เล่นท้ายเล่ม
คนไทยกับไวน์ บอร์โด
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสไปเที่ยวเมือง บอร์โด เนื่องในงานประจำปี BORDEAUX WINE
FESTIVAL ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม
เมือง บอร์โด มีคนอยู่เป็นล้าน ปีที่แล้วสำรวจพบจำนวน 1 ล้าน 2 แสน มีชื่อเสียงมากที่สุด
ในเรื่องอุตสาหกรรมไวน์ ทั้งๆ ที่เป็นเมืองท่า และมีท่าเรือที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส
ชาวเมือง บอร์โด ผลิตไวน์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8
วันนี้ถ้าเอ่ยถึง ไวน์ บอร์โด คนทั้งโลกก็ต้องปรบมือให้ มันเป็นอะไรที่สุดยอดของโลกก็ไม่ทราบ
แต่ถ้าลองเปรียบเทียบดูหากเป็นการแสดงสักชุดหนึ่ง ออกมาแสดงคนดูทั้งโรง ก็จะต้องปรบมือ
ให้อย่างยาวนาน
จะเรียกว่า "สุดยอดของสุดยอด" ก็น่าจะได้เหมือนกัน
บอร์โด มีพื้นที่เป็นไร่องุ่น 177,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 1,093,418 ไร่ มีชื่อไวน์ต่างกัน 57 ชื่อ
มีชาโตผลิตไวน์ประมาณ 9 พันแห่ง มีพ่อค้าไวน์ 400 ราย รายได้จากการจำหน่ายไวน์ตกปีละ
14.5 ล้านยูโร หรือประมาณ 69 ล้านบาท
ปีหนึ่งๆ พวกเขาผลิตไวน์ไม่น้อยกว่า 700 ล้านขวด
ผมเคยถามนักธุรกิจหนุ่มที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของเมืองไทย เกี่ยวกับการซื้อไวน์ราคาแพง ท่าน
กรุณาอธิบายง่ายมาก คือ ท่านบอกว่า
"เป็นการลงทุน ของแบบนี้ ถ้าหมดแล้ว-หมดเลย แต่ของผมมี"
เห็นจะแจ้ง ทะลุ ถ้าเป็นไวน์ดีเก็บนานเท่าไร ก็ยังเป็นไวน์ แต่ต้องเก็บรักษาอย่างถูกวิธี ถูก
อุณหภูมิ
นักธุรกิจท่านนี้ มีคฤหาสน์ใหญ่โตย่านถนนรามคำแหง มีห้องเก็บไวน์อยู่ในบ้าน ลงทุนทำ
ด้วยไม้ทั้งห้อง ไม่มีตะปูตอกยึดแม้แต่ตัวเดียว ออกแบบ และบินมาจัดสร้างเป็นพิเศษถึง
กรุงเทพ ฯ โดยสถาปนิกชาวอเมริกัน ไม้ก็นำมาจากเมืองมะกัน
อุณหภูมิก็ถูกติดตั้งด้วยเครื่องปรับอากาศของไวน์เป็นการเฉพาะ ไม่ใช่แอร์เบอร์ 5 ทั่วไป
เมือง บอร์โด เริ่มแรกก็มีชาโตดังๆ เกี่ยวกับธุรกิจไวน์ แต่มีไม่เท่าไร เช่น ชาโต ลาฟิต-โรธชิลด์/ชาโต
มาร์โก/ชาโต ลาตูร์/ชาโต โอ-บรีอง และชาโต มูตง-โรธชิลด์
ที่พักที่นักเดินทางหลายรายต้องการพักมากที่สุด เห็นจะเป็นโรงแรมเล็กๆ ของตระกูล เลอ ตง ชื่อโรง
แรม ลา เมซง บอร์โด
อยู่กลางใจเมือง เป็นโรงแรมแบบโบราณ มีห้องอาหารและห้องศิลป์ ...อ้อ...มีไวน์จาก ชาโต เลอ ตง
บริการด้วยครับ
ราคาที่พักสำหรับห้องดับเบิล ประมาณ 140-185 ยูโร รวมอาหารเช้า
ราคาค่าห้องในระดับนี้ถือว่าแพงสุด โรงแรมอื่นๆ ห้องพักก็ขนาดใหญ่กว่า แต่ค่าที่พักไม่เกิน 90 ยูโร
