รู้ลึกเรื่องรถ
เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ ใหม่ ขุนแผนไฮเทค แห่งศตวรรษที่21
เทคโนโลยีอัจฉริยะมากมายที่อัดแน่นอยู่ใน เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ ซูเพอร์ซาลูนพันธุ์หรูตัวทอพนั้น ทำงานได้อย่างชาญฉลาดและรู้ใจผู้ขับขี่ ราวกับมี กุมารทอง มาช่วยควบคุมให้ จนอาจเผลอนึกไปว่า นี่เป็นม้าสีหมอกของขุนแผนยุคศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ทำให้ เมร์เซเดส-เบนซ์ คันหรูนี้ราวกับมีกุมารทองมาช่วยขับ คือ กล้องและเซนเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ในส่วนต่างๆ หรือจะเรียกเล่นๆ ว่า สายตาของกุมารทอง ก็ไม่ผิดนัก
หัวใจของระบบความปลอดภัยในการขับขี่ที่ เมร์เซเดส-เบนซ์ เรียกว่า "INTELLIGENT DRIVE" หรือ ระบบการขับแบบอัจฉริยะของรถคันนี้อยู่ที่ "การมองเห็น ด้วยการใช้กล้องแบบ "สเตริโอ คาเมรา" (STEREO CAMERA) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องเสียงแต่ประการใด คำว่า "สเตริโอ" หมายถึง การใช้กล้อง 2 ตัว ติดตั้งอยู่ห่างกันเล็กน้อย โดยอยู่บริเวณขอบด้านบนของกระจกบังลมหน้า ข้อมูลภาพที่ได้จากกล้องทั้ง 2 ตัว จะถูกนำมาประมวลผล ทำให้ได้ภาพที่มีมิติตื้นลึกแบบ 3 มิติ หากจะนึกหาสิ่งเปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือน ตา ของเรานั่นเอง
การที่คนเรามี 2 ตา อยู่ห่างกันราว 7 ซม. เพียงพอที่จะทำให้เห็นภาพเป็น 3 มิติ สามารถรู้ว่าวัตถุใดอยู่ใกล้หรือไกลได้อย่างสบาย และเมื่อทำงานร่วมกันกับ เรดาร์ ซึ่งทำงานตรวจจับวัตถุในระยะไกล และระบบอุลทราโซนิคที่คอยตรวจจับวัตถุในระยะใกล้ รวมไปถึงข้อมูลที่ได้จากกล้องอินฟราเรด ซึ่งจะทำงานในสภาพอากาศปิดทึบ ช่วยให้สามารถมองเห็นได้แม้ตาเปล่าจะมองไม่เห็น โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปประมวลผลและไปยังส่วนต่างๆ ดังนี้
1. ช่วงล่างปรับตัวตามสภาพถนนด้วยการใช้ข้อมูลภาพ 3 มิติ จากกล้องสเตริโอที่สามารถเก็บข้อมูลรูปแบบของถนนเบื้องหน้าได้ไกลถึง 15 ม. ที่ความเร็วสูงถึง 130 กม./ชม. โดยระบบรองรับแบบ ถุงลม จะปรับตัวให้สัมพันธ์กับถนนเบื้องหน้าอย่างต่อเนื่อง และเป็นอิสระต่อกันในทุกล้อ จึงเชื่อมั่นได้ว่าการทรงตัวและความนุ่มนวลระดับ "เฟิร์สคลาสส์" จะอยู่กับรถคันนี้ตลอดไปในทุกสภาพถนน แม้จะเจอกับถนนลูกระนาดก็ยังวิ่งได้ราบเรียบเหมือนถนนเรียบๆ ราวกับใช้เวทย์มนต์ ซึ่ง เมร์เซเดส-เบนซ์ เรียกระบบนี้ว่า เมจิคบอดีคอนทโรล "MAGIC BODY CONTROL" โดยระบบนี้ติดตั้งเฉพาะในรุ่นที่ใช้ขุมพลังแบบ 8 สูบเท่านั้น งานนี้ขุนแผนรุ่นเล็กหมดสิทธิ์เพราะกุมารทองมีอิทธิฤทธิ์ไม่พอ
