"autoinfo.co.th" อาสาพาไปเจาะลึก ตำนานรถเมล์ไทยในอดีต ตั้งแต่ยุคใช้กำลังม้าลากจูง พร้อมชมรถเมล์รุ่นเก่า ที่ยังมีให้เห็นกันในกรุงเทพฯรถเมล์ รถม้า ย้อนไปเมื่อ 111 ปี พศ. 2450 เป็นยุคเริ่มต้นของธุรกิจรถเมล์หรือรถประจำทาง โดยมีพระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ เศรษฐบุตร เป็นเจ้าของธุรกิจรายแรกในขณะนั้น มีม้าเป็นตัวลากจูงรถที่ทำมาจากไม้ มีล้อทั้ง 4 ช่วยทุ่นแรง ให้บริการระหว่างสะพานยศเส (กษัตริย์ศึก)-ประตูน้ำสระปทุม ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อลงเรือเมล์ที่คลองแสนแสบ คิดค่าโดยสารเป็นชั่วโมง รถเทียมม้าเดี่ยว (1 ตัว) คิดชั่วโมงละ 75 สตางค์ รถเทียมม้าคู่ (2 ตัว) ชั่วโมงละ 1 บาท ต่อมาในปี พศ. 2456 พระยาภักดีนรเศรษฐ ได้ปรับปรุงกิจการครั้งใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าการใช้กำลังม้าในการขับเคลื่อนล่าช้า และเป็นการทรมานสัตว์ จึงได้นำรถประจำทางยี่ห้อ ฟอร์ด เข้ามาแทนที่ พร้อมขยายระยะทางการเดินรถไกลขึ้น ตั้งแต่ประตูน้ำสระปทุม-บางลำพู รถเมล์ ฟอร์ดมี 3 ล้อ นั่งได้ 10 คน ในยุคนั้นรู้จักกันในชื่อ "อ้ายโกร่ง" เนื่องจากเวลาขับผ่านถนนขรุขระ รถจะส่งเสียงดังโกร่งกร่าง (ในภาพเป็นรถ ออสติน สาย 101 เส้นทางพระโขนง-กษัตริย์ศึก ซึ่งถูกใช้เป็นรถเมล์หลังจาก ฟอร์ด) เมื่อกิจการเจริญรุ่งเรือง เป็นที่ยอมรับของประชาชน นายเลิศ ก็ได้จดทะเบียนเป็น บริษัท นายเลิศ จำกัด หรือ หรือบริษัทรถเมล์ขาว ประกอบธุรกิจเดินรถแต่เพียงผู้เดียวในยุคนั้น สร้างสะพานพุทธ ยุครถเมล์เฟื่องฟู ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี พศ. 2475 รัฐบาลได้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้น เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนคร กับธนบุรีเข้าด้วยกัน ทำให้ธุรกิจรถเมล์ในขณะนั้นเจริญเฟื่องฟูอย่างเต็มที่ สามารถกอบโกยกำไรได้มหาศาลจนผู้ประกอบการร่ำรวย ทำให้มีผู้มาลงทุนทำธุรกิจรถเมล์จำนวนมากกว่า 50 ราย รวมถึงภาครัฐด้วย เช่น รถเมล์ขาว วิ่งระหว่าง บางลำพู-ประตูน้ำ, รถเมล์เหลืองวิ่งระหว่าง สะพานหัน-สะพานแดง, รถเมล์เขียววิ่งระหว่าง สะพานพุทธ-บางซื่อ, รถเมล์ไทยประดิษฐ์ วิ่งระหว่าง ตลาดพลู-เสาชิงช้า, รถเมล์ไทยเดินรถวิ่งระหว่าง หลักเมือง-ถนนตก ฯลฯ หลังจากนั้นปี พศ. 2489 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง รถบรรทุกทหารเลิกใช้ ก็ประมูลให้เอกชนไปดัดแปลงทำรถเมล์โดยสารต่อไป จึงทำให้มีรถเมล์เพิ่มจำนวนมากขึ้นในขณะนั้น ประกอบกับในปี พศ. 2502 ทางราชการได้ประกาศให้งดการเดินรถรางไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพฯ เพราะรถรางวิ่งช้า ขัดขวางการจราจร ทำให้ช่วงนั้นมีรถเมล์มากถึง 105 สาย ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รัฐบาลเข้ามามีบทบาท ควบคุมรถเมล์ เมื่อจำนวนรถมีเพิ่มขึ้น ทำให้การจราจรติดขัด ผู้ประกอบการแก่งแย่งกันรับผู้โดยสาร เดินรถทับเส้นทางกัน รัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้แก้ไขปัญหาด้วยการออก พรบ. การขนส่ง พศ. 2497 มาควบคุมผู้ประกอบการการใช้รถ ซึ่งต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทุกบริษัท และหลังจากนั้นก็ดำเนินกิจการได้ด้วยดีตลอดมา จนกระทั่งในปี พศ. 2516 เกิดวิกฤตราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน จนต้องล้มเลิกกิจการกันหลายบริษัท ในสมัยของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พศ. 2518 ได้พยายามแก้ไขปัญหา ด้วยการให้รวมรถเมล์ทุกสายในกรุงเทพฯ เป็นบริษัทเดียวกัน คือ บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ซึ่งรถเมล์ขาวก็ถูกยุบรวมไปด้วยในขณะนั้น ต่อมาในปี พศ. 2519 สมัย มรว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้เล็งเห็นปัญหานี้ จึงออกพระราชกฤษฎีกา ให้จัดตั้งหน่วยงาน "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" หรือ ขสมก. โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลแก้ไขปัญหารถเมล์โดยสาร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตค. 2519 เป็นต้นมา พศ. 2525 ยุคเริ่มต้น มีรถเมล์แอร์ ในปี พศ. 2525 ขสมก. เริ่มนำเข้ารถโดยสารปรับอากาศ ยี่ห้อ โวลโว เข้ามารับส่งผู้โดยสารในกรุงเทพฯ มีประตูขึ้น-ลง ประตูเดียว อยู่ด้านข้างหน้ารถ ต่อมาได้ดัดแปลงให้ประตูอยู่ตรงกลาง และมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ใช้งานได้สะดวก และติดตั้งเกียร์แบบอัตโนมัติ เพื่อให้พนักงานขับรถสะดวกสบายขึ้นตามยุคสมัย รถเมล์รุ่นเก่าๆ ที่ยังมีให้เห็นในกรุงเทพฯ Hino AK176 เข้าประจำการ ปี 2534 Isuzu MT111QB เข้าประจำการ ปี 2535 Isuzu LT112P เข้าประจำการ ปี 2537 Mitsubishi Fuso RP118 เข้าประจำการ ปี 2534