โดยมีอาหารเช้าในราคา 8-9 ยูโร ต่างหากไม่รวมค่าห้อง
การเดินทางไปต่างประเทศสำหรับผม ปัญหาใหญ่อยู่ที่อาหารการกิน
อาหารเช้าของผมวันแรก เป็น เอ-บี หรืออเมริกัน เบรคฟาสต์ ก็กินได้ แต่วันต่อมาเห็นไข่ดาว
แล้วเลี่ยนมาก ต้องเลี่ยงเป็นยุโรป กินผลไม้รวม โยเกิร์ทรสธรรมชาติ และกาแฟ
คราวหนึ่งผมไปเมืองคานส์ ในช่วงเวลามหกรรมประกวดภาพยนตร์ เบื่ออาหารฝรั่งแทบเป็นลม
พอดียังโชคไม่ร้ายเกินไป ได้พบเสี่ยโรงหนังโคลีเซียมเห็นอาการของผมแล้ว ทนไม่ได้ ต้องรีบพา
เข้าร้านอาหารจีนทันที
ผมยังจำชื่อร้านได้จนเดี๋ยวนี้ เพราะเป็นชื่อน่ารัก "รังนก"
อาหารฝรั่งเศส ก็ต้องดวลกับไวน์แดงเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมเห็นเขาเข็นรถบรรทุกเนยภูเขาเสิร์ฟ
ตามโต๊ะอาหาร ผมก็แทบอาเจียน
ไม่เป็ด ก็ห่าน ประเภทหมู หรือไก่ ไม่ค่อยจะผ่านเข้ามาเสิร์ฟบนโต๊ะเลย
ว่าก็ว่าเถิด อาหารสำหรับชาวเอเชียค่อนข้างจะเลิศรส และใจกว้าง เปิดโอกาสให้คนบนโลกนี้
ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ซีกไหนของโลกก็กินได้
เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ จะเห็นว่า ร้านอาหารในยุโรปหลายร้านก้าวสู่ความทันสมัยด้วยการเพิ่ม
เมนูสำหรับชาวเอเชียขึ้นมา
เรียกว่า เป็นร้านอาหารยุโรปของคนรุ่นใหม่
ค่าอาหารค่ำของ บอร์โด สำหรับ 2 คน ประมาณไม่เกิน 80 ยูโร เรียกว่าเป็นอาหารค่ำชุดอย่างดี
ไม่รวมค่าไวน์
ส่วนอินกรีเดียนท์ หรือส่วนประกอบในการปรุงอาหารที่เป็นเมนูเอเชีย ผมเคยถามเจ้าของร้าน
อาหารไทยที่เมืองคานส์ เขาบอกว่า สั่งซื้อจากแอฟริกาใต้ จะดีกว่าสั่งซื้อตรงจากเมืองไทย โดย
เฉพาะผักสด
อาหารจานหลักเป็น แพะผัดพริกแกง เสิร์ฟพร้อมเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ กินแล้วก็คิดถึงเมนูที่
ร้านครัวสมพงษ์-เลียบทางด่วนที่กรุงเทพ ฯ ส่วนของหวานก็หนีมะม่วงไทยไม่พ้น
มาเมือง บอร์โด นอกจากเขาบังคับให้ลองดื่มไวน์แล้ว กลางวันก็ดูแต่โบสถ์ฝรั่ง สถาปัตยกรรม
แบบโกธิคอย่าง วัดแซง ตองดร์ ผมดูแล้วก็คิดถึงสถาปัตยกรรมเมืองไทย
โดยเฉพาะสมัยปี 2491 ผมเรียนหนังสืออยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เชิงสะพานพุทธ ข้าง
กันเป็นโรงเรียนเพาะช่าง เลยไปอีกหน่อยก็เป็นศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งเป็นอาคารที่งดงามในสายตา
ของผมมาแต่เล็ก
ผมไม่เคยเห็นโรงมหรสพที่ไหนจะงดงามเท่ากับ ศาลาเฉลิมกรุง
ทราบว่า ศาลาเฉลิมกรุงของเราเกิดเมื่อปี 2476 ด้วยความสำเร็จจากสถาปนิกคนไทย 2 ท่าน