2. ระบบรักษาเลน เมร์เซเดส-เบนซ์ เรียกระบบนี้ว่า แอคทีฟไลน์คีพิงแอสสิสต์ ACTIVE LANE KEEPING ASSIST ทำงานร่วมกับระบบ ดิสทรอนิคพลัส (DISTRONIC PLUS) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับขี่รักษาระยะปลอดภัยจากรถคันหน้าได้อย่างเหมาะสม โดยจะทำงานได้ถึงระดับความเร็ว 200 กม./ชม. (ถ้าเร็วกว่านี้ก็ตัวใครตัวมันเพราะกุมารทองกระโดดลงจากรถไปแล้ว) ระบบ รักษาเลน จะตรวจจับการจราจรรอบตัว หากมีรถพุ่งเข้ามาในเลนที่เราต้องการจะเปลี่ยนทิศทาง ระบบจะสั่งงานให้ล้อด้านตรงข้ามเบรคอัตโนมัติ เพื่อดึงรถให้กลับเข้ามาในเลนเดิมอย่างปลอดภัย
3. ระบบช่วยเบรคก่อนถึงทางแยก อาศัยการทำงานร่วมกันของเรดาร์กับกล้องสเตริโอ สามารถบอกได้ว่าด้านหน้าของเราเป็นทางแยก จากการสแกนภาพการจราจรด้านหน้า และสัญลักษณ์จราจรต่างๆ โดยระบบจะส่งเสียงเตือน และจะช่วย เพิ่ม แรงเบรคโดยอัตโนมัติ ระบบนี้ทำงานในช่วงความเร็วไม่เกิน 72 กม./ชม. (เช่นกัน ถ้าเร็วกว่านี้ก็ตัวใครตัวมัน)
4. กุมารคุ้มภัย ระบบนี้ เมร์เซเดส-เบนซ์ เรียกว่า พรี-เซฟ พลัส (PRE-SAFE PLUS) แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ด้านหน้ากับด้านหลัง ในส่วนของด้านหน้าเราคงจะคุ้นเคยกันอยู่บ้างกับระบบเบรคด้วยตนเอง หรือ AUTONOMOUS BRAKING ซึ่งอีกไม่นานประเทศในกลุ่มยุโรปจะบังคับให้รถใหม่ทุกคันต้องติดตั้งระบบนี้ ส่วนคนเดินเท้าที่อาจจะป้ำๆ เป๋อๆ กระโดดลงมาบนถนน ถ้ากล้องสเตริโอ ตรวจพบระบบจะสั่งงานให้รถเบรคอัตโนมัติ โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องเบรคด้วยตัวเอง รวมถึงกะพริบไฟสูงอัตโนมัติเพื่อเตือนอีกด้วย ระบบนี้จะทำงานที่ความเร็วไม่เกิน 72 กม./ชม. อีกระบบจะตรวจสอบการจราจรด้านหน้า หากพบว่าอาจจะชนท้ายรถคันหน้าก็จะเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบ โดยการใช้ทั้งภาพและเสียงเตือน เพื่อให้หยุดรถทันท่วงที พร้อมเพิ่มแรงเบรคโดยอัตโนมัติเพื่อป้องกันการชน ระบบนี้ทำงานตั้งแต่ความเร็ว 30-250 กม./ชม.
