อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติร่วมเป็นประธานในพิธีแถลงข่าว ปตท. ร่วมกับ ขสมก. ประกาศความพร้อมรถโดยสารใช้น้ำมัน B20โดยมี ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์กร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ อำนวย พงษ์วิจารณ์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และวิชัย สินอนันต์พัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ร่วมพิธี
ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากปัญหาสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการพิจารณาเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซลสำหรับภาคขนส่ง ตั้งแต่การเพิ่มสัดส่วนน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับใช้ในรถยนต์ทั่วไปจากร้อยละ 6.6 เป็นร้อยละ 6.9 และการดำเนินการให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 20 สำหรับรถใหญ่ในสถานีบริการทั่วไป ซึ่งจะพร้อมจำหน่ายในเขต กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีปริมาณสะสมสูงเกินค่ามาตรฐานในขณะนี้ โดยที่ผ่านมาได้มีการทดลองใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 กับรถ ขสมก. ซึ่งพบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่แตกต่างกับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ อีกทั้งยังทำให้ระบบเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการลดฝุ่นละอองจากท่อไอเสียของยานยนต์ สำหรับมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ กรมธุรกิจพลังงานได้ขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศจัดทำแผนปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน EURO4 (ค่ากำมะถันไม่เกิน 50 ppm) เป็นมาตรฐาน EURO5 (ค่ากำมะถันไม่เกิน 10 ppm) ซึ่งจะช่วยให้การเผาไหม้เครื่องยนต์สะอาดมากขึ้น
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดออกมาตรการเพื่อบรรเทาสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานโดยเร่งด่วน เริ่มจากให้กรมการขนส่งทางบกจัดทีมตรวจสภาพรถ ขสมก. โดยต้องไม่เกิดปัญหาควันดำโดยเด็ดขาด ให้ ขสมก. ปรับเครื่องยนต์โดยสารทุกคันให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 เพื่อลดมลพิษจำนวน 2,075 คัน รวมถึงเร่งประสานขอรับรถ NGV ในส่วนที่เหลืออีก 119 คัน เพื่อให้บริการประชาชนและเร่งจัดหารถที่ใช้พลังงานสะอาด ประกอบด้วย รถโดยสาร NGV รถไฮบริด รถไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญหาต่อเนื่อง ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเข้มงวดมาตรการลดฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 โครงการ ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย แก้ปัญหาฝุ่นละอองหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ด้านกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ให้เข้มงวดตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และให้กรมเจ้าท่า ประสานผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำให้ตรวจสอบการใช้เครื่องยนต์เรือโดยสาร
ประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์กร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเมื่อช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ขสมก. ได้ทดลองใช้น้ำมัน B20 กับรถโดยสารธรรมดา จำนวน 17 คัน พบว่าเครื่องยนต์สามารถทำงานได้ตามปกติ และมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล B7 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขสมก. จึงได้มีแผนนำน้ำมันดีเซล B20 มาใช้กับรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 2,075 คัน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1ใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารธรรมดา จำนวน 815 คัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา และระยะที่ 2 ใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 1,260 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในตอนท้ายว่า ปตท. ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมาตรการภาครัฐ สนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม อีกทั้งแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐาน โดยในกลุ่มเชื้อเพลิงรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ ปตท. มีความพร้อมในการจัดหาและขนส่งน้ำมัน B20 ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในสัดส่วนร้อยละ 20 ให้กับรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. จำนวน 2,075 คัน ประมาณการใช้น้ำมันทั้งสิ้น 187,000 ลิตร/วัน สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน ช่วยเหลือเกษตรกรน้ำมันปาล์มได้อีกด้วย ทั้งนี้ ปตท. บริษัทพลังงานแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน จะยังคงเดินหน้าพัฒนาเชื้อเพลิงสะอาดเพื่อสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย
บทความแนะนำ