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น และส่งผลให้บริษัทประกันภัยเตรียมที่จะปรับเบี้ยประกันภัยรถยนต์ขึ้นอีกนั้น ตนเห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่สมควร จะขอปรับขึ้นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ เพราะเมื่อมีจำนวนรถยนต์เข้าสู่ระบบประกันภัยมากขึ้น ก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงออกไป
ดังนั้น จึงไม่เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นเบี้ยประกัน ขอให้ประชาชนสบายใจได้ และขอให้ขับรถคันใหม่อย่างระมัดระวัง ปีนี้บริษัทประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยทุกประเภทเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นจึงเป็นอีกเหตุผลที่จะไม่นำไปสู่การปรับเบี้ยประกันภัย
สำหรับ โครงการรถยนต์ใหม่คันแรก มีจำนวนผู้ขอใช้สิทธิ์รถยนต์คันแรกตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554-31 ธันวาคม 2555 รวม 1,256,294 คัน แบ่งเป็นปี 2555 จำนวน 687,432 คัน และปี 2556 จำนวน 568,862 คัน คิดเป็นยอดขอคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 91,088 ล้านบาท ดังนั้นในปี 2556 จะมีการผลิตและส่งมอบรถยนต์ต่อเนื่องอีก 568,862 คัน หรือประมาณ 28 % ของยอดการผลิตรถยนต์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในครึ่งปีแรก ปี 2556 ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดต่อไปจะต้องรอดูมาตรการภาพรวมของรัฐบาล
สุดท้ายก็ยังคงเชื่อว่าโครงการรถคันแรก ต้องมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ทั้งด้านการคืนภาษี การผ่อนชำระ การปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันภัย การจัดซ่อม และที่สำคัญคือ ถนนที่จะมารองรับให้รถได้วิ่ง เป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา ก็ต้องติดตามกันต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2556
คอลัมน์ Online : ประกันภัย