ส่วนระบบช่วยระวังด้านหลัง ทำงานโดยอาศัยข้อมูลจากเรดาร์ด้านท้ายรถ หากพบว่ามีรถด้านหลังพุ่งเข้ามาหาอย่างรวดเร็วระบบจะเริ่ม เตือน รถคันหลัง ด้วยการ กะพริบไฟท้ายแอลอีดีอย่างรวดเร็ว ด้วยความสว่างเต็มกำลังชนิดที่ว่าส่องทะลุม่านตาแม้ขณะหลับยังต้องสะดุ้งตื่น แต่ถ้ารถของเราจอดอยู่กับที่แล้วระบบคาดคะเนว่าต้องโดนชนท้ายแน่ๆ มันก็จะสั่งงานให้เบรคทั้ง 4 ล้อ ทำงานเต็มกำลัง เพื่อลดอันตรายจากการที่รถอาจกระเด็นไปกระแทกสิ่งกีดขวางหรือรถคันอื่น รวมถึงเข็มขัดนิรภัยจะรัดแน่นอัตโนมัติ เพื่อรองรับการกระแทกจากด้านท้าย
5. กุมารทองเบิกทาง ระดับขุนแผนแล้วการจะขับรถเปิดไฟตะคุ่มๆ ฝ่าความมืดก็ดูกระไรอยู่ ดังนั้นรถคันนี้จึงติดตั้งไฟหน้าแบบแอลอีดี 56 ดวง ที่พร้อมจะสลายความมืดมิดให้สุกใสสว่างราวกับกลางวัน และที่สำคัญ คือ ใช้ ไฟสูง ได้ตลอดเวลาเสียด้วย เพราะไฟส่องสว่างหน้าทำงานร่วมกับกล้องสเตริโอ ทำให้สามารถจับภาพของรถที่วิ่งอยู่ด้านหน้า หรือรถที่วิ่งสวนมา โดยจะปรับมุมกระจายแสงอัตโนมัติไม่ให้แยงตาเพื่อนร่วมทาง แต่ยังคงสภาพของไฟสูงไว้อย่างต่อเนื่อง (ไม่เหมือนรถนิสัยแย่บางจำพวก ที่ไม่แคร์ความรู้สึกคนอื่นเอาเสียเลย)
6. กุมารช่วยจอด ไม่ได้บอกว่าขุนแผนจะเอาม้าสีหมอกเข้าซองจอดไม่เป็น แต่รถคันใหญ่ๆ แบบนี้ เผอเรอเป็นไม่ได้ จะต้องได้แผลให้ช้ำใจ ดังนั้นจึงนำเสนอระบบจอดอัตโนมัติ ที่จอดเข้าซองได้ทั้งแบบขนานและแบบถอยเข้าซอง ถ้าลูกใครแอบเอาคันนี้ไปสอบใบขับขี่ละก็กรรมการอย่าให้ผ่านเชียว เพราะเจ้าเล่ห์เหลือเกิน
7. กุมารรักษากฎจราจร นอกจากกล้องสเตริโอจะช่วยดูทางแล้ว ยังรู้จักป้ายสัญญาณจราจรอีกด้วย และเมื่อทำงานร่วมกับระบบนำทางผ่านดาวเทียมก็จะช่วยให้การคาดเดาเส้นทางด้านหน้าได้ดีขึ้น อาทิ รู้ล่วงหน้าว่าทางด้านหน้าเป็นโค้งหักศอก เป็นเขตควบคุมความเร็ว หรือเป็นจุดห้ามแซง เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่าจะใช้ระบบ กุมารทอง แบบนี้ในบ้านเราได้ยาก เพราะป้ายบอกทางมั่วเหลือเกิน (ฮา)
นอกเหนือจากระบบอัจฉริยะที่ทำงานบนพื้นฐานของกล้องและเรดาร์แล้ว เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ ดับเบิลยู 222 (W222) ยังมาพร้อมนวัตกรรมอีกหลายชนิด อาทิ
1. รถคันแรกที่ไม่มีการใช้หลอดไส้เลยแม้แต่หลอดเดียว และเป็นการ อำลา ยุคของ "เอดิสัน" อย่างแท้จริง เพราะระบบแสงสว่างทั้งหมดภายในรถคันนี้เป็นหลอดแอลอีดี กว่า 300 ดวง หมดยุคแสงสีเหลืองกันเสียที
