ประกันภัย
รถยนต์ที่ประกันภัยไม่อยากรับ
คิดว่าหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า "รถที่บริษัทประกันภัยไม่อยากรับประกัน" และก็อาจจะมีบางท่านที่เคยประสบด้วยตนเองมาแล้วคือ มีรถยนต์คันเก่งอยากจะทำประกันภัย พยายามติดต่อขอทำประกันกับบริษัทประกันภัยหลายบริษัทแต่ก็ถูกปฏิเสธ หรือ ถ้าจะรับต้องมีเงื่อนไขมากมายจนเจ้าของรถท้อแท้ที่จะหาบริษัทประกันภัย และไม่คิดที่จะประกันภัยอีกต่อไป การประกันภัยรถที่เราคุยกันอยู่นี้หมายถึงการประกันภัยประเภทหนึ่ง หรือที่คนโดยทั่วไปมักจะเรียกกันว่าประกันชั้นหนึ่ง เราไม่ได้พูดรวมไปถึงประกันประเภท 2 และ 3 เพราะการประกันภัยประเภท 2 มีผู้นิยมทำน้อย ขณะที่ประกันภัยประเภท 3 ทุกบริษัทก็จะรับประกันรถแทบทุกชนิดอยู่แล้ว เรามาเข้าเรื่องรถยนต์ที่บริษัทประกันภัย ไม่ค่อยอยากรับกันเลยดีกว่า
1. รถที่มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุมาก เจ้าของรถหลายคนอาจจะคิดว่าบริษัทเดิมไม่รับก็ย้ายไปทำกับบริษัทใหม่ก็แล้วกันไม่เห็นจะต้องไปกลัวอะไร คนส่วนใหญ่มักคิดและทำอย่างนั้น แต่บริษัทประกันภัยมักจะถามในขณะที่ลูกค้าติดต่อมาว่าเคยทำประกันที่ไหนมาก่อน จากนั้นก็ตามไปเชคประวัติว่าเป็นอย่างไรเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณารับประกัน มีหลายบริษัทมีการจัดทำบัญชีดำ ชื่อลูกค้า ชื่อคนขับขี่ ทะเบียนรถ ที่มีประวัติเคลมบ่อย มีความเสียหายสูงมาก หรือมีพฤติกรรมเคลมที่น่าสงสัยบ่อยครั้ง แล้วแจ้งให้บริษัทอื่นๆ ทราบเป็นข้อมูลในการรับประกันและบริษัทส่วนใหญ่ก็มักจะปฏิเสธไม่รับประกันภัย เมื่อได้รับข้อมูลหรือหากจะรับก็จะตั้งเงื่อนไข เช่น ต้องให้ผู้เอาประกันร่วมความรับผิดชอบในความเสียหายส่วนแรก หรือ มีการเพิ่มเบี้ยขึ้นไปจากรถปกติในรุ่นเดียวกัน ซึ่งลูกค้าหรือผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้นับวันจะมีมากขึ้น ในขณะเดียวกันบริษัทประกันก็จะช่วยกันส่งบัญชีดำให้กันมากขึ้น เพื่อหาทางป้องกันความเสียหายที่ไม่พึงประสงค์จากลูกค้า
2. รถที่มีการตกแต่งพิเศษ หมายถึงรถที่มีการตกแต่งมากกว่ารถที่ใช้งานตามปกติ เช่น รถที่โหลดต่ำมากจนแทบจะติดกับพื้น หรือรถที่ติดอุปกรณ์เพิ่มพิเศษมากและเป็นอุปกรณ์ที่เกิดความเสียหายง่าย เช่น สปอยเลอร์ ซึ่งรถดังกล่าวมักจะมีการเคลมความเสียหายบ่อยครั้งมากและจะเกิดซ้ำๆ ที่เดิม บริษัทประกันภัยจึงมักจะปฏิเสธที่จะไม่รับประกันรถดังกล่าว ถ้ารู้แต่แรกว่าสภาพรถมีการตกแต่งพิเศษมาก หรือ รู้เมื่อมีการเกิดเหตุเคลมหนึ่งครั้งแล้ว ก็จะขอยกเลิกกรมธรรม์คือไม่รับประกันอีกต่อไป
