ธุรกิจ
มาซดา ประกาศจุดยืน เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคต
มาซดา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน ประกาศว่า มาซดา ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการประกาศวิสัยทัศน์ในระยะยาว ภายใต้ชื่อโครงการ "Sustainable Zoom-Zoom 2030” ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเจเนอเรชันใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 13 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2573 ในฐานะของการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีใหม่นี้ และเพื่อให้สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว มาซดา เตรียมเปิดตัวแนะนำเครื่องยนต์เจเนอเรชันใหม่ ที่เรียกว่า Skyactiv-X ในปี 2562 โดยเครื่องยนต์เบนซิน Skyactiv-X จะกลายเป็นเครื่องยนต์เบนซินในเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกที่ใช้การจุดระเบิดด้วยการอัดอากาศ
ภายใต้แนวคิดและวิสัยทัศน์ ซูม-ซูม อย่างยั่งยืน “Sustainable Zoom-Zoom” จากเดิมที่ มาซดา ได้เคยประกาศไว้เมื่อปี 2550 มาซดา พยายามที่จะพัฒนารถยนต์ที่ให้ทั้งความเพลิดเพลิน ความสนุกสนานในการขับขี่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีระบบความปลอดภัยระดับโลก ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น มาซดา ได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ที่มีมุมมองระยะยาว ด้วยการกำหนดวิธีการเพื่อที่ มาซดา จะได้ส่งมอบความสุข ความสนุกสนานในการขับขี่ ซึ่งเป็นพื้นฐานของรถยนต์เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ลูกค้าทั่วโลกและสิ่งที่ผู้คนในสังคมต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้
แผนพัฒนาสู่ความยั่งยืน “Sustainable Zoom-Zoom 2030” และเครื่องยนต์เจเนอเรชันใหม่ Skyactiv-X
![2016-Mazda-MX-5-Miata-skyactiv-badge](https://www.autoinfo.co.th/uploads/2017/08/2016-Mazda-MX-5-Miata-skyactiv-badge-1024x680.jpg)
- ซูม-ซูม อย่างยั่งยืน ภายในปี 2030 (Sustainable Zoom-Zoom 2030) มาซดา เชื่อว่าพันธกิจที่สำคัญยิ่งของ มาซดา คือ การสร้างโลกที่สวยงาม และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและคนในสังคม มาซดา จะพยายามแสวงหาหนทางใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนผ่านการมอบคุณค่าที่โลกยานยนต์สามารถให้ได้
- ขยายมาตรการเพื่อลดการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์อย่างครบวงจร “Well-to-Wheel” ทั้งที่มาจากขบวนการจัดหาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานของรถยนต์ และการปล่อยแกส CO2 จากตัวรถยนต์ โดยคำนึงถึงการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวงจรชีวิตของรถยนต์
- มาซดา ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยของทั้งองค์กร Corporate Average Well-to-Wheel CO2 Emission ลดลง 50 % ภายในปี 2573 เมื่อเทียบจากปี 2553 และตั้งเป้าหมายลดลงถึง 90 % ภายในปี 2593
- มาซดา จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ด้วยนโยบายการจัดลำดับความสำคัญของการปรับปรุงประสิทธิภาพและมาตรการด้านการปล่อยมลพิษที่สะอาดมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้งานได้บนโลกแห่งความเป็นจริง
- เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว มาซดา ดำเนินการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด ปัจจุบันทั่วโลกรถยนต์ส่วนใหญ่ยังคงใช้เครื่องยนต์นี้ และมีจำนวนมาก และจะยังคงต่อเนื่องไปอีกหลายปีต่อจากนี้ไป สามารถลดการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และรวมถึงการก่อให้เกิดผลลัพธ์กับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทำงานรวมกับเทคโนโลยีรถไฟฟ้าในอนาคต
- ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป จะเริ่มเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีอื่นๆ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าในภูมิภาคที่ใช้พลังงานสะอาดเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือจำกัดเฉพาะยานพาหนะบางอย่างเพื่อลดมลพิษทางอากาศ
- พัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยขั้นสูงสุด ภายใต้ปรัชญาความปลอดภัยเชิงป้องกันของ มาซดา ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อนำไปสู่การลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