2. หมดห่วงเรื่องลมปะทะด้านข้าง สำหรับท่านที่เคยขับรถบนทางด่วนบูรพาวิถี น่าจะคุ้นชินกับอาการลมปะทะด้านข้างกันอยู่บ้าง แต่นั่นแค่เบาะๆ เพราะเราใช้ความเร็วแค่ 100 กว่าๆ แต่ถ้าเป็นในประเทศเยอรมนี ขุนแผนแต่ละท่านควบกันมากกว่า 200 กม./ชม. ลมปะทะด้านข้างก็จะรุนแรงตามไปด้วย จนบางครั้งตัวรถเกิดอาการ "เป๋" และเพื่อแก้อาการนี้ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ ดับเบิลยู 222 รุ่นที่ใช้ระบบรองรับแบบถุงลมจะปรับความแข็งของแต่ละด้านอัตโนมัติเพื่อแก้อาการ ส่วนรุ่นที่ใช้ระบบรองรับแบบปกติจะใช้ระบบเบรคอัจฉริยะเบรคต้านในด้านที่ไม่มีลมปะทะ ซึ่งช่วยแก้อาการได้เช่นเดียวกัน
3. ระบบปรับแสงไฟเบรคอัตโนมัติ ระบบนี้น่าจะมีติดอยู่กับรถทุกคันบนท้องถนน นั่นคือ ความสว่างของไฟเบรค ควรจะสว่างให้เหมาะกับกาละและเทศะ กล่าวคือ หากจอดติดไฟแดงไฟเบรคก็ไม่ต้องสว่างมาก แต่หากเบรคฉุกเฉิน ระบบก็จะเพิ่มความสว่างมากที่สุด นับว่า เมร์เซเดส-เบนซ์ เข้าใจหัวอกคนที่จอดต่อท้ายรถคันนี้จริงๆ
4. สำหรับรถระดับหรูหรา หากไม่กล่าวถึงระบบเพื่อความสะดวกสบายก็คงกระไรอยู่ ซึ่งรถคันนี้มีอยู่เพียบ ไม่ว่าจะเป็น เบาะนวประคบร้อน พร้อมพโรแกรมนวด 6 รูปแบบ (ขุนแผนขี้เมื่อยทั้งหลาย คงจะหาข้ออ้างไปสปาได้น้อยลง) ระบบน้ำหอมอัตโนมัติ ทำให้ภายในรถมีกลิ่นพึงประสงค์ตลอดเวลา เมร์เซเดส-เบนซ์ เรียกระบบนี้ว่า AIR BALANCE และคุยว่าระบบนี้จะไม่เปลี่ยนกลิ่นหนังแท้หอมๆ ให้กลายเป็นกลิ่นมาดามหอมชื่นใจไปตลอดกาลอย่างแน่นอน เรียกว่า อยากหอมก็เปิด ไม่อยากได้กลิ่นก็ปิด รวมถึงกลิ่นจะไม่ติดเสื้อผ้าอีกด้วย โดยในรุ่นทอพ ที่เรียกอย่างโก้เก๋ว่า BOSS ติดตั้งระบบนี้ไว้บริเวณที่นั่งด้านหลังแบบซูเพอร์ วีไอพี เพื่อการพักผ่อน
5. หน้าปัดทั้งหมดเป็นจอภาพความละเอียดสูงล้วนๆ โดยมีการติดตั้ง จอภาพขนาด 12.3 นิ้ว ถึง 2 จอ ที่ด้านหน้า สมกับเป็นยุค ไอแพด อย่างแท้จริง เดี๋ยวนี้ไม่มีใครกังขาในความสามารถของจอแอลอีดีอีกต่อไปว่าจะทนทานแค่ไหน พร้อมกล่าวอำลายุคกลไกแอนาลอกผสมดิจิทอลเสียที (แต่อย่างไรก็ตาม ยังแสดงภาพกราฟิคของมาตรวัดเป็นแบบเข็มอยู่ดี เพราะดูง่ายและชัดเจนที่สุดอย่างไม่มีใครเถียง)
ไม่เกินเลยแม้แต่น้อยที่จะบอกว่า นี่คือ สุดยอดยนตรกรรมที่เป็นพื้นฐานการพัฒนาให้รถคันอื่นต้องเดินตาม ในแง่ของความปลอดภัย และความสะดวกสบาย ส่วนที่ว่าระบบความปลอดภัยมากมายนั้น ขณะใช้งานจะน่ารำคาญเหมือนมีครูสอนขับรถยนต์มานั่งประกบอยู่ข้างๆ หรือไม่ คงต้องลองกันจริงๆ จังๆ อีกที
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2556
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