3. รถที่มีสถิติสูญหายสูงหรือมีใบสั่งจองจากผู้ไม่ประสงค์ดี รถประเภทนี้มักเป็นพิคอัพ รถขับเคลื่อน 4 ล้อ และรถเก๋งบางยี่ห้อ บางรุ่น ซึ่งเมื่อเกิดการสูญหายส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ได้คืน หรืออาจจะจับได้บ้างตามด่านชายแดนก่อนจะเข้าไปประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เพราะรถเหล่านี้สามารถนำใช้ในการขนของผิดกฎหมายในพื้นที่ของประเทศเหล่านั้นได้ดี เงื่อนไขการรับประกันภัยรถที่มีสถิติหายสูงนี้แต่ละบริษัทอาจมีข้อมูลสถิติและความเสียหายต่างกัน ดังนั้นบางบริษัทอาจไม่รับประกันเลย ในขณะที่บางบริษัทอาจรับประกันในทุนประกันหายที่ต่ำมาก และก็มีบางบริษัทเลือกรับประกันเฉพาะกับลูกค้าที่มีประวัติกับบริษัทเท่านั้น
4. รถที่มีค่าอะไหล่ค่าซ่อมแพงหรือหายากมาก รถเหล่านี้จะสังเกตได้ไม่ยากเพราะเป็นรถมีการทำการตลาดต่ำมากปีหนึ่งๆ ขายได้ไม่กี่คันและราคาตกอย่างรวดเร็ว รถพออายุเข้าปี่ที่ 5-6 แล้วแทบไม่มีราคาซื้อขาย ทั้งที่ตอนขายมือแรกราคาเหยียบล้าน ทั้งนี้เพราะเจ้าของไม่มีเงินจะซ่อม เนื่องจากซ่อมแต่ละครั้งต้องเข้าห้างอย่างเดียวในตลาดทั่วไปไม่มีอะไหล่ขาย แม้แต่อะไหล่เก่า อะไหล่มือสองก็ไม่มี ทำให้บางครั้งต้องจอดรถทิ้งไว้เป็นเวลานาน 3-4 เดือนเพราะไม่มีอะไหล่ต้องรอการสั่งจากเมืองนอก รถ 5-6 ปี ราคาขายเหลือแค่ 10-15 % ของราคาเมื่อซื้อครั้งแรกเท่านั้น รถกลุ่มนี้ในวงการประกันภัยจะรู้จักชื่อกันดี เพราะมีเพียงไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น และก็จะไม่ค่อยมีบริษัทไหนอยากรับประกันภัยด้วย หากจะรับก็ต้องเพิ่มเบี้ยประกันให้สูงขึ้นกว่ารถปกติ
5. รถนำเข้าที่หรูและแพงมากเป็นพิเศษ หรือเรียกว่ารถอัครมหาเศรษฐีที่มีไม่กี่คันในประเทศ รถเหล่านี้จะมีปัญหาเช่นเดียวกับรถที่มีอะไหล่แพงและหายาก ต่างกันที่ราคาซื้อขายไม่ตกแม้รถจะมีอายุหลายปี ราคายังอยูในระดับหลายล้านบาท อย่างไรก็ดีรถกลุ่มนี้แม้บริษัทประกันไม่ค่อยรับก็ตาม แต่ส่วนใหญ่เจ้าของก็มักจะไม่ยอมทำประกันประเภท 1 อยู่แล้วเพราะถือว่าเกิดความเสียหายก็มีปัญญาจ่ายค่าซ่อมเองได้ และหากทำประกันภัยประเภท 1 เบี้ยประกันก็แพงมากแทบจะเรียกว่าซื้อรถเก๋งเล็กๆ หรือพิคอัพใหม่ๆ ได้อีกคันทีเดียว
6. รถที่มีความเสี่ยงภัยสูง เช่น รถแข่ง รถที่ใช้ในการทดสอบ รถที่ใช้ในการแสดงภาพยนตร์ เป็นต้น รถเหล่านี้จะใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น แล้วก็จะมาขอทำประกันภัยเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่นกัน ซึ่งบริษัทประกันภัยก็จะไม่ค่อยรับเพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงภัยสูงกว่ารถทั่วไป หากมีบริษัทไหนรับประกันภัยรถพวกนี้ ก็จะต้องกำหนดเงื่อนไขหรือเบี้ยประกันภัยที่สูงเป็นพิเศษ
