ปัญหาแบทเตอรีหมด เป็นเรื่องที่คนใช้รถอย่างเรามักประสบพบเจอกันเป็นประจำ เนื่องจากแบทเตอรีส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี เมื่อใกล้ถึงหรือเลยระยะนี้ไปแล้ว ย่อมร้อนๆ หนาวๆ กันเป็นธรรมดา การแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดเมื่อแบทเตอรีหมด คือ การ "พ่วงแบท" ซึ่งเป็นวิธีที่ดูเหมือนง่ายแต่ทำยากหน้าที่ของแบทเตอรี แบทเตอรีทำหน้าที่หลายอย่าง อย่างแรก สะสมพลังงานไฟฟ้าไว้สำหรับการสตาร์ทเครื่องยนต์ หน้าที่ต่อมา คือ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ต่างๆ (แทนไดชาร์จของรถ) ตอนที่เครื่องยนต์ไม่ทำงาน เช่น เปิดฟังเพลงหรือวิทยุ เป็นต้น หน้าที่ลำดับต่อมา คือ เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง เมื่อใดที่เราใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่างพร้อมกัน จนกระแสไฟที่ใช้เกินกว่ากระแสไฟที่ไดชาร์จผลิตได้ เช่น รถติดเป็นเวลานานตอนกลางคืนแล้วฝนตก ทำให้ต้องใช้ทั้งไฟหน้า/หลัง เครื่องปรับอากาศ ที่ปัดน้ำฝน เครื่องเสียง โดยที่เครื่องยนต์หมุนแค่รอบเดินเบาเท่านั้น หน้าที่สุดท้าย คือ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์บางอย่างที่ต้องทำงานแม้จะดับเครื่องแล้ว เช่น ระบบกันขโมย ระบบลอคประตูไฟฟ้า หน่วยความจำวิทยุ เป็นต้น ชนิดของแบทเตอรี ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เป็นแบบตะกั่ว-น้ำกรด (Lead-Acid Battery) หรือที่เรียกว่า "แบบเปียก" นั่นเอง แบทเตอรีแบบนี้เก็บและคายพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างตะกั่วและน้ำกรด ขณะทำปฏิกิริยาจะเกิดความดันภายในตัวแบทเตอรี เลยต้องมีรูระบายไอระเหยของน้ำกรดไว้ จึงทำให้ต้องหมั่นเติมน้ำกลั่นอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันมีการผลิตแบทเตอรีแบบเปียกรุ่นใหม่ ที่เป็นระบบหมุนวนไอระเหยจากน้ำกรด (Maintenance Free) หรือระบบปิดนั่นเอง แบบนี้จะไม่มีรูเติมน้ำกลั่น ไอที่ถูกดันออกจะมีช่องวนกลับไปที่เดิม จึงทำให้ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น แบทเตอรีแบบเปียกนี้มีอายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปี แล้วแต่การใช้งาน แบทเตอรีอีกชนิดหนึ่ง คือ "แบบแห้ง" มักนิยมใช้ในเมืองหนาว ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น แต่มีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับแบบเปียก รักษาแบทเตอรี ให้อยู่ได้นาน อายุของแบทเตอรีนั้น สามารถอยู่ได้ถึง 3-4 ปี ถ้าเราดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพปกติตลอดเวลา วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ตรวจดูระดับน้ำให้อยู่ในระดับ Max หรือขีดบนสุดอยู่เสมอๆ ถ้ามองไม่เห็น ให้หมุนเปิดเกลียวด้านบนดู โดยต้องให้น้ำกรดท่วมแผ่นธาตุตะกั่วขึ้นไปประมาณ 1 เซนติเมตร และต้องใช้น้ำกลั่นเท่านั้นในการเติม แบทเตอรีอายุยิ่งนานยิ่งกินน้ำกลั่น ฉะนั้นควรตรวจระดับน้ำกรดในแบทเตอรีทุกสัปดาห์ ไม่ควรใช้ขั้วลบของแบทเตอรีเป็นกราวน์ด (Ground) จากการต่ออุปกรณ์เสริมต่างๆ ควรใช้วิธีการต่อสายกราวน์ดจากตัวถังรถจะดีที่สุด ถ้าใช้ขั้วลบของแบทเตอรีเป็นกราวน์ดมากเกินไป จะส่งผลเสียต่อแบทเตอรี ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง ทำไมต้องพ่วงแบทเตอรีอย่างถูกวิธี ? แบทเตอรีมีทั้งขั้วบวก และลบ เราต้องระวังอย่าให้ 2 ขั้วนี้มาโดนกันเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดประกายไฟ เป็นอันตรายได้ การพ่วงแบทเตอรีจึงต้องมีวิธีการพ่วงตามลำดับเสมอ ขั้นตอนแรก ต่อสายสีแดงที่เป็นขั้วบวกของแบทเตอรีที่หมดก่อน เพราะถ้าปลายสายสีแดงอีกด้านไปสัมผัสกับส่วนที่เป็นโลหะเข้า ก็จะไม่ทำให้เกิดประกายไฟ หรืออาจเกิดขึ้นได้แต่ประกายไฟก็จะน้อยกว่า ขั้นตอนที่เหลือก็คือ การต่อแบทเตอรีให้ครบวงจร และทำการต่อสายกราวน์ดเป็นเส้นสุดท้าย การที่ไม่ต่อแบทเตอรีขั้วลบสายสีดำ (เส้นสุดท้าย) เข้ากับแบทเตอรีที่ไม่มีประจุไฟโดยตรง เนื่องจากว่า เราไม่ต้องการให้ประกายไฟที่อาจเกิดขึ้น เข้าไปในแบทเตอรีได้ ซึ่งอาจทำให้แบทเตอรีเกิดการระเบิดได้ แบทเตอรีรถยนต์นั้นมีสายกราวน์ดซึ่งต่อเข้ากับตัวถังรถอยู่แล้ว ดังนั้นการต่อสายพ่วงแบทเตอรี (เส้นสุดท้าย) เข้ากับตัวถังรถนั้น จึงเหมือนกับการต่อสายกราวน์ดเข้าแบทเตอรีอย่างไม่ผิดเพื้ยนนั่นเอง อุปกรณ์ 1. สายพ่วงแบทเตอรีขั้วบวก (สายสีแดง) 2. สายพ่วงแบทเตอรีขั้วลบ (สายสีดำ) ขั้นตอนการพ่วงแบทเตอรี 1. นำรถคันที่มีประจุไฟดี (ไฟเต็ม) มาจอดคู่ โดยหันหน้ารถเข้าหากันในระยะที่สายยาวถึง 2. นำสายพ่วงแบทเตอรีสายสีแดง ต่อพ่วงกับขั้วบวก ของรถที่แบทเตอรีหมด 3. จากนั้นนำปลายสายอีกด้านหนึ่ง (สายสีแดง) ต่อเข้ากับขั้วบวกของแบทเตอรีที่ประจุเต็ม 4. นำสายพ่วงแบทเตอรีสายสีดำ ต่อพ่วงกับขั้วลบของแบทเตอรีที่ประจุเต็ม 5. จากนั้นนำปลายสายอีกด้านหนึ่ง (สายสีดำ) ต่อลงกราวน์ดของรถ (ชิ้นส่วนที่เป็นตัวถังรถ) 6.หลังจากนั้นให้สตาร์ทเครื่องยนต์รถที่ไฟเต็ม และรถที่แบทเตอรีหมดจนเครื่องยนต์ติด แล้วปล่อยไว้ 30 นาที 7. ขั้นตอนการถอด ต้องถอดขั้วลบ (สายกราวน์ดสีดำบนตัวถังรถที่แบทเตอรีหมด) ออกก่อน เพื่อเป็นการตัดวงจร 8. จากนั้นถอดปลายสายสีดำอีกด้านหนึ่งที่เป็นขั้วลบ ของรถที่มีประจุไฟเต็มออก 9. ถอดสายสีแดงที่เป็นขั้วบวก ในรถที่มีประจุไฟเต็มออก อย่างระมัดระวัง 10. หลังจากนั้นถอดสายอีกด้านหนึ่ง (ขั้วบวก) ของรถที่แบทเตอรีหมดออก เป็นอันเสร็จ