- เพิ่มความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เช่น ตำแหน่งการนั่งของผู้ขับขี่ที่เหมาะสม รูปแบบของแป้นเหยียบเบรค และทัศนวิสัยในการขับขี่ และนำมาใช้จนกลายเป็นมาตรฐานสำหรับรถยนต์ทุกรุ่น
- ส่งเสริมการสร้างมาตรฐานใหม่เกี่ยวกับคุณลักษณะด้านความปลอดภัยขั้นสูงของ i-Activsense ซึ่งช่วยให้ผู้ขับขี่ตระหนักและประเมินอันตรายที่อาจเกิดขึ้น นอกเหนือไปจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้บรรจุเป็นมาตรฐานแล้ว มาซดา จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ และให้กลายเป็นมาตรฐานในตลาดอื่นๆ ทั่วโลก โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
- เริ่มต้นการทดสอบเทคโนโลยีการขับขี่แบบอัตโนมัติ ในปัจจุบันถูกพัฒนาขึ้นโดยสอดคล้องกับแนวคิดการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางการควบคุม และคอนเซพท์ใหม่ Mazda Co-Pilot ในปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปใช้ให้เป็นมาตรฐานในรถ มาซดา ทุกรุ่นภายในปี 2568
- การใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ช่วยให้เจ้าของรถสามารถรองรับความต้องการของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและยากที่จะสามารถเดินทางเข้าถึงได้
- เดินหน้าพัฒนาการขับขี่แบบ Jinba-ittai อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อปลดลอคศักยภาพของผู้คนและฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ
- ยึดหลักปรัชญาการออกแบบยานยนต์เสมือนมีชีวิต ด้วยการก้าวพัฒนาไปอีกขั้นของการออกแบบอันสง่างามภายใต้ โคโดะ ดีไซจ์น เพื่อยกระดับการออกแบบยานยนต์ให้เสมือนเป็นงานศิลปะ ที่เสริมสร้างชีวิตและอารมณ์ของทุกคนที่กำลังเหลียวมอง
- เครื่องยนต์เจเนอเรชันใหม่ของ Skyactiv-X ที่สุดของนวัตกรรมแห่งเทคโนโลยียานยนต์
- Skyactiv-X เป็นเครื่องยนต์เบนซินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของโลกที่สามารถจุดระเบิดได้โดยการอัดอากาศ โดยการเผาไหม้ของเครื่องยนต์จะเกิดขึ้นจากการจุดระเบิดของอากาศและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผสมกัน ในขณะที่ลูกสูบเคลื่อนที่ในจังหวะของการอัด
- วิธีการเผาไหม้นี้เป็นกรรมสิทธิ์ซึ่งเรียกว่า Spark Controlled Compression Ignition ช่วยแก้ปัญหาสองเรื่องที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้การจุดระเบิดในจังหวะการอัดอากาศ นั่นคือ การเพิ่มพื้นที่เพื่อสามารถทำให้เกิดการจุดระเบิดในจังหวะการอัดของลูกสูบ และการพัฒนาการจุดระเบิดที่สมบูรณ์แบบนี้ได้รวมเอาข้อดีของการจุดระเบิดด้วยการอัดอากาศและการจุดระเบิดด้วยประกายการเผาไหม้เข้าไว้ด้วยกัน
- เครื่องยนต์เผาไหม้ใหม่ที่เป็นกรรมสิทธิ์นี้รวมข้อดีของเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล เพื่อให้ได้สมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม สมรรถนะพลังแรงของเครื่องยนต์ และการเร่งสปีดความเร็วที่ยอดเยี่ยม
- การจุดระเบิดด้วยการบีบอัดและการใช้ระบบซูเพอร์ชาร์เจอร์ บรรจุและอัดอากาศ ทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมัน และสามารถทำให้เครื่องยนต์มีการตอบสนองได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และสามารถเพิ่มแรงบิด 10–30 % เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ Skyactiv-G ในปัจจุบัน
- การจุดระเบิดด้วยการบีบอัดสามารถช่วยให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์แบบได้ในภาวะ Super Lean Burn จึงเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์มากขึ้น 20–30 % เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ Skyactiv-G ในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้น 34–45 % เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซินของ มาซดา ในปี 2551 ที่มีขนาดเครื่องยนต์เท่ากัน เครื่องยนต์ Skyactiv-X เทียบเท่าหรือสูงกว่าเครื่องยนต์คลีนดีเซลรุ่นล่าสุด Skyactiv-D ในเรื่องของประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
- มีประสิทธิภาพสูงในช่วงการทำงานที่กว้างของรอบเครื่องยนต์และภาระของเครื่องยนต์ ทำให้สามารถมีอิสระในการออกแบบค่าอัตราทดเกียร์ที่ต้องการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและสมรรถนะการขับขี่ที่ดีเยี่ยม
ABOUT THE AUTHOR
![](https://autoinfo.co.th/uploads/2024050210255329.jpg)
ลิขิต น้าประเสริฐ
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตคอลัมน์ Online : ธุรกิจ (บก. ออนไลน์)