7. รถที่มีอายุมากเกิน 10 ปี หรือ สภาพเก่าขาดการดูแลรักษา รถกลุ่มนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่บริษัทประกันมักคิดคำนวณแล้วว่าถ้ารับประกันประเภท 1 ไปแล้วเมื่อเกิดมีอุบัติเหตุขึ้นมา ความเสียหายที่ตามมาจะมีมากกว่ารถปกติ เพราะความเก่าของรถ ตัวถังหรือเหล็กต่างๆ มีสภาพผุกร่อนไม่แข็งแรง อะไหล่ส่วนประกอบหมดอายุการใช้งานแล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันขึ้นมาความเสียหายจะลุกลามในส่วนใกล้เคียงทำให้ต้องซ่อมต้องเปลี่ยนในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย นั่นหมายความว่าบริษัทต้องจ่ายค่าซ่อมที่สูงขึ้น ในขณะที่รถเก่าจ่ายเบี้ยประกันภัยต่ำกว่ารถปกติ ดังนั้นทุกบริษัทก็จะมีนโยบายไม่รับประกันรถเก่า เว้นเสียแต่จะเป็นการประกันภัยต่ออายุกันมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตามหากปีใดเกิดมีความเสียมากปีต่อไปบริษัทก็จะไม่ยอมรับต่อประกันประเภท 1 โดยจะให้ไปทำประเภท 3 แทน หรือมิฉะนั้นก็จะไม่รับประกันเลย รถที่บริษัทประกันภัยไม่อยากรับดังกล่าวข้างต้น เป็นการปฏิเสธหรือไม่รับทำประกันภัยในภาคสมัครใจเท่านั้น ซึ่งถือว่าสิทธิของแต่ละบริษัทที่จะรับหรือไม่รับ หากบริษัทใดเห็นว่ารับประกันแล้วจะมีกำไรหรือไม่ขาดทุนก็รับไป ในขณะที่อีกบริษัทเห็นว่าถ้าจะรับประกันภัยรถคันเดียวกันนั้นไว้แล้วไม่มีกำไรหรืออาจทำให้บริษัทขาดทุนแน่ๆ ก็จะบอกปฏิเสธไม่รับประกันไปเลย
ในส่วนนี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัทประกันภัย มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ อย่าไปมองว่าบริษัทไม่ยุติธรรม เว้นแต่บริษัทที่เลือกรับแต่รถที่จะไม่เกิดอุบัติเหตุไม่เคลมเลย ซึ่งในความเป็นจริงเราก็ไม่รู้ล่วงหน้าได้หรอกว่ารถคันไหนจะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่เกิดอุบัติเหตุ นอกจากจะดูปัจจัยเสี่ยงตัวอื่นๆ ตามหลักสถิติการประกันภัยเท่านั้น อย่างไรก็ดีอาจมีหลายบริษัทประกันภัยที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบลูกค้า คือ รับประกันภัยง่าย แต่จ่ายค่าสินไหมยาก กดราคาต่ำ ไม่บริการลูกค้า หรือให้บริการช้ามาก ถ้ายิ่งเป็นคู่กรณีด้วยแล้วกว่าจะได้รับค่าสินไหมแทบต้องกราบเท้ากันเลย หรือมิฉะนั้นก็เข้าตำราอยากได้ไปฟ้องเอา ถ้าเป็นอย่างนี้ขอบอกเลยว่าก็อย่าไปทำประกันภัยกับบริษัทพวกนี้ ปล่อยให้มันเจ๊งไปเลย แต่ก็แปลกนะบริษัทพวกนี้ก็ยังอยู่ได้โดยคนที่ชอบไปอุดหนุนหรือตกไปเป็นเหยื่อ คือ พวกที่ชอบของถูก จ่ายถูกเอาไว้ก่อนมีเคลมค่อยว่ากันอีกที ไม่มีเคลมก็ประกันต่ออายุกันไปแล้ว ถ้ามีเคลมแล้วมีปัญหาก็เลยประกันภัยกันไป คนที่คิดและปฏิบัติอย่างนี้ก็เลยทำให้บริษัทที่ทำธรุกิจแบบนี้อยู่ได้ต่อไป ปัญหาและการพัฒนาวงการประกันภัยจึงเสมือนพายเรือวนอยู่ในอ่างมานับสิบปี หรืออาจต้องรอให้ต่างประเทศเข้ามายึดตลาดประกันภัยได้หมด จึงจะทำให้ประเทศไทยเจริญเทียบเทียมสากลประเ ทศไทย ในฐานะที่พวกเราทุกคนก็เป็นคนไทยเราจะยอมให้เป็นเช่นนั้นหรือ อยากฝากให้ช่วยกันคิดด้วยครับ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2555
คอลัมน์ Online : ประกันภัย