บทความ
ก่อนซื้อรถยนต์ต้องรู้อะไรบ้าง ?
หากคุณมีความต้องการอยากซื้อรถยนต์สักคัน คุณต้องพิจารณาหลายปัจจัยเพื่อให้ได้รถยนต์ที่ตรงกับความต้องการและความคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะ งบประมาณ วัตถุประสงค์ในการใช้งาน เทคโนโลยี ความปลอดภัย คุณภาพโดยรวม หรือแม้แต่การเลือกประเภทของรถยนต์ เช่น รถยนต์สันดาป (ICE), รถยนต์ไฟฟ้า (BEV), รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV), หรือรถยนต์ไฮบริด (HEV)
บทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจสิ่งที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ เพื่อให้คุณมั่นใจและได้รถที่ตอบโจทย์ที่สุด
1. งบประมาณ
งบประมาณในการผ่อนต่อเดือน : ไม่ควรเกิน 15-20% ของรายได้สุทธิรายเดือน เช่น หากมีรายได้สุทธิ 30,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายในการผ่อนรถไม่ควรเกิน 4,500-6,000 บาทต่อเดือน
เงินดาวน์ และดอกเบี้ย : โดยทั่วไปควรมีเงินดาวน์อย่างน้อย 20-30% ของราคารถ เพื่อให้การผ่อนรายเดือนน้อยลง และลดภาระดอกเบี้ย รถใหม่ดอกเบี้ยจะต่ำกว่ารถยนต์มือสอง ปัจจุบันบางบริษัทผู้ผลิตดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ หรือลิซซิ่งของตัวเองก็จะนำเสนอดอกเบี้ยที่น่าสนใจกว่าตลาด
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ : อย่าลืมคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถยนต์ เช่น ค่าน้ำมัน, ค่าบำรุงรักษา, ค่าพรบ. ค่าประกันภัย และภาษีรถยนต์
ระยะเวลาการผ่อน : ควรเลือกช่วงเวลาการผ่อนที่เหมาะสมกับความสามารถทางการเงินของคุณ ปกติจะอยู่ระหว่าง 3-5 ปี ปัจจุบันบางบริษัทผู้ผลิตดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ หรือลิซซิ่งของตัวเองก็จะนำเสนอดอกเบี้ยที่น่าสนใจกว่าตลาด
ตัวอย่างการคำนวณ :
หากคุณมีรายได้สุทธิ 50,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายในการผ่อนรถไม่ควรเกิน 7,500-10,000 บาทต่อเดือ
หากราคารถอยู่ที่ 800,000 บาท คุณควรมีเงินดาวน์ประมาณ 160,000-240,000 บาท
การวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบก่อนการซื้อรถยนต์ จะช่วยให้คุณสามารถจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระในระยะยาว
2. วัตถุประสงค์ในการใช้งาน
คุณจำเป็นต้องพิจารณาว่าคุณต้องการใช้รถยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านใดบ้าง เช่น เดินทางไปทำงาน ใช้ในครอบครัว ใช้ในการท่องเที่ยว หรือใช้ในธุรกิจ ใช้บรรทุกของ หรือบรรทุกคน เน้นขับประหยัด หรือขับสนุก การกำหนดวัตถุประสงค์เหล่านี้จะช่วยให้คุณเลือกซื้อรถยนต์ที่เหมาะสมกับความต้องการได้ดียิ่งขึ้น
คุณสามารถลองใช้เครื่องมือ Car Buyer’s Guide ที่ช่วยให้คุณเลือกรถได้ตรงกับการใช้งาน
3. สมรรถนะ อัตราสิ้นเปลือง และเทคโนโลยี
อัตราเร่ง อัตรเร่งแซง ความสามารถในการเบรค อัตราสิ้นเปลืองเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินสมรรถนะของรถยนต์ว่าสอดคล้องกับวิถีชีวิต และพฤติกรรมการขับรถของผู้ขับเพียงใด โดยปัจจุบันราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รถยนต์ที่มีอัตราสิ้นเปลืองต่ำจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการเติมน้ำมันในระยะยาว ควรศึกษาอัตราสิ้นเปลืองจากข้อมูลของผู้ผลิต หรือรีวิวจากผู้ใช้งานจริง รวมถึงพิจารณารุ่นรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีการประหยัดน้ำมัน เช่น เครื่องยนต์ไฮบริด, เครื่องยนต์ดีเซล, ระบบ Auto Start/Stop, ระบบเบรคสร้างพลังงานคืน (Regenerative Braking)
เพื่อให้คุณรู้ลึก รู้จริงถึงสมรรถนะ ของรถยนต์ Autoinfo Online ได้รวบรวมผลทดสอบรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่มีในเมืองไทยมากกว่า 600 คัน คุณสามารถดูรายละเอียดผลทดสอบได้ที่ Test Drive Data
4. ควรเลือกรถประเภทไหน รถยนต์สันดาป รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้า ?