คือ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร และอาจารย์นารถ โพธิประสาท ผู้สำเร็จการศึกษาสถา
ปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ
โรงเรียนเพาะช่าง-เพื่อนบ้านของสวนกุหลาบวิทยาลัยของผมนั้น เดิมทีก่อนเปลี่ยนแปลงการ
ปกครองเป็นแหล่งประสาทวิชาสถาปัตยกรรมแผนใหม่ในระยะทดลอง ก่อนจะถูกโอนเข้ามา
เป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2475
นักท่องเที่ยวอย่างผมมักขี้ลืม และมาถึงฝรั่งเศสทีไร ก็ลืมทุกครั้งว่า พิพิธภัณฑ์ก็ดี หอศิลป์
อะไรต่างๆ ก็ดี เขาจะปิดในวันจันทร์ วันนี้ผมก็เลยไม่ได้ออกไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ มูเซ เดซ์ โบ
สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หรือแบบยุโรปจะเข้ามามีอิทธิพลกับเมืองไทยแต่ครั้งไหน ผมก็
ไม่ทราบ
แต่รู้ว่า คนไทยเรานั้นมีวิถีชีวิตเช่นเดียว ร้อยละ 70 ของคนในโลก คือ ต้องอยู่กับน้ำ เพราะ
ฉะนั้น บ้านก็ต้องหันหน้าเข้าหาน้ำ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นหันหน้าสู่ถนนคอนกรีทในเวลาต่อมา
"เรือนแพ" หรือ "เรือนริมน้ำ" ของคนไทยเราแต่โบราณ ผมคิดว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม
ลงตัวระหว่างเรือนกับสายน้ำราวกับถูกเนรมิตด้วยเหล่าเทวดาทั้งหลาย
ช่วงเวลากลางคืนที่ บอร์โด ผมเป็นคนหยุดเที่ยวกลางคืนมานาน แต่พวกชวนไปเที่ยว
"สาวเซี่ยงไฮ้" เป็นร้านอาหารจีน มีนักร้อง ถังแช่ไวน์ของที่นี่ทำด้วยแก้วคริสตัล
พูดถึงกลางคืนของกรุงเทพ ฯ สมัยก่อนนี้ น่าเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเที่ยวบ้าน
ผู้หญิง ก่อนจะถึงยุคไนท์คลับเต็ม 2 ฝั่งราชดำเนิน ทั้ง "สีดา" "โลลิตา" "มูแลง รูจ" จน
ถึงยุคแผดเสียงดนตรีกระจายเต็มห้อง
ผลกระทบหลังเหตุการณ์ 11 เดือน 9 หรือกันยาทมิฬที่สหรัฐ ฯ ผู้โดยสารเครื่องบินจะพบ
เรื่องจุกจิกมากมาย โดยเฉพาะการห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่อง แม้แต่เจลใส่ผม
งานนี้เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นคนไทย บินในประเทศด้วยสายการบินแอร์ เอเชีย ถูกจับไวน์ทั้ง 2
ขวดเฉย เพราะเขาห้ามนำขึ้น
เพื่อนผมคนนี้ได้ไวน์จากพวก ก่อนจะเชคอินที่สนามบิน จึงหมดปัญญานำมาฝากผม
เพราะฉะนั้น ใครก็ตามถ้ามีโอกาสไปถึงเมือง บอร์โด และซื้อไวน์ดีๆ เข้ามาเมืองไทย นอก
จากเรื่องภาษีนำเข้าแล้ว ควรคิดถึงข้อห้ามของสายการบินทั่วโลกด้วยครับ
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2551
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม