แม้ว่ากระแสความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน เอนเอียงไปในทางรถยนต์ไฟฟ้า จากแบทเตอรี หรือรถยนต์ไฮบริด-ไฟฟ้า แต่กระนั้น ค่ายรถยนต์เอง ก็ยังค้นหาวิถีทางหรือวิธีการ ที่จะนำพลังงานจากไฮโดรเจน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ด้วยหลักการที่ว่า ไม่มีการปล่อยมลภาวะใดๆ ออกมากนอกจากน้ำเท่านั้นและเพื่อให้การพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง หรือพลังงานจากไฮโดรเจน เป็นพลังขับเคลื่อน ได้ก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและบริษัทที่เกี่ยวเนื่อง 11 บริษัท ตกลงจับมือกัน เพื่อก่อสร้างสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง และเป็นสถานีบริการที่ไม่จำกัดอยู่แต่ค่ายรถยนต์ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง ค่ายรถยนต์และบริษัทที่เกี่ยวเนื่อง 11 บริษัท ที่ว่า ประกอบด้วย Toyota, Nissan, Honda, Nippon Oil & Energy, Idemitsu Kosan, Iwatani Corporation, Tokyo Gas, Toho Gas, Air Liquid Japan, Toyota Tsusho Corporation และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น ทั้ง 11 บริษัท ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในการก่อสร้างสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อให้บริการแก่รถที่ใช้พลังงาน Fuel Cell (FCVs) บันทึกความเข้าใจนี้ ตั้งเป้าเพื่อให้มีการเร่งดำเนินการในการก่อสร้างสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อให้บริการสาธารณะ โดยในชั้นแรกนี้ใช้คำว่า ทั่วประเทศญี่ปุ่น (All Japan) หรือศูนย์กลางในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ในด้านเชื้อเพลิงไฮโดรเจน "Strategic Roadmap for Hydrogen and Fuel Cells” ฉบับปรับปรุงเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 ที่ตั้งเป้าให้มีสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจนทั่วประเทศให้ได้ 160 แห่ง และผู้ใช้ยานยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง 40,000 ราย ภายในปี 2563 ค่ายรถยนต์ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้ Fuel Cell โดยใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงาน ตระหนักดีถึงการให้บริการสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ในช่วงเริ่มต้นของการผลิตรถ Fuel Cell เพื่อเป็นการค้า บันทึกความเข้าใจนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่า บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้อง น่าจะมีส่วนร่วมและช่วยกัน ในการที่จะพัฒนาสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้มีจำนวนที่พอสมควร อันจะทำให้สามารถชักจูงผู้บริโภคให้เลือกซื้อรถ Fuel Cell ได้ในอนาคต ข้อตกลงครั้งนี้ ทำให้ต้องก่อตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการ ภายในปี 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. สนับสนุนการก่อสร้างสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และหามาตรการในการสนับสนุนการก่อสร้างและการดำเนินการ 2. สนับสนุนการใช้งานรถ Fuel Cell พลังงานไฮโดรเจน และสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจนอิสระ ด้วยกิจกรรม การลดต้นทุน, การปรับปรุงข้อบังคับของรัฐบาล ให้เอื้อต่อการก่อสร้าง, กิจกรรมเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และสร้างสังคมไฮโดรเจนให้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันในอนาคต ก่อนหน้านี้ ในยุโรป มีการรวมกลุ่มกันของ 13 บริษัท เพื่อก่อตั้ง องค์การไฮโดรเจน ระดับโลก เพื่อหาวิธีดำเนินการ และสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ในลักษณะของพลังงานทดแทน โดยเตรียมที่จะระดมทุนให้ได้ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ราว 35,000 ล้านบาท/ปี ขณะที่ในอเมริกา GM และ Honda ก็ร่วมมือกันก่อสร้างโรงงานในมิชิแกน เพื่อเปิดสายการผลิตรถ Fuel Cell แม้ปัจจุบัน จะมีการจำหน่ายรถ Fuel Cell ใช้พลังงานไฮโดรเจนอยู่ทั่วโลก แต่ก็มีปริมาณที่น้อยมาก เพราะความขาดแคลนสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นเรื่องสำคัญ