การเลือกซื้อรถยนต์ในยุคปัจจุบันมีหลายตัวเลือกให้พิจารณา ได้แก่ รถยนต์สันดาปภายใน (ICE), รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV), รถยนต์ไฮบริด (Hybrid) และรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) การเลือกประเภทรถขึ้นอยู่กับความต้องการและลักษณะการใช้งานของคุณ มาดูข้อดีและข้อเสียเพื่อเปรียบเทียบรถแต่ละประเภทกัน
รถยนต์สันดาปภายใน (ICE)
ข้อดี : การดูแลรักษา ศูนย์บริการ ช่างซ่อม อะไหล่ สามารถหาได้ทั่วไป, ปั๊มน้ำมันหาง่าย สะดวกต่อการใช้งาน ไม่ต้องกังวลเหมือนรถ EV
ข้อเสีย : ค่าบำรุงรักษาสูงกว่าเนื่องจากมีปริมาณชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้องดูแลมากกว่า, ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น, การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสารพิษอื่นๆ เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
รถยนต์ไฮบริด (Hybrid)
ข้อดี : ประหยัดน้ำมันมากกว่ารถยนต์สันดาป เนื่องจากมีการใช้พลังงานจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์สันดาป และไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า
ข้อเสีย : ราคาตัวรถค่อนข้างสูงกว่ารถยนต์สันดาป มีความยุ่งยากในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง เนื่องจากรถไฮบริด เป็นรถสองระบบ มีทั้งเครื่องยนต์สันดาป และมอเตอร์ไฟฟ้าในตัว
รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)
ข้อดี : ประหยัดน้ำมันกว่ารถยนต์สันดาป, ปล่อยไอเสียน้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาป, ประสิทธิภาพในการขับขี่ดีขึ้น เนื่องจากมีแรงบิดของมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยเสริมกำลัง
ข้อเสีย : ราคาเริ่มต้นสูง, มีความยุ่งยากในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง เพราะเป็นรถยนต์สองระบบ, สถานีชาร์จรถไฟฟ้ายังมีไม่มากพอในปัจจุบัน, น้ำหนักรถมากขึ้น เนื่องจากมีแบทเตอรี เครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้อัตราการใช้น้ำมันในบางสถานการณ์สูงกว่ารถยนต์ไฮบริด
รถยนต์ไฟฟ้า (BEV)
ข้อดี : ค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟฟ้าถูกกว่าค่าน้ำมันเชื้อเพลิง, ไม่มีการปล่อยไอเสีย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ค่าบำรุงรักษาต่ำเนื่องจากมีปริมาณชิ้นส่วนที่ต้องดูแลน้อยกว่า สมรรถนะด้านอัตราเร่งทำได้ดี
ข้อเสีย : สถานีชาร์จรถไฟฟ้ายังมีไม่มากพอในปัจจุบัน, ระยะทางขับขี่ต่อการชาร์จน้อยกว่ารถยนต์สันดาป และรถยนต์ไฮบริด, ค่าแบตเตอรี่ราคาสูง, การควบคุมระบบต่างๆ ใช้ซอฟท์แวร์ที่ต้องคอยอัพเดทอย่างต่อเนื่อง
5. ความปลอดภัย
ความปลอดภัยเป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม ควรตรวจสอบคุณสมบัติประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยของรถยนต์ เช่น ระบบเบรค, ระบบควบคุมรถยนต์ และถุงลมนิรภัย การเลือกซื้อรถยนต์ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้
อัพเดท ANCAP เปลี่ยนเกณฑ์ประเมินความปลอดภัยใหม่ 5 ข้อ
Autoinfo Online ได้รวบรวมบทความที่เกี่ยวกับการดูแลรักษารถยนต์ และ DIY รถยนต์เบื้องต้นไว้ที่นี่
6. ข้อเสนอและโปรโมชั่น
ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายมักมีโปรโมชั่น และข้อเสนอพิเศษที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น ดอกเบี้ยต่ำ เงินดาวน์ต่ำ ฟรีประกันภัย หรือของแถมต่างๆ การตรวจสอบและเปรียบเทียบข้อเสนอเป็นตัวช่วยที่จะทำให้คุณได้รับความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
7. บริการหลังการขาย
บริการหลังการขายที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกยี่ห้อรถยนต์ที่มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และมีศูนย์บริการใกล้บ้าน
8. ควรเลือกประกันภัยแบบไหน
วิธีเลือกประกันภัยรถยนต์ที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับงบประมาณ การใช้งาน ประเภทรถ และความต้องการของคุณ ประกันภัยรถยนต์มี 4 ประเภทหลักๆ ที่นิยมใช้ นั่นคือ ประกันภัยชั้น 1, ประกันภัยชั้น 2+, ประกันภัยชั้น 3+, ประกันภัยชั้น 2 และประกันภัยชั้น 3
ทีนี้เราจะพามาดูรายละเอียดของประกันภัยรถยนต์แต่ละประเภทเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1
ความคุ้มครอง : คุ้มครองทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก คุ้มครองรถยนต์ของคุณ และคู่กรณี
ข้อดี : คุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ และการโจรกรรม, คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลของผู้ขับขี่ละผู้โดยสาร คุ้มครองครอบคลุมที่สุด เหมาะสำหรับรถใหม่ และรถที่มีราคาสูง
ข้อเสีย : ค่าเบี้ยประกันแพงกว่าประกันภัยประเภทอื่น
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2+
ความคุ้มครอง : คุ้มครองอุบัติเหตุที่มีคู่กรณีเท่านั้น
ข้อดี : คุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำท่วม และการโจรกรรม, ค่าเบี้ยประกันต่ำกว่าประกันชั้น 1 แต่ยังมีความคุ้มครองที่เพียงพอ
ข้อเสีย : ไม่คุ้มครองอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี หากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเอง
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3+
ความคุ้มครอง : ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่กรณีเท่านั้น
ข้อดี : ค่าเบี้ยประกันต่ำกว่าประกันชั้น 1 และ ชั้น 2+
ข้อเสีย : ไม่คุ้มครองกรณีรถหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม และความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2
ความคุ้มครอง : คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน และการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของบุคคลภายนอก, คุ้มครองอุบัติเหตุจากการโจรกรรม และไฟไหม้, ความคุ้มครองอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ (อาจแตกต่างกันไปตามบริษัทประกันภัย) บางกรมธรรม์อาจครอบคลุมความเสียหายจากภัยธรรมชาติเช่น น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหว
สิ่งที่ประกันภัยชั้น 2 ไม่คุ้มครอง : ไม่คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ของผู้เอาประกันที่เกิดจากอุบัติเหตุ (ไม่ครอบคลุมค่าซ่อมแซมรถยนต์ของผู้เอาประกัน)
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3
ความคุ้มครอง : คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน และการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของบุคคลภายนอก
สิ่งที่ประกันภัยชั้น 3 ไม่คุ้มครอง : ไม่คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ของผู้เอาประกันที่เกิดจากอุบัติเหตุ (ไม่ครอบคลุมค่าซ่อมรถยนต์ของผู้เอาประกัน), ไม่คุ้มครองรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุจากไฟไหม้ และภัยธรรมชาติ
9. ราคาขายต่อ
การเลือกซื้อรถยนต์ที่มีราคาขายต่อสูง จะช่วยลดค่าเสื่อมราคาของรถในระยะยาว เช่น รถยนต์บางยี่ห้อมีรุ่นที่ได้รับความนิยมสูง ทำให้สามารถขายต่อได้ในราคาที่ดี
10. ทดลองขับ ก่อนเลือกซื้อรถ
การทดลองขับก่อนเลือกซื้อ เป็นหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะเมื่อคุณได้ลองใช้งานจริง คุณจะรู้ว่าความสะดวกสบายของตัวรถในมุมของผู้ขับขี่ และผู้โดยสารเป็นอย่างไร อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เทคโนโลยีฟีเจอร์ต่างๆ เสียงรบกวนภายในห้องโดยสารอยู่ในเกณฑ์ที่คุณรับได้มากน้อยเพียงใด สมรรถนะการขับขี่ในสภาพพื้นผิวที่แตกต่าง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ระบบช่วยเหลือการขับขี่ ระบบความปลอดภัยของรถที่ให้มา มีราคาสมเหตุสมผลเหมาะกับสไตล์การขับขี่และวัตถุประสงค์การใช้งานของคุณหรือไม่
สรุป
การทำความเข้าใจและหาข้อมูลเปรียบเทียบก่อนการซื้อรถยนต์จะช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และได้รถยนต์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของคุณมากที่สุด ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ซื้อรถยนต์มือใหม่หรือมือเก่า การพิจารณาปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้คุณมั่นใจในการเลือกซื้อรถยนต์อย่างแน่นอน และที่สำคัญที่สุดคือไปลองขับรถคันที่ต้องการซื้อที่โชว์รูมรถยนต์ก่อนตัดสินใจซื้อ